25 พ.ย. 2020 เวลา 05:31 • ปรัชญา
๖.เค้าขวัญวรรณกรรม : มหากาพย์กับมนุษย์
ทางซีกโลกตะวันตก หลังสมัยเรอแนสซองค์แล้ว ไมเคิล แองเจโล, ดาวินจิ แล้วก็ราฟาเอล ได้กระทำให้พรสวรรค์กลายเป็นความสามารถทางศิลปะ แต่เดี๋ยวนี้ เชื่อเรื่องพรแสวง ชอบเรียกอย่างนั้น แต่ผมยังเชื่อเรื่องพรสวรรค์ แต่พรสวรรค์อย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องอาศัยการฝึกปรือ สิ่งแวดล้อม
ว่ากันว่า โมสาร์ทอายุ ๕ ขวบ คุมวงซิมโฟนีแล้ว ลำพังการฝึกปรือนาน ๆ มันยากที่จะเชื่อได้ว่าความสามารถจะเกิดได้ถึงระดับนั้น นอกจากมีอะไรบางอย่างติดตัวมา สิ่งที่ติดตัวมานั้นไม่ใช่วัตถุธรรมอะไร พรสวรรค์ในที่นี้หมายถึงว่าการมีความรักอย่างมากมายในสิ่งนั้น
ฉันทะนั้นเองคือพรสวรรค์ พรสวรรค์คือความรัก เด็กสักคนหนึ่งได้ยินเสียงปี่รู้สึกจับใจและรักจับใจ ขวนขวายฝึกปรือตัวเอง หรือได้สิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างโมสาร์ทเขาได้กรุงเวียนนาศูนย์กลางของดนตรีโลกอยู่แล้ว พ่อเป็นนักดนตรีอีก จริง ๆ มีพรสวรรค์อยู่แล้ว ก็เลยไปใหญ่เลย อธิบายได้ว่าเป็นพรสวรรค์
ทุกคนมีพรสวรรค์ ต้องค้นหาตัวเองว่ามีพรสวรรค์อะไรบ้าง ค้นหาตัวเองรักอะไรนั่นเอง แล้วใช้มัน ภาษิตจีนบอกว่า เมื่อมีพรสวรรค์ต้องใช้ ไม่ใช้มันเป็นหมัน ไม่ก่อเกิดประโยชน์ คนบางคนเกิดมาเป็นกวี ไม่ได้เรียนหนังสือหนังหา คนบางคนจบอักษรศาสตร์บัณฑิต มหาบัณฑิต เขียนกวีไม่เป็นเลย นี่เป็นข้อเท็จจริงในตัวมัน
สถาบันการศึกษาชั้นสูงอาจมีส่วนสร้างผู้คงแก่เรียนแต่ไม่ใช่กวี อาจสร้างนักกลอนได้นักเขียน เราไม่เรียกว่ากวี
ในโลกของวรรณกรรม กวี มีอยู่ ๒ ประเภท ว่าโดยทัศนะของอินเดีย มีกวีธรรมดา อีกกวีหนึ่งเรียก กวีอัลวาร์ อย่างวาลมิกิ ผู้รจนารามายณะ ถือเป็น อัลวาร์ (Alwar) คือกวีผู้บรรลุธรรมคือเข้าถึงธรรม และยังใช้กวีนิพนธ์สำหรับเทศนาสั่งสอน พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ในหมวดธรรมมวังคสัตถุศาสน์ คือ องค์ ๙ ประการในการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า บางครั้งท่านเล่านิทานก็มี บางทีก็เป็นโศลก คือเป็นบทกวีนิพนธ์ กวีนิพนธ์ไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนทุกวันนี้
เราอ่านธรรมบทก็ดีหรือบทสวดสรพัญญะ ซึ่งมีสำเนียงเรียบ ๆ เรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าต้องมีกฎเกณฑ์ระเบียบมากมายอะไร บทกวีคือการอุทานออกมาขณะที่เกิดปีติ ปราโมทย์ พุทธอุทานคาถา พอท่านเข้าถึงที่สุดท่านร้องอุทานมาว่า “ยทา หเว ปาตุ ภวันติ ธัมมาฯ” “เมื่อใดพราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ ความสงสัยของพราหมณ์สิ้นสุดไป เมื่อเห็นเหตุทั้งหลาย” คืออุทานออกมาอย่างปีติ อย่างรู้สึกซาบซึ้งอะไรเหล่านี้
พอจะเห็นได้ว่า พรสวรรค์เป็นกุศลวิบาก เป็นฉันทะ ต่อเมื่อได้สิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะเติบโตงอกงามเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ดี ครูเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก มีพรสวรรค์ ฉันทะในทางหนึ่งทางใด ครั้นได้พบครู (กัลยาณมิตร) ความสามารถ, ความเข้าใจก็แผ่ไพศาล
คำถาม : ประเด็นที่เหลือคือ เป้าหมายของมหากาพย์,ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับมหากาพย์ และผลกระทบต่อวิถีชีวิต
คำตอบ : ทำไมมนุษย์ต้องมีมหากาพย์ ทำไมมนุษย์ต้องเดินทางไกล ทั้งด้านกายภาพ ทั้งด้านจิตใจ ทำไมเราต้องโหยหา เหมือนกับว่าอยากจะกลับบ้าน มันน่าแปลกจริงๆ คนทุกรุ่นที่มีอายุ ครั้นถูกถามว่า เมื่อก่อนโลกยังดีกว่านี้ สังคมยังดีกว่านี้หรือไม่ ส่วนใหญ่รู้สึกคล้ายกัน น่าประหลาดทีเดียว
แม้แต่เด็กรุ่นหลังก็ยังพูด เด็กรุ่นหลังผมหมายถึง ๓๐-๔๐ เริ่มพูดแล้วว่าสังคมแต่ก่อนยังดีกว่านี้ ไม่ต้องพูดถึงคนแก่ คนแก่เขาโวยวายเลยว่ามันไม่เหมือนเก่า แต่ก่อนดินยังชุ่ม น้ำยังใส อากาศยังสะอาดอะไรเหล่านี้
ดูเหมือนมนุษย์ถูกพรากจากความเป็นมนุษย์ของธรรมชาติกลายมาเป็นพลเมือง และแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ ถูกเสี้ยมสอนให้ยึดติดโน่นนี่ จนกระทั่งเกิดโหยหาอะไรบางอย่าง
ฉะนั้นในการเดินทางไกลภายนอกนั้นอย่างหนึ่ง การเดินทางของยวนฉ่างก็ดี อี้จิงก็ดี ฟาเหยียนก็ดี ครั้งอดีตส่งผลดีต่ออารยธรรม ไม่ใช่เดินทางแบบทัวร์เหมือนทุกวันนี้ การเดินทางครั้งอดีตนั้นเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และศึกษาวัฒนาธรรมไปเรื่อย ๆ ใช้ความเป็นมนุษย์เข้ากระทบกับเพื่อนมนุษย์ ถ้าไม่รอดก็ตาย
โลกครั้งอดีตไม่ได้เงียบเชียบ วังเวงเหมือนในจินตนาการของเรา การเดินทางของนักบุญครั้งอดีตนี้ มากรายทีเดียว ถ้าเราไปศึกษาจะพบว่า บุคคลเหล่านั้นมีการเดินกันอย่างมีชีวิตชีวา ผิดกับสมัยนี้ สมัยนี้ไม่เรียกว่าเดินทาง ก็เรานั่งเครื่องบินให้คนเสริฟอาหาร แล้วเครื่องบินมันร่อนไปเท่านั้นเอง แล้วก็มีโรงแรมรองรับ มันไม่อาจก่อเกิดการเรียนรู้ที่ลุ่มลึก และสัมผัสความหลากหลายของวัฒนธรรมในหลาย ๆ ถิ่นฐาน ซึ่งเป็นการเติบโตของภูมิปัญญา
เหมือนภาษิตของจีนโบราณบอกว่า “ถ้าอยากให้ลูกฉลาดจงให้เดินทาง” การเดินทางก็ต้องเรียนทันทีเลย เรียนอย่างไม่มีระบบ เขาต้องเอาน้ำใจของเขาเป็นค่ากำนัลต่อครู ถ้าใจเขาไม่ดีเขาจะไม่ได้รับการสอนเลย หรือถ้าเขาไม่ดีจริงเขาจะเรียนอะไรลำบากยิ่งและเป็นการเรียนจริงๆ เรียนชีวิต และการเรียนอันนั้นเองเป็นที่มาของระบบการถ่ายทอดที่สำคัญ คือพิสูจน์ด้วยน้ำใจความกล้าหาญ
ดูเหมือนผู้พิสูจน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ พระเจ้า พระผู้เป็นไปในสรรพสิ่ง ถ้าว่าวีรชนในเรื่องมหากาพย์ ไม่กล้าหาญพอเขาจะถูกยักษ์หรือปีศาจฆ่าตาย
บรรยากาศของโลกครั้งอดีต บรรยากาศของโลกถูกปกคลุมไม่ใช่ด้วยหมอก เมฆ ในทางศาสนธรรมนั้นถือว่าโลกถูกปกครองไปด้วยสรวงสวรรค์ เทพธิดานางฟ้า ผู้คนครั้งอดีตเชื่อมั่นว่า มีชีวิตอื่นซึ่งมองไม่เห็นตัวคอยปกป้องคุ้มครองอยู่
ดังนั้นมหากาพย์ เทพปกรณัมทั้งหลายให้ภาพว่า พระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์เล่นสกาเกมส์โชคชะตาของมนุษย์อยู่ ดวงดาวคือลูกสกาที่เทพเคลื่อนไหวไปสู่ราศีใด ชะตากรรมก็เกิดกับคนเหล่านั้น แล้วถ้าบุคคลนั้นบวงสรวงบูชาเทพเจ้าองค์ใด เทพเจ้าองค์นั้นจะปกป้องอันตรายจากเทพชั่วร้ายองค์อื่น ๆ ได้ ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ เป็นศาสนนโยบายที่น่าสนใจมากทีเดียว
แต่ผมบอกแล้วว่า มันยุ่งเหยิงไปหมด แต่ว่าโดยหลักการของมัน โดยโครงสร้างแล้วก็คือ ชีวิตเราไม่ได้เป็นของตัวเราแต่เป็นของเจ้าของชีวิตคือ เทพเจ้าที่เดินหมากสกาอยู่บนสรวงสวรรค์ เมื่อถึงคราวอับโชคอย่าได้วุ่นวาย จงอ้อนวอนเทพเจ้าเข้า เพราะพระองค์กำลังเดินสกาเล่นตลกกับเราอยู่ ฟังดูงดงามดี แต่ว่ามันไม่เป็นที่เชื่อใจของชาวพุทธเลย
ชาวพุทธว่าอย่างนั้นก็ยอมจำนนสิ ก็ถูกลอยแพ ก็ถูกกระทำฝ่ายเดียวสิ เรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสติหรือความรู้ตัว เราสู้กับโชคชะตาได้ เราพลิกสถานการณ์เลวร้ายได้ด้วยปัญญา ชาวพุทธก็ไปไกลกว่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ความเหิมเกริม เพียงแต่ว่าบางเรื่องมันละเอียดอ่อนจนกระทั่งว่า ไม่รู้จะอธิบายด้วยภาษามนุษย์อย่างไร
บางครั้งชาวพุทธก็ต้องโยนให้กรรมเก่า แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การที่เราเกิดมาจนและต่ำต้อยก็เพราะกรรมเก่า อันนี้มันไม่จริง มันเป็นเพราะระบบสังคมที่ไร้ความเป็นธรรม
คนเรามีหลายเรื่องที่เราเชื่อ ผมเชื่อทั้ง ๆ ไม่รู้ แต่เชื่อไว้ก่อน เช่น เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง ผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่เลือกเชื่อดีกว่า ส่วนความรู้ตัวเองนั้น อันนี้คือสิ่งที่เรารู้ได้จริง ๆ โดยไม่ต้องถามใครเลย แต่หลายเรื่องที่เราเชื่อ เช่นเวลาไปยืนที่ป้ายรถเมล์นั้น เราก็เชื่อว่าเดี๋ยวรถก็น่าจะมา ถ้าเราไม่เชื่อเราไปยืนทำไมล่ะ
ดังนั้นความเชื่อกับสติปัญญานี้มันกลมกลืนกันอยู่ มันประสานกันอยู่ เราปฏิเสธความเชื่อไม่ได้ มันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งในศาสนธรรม ผมต้องบอกว่าความหลงใหลยึดติดวิทยาการอันยืนพื้นอยู่กับเหตุผล (Rationalism) ถ่ายเดียวนั้นอันตราย เพราะว่ามันจะนำไปสู่การปฏิเสธความเชื่อทั้งหมด ถ้ามีความเชื่ออยู่ถือว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้เมื่อไม่เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เองได้ให้อะไรมาชดเชยความเชื่อล่ะ
แต่ว่านักวิทยาศาสตร์จริง ๆ เขาก็มีความเชื่อนะ ไอสไตน์เขาก็เชื่อ เขายิ่งรู้เรื่องฟิสิกส์มากเท่าไร เขายิ่งเชื่อพระเจ้ามากขึ้น
เมื่อสองวันก่อน นักบินอวกาศที่เพิ่งลงมาจากการบินใหม่ ๆ เขาบอกว่า เขาเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลกจริง ๆ เพราะโลกเป็นสิ่งสวยงามเกินกว่าน้ำมือของใครจะทำได้ นอกจากพลังอำนาจอัศจรรย์
ความเชื่อกับการพิสูจน์ความจริงนี่เกลือกกลั้วกันอยู่ในชีวิตเรา มหากาพย์เป็นรูปหนึ่งของความเชื่อ ตัววีรชนผู้เป็นพระเอกของเรื่องเขาเชื่อว่า เขาบูชาเทพเจ้าองค์ใด เทพเจ้าองค์นั้นจะตามปกป้องคุ้มครองเขาอยู่ ชาวพุทธก็มีเรื่องเหล่านี้ อย่างที่เชื่อเจ้าแม่กวนอิม เชื่ออวโลกิเตศวร คอยคุ้มครองเราอยู่
ความเชื่อนี้ไม่ใช่ไม่มีผล มันมีแน่ แต่ว่ามันขึ้นอยู่ว่าความเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่งมงายหรือเปล่า เช่นเราเชื่อว่าจิตใจที่ดีงามจะนำมาซึ่งความสุข ถ้าเราไม่เชื่อเราก็ไม่มีจุดเริ่มต้นเลย
อวโลกิเตศวรเป็นสัญลักษณ์ของเมตตาประกอบด้วยปัญญา อวโลกิเตศวรนั้นเป็นสัญลักษณ์ของเมตตาอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระโพธิสัตว์ เมื่อเราเชื่อเราก็โน้มใจที่จะเป็นอันนั้น ศาสนธรรมเล็งผลอย่างนี้
บรรยากาศของโลกก่อนหน้าสมัยเรอแนสซองค์ เป็นบรรยากาศที่โลกถูกปกครองด้วยเทพนิยาย เทพธิดา นางฟ้า โดยเฉพาะสมัยกลาง ศตวรรษที่ ๑๔ อะไรนั่น จะมีลูกหลานของมหากาพย์ เช่น เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty) เป็นนิทานซึ่งถูกเหยียดหยามจากยุคเรอแนสซองค์ ว่าเป็นเรื่องโกหกพกลม, สโนไวท์ อะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่มหากาพย์ แต่ย่นย่อโครงสร้างมหากาพย์ลง
ศตวรรษที่ ๑๔ ได้ถูกโจมตีจากนักการศึกษาในยุคตื่นแล้วที่เรียกตัวเองตื่นแล้ว คือ ยุคเรอแนสซองค์ ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ คือไปฟื้นฟูวิทยาการของกรีกโบราณขึ้นมา ได้ย้อนรอยมาโจมตี เรียกยุคกลางว่า “ยุคมืด” เพื่อให้แยกจากตัวเองเป็น “ยุคสว่าง”
“ยุคมืด” คือยุคที่สิทธิเสรีภาพของบุคคลถูกบดบัง พระมีอำนาจสูง คัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นคัมภีร์สั่งสอนให้เชื่ออย่างเดียว ดังที่ กาลิเลโอ ถูกตีเกือบตาย คล้อยตามโคเปอร์นิคัส ที่ไปพิสูจน์ว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล
ดังที่คัมภีร์ไบเบิ้ลว่าไว้ มองในแง่ของเสรีภาพทางวิทยาการของปัจเจก สิทธิของปัจเจกนั้นถูกบดบัง แต่ในยุคมืดก็มีแสงสว่างทางศาสนธรรม คือพวกเทพนิยายต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูก หลาน เหลนของมหากาพย์ เช่น Sleeping Beauty เจ้าหญิงล้มสลบลงต้องคำสาปของนางฟ้าใจร้าย รอเวลาให้เจ้าชายมาจุมพิตแล้วจะฟื้นตื่น หลับไปเป็นร้อยปี และพอฟื้นตื่นขึ้นมาแล้วก็จะเข้าสู่วิวาห์
คล้าย ๆ เรื่องชาดกของเรา เช่น สังข์ศิลป์ชัย หรือสังข์ทอง ก็คล้ายกันตรงที่ว่า ตัวพระกุมาร ซึ่งหมายถึงโพธิจิต จิตที่เปี่ยมไปด้วยปัญญา โพธิจิตนั้น บางทีเรียกตรง ๆ โพธิกุมารเลย เกิดมามีศรศิลป์ติดมือมา หมายหมายว่าโพธิจิต ธาตุรู้หรือพุทธะนี่มีคุณสมบัติ อาวุธพิเศษติดตัวมา ที่จะฆ่ายักษ์ฆ่ามารได้
สังข์ศิลป์ชัย คลอดมามือถือธนูและสังข์มา โครงสร้างอันนี้คล้ายคลึงกับเทพนิทานสมัยกลางมาก มาดูอีกเรื่องหนึ่ง ทรามวัยกับสัตว์ร้าย (Beauty and the Beast) ก็ดี หรือเจ้าชายกบก็ดี หรือสโนไวท์ก็ดี ตัวเจ้าชายที่มาจุมพิตมาจูบเป็นสัญลักษณ์พระเยซู คือ Prince of Life พระเยซูหรือคำสอนของพระเยซูเอง ส่วนสโนไวท์ก็ดี หรือเจ้าหญิงที่นอนนิทราอยู่ คือมนุษย์ที่สลบไสลภายใต้มนต์สะกดของความชั่วร้ายต่าง ๆ
ภาพยนตร์การ์ตูนอย่างที่ Disney สร้าง ทำให้เขวไปเยอะเหมือนกัน สร้างเรื่องให้ผิดจากต้นฉบับ ต้องไปหาต้นตอจริง ๆ มาอ่าน อย่างสโนไวท์นี่มันของเยอรมัน ต้องไปคุยกับปราชญ์เยอรมัน ดูง่าย ๆ เขาตั้งชื่อว่า นางสาวขาวหิมะ เพื่อให้สะดุดใจ สีขาวเยี่ยงหิมะ นั่นไม่ได้หมายถึงหิมะ หมายถึงอะไรบางสิ่ง อาจหมายถึงภาวะจิตใจอันบริสุทธิ์ดั้งเดิมของมนุษย์ก็ได้
ผมไปสัมมนาที่ต่างประเทศ บอกฝรั่งว่า เราอาจรู้จักพุทธศาสนาผ่านสโนไวท์ได้ หัวเราะกันใหญ่ สโนไวท์เกิดมา ถูกพระราชินีใจร้ายหมายปองชีวิตเพราะว่าสวยกว่า มองผ่านกระจก “กระจกเอ๋ยบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี” กระจกแห่งความสัตย์ซื่อบอกว่า สโนไวท์ดีที่สุด สวยที่สุด เลิศที่สุด คล้าย ๆ บอกว่าจิตเดิมแท้นั้นดีที่สุด
ส่วนราชินีใจร้ายหมายถึงกิเลส ตัณหา แรงทะยานในภพชาติสร้างเรื่องปรุงแต่งขึ้นเอง ขยันถามกระจก ในที่สุดก็อาฆาตสั่งนักฆ่าไปที นักฆ่าสงสาร สโนไวท์หนีไปอยู่กลางป่า ล้มสลบลงที่หน้าบ้านคนแคระ ๗ คน ซึ่งทำเหมืองทองอยู่ในป่าใหญ่ คนแคระทั้ง ๗ ชื่อแปลก ๆ ทั้งนั้น ตัวหนึ่งชื่อนายขี้ง่วง (Sleepy) ล้วนแต่เป็นความหมายของอุปสรรคต่อจิตบริสุทธิ์ทั้งนั้น คล้ายๆ จะบอกว่า มนุษย์เราทุกคนมันเตี้ยแคระกันทุกคน มีปมด้อย จุดอ่อน
สโนไวท์เริ่มมีความสุขขึ้น ในการดำรงอยู่ หากเรายอมรับความจริงอันต่ำต้อยเตี้ยแคระของเราได้ เราก็จะมีความสุขเอง ตามที่มันเป็น สโนไวท์เริ่มมีความสุขขึ้น ต่อมาพระราชินีก็ถามกระจกอีก เมื่อรู้ว่าสโนไวท์ยังไม่ตาย ก็ตามล้างผลาญ ในที่สุดก็ปลอมกายเป็นหญิงชราใจดีเอาแอปเปิ้ลมาให้ ซึ่งอาบยาพิษมาด้วย สโนไวท์ก็หลงกลกินแอปเปิ้ลเข้าไปก็ค้างอยู่ที่คอ โดนยาพิษสลบไป แอปเปิ้ลลูกนี้เชื่อมโยงกับแอปเปิ้ลในไบเบิ้ล
เรื่องเล่าว่าสโนไวท์อยู่ในโลงแก้วสดใสสวยสง่าเหมือนเดิม (Living Death) นอนนิ่ง พวกคนแคระผู้ภักดีก็หามไปไว้บนยอดเขา ไปนั่งคร่ำครวญกันอยู่ รอเวลาเสด็จมาของเจ้าชายแห่งชีวิต (Prince of Life) เมื่อเจ้าชายมาถึงก็จุมพิต ลูกแอปเปิ้ลที่ติดอยู่ในคอหอยก็หลุดออกมา (ภาษาอังกฤษเรียก Adam’s Apple) เจ้าหญิงก็ฟื้นขึ้นด้วยสัมผัสของเจ้าชาย ก็วิวาห์กัน สโนไวท์เป็นนิทานเล่าให้เด็กฟังก่อนนอน
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา