25 พ.ย. 2020 เวลา 13:34 • ประวัติศาสตร์
The Enlightenment ตอนที่ 3
มองเตสกิเยอ การแบ่งแยกอำนาจ
2
โลกที่เราอาศัยอยู่ในทุกวันนี้ มีหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ๆ จนเราอาจจะคิดไม่ถึงว่า สิ่งที่ปกติธรรมดานี้ เคยเป็นไอเดียที่แปลก และไม่ถูกต้องมาก่อน หรืออาจมองถึงขั้นว่าเป็นความคิดที่อันตราย
3
สิ่งที่เราจะคุยกันในวันนี้ก็มีลักษณะเช่นนั้น
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ารัฐบาลหรือผู้ปกครองในโลกเสรีที่ดี ไม่ควรจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกเรื่อง แต่ควรจะถูกตรวจสอบหรือถูกมีกลไกที่จะยับยั้งอำนาจที่มากเกินไปได้
1
คำถามที่น่าสนใจคือ ไอเดียที่ว่าอำนาจของรัฐควรจะออกแบบให้มีการแยกออกจากกันและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อย่างที่เราใช้ในทุกวันนี้ เริ่มต้นมาได้ยังไง และใครเป็นคนทำให้แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กันทั่วโลก
2
แน่นอนครับ คำตอบมันย่อมเริ่มต้นมาจากนักคิดยุคเรืองปัญญา โดยคนที่มักจะได้รับเครดิตว่าเป็นคนที่ทำให้ไอเดียนี้รู้จักกันไปทั่วคือ มองเตสกิเยอ
ในบทความนี้เราจะเดินทางย้อนเวลากลับไปหาคำตอบกันว่ามองเตสกิเยอ นำความคิดนี้มาจากไหน และอะไรทำให้เขาคิดว่าโครงสร้างการปกครองแบบนี้ เป็นการปกครองที่ดี
3
..........................................................................
2.
ในยุคสมัยที่มองเตสกิเอ อาศัยอยู่นั้น สังคมส่วนใหญ่ในโลกปกครองด้วยกษัตริย์มาช้านาน จนคนส่วนใหญ่เคยชิน และรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ
คำถามคือ อะไรทำให้มองเตสกิเออ เสนอว่า อำนาจจะรวมอยู่ที่คนๆเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องแยกอำนาจของผู้ปกครองออกเป็นหลายๆส่วน
เรื่องราวมันเริ่มต้นมาจากการที่ชาวยุโรปเห็นโลกมากขึ้น
ยุคสมัยก่อนที่จะเข้าสู่ยุคเรืองปัญญานั้น ชาวยุโรปได้ผ่านยุคสมัยของการเดินเรือออกไปค้นพบทวีปต่างๆ (age of discovery) มาหลายร้อยปีแล้ว เมื่อชาวยุโรปได้พบกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมมากขึ้น ก็เริ่มสนใจในความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรม
1
ยิ่งบวกกับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ดีขึ้น (หลังแท่นพิมพ์ของกูเตนเบิรก์) ทำให้คนซึ่งมีโอกาสเดินทางไปยังดินแดนอื่นสามารถนำเรื่องราวหรือวัฒนธรรมแปลกๆ มาตีพิมพ์เป็นหนังสือให้คนทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวาง
หนังสือที่เขียนเล่าถึง วัฒนธรรมที่ต่างไปจากยุโรปมากๆอย่างวัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมชาวอาหรับหรือวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอเมริกา (อินเดียนแดง) กลายเป็นหนังสือขายดี
2
ชาวยุโรปก็เริ่มคิดได้ว่า คนแต่ละวัฒนธรรมก็มีวิธีคิด มีวิธีมองโลกต่างกันไป ถึงขนาดว่าการแปล ภาษาจากวัฒนธรรมนึงไปอีกวัฒนธรรม บางครั้งก็หาคำแปลมาใช้อธิบายมุมมองของคนต่างวัฒนธรรมได้ยาก คนวัฒนธรรมอื่นก็คงจะรู้สึกว่าวัฒนธรรมของยุโรปแปลก ไม่ต่างไปจากที่ชาวยุโรปรู้สึกว่าคนวัฒนธรรมอื่นแปลก
3
นักคิดชาวยุโรปเริ่มมีความคิดที่ว่า คนซึ่งมีประวัติศาสตร์มาต่างกัน มีวัฒนธรรมต่างกัน ย่อมจะมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆไม่เหมือนกันและให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน
.
.
มองเตสกิเยอ ก็เป็นอีกคนที่ความคิดของเขาได้รับอิทธพลของยุคสมัย นอกจากนี้เขายังมีเพื่อนสนิทชาวจีนที่มาทำงานเป็นผู้ดูแลสมบัติของกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ได้รับมาจากประเทศจีน
3
เพื่อนชาวจีนคนนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่ยังไม่มาฝรั่งเศส และก่อนเดินทางมาปารีส เขาก็วาดภาพฝันไว้ว่า ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศคริสต์นิกายคาทอลิกที่เคร่งมาก คงจะเป็นเมืองในฝัน เพราะผู้คนคงจะปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจต่อกัน ให้อภัยต่อกันเหมือนที่เขาได้อ่านในพระคัมภีร์ว่า เมื่อคนหนึ่งโดนตบหน้า ก็จะหันหน้าอีกด้านให้ตบ หรือ ผู้คนคงจะรักเพื่อนบ้านเหมือนดั่งรักตัวเองตามคำสอนของพระเยซู
4
แต่เมื่อเขาเดินทางมาถึงปารีสก็ต้องประหลาดใจกับสิ่งที่พบเห็น ประเทศคาทอลิกกลับไม่ต่างไปจากเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ประชาชนแม้ว่าจะเรียกตัวเองว่าชาวคริสต์ และเชื่อว่าตัวเองเป็นชาวคริสต์ที่ดี แต่พฤติกรรมกลับห่างไกลจากคำสอนของศาสนาเป็นอย่างมาก
3
มองเตสกิเออจึงได้คิดว่า ชาวฝรั่งเศสทั้งหลายคงดูไม่ออกว่า สิ่งที่ชาวฝรั่งเศสเชื่อ กับสิ่งที่ปฏิบัติจริง มันต่างกันมากแค่ไหน จนเมื่อคนต่างวัฒนธรรมมาชี้ให้เห็น จึงจะเห็นว่าสิ่งที่ทำกันอยู่มันแปลกยังไง
..........................................................................
3.
1
งานเขียนชิ้นแรกที่ทำให้มองเตสกิเออโด่งดังขึ้นมามีชื่อว่า The Persian Letters ก็มีเนื้อหาในลักษณะนี้ คือเป็นนิยายที่เล่าถึงนักเดินทางชาวเปอร์เซียที่มาฝรั่งเศสและเขียนจดหมายกลับไปเล่าถึงความแปลกของฝรั่งเศสให้เพื่อนที่เปอร์เซียฟัง
ในนิยาย มองเตสกิเยอ ชี้ให้เห็นความแปลกหรือไม่สมเหตุสมผลหลายอย่างของฝรั่งเศสที่ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ชินจนไม่เห็นความแปลกนั้น
ต่อมา เขาก็นำแนวคิดนี้ไปใช้ในแง่ของการเมือง การปกครอง มองเตสกินเยอ มองว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายของประเทศหนึ่งจะไปใช้กับอีกประเทศหนึ่ง เพราะแต่ละประเทศมีภูมิศาสตร์ต่างกัน อากาศต่างกัน ลมฟ้าอากาศ ลักษณะของดินต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน วิถีชีวิต อาชีพ ศาสนา ความร่ำรวย รวมถึงยุคสมัย ทำให้คนแต่ละที่แต่ละยุคสมัยให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน
1
สิ่งที่เชื่อว่าเป็นจริงในวัฒนธรรมหนึ่งหรือศาสนาหนึ่ง อาจจะไม่เป็นจริงในวัฒนธรรมหรือศาสนาอื่น
แต่ก็มีหลายเรื่องที่เป็นความจริงสากล คือจริงข้ามวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งที่จริงข้ามสากลนี้ มักจะเป็นสิ่งที่ศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น แรงโน้มถ่วงของโลก
แรงโน้มถ่วงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในศาสนาคริสต์หรือวัฒนธรรมในยุโรป เพราะคนที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลามก็ไม่ได้ลอยขึ้นฟ้า แต่ตกลงสู่พื้นโลกเช่นเดียวกัน สิ่งที่จริงข้ามวัฒนธรรมเหล่านี้มันคือ กฎของธรรมชาติ หรือเป็นสภาวะที่แท้
3
มองเตสกิเยอจึงคิดว่า ถ้าเราศึกษาสังคมด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ คือ ศึกษาสังคมในอดีต สังคมโบราณ เช่น อาณาจักรโรมัน ศึกษาสังคมปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อดูว่าในวัฒนธรรมที่ต่างกัน ในยุคสมัยที่ต่างกัน มีอะไรบ้างที่เป็นความจริง ข้ามวัฒนธรรม ข้ามกาลเวลา สิ่งที่จริงข้ามวัฒนธรรมนั้นก็น่าจะเป็นสังคมที่เป็นธรรมชาติจริงๆของมนุษย์
2
4.
เมื่อมองเตสกิเยอ วิเคราะห์การปกครองของวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งในอดีตและวัฒนธรรมร่วมสมัยกับเขา โดยเฉพาะวัฒนธรรมการปกครองของชาวโรมัน แล้วเขาก็ได้ข้อสรุปว่า การปกครองไม่ใช่กฎธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เหมือนที่เข้าใจกัน เพราะยุคนั้นเชื่อว่ากษัตริย์คือคนที่พระเจ้าเลือก และให้อำนาจมาปกครองคนอื่น ๆ
เขายังมองต่อว่าการปกครอง ที่เคยมีมา ถ้าจะแบ่งโดยดูแก่นแท้ของการปกครอง พอจะแบ่งออกได้เป็นสามแบบ คือ
4
หนึ่ง เป็นการปกครองด้วยคุณธรรม
การปกครองแบบนี้คือการปกครองแบบ Republic โดยผู้นำของรัฐอาจจะเป็นคนๆเดียวก็ได้ หรือจะเป็นกลุ่มบุคคลก็ได้ แต่หัวใจสำคัญคือ เป็นการปกครองที่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตามชื่อ republic ที่มาจากคำว่า res ที่แปลว่า ห่วงใย หรือให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ + publica ที่แปลประชาชน
7
สอง เป็นการปกครองด้วย เกียรติยศ
การปกครองแบบนี้คือการปกครองแบบกษัตริย์ ที่ผู้นำแม้ว่าจะมีอำนาจสูงสุด แต่ปกครองประชาชนโดยใช้กฎที่มีอยู่ (อาจจะเป็นกฎหมาย ประเพณี หรือกฎอย่างทศพิธราชธรรม) ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ อยากจะสั่งประหารหรือแต่งตั้งใครก็ได้ตามอารมณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน
1
สาม เป็นการปกครองด้วยความกลัว
การปกครองแบบนี้จะหมายถึง การปกครองที่มีชื่อว่า เดสโพธิซึม (despotism) ซึ่งก็คือเผด็จการ หรือสมบูรณาญาสิทธิราช คือ คนหนึ่งคนมีอำนาจสูงสุด แต่ที่ต่างไปจากระบอบกษัตริย์คือ ผู้นำสูงสุดไม่ได้ใช้กฎในการปกครอง แต่ทำตามอำเภอใจ สั่งประหารหรือให้รางวัลใครตามใจฉัน โดยเน้นความกลัวเพื่อให้คนยอมอยู่ใต้อำนาจและทำตามสั่ง
6
ในการปกครองทั้งสามแบบนี้ ในความคิดของมองเตสกิเยอ การปกครองที่ดีสุด คือ republic ที่เน้นคุณธรรม ส่วนการปกครองที่เลวร้ายสุดคือ การปกครองแบบเผด็จการหรือ despotism ที่เน้นความกลัว
แต่จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า การปกครองทั้งสามต่างก็ไม่มีเสถีรยภาพ ไม่สามารถคงอยู่ได้นาน เพราะการปกครองทั้งสามแบบเหมือนมีเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายตัวเองอยู่ภายใน
2
สมมติว่าการปกครองเริ่มด้วยการปกครองแบบเผด็จากหรือ despotism ที่ปกครองด้วยความกลัว แต่เมื่อปกครองไปได้ถึงจุดหนึ่ง อำนาจที่กดขี่คนอื่นก็จะอ่อนลง หรือผู้นำที่แข็งแกร่งตายไป แล้วระบอบการปกครองแบบนี้ก็จะโดนโค่นลง
4
เมื่อเผด็จการล่มสลายลงไป ประชาชนก็จะหาทางจนในที่สุดก็จะได้ระบอบการปกครองที่ประชาชนมีส่วนในการปกครองตัวเอง ซึ่งเป็นการปกครองด้วยคุณธรรม เน้นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ การปกครองแบบนี้จะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น
1
แต่พอผ่านไปสักระยะ ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจะย้อนกลับมาทำลายการปกครองที่ดี เพราะเมื่อคนร่ำรวยขึ้น ก็จะเกิดความโลภมากขึ้น เห็นแก่ตัวกันมากขึ้น สุดท้ายสังคมก็วุ่นวายจนไม่สามารถปกครองตัวเองได้อีกต่อไป ผู้คนจึงเริ่มมองหาคนแข็งแกร่งมาเป็นที่พึ่ง และยกผู้นำคนนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ ซึ่งในช่วงแรกกษัตริย์จะปกครองคนอื่นด้วยกฎหมาย
4
แต่เมื่อใดที่คนๆหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาด ไม่นานนักอำนาจก็จะเปลี่ยนแปลงเขาจนกลายเป็นเผด็จการ ซึ่งเป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด แล้วระบอบการปกครองก็จะวนลูปเช่นนี้ไปอีกเรื่อย ๆ ดังที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์
10
คำถามคือ มีวิธีที่จะหยุดวัฎจักรนี้ไหม ?
มองเตสกิเอยเชื่อว่ามีครับ
5.
สิ่งที่มองเตสกิเยอเสนอเขาไม่ได้คิดเองทั้งหมด แต่อิงมาจากความคิดของ จอห์น ล็อค (John Locke) อีกที โดยเขามองว่า การปกครองในประเทศอังกฤษมีสมดุลของอำนาจระหว่างสามกลุ่มด้วยกัน คือ
1
หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ สอง house of lord ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้น aristocrat และสาม house of common ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน
สามกลุ่มหรือสามสถาบันนี้ต่างก็จะคอยปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้สถาบันทั้งสามคอยคานอำนาจกันไม่ให้ใครมีอำนาจมากเกินไป แต่ละฝ่ายคานอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง มันเลยจะเกิดการถ่วงดุลของอำนาจขึ้น และสมดุลของอำนาจนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สมบัติ ซึ่งลักษณะนี้จะตรงข้ามกับฝรั่งเศสยุคนั้น ที่สถาบันกษัตริย์นับตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มา มีอำนาจมหาศาล สามารถออกกฎหมายก็ได้ เรียกเก็บภาษีก็ได้ จะตัดสินคดีใครก็ได้
2
(มีข้อสังเกตนิดนึง ว่า มองเตสกิเยอ ไม่เชื่อว่าการให้อำนาจกับประชาชนเต็มที่เป็นสิ่งที่ดี เพราะเขาเชื่อว่าประชาชนทั่วไปไม่สามารถปกครองตัวเองได้ เพราะเป็นอำนาจของม็อบ หรือพูดง่ายๆว่าเขาไม่ค่อยเชื่อในประชาธิปไตยเท่าไหร่)
6
ดังนั้นในหนังสือ The Spirit of the Laws เขาจึงเสนอว่า ต้องแยกอำนาจของรัฐออกจากกัน โดยต้นแบบที่เขาใช้คือ การปกครองของอาณาจักรโรมัน ที่มีการแยกอำนาจเป็นสามส่วนคือ
1
หนึ่ง ฝ่ายที่ออกกฎหมาย (แต่ไม่มีสิทธิ์บังคับใช้กฎหมาย)
สอง ฝ่ายปกครองที่บังคับใช้กฏหมาย (ที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนออก) และ
สาม ฝ่ายตุลาการที่จะคอยตัดสินว่า มีใครทำผิดกฎหมาย (ที่ตัวเองไม่ได้ออกและไม่ได้เป็นคนใช้หรือไม่)
8
และออกแบบให้ทั้งสามฝ่ายมีอำนาจที่จะเบรกอำนาจของฝ่ายอื่นได้ (คล้ายๆเล่นเป่ายิ้งฉุบ ค้อน กรรไกร กระดาษ) ทำให้ไม่มีฝ่ายไหนสามารถใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมได้
และนั่นก็คือที่มาของแนวคิดที่เขาเสนอให้มีการแยกอำนาจของรัฐออกจากกัน
6.
โดยสรุป จะเห็นว่าไอเดียที่มองเตสกิเยอเสนอนั้น มันไม่ได้มาจากความเชื่อหรือศรัทธา แต่มันมาจากการสังเกต หรือศึกษาระบอบการปกครองต่าง ๆ ทั้งร่วมสมัยและในอดีต จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล แล้วก็เสนอวิธีแก้ปัญหาออกมา ซึ่งวิธีการนี้มีลักษณะการหาคำตอบแบบวิทยาศาสตร์
1
ดังนั้นไม่ว่าความคิดของเขาจะผิดหรือถูก แต่มันสามารถที่จะเข้าใจได้โดยตรรกะ และสามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลได้
จะมีขั้นตอนเดียวที่ทำให้สิ่งที่เขาเสนอยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง นั่นก็คือ การทดลอง
อีกไม่นานครับ สิ่งที่มองเตสกิเยอและนักคิดนักเขียน ยุคเรืองปัญญาคนอื่นๆ เขียนถึง จะถูกนำไปทดลองใช้ในประเทศเกิดใหม่ที่ชื่ออเมริกา
3
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น ในตอนหน้าผมอยากจะชวนไปทำความรู้จักกับ philosopes คนสำคัญอีกคนของยุคเรืองปัญญา
1
เขาคนนี้จะมีความคิดหลายๆอย่างต่างไปจากนักคิดยุค Enlightenment คนอื่นๆพอสมควร เพราะเขาไม่ค่อยเชื่อเรื่องการใช้เหตุผล ไม่เชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หรือเชื่อว่าความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ดี
3
สิ่งที่เขาเขียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิวัติในฝรั่งเศสประชาชนตัดหัวกันเองตายไปหลายหมื่นคน
1
และเขายังเสนอแนวคิดที่สุดโต่งกว่านักคิดคนอื่น ๆ
เพราะเขาเป็นคนที่เชื่อว่า อำนาจการปกครอง .... ควรจะยกให้กับประชาชน
เขาคนนี้มีชื่อว่า ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)
ไม่อยากพลาดการแจ้งเตือนเมื่อมีโพสต์หรือบทความใหม่ๆ
Add Line เพื่อรับการแจ้งเตือนต่างๆได้ที่นี่ค่ะ
1
🔔 Line: @chatchapolbook

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา