24 พ.ย. 2020 เวลา 03:15 • สุขภาพ
น้ำยาล้างแผล/ ยาใส่แผล...เลือกอย่างไรดี❓
.
ยาล้างแผลและยาที่ใช้ใส่แผลในท้องตลาด ปัจจุบันมีจำหน่ายหลายชนิด ทั้ง ยาเหลือง ยาแดง ทิงเจอร์ แอลกอฮอล์ น้ำเกลือ เป็นต้น การเลือกใช้ยาแต่และชนิดต้องคำนึงถึงลักษณะบาดแผลเป็นหลัก โดยทั่วไปการแบ่งประเภทบาดแผลมีหลายวิธี เช่น
- แบ่งตามความสะอาดของแผล แบ่งได้เป็น
1. แผลสะอาด หมายถึงแผลที่ไม่มีการติดเชื้อ เช่น แผลมีดบาด แผลผ่าตัด มีโอกาสติดเชื้อต่ำ
2. แผลสกปรก หมายถึง แผลเปิดที่มีการมีอาการปวด บวม แดง อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาบริเวณปากแผล มีโอกาสติดเชื้อสูง รวมถึงบาดทะยัก
.
- แบ่งประเภทตามระยะเวลาการเกิดแผล แบ่งได้เป็น
1. แผลสด เป็นแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น มีดบาด
2. แผลเรื้อรัง เป็นแผลที่มีการติดเชื้อ มีการทำลายของเนื้อเยื่อเกิดเป็นเนื้อตาย เป็นหนอง เช่น แผลกดทับ แผลจากการฉายรังสี เป็นต้น
.
⚠️ หากมีการบาดเจ็บรุนแรงเลือดออกหรือแผลสกปรกปนเปื้อนมาก ควรพบแพทย์ก่อนเพื่อห้ามเลือดและทำความสะอาดแผลหรือฉีดยาป้องกันบาดทะยัก การดูแลบาดแผลจะมีการใช้น้ำยาทำความสะอาดแผลและยาใส่แผลหลายชนิดแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของบาดแผล ดังนี้
.
🌟 น้ำยาล้างแผล ใช้สำหรับทำความสะอาดแผลเบื้องต้นเพื่อชะล้างเชื้อโรคและสิ่งสกปรกให้หลุดออกไป และช่วยให้แผลอ่อนตัวลงสามารถซึมซับยาใส่แผลได้ดีขึ้น น้ำยาที่ใช้ได้แก่
1
1. น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% นิยมใช้ล้างแผลมากที่สุด ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ ไม่ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ตายแล้วเกิดความชุ่มชื้นหลุดออกได้ง่าย
2. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 3% ใช้สำหรับชะล้างแผลสกปรก มีหนองมากหรือมีเนื้อตาย เมื่อน้ำยาสัมผัสกับแผลจะปล่อยออกซิเจนออกมาเป็นฟองฟู่และมีความร้อน ช่วยชะล้างเนื้อตายที่บาดแผลได้
.
🌟 น้ำยาเช็ดรอบแผล ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณรอบๆ แผล เพื่อลดจำนวนเชื้อโรค ❌แต่จะไม่เช็ดไปที่แผลโดยตรงเนื่องจากทำให้แสบ ระคายเคือง และแผลหายช้า ได้แก่ แอลกอฮอล์ 70% ในท้องตลาดจะมี 2 ชนิดคือ
- เอธิลแอลกอฮอล์ 70% (Ethyl alcohol)
- ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70% (Isopropyl alcohol)
ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไม่ต่างกัน
.
🌟 ยาใส่แผล มีหลายชนิด ใช้หลังจากที่ทำความสะอาดบาดแผลเสร็จแล้ว โดยทั่วไปควรเลือกให้เมาะสมกับประเภทของบาดแผล ได้แก่
1. ทิงเจอร์ไอโอดีน ความเข้มข้น 2.5% ใส่แผลสดหรือแผลถลอก นิยมเช็ดรอบๆ แผล ฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิด
⚠️ แต่มีข้อเสียคือเมื่อทาที่ผิวหนังแล้วตัวทำละลายจะระเหยไปอย่างรวดเร็ว ตัวยามีความเข้มข้นสูง ทำให้ผิวหนังเกิดไหม้พองได้ ดังนั้น หลังจากใช้น้ำยา 1 นาที ให้เช็ดตามด้วยแอลกอฮอล์ 70%
❌ไม่นิยมใช้กับแผลบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนๆ
2. โพวิโดน-ไอโอดีน ความเข้มข้น 10% นิยมใช้ค่อนข้างมาก ใช้เช็ดแผลสด แผลไฟไหม้ แผลถลอก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ดี ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง แสบน้อยกว่าทิงเจอร์ไอโอดีน
3. ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล ความเข้มข้น 0.1% (Thimerosal 0.1% w/v) ใช้ใส่แผลสด หรือแผลถลอก ไม่ใช้กับผิวอ่อน และเด็กอ่อน
4. ยาเหลือง (acriflavin) ใช้กับแผลเรื้อรัง แผลเปื่อย กดทับ ไม่นิยมใช้กับแผลสด
5. ยาแดง (mercurochrome) เหมาะกับแผลถลอกเล็กน้อย
⚠️ แต่ถ้าเป็นบาดแผลที่ค่อนข้างลึก ยาจะทำให้แผลด้านบนแห้งแต่ด้านล่างยังคงแฉะอยู่ แผลจะหายช้า
⚠️ และเนื่องจากยามีส่วนผสมของสารปรอทหากใช้บ่อยๆ อาจทำให้เกิดพิษจากสารปรอทได้ ปัจจุบันนี้จึงไม่นิยมมากนัก
.
สำหรับบาดแผลสดที่ไม่ลึกหรือกว้างมาก หากทำความสะอาดแผลอย่างถูกวิธีและปิดผ้าก๊อซเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคใดๆ เนื่องจากแผลจะค่อยๆ สมานตัวและหายได้เอง แต่หากต้องการใช้ยาควรเลือกชนิดที่ระคายเคืองต่อผิวน้อยที่สุด
.
กรณีแผลถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกที่ผิวหนังชั้นนอกไม่รุนแรงมาก แผลมีขนาดเล็ก ให้ล้างแผลด้วยน้ำเย็นหรือใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบาดแผล เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนและป้องกันไม่ให้ความร้อนทำลายเนื้อเยื่อมากขึ้น
❌ไม่ควรใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่อง ทาแผล เพราะไม่ได้ช่วยบรรเทาความร้อนที่บาดแผลและอาจทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้นด้วย
อาจใช้ยาทาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน เช่น เจลว่านหางจระเข้ น้ำมันมะกอก หรือขี้ผึ้งวาสลีน ถ้ามีตุ่มน้ำพองเล็กๆ ❌ไม่ควรเจาะออกแต่ให้ทายาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนแล้วปิดด้วยผ้าก๊อซ ตุ่มจะแห้งเองใน 3-7 วัน แล้วหลุดลอกออกมา
หากแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกมีความรุนแรงมากหรือกินบริเวณกว้างจะมีอันตรายกว่าบาดแผลขนาดเล็ก เสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำของร่างกายและติดเชื้อได้ง่ายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อไป
.
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมียาใส่แผลชนิดอื่นอีกหลายรูปแบบ เช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง หรือเจลทาแผล ใช้แตกต่างกันตามบริเวณที่เกิดแผลและชนิดและความรุนแรงของแผล แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีส่วนผสมของตัวยาปฏิชีวนะหลากหลายชนิด ซึ่งถือเป็นยาอันตราย การเลือกใช้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
1
โฆษณา