4 ธ.ค. 2020 เวลา 01:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
จากเด็กผู้แบกความฝันของคนในบ้านที่อยากให้เขาเติบโตขึ้นเป็นสัตว์แพทย์ วันหนึ่งโชคชะตาได้นำพาเขาเข้าสู่เส้นทางของแฟชั่น และวันนั้นเองที่เขาได้ค้นพบตัวเอง และก้าวเดินจนกลายเป็น Visual Merchandiser ของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังระดับโลกในสาขาออสเตรเลีย
อะไรคือจุดพลิกผันในชีวิตของเขา ธุรกิจแฟชั่นมีกลไกการขายหน้าร้านอย่างไร และ Visual Merchandiser มีหน้าที่อะไรบ้าง วันนี้ Career Fact มีคำตอบมาให้ผู้อ่านทุกท่านแล้ว
#จากสัตวแพทย์สู่แฟชั่น
คุณกองปราบ สพลเชษฐ์ งามถิ่น คือ Visual Merchandiser (VM) หรือก็คือ ผู้จัดการสินค้าแฟชั่นที่ดูแลด้านการออกแบบและจัดวางในร้านเพื่อส่งเสริมยอดขาย โดยปัจจุบันเขาทำงานร่วมกับแบรนด์แฟชั่นระดับชั้นนำของโลกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
คุณกองปราบ เริ่มต้นเล่าเรื่องชีวิตของเขาให้กับทีมงาน Career Fact ฟังว่า สมัยเด็กครอบครัวของเขาอยากให้เป็นสัตว์แพทย์ เขาจึงตั้งใจเรียนและฝ่าฟันจนได้เรียนสายวิทย์คณิตในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างไรก็ดี เขาก็ยอมรับว่าไม่ชอบด้านนี้เลย ประกอบกับช่วงนั้น เขาได้รู้จักเพื่อนคนหนึ่งที่พาเขาไปเข้าสู่วงการศิลปะ ซึ่งมันทำให้เขาเริ่มตกหลุกรักกับเส้นทางนี้ เขาเริ่มเปิดใจคุยกับคุณแม่และเริ่มไปเรียนศิลปะตามสถาบันต่างๆ ซึ่งแม้จะเริ่มช้ากว่าคนอื่น แต่ท้ายที่สุด เขาก็สอบติดคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสิ่งทอจนได้
1
คุณกองปราบ บอกว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นคนวาดรูปไม่เก่งแต่ด้วยความที่มีใจรักในแฟชั่น ทำให้เขาเลือกเรียนที่คณะนี้ เพราะเนื้อหาไม่ Abstract เกินไป เขารู้สึกว่าคงแข่งกับเด็กที่จบทางด้านศิลป์ตรงๆ มาไม่ได้ และด้วยความที่เรียนวิทย์คณิต ทำให้เขายิ่งคุ้นเคยกับระบบที่เป็นเหตุและผล มีที่มาที่ไปมากกว่า หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คุณกองปราบก็ไปเรียนต่อที่ RMIT University ประเทศออสเตรเลีย สาขาการจัดการสินค้าแฟชั่น ซึ่งเป็นสาขาเน้นการสร้างธุรกิจกับแฟชั่น เช่นการใช้ข้อมูลเชิงสถิติมาวิเคราะห์ในเชิงอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้คนที่จบมาส่วนใหญ่จะออกแบบแฟชั่นให้ตอบโจทย์ของผู้บริโภคมากที่สุด ไม่เหมือนดีไซน์เนอร์ที่ออกแบบให้สวยที่สุด
2
#โลดแล่นในวงการ
คุณกองปราบ เริ่มต้นจากการเป็นเซลส์ชั่วคราวให้กับแบรนด์ดังแห่งหนึ่งในช่วงคริสมาสต์ ที่เมืองเมลเบิร์น เขาเริ่มต้นทำงานพร้อมกับเรียนรู้จาก VM คนเก่าไปด้วย เขาเริ่มเรียนรู้ถึงแนวทางการจัดวางสินค้าแฟชั่นให้ดึงดูดคนซื้อ เขาเริ่มสังเกตบรรยากาศในร้าน ค่อยๆ ซึมซับความรู้เหล่านี้เข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง VM คนดังกล่าวตัดสินใจลาออก จากที่เป็นเซลส์ชั่วคราว เขาได้ขยับขึ้นมาเป็นพนักงานขายประจำโดยได้ดูแลการออกแบบการจัดวางในร้านควบคู่ไปด้วย
คุณกองปราบเล่าต่อว่า ครั้งหนึ่งมี VM Manager จากซิดนีย์มาดูงานที่ร้านและเริ่มเห็นถึงความสามารถของเขา จนทำให้เขาได้รับโอกาสให้ลองดูแลสาขาอื่นๆ อย่างร้าน Outlet ในเมือง รวมถึงไปถูกส่งให้ไปดูแลร้านสาขาที่ซิดนีย์เป็นเวลา 3 วันด้วย ซึ่งผลจากการเดินทางครั้งนั้น คุณกองปราบก็ได้รับข้อเสนออย่างเป็นทางการให้เลื่อนขั้นเป็น VM ประจำเมืองเมลเบิร์นทันที
“เพราะจังหวะมันได้ เวลาถูกต้อง ความพยายามที่ทำมาก็ส่งผล”
#VisualMerchandiser #Merchandiser #Designer
สำหรับในวงการแฟชั่น หลายๆ คนอาจจะคุ้นหูกับการเป็นดีไซน์เนอร์ออกแบบเสื้อผ้ามากกว่า ทว่าความจริงแล้ว การทำธุรกิจแฟชั่นมีหลายตำแหน่ง นอกจากดีไซน์เนอร์ที่เป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าให้ออกมาสวยที่สุดแล้ว ขณะเดียวกันก็จะมี Merchandiser ที่มาถ่วงสมดุล คอยช่วยกระบวนการออกแบบของดีไซน์เนอร์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สุดและนำเสนอ Material ที่ต้นทุนต่ำกว่า ในราคาที่คุ้มทุนมากที่สุด
สำหรับตำแหน่ง VM นั้น คุณกองปราบเล่าให้ฟังว่า เขามีหน้าที่ในการจัดวางสินค้าแฟชั่นของร้าน ให้มีความสวยงามและสามารถส่งเสริมการขายได้ โดยการดึงดูดผู้ซื้อผ่านการใช้ข้อมูล และสถิติต่างๆ มาเป็นเครื่องมือ รวมถึงจัดร้านตามแบรนด์บุ๊คที่บริษัทกำหนดมาให้ ซึ่งก็คือสิ่งที่กำหนดแนวทาง มู๊ดแอนโทนในแต่ละช่วงของร้าน เพื่อให้ Journey ทั้งหมดของลูกค้าเป็นอย่างราบรื่น ไม่รู้สึกสะดุดสายตา รายงานระบุว่า กว่า 80% ของลูกค้าที่เข้ามาซื้อของนั้น คือลูกค้าที่ถูกดึงดูดด้วยการตกแต่งสินค้าหน้าร้าน (Window Shopping)
#ชั้นวางไม่ใช่แค่เพื่อวาง
นอกจากนั้น เขายังมีหน้าที่ในการดูแล Priority Wall ด้วย หรือเรียกง่ายๆ ก็คือบรรดาชั้นวางสินค้าในร้าน เขาต้องวางแผนว่าสินค้าชิ้นไหนควรอยู่ตรงไหน ชิ้นที่ขายไม่ดีจะไว้ตรงไหน หรือชิ้นที่ขายดีอยู่แล้วควรจะอยู่ชั้นไหน
เขาเล่าเพิ่มอีกว่า แต่ละร้านจะมีวอลล์อยู่ประมาณ 4-7 วอลล์ ซึ่งแน่นอนว่าตำแหน่งของแต่ละวอลล์ล้วนแต่มีความแตกต่างกัน หากอยู่ในจุดที่เข้าร้านและเห็นเลย จะนับเป็นจุดที่ดีที่สุด ในขณะที่จุดอื่นๆ เป็นจุดรอง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือแต่ละชั้นบนวอลล์ก็มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกัน โดยยกตัวอย่างวอลล์ที่มี 4 ชั้น
1
คุณกองปราบ บอกว่า จากชั้นหนึ่งถึงชั้น 4 (เรียงจากล่างขึ้นบน) ชั้นล่างสุดและชั้นบนจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในแผนการส่งเสริมของร้านในขณะนั้น โดยมักจะเป็นโมเดลที่ตกรุ่นแล้ว สีที่ไม่นิยมจะวางไว้ชั้นบนสุด เพราะลูกค้าจะไม่สามารถเอื้อมถึง ในขณะที่ชั้นล่างสุดจะเป็นรุ่นเดียวกับด้านบน แต่เป็นสีที่คลาสสิคกว่า ในขณะที่ชั้น 3 ไม่ต่างจากชั้นหนึ่งเท่าไหร่ แต่สินค้าจะเป็นตัวที่คนยังพอให้ความสนใจมากอยู่ สำหรับชั้นที่สำคัญที่สุดตกไปอยู่ชั้น 2 เพราะเป็นระดับเดียวกับสายตาคน (Eye Level) ทำให้สินค้าที่กำลังอยู่ในกระแส จะถูกจัดวางไว้ในชั้นนี้ รวมถึงบางครั้ง อาจนำสินค้าที่ขายไม่ได้ มาจัดวางไว้ในชั้นนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
#พิษโควิด
คุณกองปราบ ยอมรับว่าทางแบรนด์ต้องมีการปรับตัวพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจนมีหลายแบรนด์ที่ปิดตัวลงในออสเตรเลีย โดยเขาเล่าให้ฟังว่าส่วนตัวเขาเอง ตอนแรกกำลังจะได้เลื่อนขั้นเป็น Regional Visual Merchandiser Manager ที่ดูแลทุกสาขาในรัฐวิคตอเรีย แต่แผนการก็ต้องถูกชะลอไว้ก่อน
ขณะที่บริษัทของเขาก็หันมาออกแบบสินค้าที่เป็นเครื่องประดับมากขึ้น เนื่องจากตอบโจทย์การซื้อออนไลน์ ที่คนสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เขาต้องฟันฝ่าไปให้ได้
ปัจจุบันเขาสามารถร่วมงานกับแบรนด์ดังได้เพราะวีซ่านักเรียน ที่อนุญาตให้เขาสามารถทำงานได้หลังเรียนจบอีก 2 ปี ในขณะที่เวลาใกล้จะครบกำหนด ความท้าทายสำหรับเขาก็ยิ่งมากขึ้น
#ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่
คุณกองปราบ ยอมรับว่า เขาคิดว่าการศึกษาของไทยยังปิดกั้นโอกาสของเด็กอยู่พอสมควร ยกตัวอย่าง ตอนมัธยมก็มีเพียงไม่กี่แผนการเรียนให้เลือก ซึ่งมันทำให้การเรียนรู้ของเด็กต้องชะงัก อีกทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังมีให้เห็นอยู่ หากมีฐานะทางการเงินที่ดีหน่อย ก็จะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ อย่างไรก็ตามเขายังเชื่อว่า หากประเทศไทยให้ความสำคัญกับทุกอาชีพเท่าๆ กัน จะทำให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถปรากฏขึ้นอีกมากอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน คุณค่าของการทำงานสายแฟชั่น คุณกองปราบคิดว่า ไม่อยากให้ไปยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อชอบแฟชั่นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นดีไซน์เนอร์เท่านั้น ยังมีอีกหลายมิติในการทำงานด้านนี้ หรือถ้าเป็นดีไซน์เนอร์ ก็อย่ายึดติดกับความสวยงามเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างที่ออสเตรเลีย ดีไซน์เนอร์ก็ยังคงคำนึงถึงการใช้งานและความเหมาะสมอีกด้วย
ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะในแง่การออกแบบหรือการทำงานในสายแฟชั่น ขอให้อย่ายึดติดในมุมๆ เดียว เพราะสุดท้ายศิลปะมันมีหลากหลายมุมให้มอง คนที่เก่งคือคนที่สามารถเชื่องโยงเข้ากับโลกธุรกิจได้ อย่างเขาที่วาดรูปไม่สวย เรียนวิทย์คณิตมา แต่ก็ยังทำงานและโลดแล่นในวงการแฟชั่นได้
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
…………………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา