9 ธ.ค. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
ในยุคที่การย้ายงานบ่อยเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนรุ่นใหม่ อะไรทำให้เขาคนนี้ทำงานบริษัทแรกและบริษัทเดียวได้ยาวนานกว่า 6 ปี?
วันนี้ Career Fact จะมาเล่าเรื่องราวชีวิตของ พี่เอ็ม ‘วริทธิ์นันท์ ไตรรัตโนภาส’ ชายหนุ่มผู้มีความสุขและพร้อมทุ่มเทกับงานจนยอมสละเวลานอนและชีวิตส่วนตัว ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็น Director ที่อายุน้อยที่สุดใน Garena พร้อมกับดูแลธุรกิจร้านอาหาร HANJI - Taiwanese Hot Pot
เขาพบงานที่เขารักตั้งแต่งานแรกได้อย่างไร? ค้นหาคำตอบได้ที่นี่
#ความชอบในวัยเด็ก
พี่เอ็มในวัยเด็กรักทั้งการเรียนและการเล่นกีฬา แต่จะเอนไปด้านกีฬามากกว่า ช่วง ป.1-ป.6 พี่เอ็มเล่นปิงปองได้พอสมควรจนได้รับเลือกไปแข่งเป็นตัวแทนโรงเรียน แต่ด้วยนิสัยชอบลองอะไรหลายๆ อย่างเลยไม่ได้เล่นแค่อย่างเดียว เมื่อขึ้นชั้นมัธยม พี่เอ็มเรียนต่อที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี ทำให้มีโอกาสได้ลองเล่นกีฬาหลากหลายชนิด เขาก็ลองเล่นทั้งบาสเก็ตบอล แบตมินตัน ว่ายน้ำ และอื่นๆ อีกมายมาย ส่วนงานอดิเรกยามกลับถึงบ้านก็ไม่ต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเท่าไหร่นัก นั่นก็คือการเล่นเกมส์ โดยพี่เอ็มเริ่มเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ ป.5 ลากยาวจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
#คู่แข่งหนึ่งเดียวคือตัวเอง
เนื่องจากกีฬาและเกมส์มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ‘การแข่งขัน’ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุผลที่ชอบทำทั้งสองอย่างนี้เป็นเพราะชอบแข่งขันด้วยหรือเปล่า แต่พี่เอ็มให้คำตอบมาว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ชอบการแข่งในแง่ของการอยากเอาชนะคนอื่นขนาดนั้น ถ้าให้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คงแค่ราว 30% ส่วนอีก 70% ที่เหลือคือไม่อยากทำให้ตัวเองผิดหวังมากกว่า อีกนัยหนึ่งคือเป็นการสู้กับตัวเองด้วยการพยายามให้เต็มที่นั่นเอง
แนวคิดนี้พี่เอ็มบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากคุณพ่อ “เขาสอนให้ลูกทุกคนลองพยายามให้มากที่สุดเพื่อให้ประสบความสำเร็จกับอะไรสักอย่างในชีวิต เมื่อมันไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราจะได้ไม่เสียดายที่ไม่ได้พยายาม” พี่เอ็มกล่าว
ในขณะเดียวกัน คุณพ่อก็พร้อมสนับสนุนเสมอ ไม่ว่าลูกๆ จะเลือกทางใดก็ตาม คุณพ่อพี่เอ็มเคยเล่าเรื่องชาวต่างชาติท่านนึงให้ฟังอยู่ครั้งหนึ่งว่า เขาคนนั้นเป็น Stock Broker ที่เก่งมาก สามารถทำรายได้ได้สูงถึง 3-4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่ทำอยู่แค่ประมาณ 5 ปีก็ลาออกมาทำธุรกิจเช่าเรือ ทั้งๆ ที่อนาคตของเขาในเส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล แต่เพราะเบื่อที่ต้องคอยปั้นหน้าเข้าหาคนอื่นตอนทำงาน และเงินที่ได้มาก็มากพอ เขาจึงตัดสินใจลาออกมาใช้ชีวิตตามที่ต้องการ สิ่งที่คุณพ่อพยายามจะบอกก็คือ จะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ และจะไม่กดดันให้ต้องประสบความสำเร็จมากไปกว่านี้ ขอแค่ทำให้เต็มที่ก็พอ
#พยายามหนักแค่ไหนกับงานแรก
พี่เอ็มเล่าให้ฟังว่า งานหนักตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงาน เริ่มจากการทำข้อสอบวัดตรรกะ วัด EQ ธรรมดา ซึ่งพี่เอ็มก็ทำไปตามปกติและทำเสร็จในหนึ่งชั่วโมงแรก แต่ความหนักหนาที่พูดถึงคือ หลังจากนั้น เขาถูกทิ้งให้รอในห้องคนเดียวอยู่นานถึง 4 ชั่วโมง จน Head ของ SeaMoney ในขณะนั้นเดินผ่านมาเห็นแล้วถึงนึกได้ว่าตัวเองทิ้งพี่เอ็มให้อยู่คนเดียว และเพื่อเป็นการขอโทษจึงให้โอกาสพี่เอ็มได้ไปสัมภาษณ์กับ Terry Zhao President ของ Garena จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังไม่มั่นใจว่าทุกอย่างเป็นการจัดฉากหรือถูกลืมจริงๆ กันแน่ พูดทิ้งท้ายแบบติดตลก
1
ช่วงแรกที่เข้ามาทำงานพี่เอ็มต้องทำงานเฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง และต้องเรียนรู้หลายอย่างตั้งแต่เริ่มเพราะการเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเกมส์และการเป็นผู้เล่นเกมส์เฉยๆ ย่อมมีความต่าง หลังทำงานมาได้เพียงไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตการทำงานของพี่เอ็มขึ้นเมื่อ Product Manager (PM) ลาออกกะทันหัน และเพราะพี่เอ็มเป็นคนเดียวที่ทำงานกับ PM คนดังกล่าวโดยตรง พี่เอ็มจึงได้รับมอบหมายเป็น Product Manager ตั้งแต่อายุเพียง 22-23 ปี นับว่าเป็นภาระที่หนักหนาเอาการสำหรับเด็กจบใหม่ แต่พี่เอ็มเชื่อว่าคนเรามันมีจังหวะในชีวิตของแต่ละคน เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องทำตัวเองให้พร้อม ถ้าไม่เตรียมลำปืนให้ดี ตอนที่กระสุนมาก็ยิงไม่ออก สุดท้ายก็จะเสียโอกาสนั้นไป
#ความท้าทายในการบริหารคน
นอกจากแรงกดดัน อีกปัญหาหนึ่งที่มาพร้อมกับตำแหน่งระดับสูงสำหรับคนอายุน้อยคือ ‘จะทำยังไงให้คนอายุมากกว่าฟังเรา?’
อย่างแรกคือต้องถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่นอยู่เสมอ อย่างที่สองคือต้องรู้จักให้โอกาสคน เพราะพี่เอ็มเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่พร้อมจะพัฒนาได้ ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่าพี่เอ็มหลายคนจึงไว้ใจในการให้โอกาสพี่เอ็มตัดสินใจ เพราะเขาช่วยให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกันได้ ทีมที่ได้ร่วมงานกับพี่เอ็มเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันคนกลุ่มนั้นก็ยังทำงานอยู่ที่ Garena และแต่ละคนก็มีบทบาทที่สำคัญต่อบริษัทอีกด้วย
“ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่บางครั้งประสบการณ์ก็มีมูลค่ามากเช่นกัน”
ปกติคนที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงมากมักจะโดนแทนที่ได้ง่ายในบริษัทใหญ่ๆ แต่วัฒนธรรมองค์กรที่นี่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ที่ Garena เชื่อว่าประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อมีประสบการณ์ก็จะตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด หากลองสังเกตคนที่ประสบความสำเร็จดูก็จะพบว่า เวลาพวกเขาตัดสินใจทำอะไร ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการใช้สมองเพียงอย่างเดียวแต่มาจากสัญชาตญาณที่ได้มาจากประสบการณ์ โลกนี้มีคนฉลาดมากมาย มีเด็กจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทุกปี แต่คนกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างความแตกต่างให้ตัวเองจนประสบความสำเร็จและเปล่งประกายออกมาได้ ก็คือกลุ่มที่ไม่ได้มีแค่ความรู้แต่ยังมีประสบการณ์ด้วยนั่นเอง
#เจ้าของกิจการVSพนักงาน
พี่เอ็มเชื่อว่าทุกคนเกิดมาจะมีคุณสมบัติบางอย่างของตัวเองที่บ่งชี้ว่าควรเลือกสายเจ้าของกิจการ (Entrepreneur) หรือ พนักงาน (Corporate Employee) อย่างตัวพี่เอ็มเองก็รู้ว่าเป็นสาย Entrepreneur ตั้งแต่ตอนเรียนเกรด 11 ที่ร่วมฤดี เขาก็เลือกเรียนวิชาสายธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เลือกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก
เพราะแบบนั้น พี่เอ็มจึงมีช่วงเวลาที่สงสัยว่าตัวเองคิดถูกหรือเปล่าที่เลือกมาสายพนักงานที่ Garena แต่พอได้ร่วมงานกับผู้นำที่ดี เจอวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ความคิดก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยที่นี่ให้ Ownership กับพนักงานสูงมาก พนักงานหลายคน แม้ตำแหน่งไม่ได้สูงระดับผู้บริหาร แต่ก็มีสิทธิ์ในการตัดสินใจที่บางครั้งก็ตีมูลค่าได้เป็นเงินหลักล้าน เพราะที่นี่เชื่อในความสามารถของคนรุ่นใหม่และคนที่มี Passion ต่อธุรกิจวงการเกมส์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ชอบเล่นเกมส์ แต่เป็นการเข้าใจและศึกษาอย่างจริงจัง จุดนี้เองทำให้พี่เอ็มรู้สึกว่าเวลาอยู่ที่นี่ ก็เหมือนตัวเองเป็น Entrepreneur คนหนึ่ง
#HANJI
HANJI มีที่มาจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในไต้หวัน ซึ่งพี่ชายของพี่เอ็มเป็นเพื่อนกับเจ้าของร้าน เขาจึงไปขอสูตรมาเปิดร้านที่ไทย จากนั้นพี่ชายจึงชวนพี่เอ็มมาทำด้วยกัน เพราะเห็นว่าพี่เอ็มน่าจะมีมุมมองที่ช่วยพัฒนาร้านไปด้วยกัน ช่วยกันคิดและแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
แค่ทำธุรกิจส่วนตัวอย่างเดียวก็เหนื่อยมากแล้ว แต่พี่เอ็มทำทั้งงานประจำและธุรกิจส่วนตัว ทาง Career Fact จึงอยากรู้เคล็ดลับการบริหารเวลา โดยพี่เอ็มบอกว่า สาเหตุหลักที่ทำไหวนั้นเป็นเพราะมีพี่ชายที่ดูแลร้านนี้เป็นหลักอยู่แล้ว ตนแค่ทำเป็น Part-time เท่านั้น ทำให้สามารถโฟกัสกับงานที่ Garena ได้ แต่ทุกครั้งที่ทำอะไรสักอย่าง พี่เอ็มจะหวัง Impact ที่มีประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรเสมอ
แต่ถึงอย่างนั้นในช่วง 6 เดือนแรกของการเริ่มทำ HANJI ก็สาหัสเอาการอยู่เหมือนกัน เพราะต้องจัดการหลายเรื่อง ทั้งต้องคุยกับผู้รับเหมา ทั้งต้องจัดการกับ Supplier ที่มีหลายเจ้ามาก เนื่องจากไม่ได้สั่งวัตถุดิบทั้งหมดจากร้านเดียวกัน แถมราคาก็ผันผวนตามฤดูกาลอีก การคำนวนค่าใช้จ่ายจึงทำได้ยาก วันเสาร์อาทิตย์แทนที่จะได้พักผ่อนก็ต้องมาช่วยประคอง HANJI บางทีหลังเลิกงานวันธรรมดาก็ยังต้องมาช่วยตรงนี้อีก รวมๆ แล้วก็แทบไม่มีเวลานอนเลย
.
นอกจากนี้ ในยุคที่มีร้านชาบูหม้อไฟอยู่แทบทุกมุมถนน การจะทำการตลาดเพื่อดึงความสนใจให้คนมาลองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การทำ Branding เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดย HANJI วาง Position ตัวเองเป็นหม้อไฟพรีเมี่ยม ใช้วัตถุดิบอย่างดีนำเข้าจากต่างประเทศ และเน้นไปที่รสชาติน้ำซุปสูตรต้นตำรับส่งตรงจากไต้หวัน
#SacrificeAndDrive
“There’s a sacrifice to be made”
พี่เอ็มไม่ได้เสียสละแค่เวลานอนเท่านั้น แต่ยังเสียสละเวลาส่วนตัวด้วย พี่เอ็มมองว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ การทุ่มเวลาเพื่อแลกกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ละคนต่างก็อาจจะมองจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน สำหรับพี่เอ็มการเลือกไปเที่ยวในคืนวันศุกร์อาจหมายถึงคุณภาพของร้านอาหารที่ลดลง รายได้หลักหมื่นที่หายไป หรือการก้าวตามวงการธุรกิจร้านอาหารที่เปลี่ยนแปลงเร็วไม่ทัน
‘Drive’ หรือแรงจูงใจของพี่เอ็มที่มีมากจนยอมเสียสละสิ่งเหล่านี้คือ ‘Achievement’ หรือความสำเร็จ เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วพยายามเต็มที่จนทำได้ตามเป้า ก็จะทำให้อยากเอาชนะตัวเองเพื่อสร้างความสำเร็จใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก
“เมื่อคุณมี Drive มากพอ มันก็จะพาคุณไปถึงจุดที่ต้องการ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องเลือกงานเป็น Priority แบบพี่เอ็ม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมี Drive หรือแรงจูงใจมากพอจนยอมแลกไหม หรือขึ้นอยู่กับว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร ไม่มีทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่ผิด
#ความพลาดพลั้งของสตาร์ทอัพ
คนทั่วไปมักคิดว่าสตาร์ทอัพไม่ประสบความสำเร็จเพราะตลาดอาจจะยังไม่พร้อมหรือโปรดักต์ไม่เวิร์ก แต่ความจริงสตาร์ทอัพส่วนใหญ่พังเพราะมีพาร์ทเนอร์ที่ไม่ดีจนทำให้เกิดปัญหาภายในจากการไม่ลงรอยกัน นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่พี่เอ็มเลือกทำธุรกิจส่วนตัวกับพี่ชายเพราะพวกเขาสองคนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
นอกจากเคมีที่ดีแล้วยังไม่ควรมีพาร์ทเนอร์เกิน 4 คนอีกด้วย เพราะไม่เช่นนั้น การตัดสินใจจะกลายเป็นความยุ่งยาก ยิ่งถ้าหากกำลังอยู่ในจุดที่กำลังไปได้ดี ทุกคนเห็นช่องทางในการทำกำไร ยิ่งคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจมีมากเท่าไหร่ ความเห็นต่างกันก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น สุดท้ายก็ตกลงกันไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรต่อดี
#TrustYourself
พี่เอ็มให้คำแนะนำแก่ทุกคน โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ไว้ว่า “ถามตัวเองว่าอยากเป็นอะไร” เพราะถ้าไม่มีเป้าหมาย เราก็จะไม่รู้วิธีการไปให้ถึงเป้าหมาย และที่สำคัญคือ อย่าไหลไปตามกระแสสังคม เพราะถ้าพี่เอ็มไหลตามกระแสของคนที่จบสายไฟแนนซ์ว่าต้องไปสมัครงานเป็น ที่ปรึกษาธุรกิจบริษัทดังๆ ก็คงไม่มีตัวเขาในทุกวันนี้ เพราะพี่เอ็มรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรถึงได้เลือกที่จะไปทำบริษัทเกมส์นั่นเอง ไม่มีอะไรผิดหรือถูก
ย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้วคงแทบไม่มีใครรู้จัก Garena พนักงานก็มีแค่สามสิบคน ความมั่นคงเทียบกับทำงานตรงสายไม่ได้เลย แต่เพราะพี่เอ็มเลือกทำตามสิ่งที่ตัวเองรัก นั่นคือวงการเกมส์ พี่เอ็มจึงสามารถประสบความสำเร็จได้ในที่สุด และที่ทำมานานถึงขนาดนี้ได้ ก็เพราะไม่ต้องทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ พอเรารักงานเราก็จะทำได้ดี บริษัทก็จะตอบแทน จะเห็นว่าทุกอย่างเริ่มจากการถามตัวเอง
หลายคนอาจคิดว่า ไม่จำเป็นต้องรีบขนาดนั้น เพราะเดี๋ยวนี้คนก็เปลี่ยนงานกันเป็นปกติ แต่พี่เอ็มไม่อยากให้คิดว่าการเปลี่ยนงานเป็นสิ่งที่ดี เพราะคุณสมบัติหนึ่งที่พี่เอ็มตามหาในตัวพนักงานคือ Commitment ซึ่งเป็น 1 ใน 5 Core Value ของบริษัท ยกเว้นกรณีเจอสภาพแวดล้อมไม่ดี เพราะนั่นเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่หากเป็นไปได้ พี่เอ็มก็อยากให้รีบหาตัวเองให้เจอตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เสียเวลาเพราะก้าวพลาด
“อยากให้ Make the right choice ตั้งแต่เริ่ม เคยได้ยินไหม ก้าวแรกผิดแล้วก้าวต่อไปก็จะผิดยาว” พี่เอ็มกล่าวทิ้งท้าย
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา