28 พ.ย. 2020 เวลา 01:37 • ปรัชญา
๗. เค้าขวัญวรรณกรรมมหากาพย์กับมนุษย์
นิทานพื้นบ้านของเราส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นนิทานภูมิปัญญาลุ่มลึกทั้งสิ้น เราดูนางสิบสองเป็นตัวอย่าง ผู้แต่งนำเสนอเนื้อความของ ปฏิจจสมุปบาท นำมาอธิบายในรูปนิทาน
นางสิบสองคือห่วงโซ่ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ห่วง เศรษฐีนนท์ยากจนลงก็เพราะมีธิดาล้วน ๆ ถึง ๑๒ คน จึงพาไปปล่อยป่า นางสิบสองเดินร้องไห้ในป่าเจอนางยักษ์ สันทมาร ชื่อนี้มันก็กำกับว่า ท่านผู้รจนาต้องการจะบอกเป็นนัยว่ามันเป็นอะไร
บางกรณีแสร้งเขียนให้ยักเยื้องพอเป็นเค้า สิบสองนางก็วิ่งหนีไปหลบอยู่ในท้องช้าง ฟังดูตลกดี นางสันทมารตามมารู้ทัน นางสิบสองก็หลบจากท้องช้าง ไปอยู่ท้องม้า ออกจากท้องม้าไปอยู่ท้องวัว ที่จริงคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ช้างหมายถึงพระพุทธเจ้า ธรรมะหมายถึงท้องม้า พระสงฆ์หมายถึงวัว คือการถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เหตุถูกเบียดเบียนจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ (นางสันทมาร) มันมีอะไรที่สนุกและลึก นึกไม่ถึง ต่อมา นางสิบสองหนีนางมารมาสู่เมืองของท้าวรถสิทธิ์และได้วิวาห์กับท้าวรถสิทธิ์ ในที่สุด นางสันทมารก็ตามมารังควานอีก แปลงตัวมาจนได้แต่งงานกับรถสิทธิ์ และถูกยกย่องเป็นมเหสีเอก
กษัตริย์รถสิทธิ์หลงใหลในนางสันทมารมาก ก็สั่งให้จำคุกนางสิบสองในอุโมงค์มืดไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ต่อมาทั้ง ๑๒ คนก็ตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์อยู่แล้วก่อนถูกขัง ไม่มีอาหารก็กินลูกของกันและกัน นางสันทมารอ้อนให้ท้าวรถสิทธิ์ควักลูกตานางสิบสองออกให้หมด เว้นนางสุดท้องคือนางที่สิบสอง ควักข้างเดียว มีตาเหลืออยู่ข้างเดียว เธอจึงเป็นคนเดียวที่รักษาชีวิตลูกน้อยไว้ได้ ซึ่งต่อมาคือรถเสนนั่นเอง
ขอบคุณภาพ : เพจขับนิทานนางสิบสอง-ขานทำนองพระรถเมรี
รถเสนโตขึ้นมาก็ออกไปเล่นกีฬา เล่นการพนัน ตีไก่ กัดปลา เพื่อหาข้าวปลามาให้แม่ ป้า ประทังชีวิตรอดมาได้ จนกระทั่งนางสันทมารสืบรู้ว่าพวกนี้ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ในอุโมงค์มืด ดังนั้นก็คิดจะกำจัดโดยส่งรถเสนซึ่งเป็นหนุ่มแล้ว มีกำลังมีฤทธิ์ในตนเองด้วย ไปเมืองมารซึ่งธิดาตัวเองปกครองอยู่ แล้วเขียนสาส์นลับฝากไปกับรถเสนว่า ถึงกลางวันฆ่ากลางวัน ถึงกลางคืนฆ่ากลางคืน
รถเสนไปพักที่อาศรมพระฤๅษี ฤๅษีผู้เป็นกลาง หยั่งรู้เหตุการณ์ก็แปลงสาส์น ถึงกลางวันแต่งงานกลางวัน ถึงกลางคืนแต่งกลางคืน ฤๅษีก็ยุ่งไม่เข้าเรื่อง แต่ในที่นี้ไม่ใช่ฤๅษี ตามในโครงสร้างทางจิตใจไม่ใช่พระฤๅษีเป็นอะไรที่ลึกกว่านั้น แต่ว่าให้สนุกก็เป็นพระฤๅษียุ่งไม่เข้าเรื่องกับชีวิตคนอื่นเขา
ก่อนเดินทางรถเสนก็เลือกม้าในคอกหลวงจาก ๔๐ ตัว เลือกได้ตัวเดียว สังเกตตัวเลขให้ดี ๔๐ ตัว คือจำนวนของกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าสอน กรรมฐานทั้ง ๔๐ เลือกได้ตัวเดียว ม้ารู้ใจเจ้านาย รถเสนก็ควบไปเมืองมาร กลางทางก็พักอาศรมพระฤๅษี แปลงสาส์นเสร็จก็เดินทางต่อ พอเข้าเมืองมาร รถเสนเองไม่กล้าเข้า กลัวอำนาจของมาร ม้าก็เตือนให้เร่งเข้าไปเถอะ ไม่มีอันตรายอะไรหรอก ม้านี่เป็นพี่เลี้ยงด้วย พอเข้าไปในเมืองมารแล้วก็แต่งงาน แต่งงานแล้วรถเสนก็เพลิดเพลินกับคนรักจนลืมหน้าที่ของตนเอง
ม้าก็เตือนบอกว่า “เรามาที่นี่เพื่ออะไรน้องรู้หรือเปล่า” กรรมฐานมันเตือนนะ พอเข้าไปถึงเมืองมารแล้ว นางเมรี (ในปัญญาสชาดกชื่อกังรี) ก็เฉลิมฉลองวิวาห์รถเสน พอรถเสนถูกเตือนจากพี่ม้าก็นึกได้ถึงภารกิจที่ตัวเองต้องการจะปลดปล่อยแม่และป้าให้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าลูกตาอยู่ที่เมืองเมรี รถเสนก็มอมสุราป้อนเหล้าให้คนรักกิน นางเมรีก็เมาไม่รู้เรื่องเลย แล้วรถเสนก็ล้วงความลับถามว่า ตาของนางสิบสองอยู่ที่ไหน นางเมรีก็ชี้ส่ง รถเสนลวงถามถึงยาผลวิเศษ ๗ ห่อ และรวบรวมได้แล้ว ก็ไปเอาลูกตานางสิบสอง แล้วก็ล่วงเลยเข้าไปในสวนของนางเมรี ซึ่งมีประตูที่ใช้คนตั้งร้อยคนพันคนจึงเปิดได้ แต่ด้วยอำนาจฤทธิ์ของโพธิกุมาร (โพธิจิต) สามารถเปิดประตูและเข้าไปถึงใจกลางของอุทยาน คล้าย ๆ เนื้อความเยเนซิสในคัมภีร์ไบเบิ้ล
สน
ที่ใจกลางสวนมีต้นไม้ต้นหนึ่งชื่อ มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ ลุ่มลึกเป็นปริศนา คือ ถ้าคนเคยภาวนาจะรู้ว่ายอดสุดของการภาวนาคือให้รู้ตัวแต่อย่าให้รู้ติดอยู่กับอะไร คือมะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ มะม่วงตื่นเสมอ
“ไม่รู้หาวไม่รู้โห่” หมายถึงภาวะหนึ่งซึ่งตื่นสว่างไร้คำพูด ที่ตรงนั้นเองแจ้งสว่าง รถเสนไปถึงต้นไม้ตรงนั้นก็เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดทั้งสิ้น ก็ขึ้นหลังม้ากลับเมือง เพื่อเอาลูกตาของแม่และป้าไปให้ เข้าถึงความลับสุดยอดของการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือพูดภาษาชาวบ้านว่าใจของเรามันไม่เป็นอะไรเลย มันพูดว่าแดงก็ไม่ได้ เขียวก็ไม่ได้ หนักก็ไม่ได้ เบาก็ไม่ได้ หญิงก็ไม่ใช่ชายก็ไม่ใช่ แต่สร้างเป็นสัญลักษณ์ มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่ ฟังดูก็แปลก ๆ แต่ลุ่มลึก
รถเสนขึ้นหลังม้าควบหนีพร้อมกับยา ๗ ห่อ ซึ่งมีฤทธิ์ต่าง ๆ กัน นางเมรีพอฟื้นตื่นขึ้นมา ทราบว่ารถเสนกำลังจะหนีก็ติดตาม รถเสนก็ทิ้งห่อยาห่อที่หนึ่งเป็นภูเขา คืออุปสรรคของการติดตามของความเพลิดเพลินในอารมณ์ นางเมรีหมายถึง นันทิราคะ ส่วนนางยักษ์อยู่ในเมืองคือ ตัณหา ความเพลินเป็นธิดาของตัณหา ทีนี้ยาห่อสุดท้ายที่พระรถเสนทิ้งคืออุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นมหาสมุทรแยกความเพลิดเพลินกับโพธิ (ความตื่น ความรู้ตัว) ออกจากกัน คือรู้ตัวล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับเพลิดเพลิน แยกออกจากกัน คือรู้ตัวล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ เหมือนมหาสมุทรแยกรถเสนออกจากเมรี
นางเมรีก็คร่ำครวญร้องห่มร้องไห้ อาลัยอาวรณ์ก่อนสิ้นใจ อธิษฐานชาติหน้าขอให้เจอกันอีก ซึ่งต่อมาก็สืบทอดมาเป็นชาดกเรื่องสุธน-มโนห์รา ชาตินี้น้องตามพี่ไป ชาติใหม่พี่ต้องตามน้องมา ชาวบ้านเขาก็หนักหนา เขาสนุกกับชาดกพื้นบ้านของเขา เอา ๒ ชาดกมาเชื่อมโยงเป็น ๒ ภาคของคู่รักคู่สวาท ครั้งอดีตนางสิบสอง, สุธน-มโนห์รา กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูปู่ย่าเรา เขาเติบโตขึ้นมาด้วยสิ่งนี้ แต่รุ่นเราอาจแปลกหน้าแล้ว เราเลยยากที่จะรับ
เล่าต่อว่าเมื่อรถเสนกลับถึงเมืองก็เอาลูกตาไปให้แม่และป้า ตาทั้งสองกลายเป็นตาทิพย์หมด เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้ง แล้วก็พ้นจากอุโมงค์มืด นางยักขิณีสันทมารก็อกแตกตาย เมื่อความเพลิดเพลินดับ (นางเมรีตาย) ตัณหา (สันทมาร) ก็ตายตาม ความเพลิดเพลินในกิเลสเพลิดเพลินในอารมณ์สิ้นสุดลง ตัณหาก็ดับเอง
เมื่อเราปฏิบัติ เราละความเพลิน คือเจริญสติ การละตัณหาเป็นกิจของมันเอง เมื่อเราละความเพลิดเพลินในอารมณ์แล้ว การละความเพลิดเพลินก็โดยการรู้ตัวเท่านั้น การรู้ตัวคือ โพธิ โพธิจิตคือตัวรถเสน เราจะเห็นได้ชัดว่านิทานเหล่านี้ลุ่มลึก อันเป็นเหตุให้คนโบราณ ปู่ย่าของเรามีอุตสาหะที่จะสั่งสอนสืบทอดกันมา
ส่วนสุวรรณสังข์ชาดกนั้นก็เริ่มต้นจากการที่นางจันทาเทวีออกลูกเป็นสังข์ ซึ่งถูกข้อหาจากมเหสีน้อยว่าเป็นกาลี จึงถูกขับไสไปอยู่ปลายนา ส่วนพระสังข์ซึ่งขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องซ่อนอยู่ในสังข์เห็นแม่ตกทุกข์ได้ยากก็ออกมาช่วยเช็ดพื้นหุงข้าวให้ทุกวัน พอได้ยินเสียงแม่กลับจากนาก็รีบซ่อนตัว วันหนึ่งแม่ก็แอบซุ่มดูก็รู้ความลับ ก็ทุบสังข์แตก พระสังข์ก็ประท้วงแม่บอกว่า ต่อแต่นี้เราไม่มีผู้คุ้มบังอีกแล้วเพราะแม่เปิดเผยความจริงเร็วเกินไป
คำพูดเหล่านี้มันเป็นปริศนาอยู่ในตัวมันเอง ในที่สุดก็ถูกรับตัวเข้าวังแล้วมเหสีน้อยก็กลั่นแกล้ง เอาช้างแทง เอาช้างเหยียบ โพธิกุมารนั้นฆ่าไม่ตาย เหมือนที่เรารู้ความรู้ตัวนี่มันไม่มีปริมาณ ตัดแบ่งไม่ได้ แก่เฒ่าไม่ได้ ความรู้ตัวของเรานี่นะมันไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชาย ทำอย่างไรก็ฆ่ามันไม่ตาย มันเป็นอมตะ อมตะในที่นี้แปลว่ามันไม่แก่ไม่เฒ่า แต่ถึงเวลาจากไปมันจุติมันดับเลย
ความรู้สึกตัวของเราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายนี่แก่ได้ แก่หง่อมแล้วก็สลายไปสู่แหล่งกำเนิด น้ำไปสู่น้ำ ดินไปสู่ดิน แต่ความรู้สึกตัว ความรู้ตัวหรือโพธิ ไม่แก่ มันไม่ใช่หญิง มันไม่ใช่ชาย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ค้ำฟ้า พอถึงเวลามันก็ดับเท่านั้นเอง
ดังนั้นที่จริงธาตุแท้ของเราเป็นอมตะธาตุ พูดง่าย ๆ อีกทีความรู้ตัวมันอยู่เหนือความตาย วันสุดท้ายของชีวิตเราจะรู้ได้ว่า เมื่อร่างกายตายลงมันจะถอดร่างทันที อย่างที่เราได้ยินได้ฟังหรือได้เห็นด้วยตาก็มี ว่าคนเมื่อใกล้ตายมันจะฟื้นตัวอีกตาจะแจ่มใสขึ้น สละร่างกายที่เป็นเปลือกนอก แม้พูดไม่ได้แล้ว แต่ว่าสื่อได้ด้วยสายตาเท่านั้น
ประสบการณ์นี้สำคัญและยิ่งใหญ่ ถ้ามีสติดีเข้าใจเรื่องรู้ตัวดี วินาทีสุดท้ายคือการหลุดพ้น แต่ถ้าไม่รู้ก็อาจจะตกใจ วิตกกังวลจนสับสน วัฏจักรของชีวิตก็อาจดำเนินต่อไป
คำถาม : มหากาพย์สัมพันธ์กับตัวเราอย่างไร มนุษย์ร่วมสมัยอย่างไร เมื่อกี้อาจารย์พูดรวมถึงของไทยหรือเปล่า
คำตอบ : ใช่ เพราะคนไทยก็เติบโตทางด้านนามธรรม ทางด้านมโนธรรมมาด้วยมหากาพย์ของไทย อย่างรามเกียรติ์ หรือวรรณกรรมทางศาสนาอย่างเวสสันดรชาดกหรือไตรภูมิ เป็นต้น เราจะเรียกหรือไม่นั้น ขึ้นกับความกล้าหาญของเราว่าใช่หรือไม่
เท่าที่โลกรู้จัก ๔ มหากาพย์เป็นที่ยอมรับ กิลกาเมศนั้นดึกดำบรรพ์ที่สุด เป็นรูปของเทวปกรณัม เพื่ออธิบายศาสนาอิงอุปมาอุปไมย เทวปกรณัมของกรีกและอินเดียคล้ายกันมาก ซึ่งต่อมาในแวดวงพุทธศาสนาก็ทนไม่ไหวต่อเสียงเรียกร้องต่อปกรณัม เกิดเทพเจ้าในวงชาวพุทธไม่ใช่น้อยนะในมุมมองของพุทธ อวโลกิเตศวรนี่เป็นฮีโร่ทางธรรม สัญลักษณ์ของความรักความเมตตากรุณา แต่ก็คือเทพในสายตาศาสนิกอื่น ฮินดูมีพิฆเนศวร ของพุทธมีศัมภาละ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา ของเขามีอุมาเทวีคู่กับพระศิวะ ของเรามีอวโลกิเตศวรคู่กับตารา
ศาสนาของเทวปกรณัมนี่เหมาะที่จะสร้างให้เป็นศิลปะวรรณกรรมได้ง่าย จะวาดรูปนามธรรมอย่างเมตตากรุณา วาดรูปมา วาดไม่ได้ ทำไม่ได้ ต้องสร้างเป็นบุคลาธิษฐาน บางรูปของอวโลกิเตศวรมีพันมือ หมายความว่าเป็นมือที่จะยื่นให้ เป็นการเสียสละ เป็นการอุทิศชีวิตให้กับผู้อื่น
ยกตัวอย่างอีกเล็กน้อยของศาสนาเทวปกรณัมของกรีกที่เราคุ้นเคย คือการอธิบายคุณค่าต่าง ๆ ในโลกมนุษย์ให้เชื่อมโยงไปสู่สรวงสวรรค์ วีนัส เทวีแห่งความงาม เพื่อจะพูดถึงความงามซึ่งเป็นนามธรรม วาดไม่ได้ ความงามไม่รู้จะวาดอย่างไร ฉะนั้นสร้างเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์สวยงาม เป็นธิดาสุดสวาทของจูปิเตอร์ เทพบิดร เทพบิดรอาจหมายถึงความเป็นจริงที่ปกครองสากลจักรวาลอยู่ ให้กำเนิดปรากฏการณ์คือความงาม
ดังนั้นความงามเป็นธิดาของเทพเจ้าหรือเทพบิดร ว่ากันว่ามารดาของชาวกรีกโบราณ ถ้ามีลูกหน้าตาไม่สวย เขาก็โยนให้แร้งกิน ถือว่าวิญญาณชั่วร้ายมาเกิด เพราะวิญญาณที่บริสุทธิ์สิงอยู่ในร่างที่งดงามเท่านั้น
ความเติบโตทางด้านสุนทรียภาพของกรีก กลับกลายเป็นปัญหาด้านจริยธรรมของกรีกไปโดยปริยาย แต่อย่างไรก็ตาม ปกรณัมที่ว่า วีนัสตัวแทนแห่งความงามเป็นธิดาสุดสวาทของเทพบิดรนั้น มีลูก ๒ องค์ เรารู้จักในนาม คิวปิด ลูกแฝด ๒ องค์ชื่อเดิมนั้น ชื่อ อีรอส ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า อีโรติก อีโรติกา มีความงาม มีความใคร่ และ แอนติรอส คือความจากพราก ความรักและความพลัดพรากเป็นลูกของความงาม อธิบายความนัยผ่านทางปกรณัม เมื่อมีความรักก็ต้องมีความจากพราก
บทสนทนาอาจารย์เขมานันทะ (โกวิท อเนกชัย) กับสหายวัยเยาว์
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา