Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
25 ธ.ค. 2020 เวลา 06:28 • กีฬา
เส้นชัยชีวิต มาร์ก “อะกา” คาซิดซิด นักวิ่งโลกมืด
เรื่อง : TERI2497
ภาพ : เฟสบุ๊ก Mark Joseph Casidsid, TERI2497
1
อาการจอประสาทตาเสื่อมทำให้ตาของ มาร์ก คาซิดซิด (Mark Casidsid) หรือ อะกา (Aga) บอดสนิทตั้งแต่อายุ 19 ปี
หลังโลกทั้งใบมืดมิด ชายชาวฟิลิปปินส์คนนี้เคยซึมเศร้าถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
“ตั้งแต่ผมสูญเสียสายตา ผมก็สูญเสียหลายอย่างไป เป้าหมายในชีวิตที่เคยคิดหวังไว้ ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเติมเต็มได้แล้ว”
จากคนเคยคิดสั้นเพราะถูกสังคมตีตราว่าไม่สามารถทำอะไรได้
หลายต่อหลายปีผ่านไป...
อะกาพบว่าสิ่งหนึ่งที่ช่วยรั้งชีวิตของเขาไว้ คือ การวิ่ง
2
เมื่อปี ค.ศ. 2003 ที่ดวงตาของอะกาบอดสนิท โลกอันงดงามกลายเป็นดินแดนแห่งความมืดมิด เขาเหมือนคนเสียหลัก
“ผมเคยชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง รักการเดินทางและออกผจญภัย ผมชอบเล่นกีฬาหลากหลาย ไม่ว่าขี่จักรยาน บาสเกตบอล ว่ายน้ำ ผมไม่ได้เล่นอะไรเป็นพิเศษหรอกนะแต่ผมเล่นทุกอย่าง ผมทำทั้งหมดตั้งแต่ก่อนสูญเสียสายตา”
ปลายปี ค.ศ. 2018 อะกาเดินทางมาเมืองไทยเพื่อเข้าร่วมงานวิ่ง “We run for the Blind” ณ สวนวชิรเบญจทัศน์หรือสวนรถไฟ จัดโดยบริษัทโปรคัลเลอร์แลป จำกัด ผู้นำเข้าอุปกรณ์ถ่ายภาพ อุปกรณ์ขาวดำ เปิดโอกาสให้คนไม่พิการได้จับคู่วิ่งกับคนตาบอด การวิ่งแบ่งออกเป็นระยะทาง 2, 5 และ 10 กิโลเมตร
ที่สวนรถไฟ อะกาให้ความเห็นว่าคนพิการในประเทศฟิลิปปินส์ก็ไม่ต่างจากคนพิการในเมืองไทย คือมักจะถูกตัดสินจากคนรอบข้างว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในห้อง
“การมองไม่เห็นทำให้พวกเราถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่คนรอบข้างกำหนด ต้อง-และไม่ต้องทำอะไร”
สำหรับอะกาแล้วเขาพยายามที่จะไม่ถูกขังอยู่ภายในกรอบนั้น เริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ อย่างการออกกำลังกาย
“ผมพบว่าการวิ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมยังสามารถทำได้ ถึงแม้ตอนแรกที่ออกมาวิ่งมันจะทั้งท้าทายและน่ากลัวมากก็ตาม”
3
อะกาพบว่าการวิ่งเป็นสิ่งที่เขายังสามารถทำได้ดีแม้สูญเสียสายตา
กาโด เปลิงโง (Gado Pelingo) สถาปนิกและเจ้าของโรงเรียนสอนคนตาบอดในกรุงมะนิลา คือคนสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนการวิ่งของอะกา
กาโดอายุมากกว่าอะกา 3 ปี เป็นเพื่อนกับพี่ชายของเขา ชายผู้นี้เข้ามาวิ่งกับอะกาในฐานะ “นักวิ่งนำทาง” หรือไกด์รันเนอร์ (Guide runner) ขณะวิ่งกาโดจะใช้เชือกเส้นหนึ่งผูกเป็นวงให้ตัวเองและอะกาถือคนละด้าน ออกวิ่งด้วยกัน จับจังหวะเร่ง-ผ่อน เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา ผ่านบทสนทนาและเชือกเล็กๆ เส้นนี้
“ผมรักที่จะพามาร์กออกมาวิ่ง เราวิ่งด้วยกันเป็นประจำ วิ่งแล้วมีความสุขมาก เห็นอย่างนี้แต่เวลาวิ่งด้วยกัน เราเป็นคู่ที่เสียงดังนะ ระหว่างวิ่งเราจะตะโกนใส่กันตลอดเวลาว่า เฮ้ย ซ้ายนะ ! เฮ้ย ออกขวา ! เฮ้ย ข้างหน้ามีอะไร ข้างหลังตอนนี้เป็นยังไง ที่เหลือก็คือการอธิบายให้เห็นภาพ บอกเล่าบรรยากาศว่าสวนสาธารณะในเมืองไทยมีต้นไม้ลักษณะอย่างนี้ มีนกมีกระรอกเกาะอยู่บนต้นไม้ อย่างอื่นก็คือการพูดให้กำลังใจกัน”
กาโดเล่าว่าเขามีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมคู่กับคนตาบอด แม้ตัวเองจะเป็นคนสายตาดี
“การวิ่งคนเดียวกับการวิ่งกับคนพิการแตกต่างกัน เวลาวิ่งคนเดียวผมอาจจะใส่หูฟัง วิ่งฟังเพลงไปเรื่อยๆ แต่การวิ่งกับคนตาบอด ผมจะนึกถึงการสนับสนุนให้คนพิการที่อยู่ข้างๆ ได้วิ่งก่อนเป็นอันดับแรก”
ที่กรุงมะนิลา เขาชวนเด็กตาบอดในโรงเรียนสอนคนตาบอดที่เขาเปิดสอนประมาณ 12 คนออกมาวิ่งด้วยกันในนาม “TEAM POSSIBLE” นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมพูดคุยให้กำลังใจผู้คนในสังคมตั้งแต่พนักงานบริษัทเอกชนเรื่อยไปจนถึงเด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาสตามสถานศึกษา
“การวิ่งเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของผม ผมมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ได้รับแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจจากการวิ่ง มันเหมือนเป็นกำไรของชีวิต” กาโดในฐานะวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์คนหนึ่งกล่าว
สมนึก อิทธิศักดิ์สกุล ผู้จัดการบริษัท โปรคัลเลอร์แลป จำกัด ผู้จัดงานวิ่ง We run for the Blind เชิญอะกาและกาโดมาวิ่งสร้างแรงบันดาลใจระยะทาง 10 กิโลเมตร ให้ความเห็นว่า
“การออกมาวิ่งทำให้เราเข้าใจคนพิการมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนทั่วไปพร้อมที่จะซึมซับความยากลำบากของคนพิการในการใช้ชีวิต บางทีเรามีอุปสรรคนิดหน่อยก็ย่อท้อ แต่คนตาบอดกลับไม่ได้คิดเหมือนเรา เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปมด้อยด้วยซ้ำ เขาสู้ เขามีความพยายามอยู่ที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าเรื่องเรียนหรือเรื่องงาน ถ้าคิดตามนี้ คนตาดีที่คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายมาให้ ในทางกลับกันกลับเป็นฝ่ายที่ได้รับ หลายคนที่มางานถึงกับน้ำตาร่วง กลับบ้านโดยได้รับพลัง ได้รับสิ่งดีๆ จากคนตาบอด”
4
6 ปีหลังโลกมืดสนิทอะกาออกวิ่งอย่างจริงจัง
1 ปีหลังจากนั้น ชายตาบอดคนนี้ก็สามารถวิ่งมาราธอนสำเร็จ
ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร เขาและไกด์รันเนอร์พิชิตมันด้วยเวลา 5 ชั่วโมง 14 นาที ถือเป็นสถิติที่ไม่ธรรมดาสำหรับนักวิ่งที่มีความพิการทางสายตา และเป็นนักวิ่งหน้าใหม่
“หน้าที่ของไกด์รันเนอร์สำคัญมาก เพราะพวกเราไม่สามารถวิ่งได้ถ้าไม่มีไกด์รันเนอร์ นี่คือเรื่องจริง” อะกาพูดต่อหน้าเพื่อนรุ่นพี่
ขณะที่กาโดให้ความเห็นว่า “ไกด์รันเนอร์ที่ดีไม่ใช่แค่วิ่งเก่งอย่างเดียวเท่านั้น มันยังมีเรื่องทัศนคติ แนวการใช้ชีวิต ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเมื่อเป็นผู้ฟังที่ดีก็จะสามารถเข้าใจอะไรได้มาก”
การสื่อสารคือสิ่งสำคัญในการวิ่งคู่กับคนพิการ มันทำให้คนสองคนได้รู้จักคำว่ามิตรภาพ ได้เรียนรู้กันจนกลายเป็นเพื่อนรัก รวมทั้งเป็นคู่หูที่วิ่งเข้าสู่เส้นชัยพร้อมกันครั้งแล้วครั้งเล่า
#MarkCasidsid #วิ่งคู่คนพิการ #วิ่ง #WerunfortheBlind #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม
https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand
2 บันทึก
29
4
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Let's Run
2
29
4
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย