1 ธ.ค. 2020 เวลา 02:59
เตรียมพร้อม สำหรับภาษีเงินได้ปี 2563
#5 การเครดิตภาษี
หลายคนได้รับการแนะนำว่าหากเรามีฐานภาษีในอัตราที่สูงกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย เราก็ไม่ควรนำเงินได้ประเภทที่ 4 หรือ ม40(4) มารวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ เพราะจะทำให้เราเสียภาษีเพิ่มขึ้น
แต่ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป! เพราะอะไร? บทความนี้มีคำตอบ
Credit : Unsplash.com
ขอสมมุติว่าในปีที่ผ่านมานายซี มีเงินได้ในรูปเงินเดือน 1.6 ล้านบาท และมีเงินได้จากเงินปันผล 4 แสนบาทซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เรียบร้อยแล้ว เมื่อนายซี ยื่นแบบแสดงฯ เพื่อชำระภาษีในต้นปีถัดมา นายซี ทดลองคำนวณภาษีเงินได้ 2 แบบ คือ เงินเดือนรวมเงินปันผล และ เงินเดือนอย่างเดียว (เลือกไม่นำเงินปันผลเข้ามารวม)
นายซี คำนวณแบบแรกคือ เงินเดือนและเงินปันผลรวมกัน พบว่าภาษีเงินได้เท่ากับ 325,000 บาท นายซีถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผลจำนวน 40,000 นายซียังต้องเสียภาษีเพิ่มเป็นเงิน 285,000 บาท (เพื่อให้เข้าใจง่ายขอสมมุติไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินเดือน) แต่โดยสรุป นายซี เสียภาษีรวมเท่ากับ 325,000 บาท
นายซี เลยลองคำนวณแบบที่สองคือ นำเฉพาะเงินเดือนมาคำนวณภาษี และยอมเสียภาษีเงินปันผลตามที่ถูกหักภาษีเงินปันผลที่ 10% เป็นเงิน 40,000 บาท เงินเดือน 1.6 ล้านของนายซี คำนวณได้ว่านายซีต้องเสียภาษี 225,000 บาท เมื่อนำภาษีทั้งสองรายการมารวมกัน นายซี เสียภาษีรวมเท่ากับ 265,000 บาท
เปรียบเทียบการคำนวณภาษีแบบแรก 325,000 บาท และการคำนวณภาษีของแบบที่สอง 265,000 บาท นายซึตัดสินใจเลือกการคำนวณเฉพาะเงินเดือนและไม่นำเงินได้จากเงินปันผลมารวมคำนวณ ดังนั้น นายซี เสียภาษีทั้งสิ้น 265,000 บาท
ใครยื่นเสียภาษี ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีนี้ ยกมือขึ้น?
คนที่ไม่ยกมือ เพราะไม่มีเงินได้จากเงินปันผล? หรือมีวิธีคำนวณภาษีแบบอื่นครับ?
Credit : Unsplash.com
การเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน
เมื่อธุรกิจมีกำไรก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สมมุตให้บริษัท ดีดี จำกัด มหาชน เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20%
บริษัท ดีดี จำกัด มหาชน มีกำไร 50ล้านบาท ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 10ล้านบาท เหลือกำไรหลังหักภาษีเท่ากับ 40ล้านบาท เมื่อบริษัทนำเงินกำไรมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น เงินปันผล 40ล้านบาท ยังต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลรวมเพียง 36ล้านบาท และภาษีโดยรวมที่เกิดขึ้นคือ 20ล้าน+4ล้าน เท่ากับ 24ล้านบาท หรือเท่ากับ 24% ของเงินกำไร แสดงให้เห็นถึงการเกิดปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน
การแก้ปัญหาที่เกิดภาษีซ้ำซ้อน ใช้วิธีการเครดิตภาษี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเสียภาษีเพียงชั้นเดียวเท่านั้น
การเครดิตภาษีเงินปันผล
เงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทไทยหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไทยจัดเป็นเงินได้ ม40(4)(ข) เป็นเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี แต่เปิดโอกาสให้เราเลือกไม่ยื่นภาษีก็ได้ถ้าเรายอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และยินยอมไม่ใช้สิทธิขอคือเครดิตภาษีเงินปันผล
เมื่อเราต้องการใช้เครดิตภาษีเงินปันผล เราก็ต้องคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลที่เราได้รับ โดย
เครดิตภาษีเงินปันผล =
(จำนวนเงินปันผล คูณ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)
หาร
(100 ลบ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)
นายซี ได้รับเป็นเงินปันผลจากบริษัท ดีดี จำกัด (มหาชน) ทำให้ทราบว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับ 20% จึงคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล 4 แสนบาท ได้ตามสูตรข้างต้น เท่ากับ 100,000 บาท (4แสน คูณ 20) หาร (100 ลบ 20)
การนำเครดิตภาษีเงินปันผลมาใช้คำนวณภาษี
เมื่อนำเครดิตภาษีเงินปันผลมาใช้สิทธิ ทำให้เครดิตภาษีฯ มีลักษณะเป็นทั้งเงินได้และสิทธิประโยชน์พร้อมกัน จึงต้องนำเครดิตภาษีมารวมกับเงินปันผลด้วย
กรณีของนายซี จึงถือว่ามีเงินได้จากปันผล รวม 400,000 (เงินปันผล) บวก 100,000 (เครดิตภาษีเงินปันผล) เท่ากับ 500,000 บาท
นายซี ลองคำนวณเงินได้โดยรวมเงินเดือนและเงินปันผลและนำเครดิตภาษีมาร่วมคำนวณด้วย เงินปันผลรวมเครดิตภาษีเท่ากับ 500,000 บาท นายซีคำนวณภาษีเงินได้และหักเครดิตภาษีออก 100,000 บาท นายซีมีภาษีเงินได้หลังหักเครดิตภาษี(ที่จ่ายผ่านบริษัท ดีดี จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว) เท่ากับ 250,000 บาท
เมื่อหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 40,000 บาท นายซีเสียภาษีเพิ่มเป็นเงิน 210,000 บาท ดังนั้นภาษีที่นายซี เสียทั้งหมดคือ 250,000 บาท
เมื่อเปรียบเทียบการคำนวณทั้ง 3 แบบ พบว่า
แบบแรก : รวมคำนวณ เงินเดือน + เงินปันผล มีภาษีรวม 325,000 บาท
แบบที่สอง : ยื่นแบบเฉพาะ เงินเดือน มีภาษีรวม 265,000 บาท
แบบที่สาม : รวมคำนวณ เงินเดือน + เงินปันผล + เครดิตภาษี มีภาษีรวม 250,000 บาท
จะเห็นได้ว่ากรณีของนายซี เมื่อนำเครดิตภาษีมาคำนวณด้วย จะทำให้นายซีมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่ำที่สุดในวิธีคำนวณทั้งสามวิธี นายซี จึงควรเลือกวิธีคำนวณแบบที่สามในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ขอลองทำตัวอย่างเปรียบเทียบเงินได้ที่แตกต่างกันว่าจะมีผลกับเงินภาษีและวิธีการเลือกคำนวณอย่างไร ตัวอย่างหากนายซี มีเงินได้จากเงินปันผลเพียงอย่างเดียวปีละ 2 ล้านบาท หากนายซีตัดสินใจไม่นำเงินได้จากเงินปัผลมาคำนวณภาษีและยินยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% นายซี จะเสียภาษีเท่ากับ 200,000 บาท แต่หากนายซีนำเงินได้นี้มาคำนวณภาษีเงินได้ร่วมกับเครดิตภาษี พบว่านายซีมีภาษีเงินได้เท่ากับ 497,000 บาท มากกว่าวิธีหัก ณ ที่จ่าย ที่เสียภาษี 200,000 บาท
แต่เมื่อนำเครดิตภาษีมาคำนวณพบว่า ในทางกลับกันนอกจากนายซีไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มแล้ว นายซีกลับได้รับเงินค่าภาษีคืนเป็นเงิน 203,000 บาทแทน เพราะแม้นายซีคำนวณภาษีที่ต้องชำระได้เท่ากับ 497,000 บาท แต่จากการเสียภาษีซ้ำซ้อนระหว่างภาษีเงินได้นิติฯ และ ภาษีเงินได้บุคคลฯ ทำให้เงินปันผลที่นายซีได้รับ มีเครดิตภาษีเงินปันผลเป็นเงิน 500,000 บาท และมีเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่หัก ณ วันจ่ายปันผลอีก 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ซึ่งมากกว่าภาษีที่นายซี คำนวณได้ นายซีจึงสามารถขอคืนภาษีส่วนที่เกิน 203,000 บาทคืนจากกรมสรรพากร
ใครที่เป็นนักลงทุนในหุ้นปันผลต่างๆ รวมทั้งคนที่ลงทุนในกิจการตามที่กำหนดให้สามารถนำเครดิตภาษีมาคำนวณได้ ลองหยิบเอกสารภาษีมาคำนวณวิธีการที่เหมาะสนสำหรับตัวเองดูนะครับ เพื่อจะได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
การนำเครดิตภาษีเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนมาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้ อาจให้ผลได้ทั้งการลดหรือเพิ่มจำนวนเงินภาษีรวมที่เราต้องชำระ ขึ้นกับจำนวนเงินได้ในแต่ละประเภทและฐานภาษีขั้นสูงสุดที่เกิดขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือให้ลองคำนวณแต่ละวิธีเหมือนนายซี เพื่อเลือกวิธีคำนวณที่ได้ภาษีเงินได้ต่ำที่สุด
ปัจจุบันการคำนวณสามารถทำได้ไม่ยากครับ ระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรช่วยเพิ่มความสะดวกในการคำนวณเครดิตภาษีจากหนังสือหักภาษีกองใหญ่ๆ ที่เรามีและสามารถนำข้อมูลไปกรอกลงในแบบฟอร์มให้ได้ด้วย
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลฯ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ สามารถดูได้จากหนังสือแจ้งรายละเอียดการจ่ายเงินปันผลของ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) แต่หากเป็นเงินปันผลของบริษัทฯ นอกตลาดก็ดูรายละเอียดแบบเดียวกันจากหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีหลัง มีสิ่งสำคัญคือต้องมั่นใจว่าการจ่ายปันผลได้แบ่งประเภทการเสียภาษีไว้อย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้มีปัญหาที่่ทั้งกับบริษัทและผู้เสียภาษีที่จะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมเงินเพิ่มในอนาคต
Credit : Internet
คำเตือน :
การนำเครดิตภาษีเงินปันผลมาใช้ในการคำนวณ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องระมัดวังมากๆ ดังนี้
- ถ้าเลือกยื่นเงินปันผลแล้ว ต้องยื่นเงินปันผลทุกก้อน ทั้งเงินปันผลหุ้นและเงินปันผลกองทุนรวม (กองทุนรวม RMF/LTF หรือกองทุนรวมทั่วไป)
- เงินได้ประเภทที่ 4 สามารถเลือกนำบางตัวที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายมาคำนวณ แต่ต้องนำเงินได้ในหมวดนั้นทั้งหมดมารวมคำนวณด้วย และไม่จำเป็นต้องนำหมวดอื่นมาคำนวณด้วย เช่นเลือกเงินปันผล(หุ้น+กองทุน) ที่เป็นหมวด (ข) มาคำนวณ ก็ไม่จำเป็นต้องนำผลตอบแทนจากหุ้นกู้และดอกเบี้ยเงินฝากที่เป็นหมวดอื่นๆ มารวมคำนวณด้วย
- เงินปันผลที่นำมาเครดิตภาษีต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายในระหว่างดำเนินกิจการ หากเป็นการจ่ายหลังบริษัทเลิกกิจการ จะกลายเป็น ม40(4)(ฉ) ไม่ใช่หมวด (ข) ไม่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้
- รายละเอียดของเงินปันผลที่นำมาเครดิตภาษีได้และไม่ได้ ศึกษาได้จาก http://www.rd.go.th/publish/11162.0.html หากไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนภาษีเพื่อความถูกต้อง เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก
บทความในซีรีย์ เตรียมพร้อม สำหรับภาษีเงินได้ปี 2563 ทั้ง 5 บทความน่าจะครอบคลุมแนวทางการวางแผนภาษีส่วนใหญ่แล้วครับ แต่ละบทความเป็นเพียงภาพกว้างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ หากจะนำไปใช้ในการวางแผนภาษีควรตรวจสอบในรายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ มีมากมาย และมีการปรับเปลี่ยนอยู่เป็นระยะ หากมีเงินได้จำนวนมากหรือไม่เข้าใจการคำนวณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือโทรสอบถามกรมสรรพากร Call Center 02 272 8000 ครับ
เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่อยู่ในบทความทั้งหมดของซีรีย์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ณ ปัจจุบัน (ปี 2563) หากมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในอนาคต ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ปรับเปลี่ยน
จากประสบการณ์สรรพากรแต่ละพื้นที่ให้คำตอบในหลายเรื่องไม่เหมือนกัน เมื่อได้คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือกรมสรรพากรแล้วก็อาจจะต้องเก็บหลักฐานและเอกสารไว้ใช้เมื่อสรรพากรพื้นที่สอบถามรายละเอียดของแบบฯและเงินได้ฯ ของเราครับ
สามารถอ่านบทความในซีรีย์นี้ ที่ https://www.blockdit.com/series/5fba2fa29115840cad27932
#1 เงินได้ประเภทต่างๆ
#2 เกณฑ์ยื่นแบบและเกณฑ์ภาษี
#3 ค่าลดหย่อนประจำปี 2563
#4 การวางแผนภาษี
#5 การเครดิตภาษี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา