Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2020 เวลา 05:35 • กีฬา
วิ่งคู่คนพิการ มิตรภาพแห่งการวิ่ง
โดย TERI2497
1
การวิ่งได้ชื่อว่าเป็นกีฬาที่เรียบง่ายที่สุด อาศัยอุปกรณ์น้อยที่สุด เพียงมีรองเท้าหนึ่งคู่ เสื้อและกางเกง ก็ออกวิ่งได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเพื่อนร่วมทีม ไม่ต้องมีคู่แข่งขัน
การวิ่งทำได้ทุกวี่วัน ทุกสถานที่ ทุกเวลา ขอเพียงมีใจคิดจะก้าวเท้าออกมาวิ่ง
หลายคนหลงใหลกีฬานี้ ฝึกฝนและลงแข่งวิ่งระยะไกล สมัครร่วมงานวิ่งมากมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีระยะทางให้เลือกตั้งแต่มินิมาราธอน 3-5 กิโลเมตร, ควอเตอร์มาราธอน (หรือคนทั่วไปนิยมเรียกว่า มินิมาราธอน) 10.5 กิโลเมตร, ฮาล์ฟมาราธอน 21.10 กิโลเมตร, มาราธอน 42.195 กิโลเมตร
หลายคนบอกวิ่งแล้วเหมือนเสพยา สารเอนโดฟินที่ร่างกายผลิตออกมาทำให้รู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย วิ่งวันนี้พรุ่งนี้ต้องวิ่งใหม่ บ้างก็ว่าการวิ่งเหมือนการทำสมาธิ จิตที่จดจ่ออยู่กับย่างก้าวและลมหายใจ ไม่ต้องสนใจใคร ทำให้ร่างกายและจิตใจรวมเป็นหนึ่ง
แต่หลายคนพบว่าตัวเองมีความสุขจากการวิ่งเพื่อคนอื่น
ชอบ “วิ่งด้วยกัน” แทนที่จะวิ่งเพียงลำพังคนเดียว
2
วิ่งด้วยกัน (RUN2GETHER) เป็นชื่อเรียกกิจกรรมวิ่งและชื่อกลุ่มวิ่งที่มีสมาชิกทั้งคนพิการและคนไม่พิการ ริเริ่มโดย ฉัตรชัย อภิบาลพูลผล ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่องดินสอ จำกัด อดีตอาสาสมัครโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าคนพิการมักมีสุขภาพไม่ค่อยดี โดยเฉพาะคนตาบอดที่เขาคลุกคลีมักมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เนื่องจากไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
“แค่เดินยังลำบาก จะให้ออกกำลังกายยิ่งยากเข้าไปใหญ่”
ฉัตรชัยซึ่งสนใจการวิ่งอยู่บ้างในเวลานั้นนั่งคิดทบทวนว่าทำอย่างไรคนตาบอดถึงจะได้ออกกำลังกายเหมือนคนตาดี ก่อนได้คำตอบในใจว่า คนตาบอดวิ่งไม่ได้หากต้องวิ่งเพียงลำพัง แต่วิ่งได้ถ้ามีเพื่อนออกมาวิ่งด้วยกัน
งานทดลองวิ่งด้วยกันของสองฝ่ายที่มีสภาพร่างกายแตกต่างกันจึงถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่สวนลุมพินีเมื่อปี 2558 ต่อมากลายเป็นกิจกรรมวิ่งด้วยกัน 1 2 3 กรุงเทพฯ และขยายไปยังส่วนภูมิภาค อาทิ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ ฯลฯ
ในการวิ่งด้วยกัน “ไกด์รันเนอร์” (Guide runner) หรือนักวิ่งนำทางจะคอยวิ่งประกบอยู่เคียงข้าง เฝ้าดูแลคนตาบอดไม่ให้ห่าง ทำหน้าที่เป็นดวงตาคอยบอกทาง เป็นจีพีเอสบอกตำแหน่ง
ระหว่างวิ่งไกด์รันเนอร์จะงอแขนเป็นมุมฉาก ยื่นข้อศอกไปข้างหลัง ให้คนตาบอดใช้มือจับแล้ววิ่งไปด้วยกัน หรือไม่ก็ใช้เชือกร้อยเป็นห่วงให้ไกด์รันเนอร์กับคนตาบอดจับคนละข้าง
วิธีอื่นๆ เช่น ทั้งสองฝ่ายถือไม้พลองหรือท่อพีวีซีคล้ายๆ เด็กเล่นรถไฟ แล้ววิ่งไปด้วยกัน ถือเป็นการประยุกต์สำหรับคู่ที่วิ่งด้วยกันมานานจนรู้จังหวะจะโคน และต้องการทำความเร็ว
นอกจากคนตาบอดแล้ว คนหูหนวกหรือเป็นใบ้ ก็สามารถวิ่งด้วยกันได้
กรณีคนหูหนวกและเป็นใบ้ นอกจากจะใช้ภาษามือ ทั้งสองฝ่ายจะพกบัตรคำเป็นอุปกรณ์พิเศษช่วยสื่อสาร บนบัตรเขียนข้อความสั้น กระชับ พร้อมรูปภาพประกอบ เช่น หยุด พัก เดิน วิ่ง หิวข้าว เข้าห้องน้ำ ฯลฯ ต้องการสื่อสารอะไรขณะวิ่งก็แค่ชี้ภาพประกอบบนบัตรคำที่นำห้อยคอไว้
ถ้าหากเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายกลุ่มใช้รถเข็นหรือวีลแชร์ ไกด์รันเนอร์จะช่วยเข็นวิลแชร์ให้ หรือไม่ก็วิ่งไปเคียงข้าง คนพิการใช้สองแขนปั่น ไกด์รันเนอร์ใช้สองขาวิ่ง
3
อดิศักดิ์ สากล คนชลบุรีที่เคยสมัครเป็นไกด์รันเนอร์งานวิ่งด้วยกันที่ชลบุรี เล่าว่าก่อนหน้านี้ตนเองไม่เคยสนใจใคร่รู้เรื่องคนพิการ แต่เมื่อมีโอกาสจับคู่วิ่งกับคนพิการ เขาเล่าว่าทุกก้าวที่ออกวิ่งทะยานไปข้างหน้า เขาจะนึกถึงคนที่อยู่ข้างๆ ก่อนเป็นอันดับแรก
“เราวิ่งแซงแล้ว แต่เพื่อนไม่แซง อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องไม่ลืมว่าตอนนี้เราตัวใหญ่ อ้วนขึ้นสองเท่า” เขาอธิบาย
“เมื่อเห็นลูกระนาดบนถนนข้างหน้าก็ต้องรีบบอกคนข้างๆ รู้ตัว จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาต้องคอยกระตุกเชือกในมือให้คนข้างๆ เตรียมตัว”
นอกจากทำตัวเป็นจีพีเอสหรือเนวิเกเตอร์ช่วยบอกทาง ไกด์รันเนอร์ที่ดียังคอยสร้างบรรยากาศ ช่วยบรรยายสภาพภูมิประเทศรอบข้างให้คู่บัดดี้ได้รับรู้ เช่น “วันนี้ทะเลสวยนะ มีนกนางนวล” หรือ “ตอนนี้เรากำลังวิ่งผ่านร้านข้าวแกงข้างทาง คุณป้าแม่ค้ายกนิ้วโป้งให้เราด้วย”
บางครั้งไกด์รันเนอร์ก็ปรับตัวเข้าสู่โหมดให้กำลังใจ
“เหลืออีกแค่ไม่กี่ร้อยเมตรเองพี่ สู้ๆ”
“พี่วิ่งอีกนิด เร็วอีกนิด เดี๋ยวไม่ได้ตามเป้า”
“มันไม่เหนื่อยหรอก คิดไปเอง อย่าไปคิดๆ”
ระหว่างทาง ทั้งสองฝ่ายจึงได้เรียนรู้ ทำความรู้จัก
ธนาวุฒิ พรมลี ไกด์รันเนอร์ที่เคยจับคู่วิ่งกับเด็กตาบอดคนหนึ่งเล่าว่า “ระหว่างวิ่งผมจะชวนน้องคุยเรื่องทั่วไป ถามว่ามาจากไหน ตอนนี้กำลังทำอะไร บางครั้งผมแอบคิดไปว่าน้องเขายังไม่ค่อยรู้อะไรในโลกนี้เลย อาจเป็นเพราะเขายังเด็ก แม้แต่เรือก็ไม่รู้จัก คือรู้จักแค่คำว่าเรือ แต่ไม่รู้ว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร”
1
ผ่านไปได้สักครึ่งทาง ธนาวุฒิกับบัดดี้ของเขาคิดตรงกันว่าการใช้เชือกจูงกันมันไม่พอ บางทีเชือกก็ทำให้เกิดการเหนี่ยว รั้ง ขนาดระนาดลูกเล็กๆ ยังเดินสะดุด ทำลายจังหวะก้าว ทั้งสองจึงตกลงกันว่าจะเปลี่ยนจากการใช้ห่วงเชือกมาจับมือวิ่ง
เชือกเส้นเล็กๆ ถูกเก็บเข้ากระเป๋า ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มยอมรับคนแปลกหน้าที่ออกมาวิ่งอยู่ข้างๆ
“ความจริงผมก็มีหลานเป็นคนพิการ เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ ผมเห็นเขาใช้ชีวิตได้ก็คิดว่าคงไม่มีอะไร แต่ผมต้องเปลี่ยนความคิดใหม่หลังจับคู่วิ่งกับเด็กตาบอด ผมเพิ่งรู้ว่าเขาอาศัยอยู่ในโลกที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์” ธนาวุฒิกล่าว
มาโนช รุ่งเรืองอเนกคุณ นักวิ่งตาบอดคนหนึ่งกล่าวว่า การเป็นคู่วิ่งที่ดีมันต้องคอยส่งซิกให้กัน บอกให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ขึ้นเนิน ขึ้นบันได ทางข้างหน้าพื้นผิวขรุขระ ถ้าสองคนไม่เข้าขา การวิ่งก็อาจมีล้มมีสะดุด
“การวิ่งด้วยกันมันไม่ใช่แค่จับเชือกแล้วก็วิ่ง แต่เราต้องอยู่ด้วยกันครั้งละชั่วโมงสองชั่วโมง มันต้องมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนกันมันถึงจะวิ่งสนุกและอยู่กันนาน คนภายนอกที่ไม่เคยมาวิ่งจะไม่รู้เลยว่ามันมีการวิ่งแบบนี้”
มาโนชเล่าว่า เมื่อตอนพิการใหม่ๆ ทางบ้านเป็นห่วงไม่อยากให้ออกไปไหน เพราะเห็นว่าเมื่อเขาเดินออกไปนอกบ้านก็เตะนู่นชนนี่ แต่การวิ่งด้วยกันทำให้เขามั่นใจว่าเขาสามารถออกไปเผชิญโลกภายนอก จากที่แต่ก่อนเลือกนั่งแท็กซี่ วันนี้กล้าขึ้นรถไฟฟ้า จากเมื่อก่อนขลุกอยู่กับบ้าน ใช้ชีวิตอยู่ในห้อง วันนี้กล้าออกมาวิ่งข้างนอก
เขาพบว่าการออกมาวิ่งด้วยกันทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น มีพัฒนาการด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น เขาพบว่าถ้าคนตาบอดมีความตั้งใจและมีคนช่วยสนับสนุน ก็น่าจะทำได้เกือบทุกอย่าง
4
แม้สังคมจะก้าวหน้าทันสมัย แต่ทุกวันนี้กลุ่มคนพิการยังเผชิญข้อจำกัดในการดำรงชีวิต จนคนพิการกับคนไม่พิการเหมือนอยู่บนโลกคนละใบ
ฉัตรชัย อภิบาลพูลผล ผู้ริเริ่มกิจกรรมวิ่งด้วยกัน ให้ความเห็นว่า “การวิ่งด้วยกันเป็นเรื่องของการพัฒนาสัมพันธภาพ หัวใจสำคัญคือการทำกิจกรรมเป็นคู่ คนพิการกับคนไม่พิการเมื่อได้มาพบกันความเป็นเพื่อนมันก็เกิดขึ้น ฝ่ายคนพิการเมื่อได้ออกมาเข้าสังคม ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ ก็มีความมั่นใจ คนพิการหลายคนไม่เคยไปไหนเลยนอกบ้าน เมื่อได้มาวิ่งก็เริ่มกล้าออกจากบ้านคนเดียว กล้าไปดูหนังคนเดียว มันสร้างความมั่นใจให้ชีวิตเขาได้ ว่าเขาสามารถใช้ชีวิตได้แบบปรกติในสังคมทั่วไป เมื่อได้วิ่งด้วยกันแล้วทั้งสองฝ่ายก็เริ่มชวนกันออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ตอนนี้นอกจากวิ่งด้วยกันแล้ว พวกเขายังไปดูหนังด้วยกัน เต้นด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน เรียนหนังสือด้วยกัน ทั้งหมดนี้มันทำให้สังคมเราใกล้ชิดกันมากขึ้น”
นอกจากเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เราจะทำให้โลกสองใบที่แตกต่างขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นได้อย่างไร
บางทีการอออกมาวิ่งด้วยกันอาจเป็นหนึ่งในคำตอบ
2
#RUN2GETHER #วิ่ง #PlayNowThailand #KhelNowThailand #RUN #ธนาวุฒิ
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
https://www.facebook.com/KhelNowThailand/
บันทึก
40
6
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Let's Run
40
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย