14 พ.ย. 2020 เวลา 09:02 • การเมือง
[ รายงาน กมธ. #CPTPP - ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากการเข้าร่วมCPTPP เป็นเพียงประโยชน์ระยะสั้นๆ ไม่คุ้มค่ากับเกษตรกรโดยตรง ]
วันนี้ ผมขึ้นอภิปราย เพื่อสรุปยืนยันหลังจากมีการศึกษาผลกระทบ CPTPP ของกมธ. อีกครั้งว่า ประเทศไทย “ได้ ไม่คุ้มเสีย” จากการเข้าร่วม CPTPP เพราะประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้นั้นเล็กน้อย แต่กระทบกับภาคเกษตรโดยตรง และเงื่อนไขจำกัดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จะขัดขวางการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้นั้นถือว่าเล็กน้อยมาก เพราะมีเพียง 2 ประเทศ คือ แคนาดาและเม็กซิโก ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี และเป็นสัดส่วนการส่งออกของไทยเพียง 2% เท่านั้น และที่สำคัญ ตัวเลขเหล่านี้ มองข้ามผลกระทบต่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าสินค้าเกษตรในหลากหลายอาชีพ ทั้ง ข้าวโพด 425,000 ครัวเรือน ผู้เลี้ยงหมู 173,000 ครัวเรือน มะพร้าว 163,000 ครัวเรือน
รัฐบาลต้องมีคำตอบให้เกษตรกรเหล่านี้ว่าจะให้พวกเค้าเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการเปิดรับสินค้านำเข้าเหล่านี้ยังไง เพราะว่ามันหมายถึงรายได้ทั้งชีวิตและอีกหลายชีวิตที่พวกเค้าต้องเลี้ยงดูอยู่ และรัฐบาลจะอ้างถึงกองทุน FTA (เขตการค้าเสรี เป็นการทำความตกลงทางการค้าของประเทศ) สำหรับใช้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบก็ไม่มีเกษตรกรไหนเค้าเชื่ออีกแล้ว เพราะกองทุน FTA ผ่านมา 10 กว่าปี งบประมาณที่ใช้พันกว่าล้านบาท ก็ยืนยันว่าไม่สามารถยกระดับการแข่งขันให้กับเกษตรกรโคเนื้อและโคนมตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน FTA ได้เลย
สำหรับประเด็น เงื่อนไขการเข้าร่วม UPOV 1991(อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ ) นั้นชัดเจนจากรายงานของ กมธ.ว่าการเข้าร่วมข้อตกลง UPOV นั้น จะทำให้กลุ่มทุนเมล็ดพันธุ์ที่ถือครองพันธุ์พืชใหม่มีความได้เปรียบจากสิทธิในพันธ์พืชใหม่ที่ครอบครองอยู่ และเกษตรกรเกือบทุกกลุ่มเห็นว่าประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการเข้าร่วม UPOV 1991 และจะต้องเป็นหน้าที่ภาครัฐ ที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านการลงทุน R&D เมล็ดพันธุ์ ในระดับเดียวกับ ประเทศสมาชิก UPOV ก่อนเข้าร่วม ยิ่งเป็นอีกประเด็นที่ทำให้การเข้าร่วม CPTPP นั้นจะทำให้เกษตรกรเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง
แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด เเละไม่ค่อยถูกพูดถึง คือ เงื่อนไขของ CPTPP ที่จะกระทบนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ภาครัฐจะห้ามตั้งเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ห้ามให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ห้ามกำหนดมาตรการชดเชยเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับประเทศไทยยุคสมัยนี้
ผมอยากฝากข้อสังเกตุให้ทุกท่านและรัฐบาลคิดตาม ว่านานเท่าไหร่แล้ว ที่ประเทศไทยไม่มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลขายฝันไว้ว่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้จาก EEC ไปถึงไหนแล้ว ผมมั่นใจว่ามันถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเริ่มสร้างอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศ ให้การสร้างอุตสาหกรรมใหม่เป็นกลไกหลักในการพาประเทศไทยก้าวข้ามความเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปได้
และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนี่เองที่จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเป็นกลไกให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ภายในประเทศได้ง่ายขึ้น อุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมรถไฟ อุตสาหกรรมกำจัดขยะ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร หรือแม้แต่อุตสาหกรรมอาวุธความมั่นคง จะถูกเร่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่และกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยได้ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
จากความต้องการในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ภายในประเทศไทยเอง และงบประมาณจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประเทศไทยสามารถกำหนดให้สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีแผนแม่บทที่สะท้อนถึงขนาดตลาดภายในประเทศและสิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการในประเทศที่ชัดเจน เอกชนถึงจะมั่นใจในการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศไทย
แต่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ จะถูกจำกัดถ้าประเทศไทย เข้าร่วม CPTPP เพราะเป็นเงื่อนไขของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศพัฒนาแล้วแทนการพัฒนาอุตสาหกรรม
และถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน สำหรับประเทศกำลังพัฒนาเหมือนอย่างที่เวียดนาม หรือ มาเลเซียได้ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ว่าจะภายใน 12 ปี หรือ 25 ปี และด้วยวงเงินที่จำกัดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างลงทุกปี จนสุดท้ายจะเหลือเพียงโครงการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุดที่ให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกอบการในประเทศ ไม่เกิน 6 ล้านบาทต่อโครงการเท่านั้น ซึ่งแน่นอนครับว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้าง 6 ล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นกลไกสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้แน่นอน
ดังนั้นโดยสรุป ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากการเข้าร่วม CPTPP เป็นเพียงประโยชน์ระยะสั้นๆ จากการค้าเสรี 2 ประเทศที่จะเพิ่มขึ้น ไม่คุ้มค่ากับผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกร ที่เป็นกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดของสังคมไทย และขัดขวางการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ที่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดในการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ไปในระยะยาว
และประเด็นทิ้งท้ายที่ผมอยากให้กรรมาธิการชี้แจง ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งประเทศอเมริก จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคเดโมเครต และอเมริกาอาจจะอยากเข้าร่วม CPTPP อีกครั้ง เงื่อนไขด้านสาธารณสุข ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา ที่เคยยกเว้นไว้อาจะถูกมาเป็นเงื่อนไขอีกครั้งและจะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง เพราะถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลอเมริกา แต่ข้อเท็จจริงคือ อุตสาหกรรมยาเป็นผู้สนับสนุนหลักในทุกพรรคการเมือง ดังนั้นเงื่อนไขผลประโยชน์ด้านสิทธิบัตรยา จะมีโอกาสสูงที่จะถูกหยิบขึ้นมาเป็นเงื่อนไขต่อรองอีกครั้งสำหรับการเข้าร่วม CPTPP แน่นอน
#ก้าวไกล #CPTPP #สสเติ้ล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา