15 พ.ค. 2021 เวลา 08:50 • สิ่งแวดล้อม
ดร. ชุมพล ครุฑแก้ว ยอดนักวิ่งเทรลที่หิมาลัยไว้ชีวิต
เรื่อง : TERI2497
ภาพ : บันทึกสองเท้า
8
“เกรทฮิมัลเรซ” (Great Himal Race) เป็นรายการวิ่งเทรลบนเส้นทางโบราณ “เกรทฮิมาลายาเทรล” (Great Himalaya Trail) จากพรมแดนทางตะวันออกของประเทศเนปาลเลาะเลียบข้ามผ่านเทือกเขาหิมาลัยช่วงที่มีความสูงมากที่สุดไปจดพรมแดนทางตะวันตก ระยะทางร่วม 1,600 กิโลเมตร ที่ผ่านมามีคนไทยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พิชิตรายการนี้ได้สำเร็จ คือ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว
2
1
หิมาลายัน หรือ “หิมาลัย” คือชื่อเทือกเขาขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของทวีปเอเชีย ทอดยาวผ่าน 5 ประเทศ คือ ภูฏาน อินเดีย ปากีสถาน จีน และเนปาล
อย่างไรก็ตามบริเวณตอนกลางของหิมาลัยที่มีความสูงมากที่สุดในโลกนั้นตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาลเกือบทั้งหมด ตามสถิติยอดเขาที่มีความสูงที่สุดในโลก พบว่ายอดที่มีความสูงมากกว่า 8,000 เมตร (หรือ 8 กิโลเมตร) จากระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลกมี 15 ยอด ในจำนวนนี้มีถึง 10 ยอดอยู่ในเนปาล
สำหรับคนท้องถิ่น แนวเทือกศักดิ์สิทธิ์อันสูงตระหง่านซึ่งทอดตัวยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกนั้นมีเส้นทาง “เดินเท้า” ดึกดำบรรพ์รู้จักกันในชื่อเส้นทาง “เกรทฮิมาลายาเทรล” (Great Himalaya Trail) ซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางเดินเลาะไปตามแนวตีนเขา ยังต้องข้ามลำน้ำ ปีนข้ามภูเขา ทอดลงสู่หุบ เพื่อเผชิญหน้ากับเขาลูกใหม่
ที่น่าสนใจคือเส้นทางบางช่วงของเกรทฮิมาลายาเทรลไม่ได้ถูกระบุไว้บนแผนที่อย่างแน่ชัด เป็นเพียงเส้นที่ถูกขีดลากลงอย่างกว้างๆ บนหน้ากระดาษ
ไม่น่าเชื่อว่าเส้นทางหฤโหดบนแนวภูเขาอันเหน็บหนาว มีคนต้องการพิชิตมันด้วยการวิ่งระยะไกลในรูปแบบ “เทรลรันนิ่ง” (trail running) หรือวิ่งเทรล ชื่อรายการ “เกรทฮิมัลเรซ” (Great Himal Race)
ตลอดการแข่งขันระยะทางร่วม 1,600 กิโลเมตร ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องแบกเป้บรรจุสัมภาระกลางหลังเท่าที่จำเป็นเพื่อพักแรมและเอาชีวิตรอด ในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศอันหลากหลาย
ที่ผ่านมามีคนไทยเพียงคนแรกและคนเดียวเท่านั้นที่ทำสำเร็จ
2
สำหรับนักวิ่งเทรล ซึ่งหมายถึงการวิ่งผจญภัยไปบนเส้นทางธรรมชาติ หรืออาจเรียกว่าการวิ่งวิบาก รวมทั้งผู้ที่คลั่งไคล้กีฬากลางแจ้งอย่างมาราธอน ไตรกีฬา อัลตรามาราธอน ไอรอนแมน ย่อมรู้จักชื่อ ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ ดร. จุ๋ง นักวิ่งอัลตรามาราธอนระดับอีลีท (elite) ของเมืองไทยที่สามารถพิชิตรายการวิ่งระยะไกลที่สุดท้าทายในต่างประเทศหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น UTMF วิ่งเทรลรอบภูเขาไฟฟูจิ ระยะทาง 162 กิโลเมตร, Hong Kong 4 Trail ระยะทาง 298 กิโลเมตร, 4KVDA วิ่งรอบเทือกเขาแอลป์ในเขตประเทศอิตาลี ระยะทาง 340 กิโลเมตร
โดยหน้าที่การงาน ชุมพลทำงานประจำเป็นนักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ก่อนหน้านี้ในการลงแข่งขันครั้งที่ผ่านๆ มา เขาฝึกซ้อมเป็นประจำสม่ำเสมอจนการซ้อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อาทิ ขี่จักรยานและวิ่งไปทำงานระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร และพยายามยืนทำงานตลอดทั้งวัน ในวันหยุดสุดสัปดาห์เขาเดินทางไปซ้อมวิ่งบนดอยจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่รุ่งสางยันพลบค่ำไม่ต่ำกว่าวันละ 8-14 ชั่วโมง
ในหนังสือ ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต เรียงเรียงโดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ชุมพลบันทึกความคิดของตัวเองไว้ว่า การฝึกซ้อมต่างหากเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรตื่นเต้นและมีความสุขอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรายืนอยู่ที่จุดสตาร์ต เหลือเวลาที่เราจะสนุกกับคำว่า finisher อีกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์
ตลอดการแข่งขันครั้งที่ผ่านๆ มา ชุมพลจัดการกับตารางเวลาฝึกซ้อมและลงแข่งของตัวเองได้เป็นอย่างดี แม้บางรายการจะต้องวิ่งติดต่อกันเกือบหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็ไม่เคยให้ชีวิตอีกด้านกระทบกับงาน เขาสามารถทำตามอุดมการณ์เรื่องการรักษาสมดุลระหว่างงานและการออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ แต่สำหรับสนามเกรทฮิมาลายาเทรลเขาตระหนักดีว่าแตกต่างออกไป
ด้วยระยะทางอันยาวไกลเหนือการแข่งขันรายการอื่นๆ ทำให้วันและเวลาฝึกซ้อมและลงแข่งกับการทำงานเหลื่อมซ้อนกัน และถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ เขายอมสละสิ่งหนึ่งเพื่อเส้นทางใหม่
วันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2017 ชุมพลบินจากกรุงเทพฯ ไปลงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของประเทศเนปาล
3
3
รายการเกรทฮิมัลเรซ 2017 ได้รับการออกแบบให้ใช้เส้นทางตามแนวเดินเท้าโบราณเกรทฮิมาลายาเทรล ซึ่งเน้นเส้นทางธรรมชาติที่ต้องข้ามผ่านเทือกเขาสูง ผู้เข้าร่วมต้องวิ่งข้ามประเทศเนปาลจากพรมแดนทางทิศตะวันออกไปทางตะวันตก ระยะทางทั้งหมดประมาณ 1,600 กิโลเมตร โดยแบ่งช่วงวิ่งเป็น 45 stages คาดว่านักวิ่งแต่ละคนจะใช้เวลาประมาณ 46-50 วัน ไม่รวมวันเดินทาง trekking เพื่อขึ้นไปยังจุดเริ่มต้นอีกประมาณ 10 วัน
ผู้สมัครต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติอย่างเคร่งครัด เช่น เคยผ่านการแข่งขันวิ่งเทรลระยะไกลมาหลายสเตจต่อเนื่องกัน, เคยขึ้นที่สูงเกิน 4,800 เมตร, มีทักษะการปฐมพยาบาล การใช้แผนที่ รวมทั้งการปีนเขาเบื้องต้น ตลอดการแข่งขันผู้เข้าร่วมต้องแบกเป้สัมภาระบรรจุอุปกรณ์บังคับที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ เต็นท์ เครื่องนอน เครื่องกันหนาว รองเท้าตะปูกันลื่นบนหิมะ อาหารแห้ง เตาไฟประกอบอาหาร ฯลฯ โดยได้รับอนุญาตให้จ้างลูกหาบเพื่อแบ่งเบาของใช้บางส่วนที่ไม่ใช่อุปกรณ์บังคับให้ช่วยแบกได้ไม่เกิน 6 กิโลกรัม
ระหว่างทางผู้จัดงานจะนำถุงสัมภาระสำรองของนักวิ่งแต่ละคนที่กำหนดให้เตรียมไว้คนละ 8 ใบ ไปวางดักรอตามจุดต่างๆ เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ตามที่นักวิ่งแต่ละคนวางแผนไว้ ทั้งนี้หากเจอบ้านหรือหมู่บ้านกลางทาง สามารถซื้อหาอาหารและเข้าพักแรมได้อย่างเสรี
วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2017 ชุมพลออกตัวจากจุดสตาร์ตพร้อมนักวิ่งจากทั่วโลกประมาณ 40 คน ในแต่ละวันเขาบันทึกข้อความเก็บไว้เตือนความทรงจำ อาทิ
ข้ามพาส 5,159 เมตร แพ้ความสูงน้อยลง
ภิกษุณีบอกทาง หิมะตกช่วงเย็นก่อนถึงที่พัก
Cederic ถอนตัวกลับฝรั่งเศส นักวิ่งเหลือประมาณ 20 คน
อาเจียน 10 ครั้ง ตลอดคืน
เวียนหัว นอนพัก 24 ชั่วโมง
ขาดอาหาร กันดาร แต่สวยแปลกตา
ปีนผ่านหน้าผาอันตรายมาก
ข้ามพาส เร่งเดินจนถึงเมืองใหญ่
เวียนหัวอาเจียน หยุดนอนพัก 2 ครั้ง วันที่ทรมานและยาวนานอีกวันหนึ่ง
ฯลฯ
ทุกๆ การบันทึกอยู่ภายใต้การยอมรับถึงความเปราะบางของชีวิต บนดินแดนอันลี้ลับ ห่างไกล อาจมีเพียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเทือกเขาหิมาลัยเท่านั้นที่ตัดสินใจว่าจะไว้ชีวิตเขาหรือไม่
4
48 วันนับจากวันแรกที่ก้าวเท้าออกตัว ชุมพลเดินทางมาถึง Hilsa ความสูง 3,600 เมตร ตำแหน่งของ Stage 45 ที่ถือเป็น Finish line เหลือนักวิ่งจบตลอดเส้นทางจำนวน 11 คน
จากฟากฝั่งหนึ่งสู่ดินแดนอีกฟากฝั่งหนึ่งของเนปาล ท่ามกลางขุนเขาหลายต่อหลายลูกซึ่งแผ่ออกไปดุจระลอกคลื่น
บนเส้นทางดั้นด้นประมาณ 1,600 กิโลเมตรผ่านเทือกหิมาลัย ไต่ความสูงสะสมประมาณ 83,000 เมตร เขาทำสำเร็จ
พิชิตเส้นทางโบราณด้วยการรอนแรมด้วยเท้าผ่านการวิ่งเทรล
ได้เรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตบนภูเขา แม้เหนื่อยยากกว่าจะวิ่งหรือป่ายปีนขึ้นมาถึงตำแหน่งสูง อยากวิ่งต่ออย่างมีความสุขอยู่บนยอดเขาทิวทัศน์สวยๆ ไปอีกนานๆ แต่ก็ต้องยอมก้าวเท้าวิ่งลงสู่พื้นล่างเพื่อไปให้ถึงฐานของเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอาจมียอดที่สูงกว่าให้เราวิ่งขึ้นต่อไป
บทสรุปเบื้องต้นหลังข้ามพ้นหิมาลัย
เขาอธิบายว่า ใน 48 วัน ไม่ได้รู้สึกว่าสามารถพิชิตหรือทำอะไรสำเร็จเลย นอกจากการพิชิตใจและร่างกายตัวเอง
และการวิ่งครั้งนี้กำลังจะนำทางเขาไปสู่ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตอีกครั้ง
1
ขอขอบคุณ
ดร. ชุมพล ครุฑแก้ว
เพจ บันทึกสองเท้า
หนังสือ ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต เรียงเรียงโดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0-2218-9872
2
#GreatHimalRace #GreatHimalayaTrail #running #PlayNowThailand #khelnow

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา