12 มิ.ย. 2021 เวลา 09:41 • ท่องเที่ยว
บางสิ่งที่เรียนรู้ระหว่างทางของผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต
เรื่อง : TERI2497
ภาพ : บันทึกสองเท้า
ในปี ค.ศ. 2017 การแข่งขันวิ่งเทรลตามแนวเทือกเขาหิมาลัย รายการ “เกรทฮิมัลเรซ” (Great Himal Race)” ข้ามประเทศเนปาล บนเส้นทางยาวไกลทอดผ่านแผ่นดินอันได้ชื่อว่าเป็น “หลังคาโลก” มีคนไทยสมัครเข้าร่วมแข่งขัน และสามารถพิชิตเส้นทางได้สำเร็จ ชายคนนั้นมีชื่อว่า ชุมพล ครุฑแก้ว ต่อจากนี้คือบางเรื่องราวที่เขาได้สัมผัสเรียนรู้ จากการวิ่งติดต่อกันถึง 48 วัน ระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร
1
นักวิ่งฝีเท้าดีหลายคนเป็นคนพูดน้อย ระหว่างการเดินทางมุ่งหน้าสู่จุดเริ่มต้นของการแข่งขันเกรทฮิมัลเรซ 2017 ชุมพลมีโอกาสพบกับเฮนดรา นักวิ่งนักผจญภัยชาวอินโดนีเซีย พบว่าเฮนดราเป็นคนไม่ค่อยพูดพอๆ กับสตีเวน นักวิ่งชาวมาเลเซีย และได้ตั้งข้อสังเกตว่านักวิ่งหลายคนล้วนพูดน้อยโดยบุคลิก
“หรือว่าระยะทางไกลซึ่งพวกเขาฝ่าฟันมาขโมยถ้อยคำของพวกเขาไปหมดแล้วก็ไม่อาจทราบได้”
2
2
พิธีเปิดการแข่งขันเกรทฮิมัลเรซเป็นสิ่งที่แสนจะเรียบง่าย ท่ามกลางขุนเขาหิมะ ลูกหาบท้องถิ่นซึ่งจะเป็นคนช่วยแบกสัมภาระระหว่างทางได้นำก้อนหินมาวางเป็นก้อนเส้า ใช้กิ่งไม้แห้งเป็นเชื้อไฟ ก่อไฟติดแล้วก็ใช้กิ่งสนไซเปรสสดปิดไว้ด้านบนทำให้เกิดควันสีขาว ข้างๆ กันมีกองหินที่มีรายชื่อผู้เคยทิ้งชีวิตไว้กับหิมาลัย ผูกผ้าขาวผืนยาวไว้กับแท่งหิน ยกกะโหลกแพะไปทับปลายผ้า แล้วลูกหาบเดินรอดธงมนต์ที่ผูกโยงไว้ไปมา
หลังจาก “มนต์พิธี” เสร็จสิ้นลง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะช่วยกันถือป้าย เกรทฮิมัลเรซ 2017 เพื่อถ่ายรูปหมู่ ไม่มีกองเชียร์ ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่บ่งบอกว่านี่คือการแข่งขันวิ่งที่บ้าบิ่นมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก นับถอยหลังแล้วทุกคนก็ออกวิ่ง
3
3
หลังวิ่งแล้ว 7 วัน ที่ระดับความสูงประมาณ 2,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ชุมพลเพิ่งจะมีโอกาสโกนหนวดโกนเคราเป็นครั้งแรก เมื่ออยู่หน้ากระจกในห้องน้ำของที่พัก ได้มองเห็นสารรูปตัวเองชัดๆ ก็พบภาพคนผมยาวแทงหลังหู หน้าไหม้ ปากแตกเป็นสะเก็ด
เสี้ยวความคิดหนึ่งเขานึกไปถึงหนังฮอลลีวู้ดเรื่องแคสต์อะเวย์ (Cast Away) ที่มีพล็อตเรื่องว่าด้วยการเอาชีวิตรอดของคนติดเกาะ โดยมี ทอม แฮงค์ พระเอกแสดงอยู่เพียงลำพังแทบจะตลอดทั้งเรื่อง
1
4
เส้นทางการแข่งขันเกรทฮิมัลเรซบางวัน ทาบทับเส้นทางวัฒนธรรม เกรทฮิมาลายาเทรล (Great Himalaya cultural Trail) อันเป็นเส้นทางเดินเท้าของคนโบราณ บางครั้งนักวิ่งบางคนที่ออกจากการแข่งขันไปตั้งแต่ช่วงต้นๆ เพราะทนความยากลำบากไม่ไหวจะกลับมาร่วมทางกับนักวิ่งที่ยังเหลืออยู่ด้วยการนั่งรถตาม
ณ ตำแหน่งซึ่งเส้นทางลาดลงต่ำ ค่อยๆ ห่างจากขอบเขาหิมาลัย ชุมพลพบว่าภาพที่เห็นงดงามเกินบรรยายเสียยิ่งกว่าความงามที่เห็นเวลาอยู่ข้างบน เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนเวลาเราอยู่ใกล้ใครสักคนหนึ่ง อาจจะมองไม่เห็นความดีงามความยิ่งใหญ่ของเจ้าตัว กว่าจะเห็นอย่างเต็มตาก็เมื่อถอยห่างออกมาและเริ่มมองอย่างจริงจัง
1
5
อย่างไรก็ตามบนเส้นทางเดียวกันนั้น เขาได้ค้นพบว่าการวิ่งบนภูเขา แม้เหนื่อยยากกว่าจะป่ายปีนขึ้นมาถึงตำแหน่งสูงสุด อยากวิ่งต่ออย่างมีความสุขอยู่บนยอดเขาที่มีทิวทัศน์งดงามๆ ไปอีกนานๆ แต่ก็ต้องยอมก้าวเท้าวิ่งลงสู่พื้นล่างเพื่อไปให้ถึงฐานของเขาอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอาจมียอดที่สูงกว่าให้เราวิ่งขึ้นต่อไป
ที่ระดับความสูง 3,500 เมตร ชุมพลเกิดความซาบซึ้งใจ เขาคิดว่าก่อนจะขึ้นสู่ที่สูง อาจจำเป็นต้องลงไปสู่จุดต่ำสุด แล้วจึงไต่ระดับขึ้นไปกระทั่งยืนอยู่บนยอด ชีวิตเป็นเช่นนั้น ยอมลงต่ำเพื่อขึ้นที่สูง ยอมลงต่ำเพื่อที่จะถึงจุดหมาย
6
บางช่วงบางตอน ชุมพลคิดว่าเขาได้ยินเสียงฝีเท้าของตัวเองดังกว่าสิ่งใด แต่บางขณะก็ได้ยินเสียงหอบหายใจดังที่สุด บางห้วงเวลาก็ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเองเต้น เป็นเสียงเต้นตามจังหวะขณะก้าว สอดคล้องกับการไต่เขา เขาคิดว่าการแข่งขันวิ่งเทรลครั้งนี้เป็นการเดินทางครั้งสำคัญ เพราะเขากำลังปีนข้ามขุนเขาที่อยู่ภายในใจของตัวเอง
7
สะพานแขวนข้ามแม่น้ำเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไประหว่างการแข่งขัน ซึ่งช่วยร่นระยะทางได้มาก
ระหว่างข้ามสะพานแขวนแห่งหนึ่งที่มีทิวทัศน์สวยงาม เขาพูดกับกล้องโกโปรที่เตรียมมาว่านักท่องเที่ยวบางคนอาจจะมีโอกาสเดินทางมาถ่ายรูปมุมนี้แล้ว เขาเองก็เช่นกัน และเขามีโอกาสกลับมาอีกครั้งเพื่อใช้เป็นทางผ่านของการต่อสู้ในจิตใจ
ช่วงหนึ่งเขาผ่านหมู่บ้านในเนปาลที่ยังหลงเหลือซากปรักหักพังจากเหตุแผ่นดินไหว อีกช่วงหนึ่งเขาผ่านจุดรำลึกโศกนาฏกรรมจากเหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินไทยตกเมื่อหลายสิบปีก่อน บนแผ่นป้ายมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น น่าจะเป็นญาติของผู้เสียชีวิตมาเขียนไว้ ตอนนั้นชุมพลเพิ่งฟื้นจากอาการป่วย อาเจียนไปเป็นสิบครั้ง คาดว่าเป็นผลจากอาหารคือโยเกิร์ตที่กินเข้าไป ต้องนอนพักอยู่นานถึง 24 ชั่วโมงเต็ม ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายนั้นเองที่เขาตระหนักว่าชีวิตคนช่างเล็กกระจิริดและเต็มไปด้วยความเปราะบาง
8
ในวันที่ 24 ของการแข่งขัน ชุมพลผ่านบททดสอบมาแล้วมากมาย บางวันเขาต้องลงจากยอดพาสความสูง 4,600 เมตร ลงมาเหลือ 1,500 เมตร ชีวิตเวียนว่ายอยู่บนลาดไหล่เขาที่มีความสูงหลายพันเมตร สลับขึ้นลงในที่ต่ำและสูงมากๆ
ท่ามกลางความแปรปรวนของอากาศ สภาพร่างกายอันย่ำแย่หลังวิ่งติดกันมาหลายวัน ร่างกายของเขารวมถึงลูกหาบท้องถิ่นชื่อนาวางผู้เป็น “บัดดี้” ร่วมฟันฟ่ากันมาตลอดทางต่างเรียกร้องว่าต้องการพัก นาวางพิจารณาสภาพร่างกายของชุมพลแล้วตัดสินใจว่าจะยุติการแข่งขัน โดยที่ชุมพลเองก็ไม่อาจทัดทาน เพราะยอมรับว่าตัวเองก็รู้สึกแย่มาก เมื่อรถบรรทุกคันหนึ่งวิ่งผ่านมาจึงตัดสินใจโบกเพื่อขอติดรถไป หากคนขับอนุญาตและทั้งสองก้าวขึ้นรถ การแข่งขันจะเป็นอดีตทันที แต่ผลปรากฏว่าคนขับไม่ยอมให้ทั้งคู่โดยสารไปโดยให้เหตุผลว่าอากาศไม่ดี และรถบรรทุกสิ่งของมาเต็มกระบะถึงขนาดไม่อาจเพิ่มน้ำหนักได้อีก บทพิสูจน์ธาตุทรหดของคนสองคนจึงดำเนินต่อไป
9
แม้ทิวทัศน์จะงดงาม แต่ช่วงท้ายของการแข่งขันเต็มไปด้วยความยากลำบาก บ่อยครั้งการเร่งไปให้ถึงจุดหมายปลายทางทำให้ร่างกายแย่ลงในหลายวันถัดมา ชุมพลมีปัญหาที่เข่าซ้าย ส่วนนาวางเจ็บหน้าแข้ง
ครั้งหนึ่งนาวางบอกให้ชุมพลล่วงหน้าไปก่อนเพราะรู้ว่าตัวเองจะสามารถไล่ทันเมื่อถึงช่วงขึ้นเขา แต่นาวางกลับมาช้ากว่าปรกติ แทบทั้งวันชุมพลต้องเดินอยู่คนเดียวตั้งแต่เช้าจดค่ำ ทั้งคู่ต้องตกลงกันใหม่ว่าจะเดินไปพร้อมกันตามความเร็วของคนช้า
ร่างกายที่บาดเจ็บทำให้ทั้งสองคนช้าลงมาก การเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้เพราะใจล้วนๆ ใจหนึ่งชุมพลกังวลว่าจะวิ่งไม่ทันกลุ่มนำ แต่อีกใจหนึ่งก็พร่ำบอกว่าช่างมันเถิด เวลาไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป ใครมีแรงเดินไกลเท่าไรก็เดินไป ถึงตอนนั้นเขาไม่สนใจอันดับ และต้องการถนอมหัวเข่าให้มากที่สุด
10
นอกเหนือจากความเหนื่อยล้าที่เป็นมาแทบตลอดทาง หลังรอนแรมมายาวไกล อาการป่วยของชุมพลเกิดขึ้นในช่วงท้ายของการแข่งขัน เป็นเหมือนปีศาจที่พยายามยื้อยุดฉุดกระชากเขาไว้ไม่ให้เข้าสู่เส้นชัย
ก่อนหน้านี้เขาต้องผจญกับปีศาจมานับตนไม่ถ้วน ในรูปแบบของอุปสรรคต่างๆ บางครั้งเล่นเอาเกือบตาย แต่ทุกครั้งก็ผ่านมาได้ เขาได้เรียนรู้ว่าปีศาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ภายในใจ
ในช่วงระยะท้ายๆ ก่อนเข้าสู่เส้นชัย ชุมพลยื่นกล้องโกโปรให้นาวางวิ่งล่วงหน้าเข้าเส้นชัยก่อน และขอให้ดักรอบันทึกภาพขณะตนเองวิ่งเข้าเส้นชัย อย่างน้อยชุมพลคิดว่าตัวเองควรจะได้ห็นวินาทีที่สำคัญในชีวิตนักวิ่งชาวไทย หลังรอนแรมมายาวนาน 48 วัน รวมระยะทางเบ็ดเสร็จประมาณ 1,600 กิโลเมตร
เมื่อก้าวข้ามพ้นเส้นชัย เขาคิดว่าไม่ได้พิชิตสิ่งใดเลยนอกจากตัวเอง
ขอบคุณเกรทฮิมัลเรซ 2017 ที่แนะนำให้เขารู้จักตัวเอง และขอบคุณหิมาลัยที่ปล่อยเขากลับบ้าน
ขอขอบคุณ
ดร. ชุมพล ครุฑแก้ว, เพจ บันทึกสองเท้า
หนังสือ ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต เรียงเรียงโดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ จัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.02-218-9872
#บันทึกสองเท้า #หิมาลัย #วิ่ง #วิ่งเพื่อสุขภาพ #Run #PlayNowThailand #KhelNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา