27 พ.ย. 2020 เวลา 11:19 • ประวัติศาสตร์
The Enlightenment ตอนที่ 4 รุสโซ
1.
โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงคำว่ายุคเรืองปัญญา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงความคิดที่นำไปสู่ความก้าวหน้า แต่ในความเป็นจริงยุคเรืองปัญญายังมีส่วนที่เป็นแนวคิดหลาย ๆ แนวที่ทุกวันนี้เรามองในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็น มาร์กซิส หรือไอเดียที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในการปฏิวัติของฝรั่งเศส หรือ รัสเซีย
1
และเหตุการณ์ร้าย ๆ ของประวัติศาสตร์หลายครั้งมักจะถูกโยงกลับไปที่งานเขียนของคน ๆ หนึ่ง
ขณะเดียวกันเขาคนนี้ก็เป็นนักคิดช่วง Enlightenment ที่มีความคิดสุดโต่งไปกว่าคนอื่นและเสนอว่า อำนาจการปกครองควรจะอยู่ในมือของประชาชน
วันนี้เราจะเดินทางย้อนเวลากลับไปทำความรู้จักกับเขาคนนี้กันครับ
ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)
1
2.
รุสโซ มีพื้นเพต่างไปจากนักคิดคนอื่นในกรุงปารีสพอสมควร เพราะเขาเติบโตในเจนีวาซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ต่อมาเมื่อเข้าวัยหนุ่มจึงย้ายไปปารีส และที่นั่นเขาก็เริ่มเข้าสู่วงการของนักคิด จากการที่ได้มีโอกาสพบปะกับนักเขียนยุค Enlightenment หลายคน
วันนึงในปี 1749 ขณะที่อายุได้ 37 ปี เขาอ่านเจอบทความในหนังสือพิมพ์ให้มีการประกวดเรียงความหัวข้อว่า ความก้าวหน้าทำให้จริยธรรมของสังคมดีขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งแทบจะทุกคนรวมถึงคนที่จัดให้มีการประกวด คาดหวังจะได้รับคำตอบว่า จริง เพราะยุคนั้นคือ ยุคสมัยที่สังคมชื่นชมการใช้เหตุผล ชื่มชมวิทยาศาสตร์ บวกกับยุโรปขณะนั้นมองตัวเองว่าเทคโนโลยีก้าวหน้า ยิ่งได้เดินเรือไปพบคนในทวีปอื่นที่มองว่าป่าเถื่อนกว่าหรือไม่ศิวิไลซ์เท่า ยิ่งทำให้รู้สึกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมเป็นเรื่องดีงาม
1
แต่รุสโซ ได้ครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ แล้วเขาก็ตอบว่าไม่จริง
ในเรียงความที่ได้รางวัลชนะเลิศของเขาที่ชื่อ Discourse on the Sciences and Arts (Discours sur les sciences et les arts) ในปี ค.ศ. 1749 นั้น เขาได้ให้เหตุผล และยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ เพื่อสนับสนุนว่าทำไมเขาจึงมองว่า วิทยาศาสตร์และศิลปะที่ก้าวหน้า ทำให้คุณธรรมของสังคมลดลง
รุสโซเริ่มจากการยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่า อารยธรรมกรีกและโรมัน เดิมเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เรียบง่าย ชีวิตผู้คนก็เรียบง่าย แต่เมื่อเมืองใหญ่โตขึ้น คุณธรรมของคนก็เสื่อมลง หรือเมื่อเทียบอารยธรรมของนครรัฐเอเธนส์ที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมกับสปาร์ตาที่เรียบง่าย ก็จะเห็นว่าเอเธนส์เต็มไปด้วยนักการเมือง พ่อค้าที่เห็นแก่ตัว ต่างไปจากสปาร์ตาที่ผู้ประชาชนทหารอยู่กันอย่างเรียบง่ายและยอมตายเพื่อนครรัฐ
1
เช่นเดียวกัน ชาวพื้นเมืองทวีปอเมริกา (อินเดียนแดง) เดิมก็มีสังคมที่เล็ก และผู้คนรักกัน แต่เมื่อชาวยุโรปนำสินค้าต่าง ๆ ไปค้าขายด้วย ชาวพื้นเมืองก็เริ่มเห็นแก่ตัว หลงในวัตถุมากขึ้น
2
ทำไม เมื่อสังคมมีความเจริญด้านเทคโนโลยีและศิลปะมากขึ้น คุณธรรมในสังคมจึงเสื่อมลง ?
คำตอบที่รุสโซ เชื่อคือ เพราะมนุษย์ในสภาพธรรมชาติจริง ๆ หรือที่เรียกว่า state of nature นั้น มนุษย์มีธรรมชาติที่บริสุทธิ์
3.
รุสโซจินตนาการว่าก่อนที่มนุษย์จะมาอยู่เป็นสังคมเมืองใหญ่ ๆ นั้น มนุษย์อาศัยอยู่ในธรรมชาติอย่างสงบ สังคมของมนุษย์เป็นสังคมเล็ก ๆ ที่รักกัน เห็นอกเห็นใจกัน สมาชิกในสังคมเต็มไปด้วยความสนใจในธรรมชาติ มีความสุขง่าย พอใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เรียบง่าย
ความคิดที่ว่ามนุษย์ดั้งเดิมมีสังคมที่เรียบง่าย รักกันและมีความสุขนั้น ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลมาจากการที่ชาวยุโรปได้ยินข่าวเล่าต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับชนพื้นเมืองทวีปต่าง ๆ ที่ยุโรปเดินเรือไปพบว่า แม้สังคมของชนพื้นเมืองจะไม่เจริญทางวัตถุ แต่พวกเขาเจริญทางจิตวิญญาน ผู้คนในสังคมมีความเท่าเทียม รักพวกพ้อง และมีความสุข
1
แต่เมื่อชาวพื้นเมืองได้พบกับชาวตะวันตกที่เอาสิ่งของแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไปให้หรือไปค้าขายด้วย ชนพื้นเมืองเหล่านี้ก็เริ่มมีปัญหา มีความแตกแยกในสังคม ผู้คนเกิดความโลภ อยากได้ของคนอื่นมากขึ้น
2
รุสโซเชื่อว่า ที่มนุษย์ในสภาพธรรมชาติมีความบริสุทธิ์นั้น เป็นเพราะมนุษย์อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับสภาพที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมามากที่สุด สังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ก็เป็นไปในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสังคมแบบที่พระเจ้ากำหนดไว้เริ่มแรก
ต่อมามนุษย์ก็รวมตัวเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากจากภัยธรรมชาติ เช่น ภาวะแล้ง ขาดอาหาร น้ำท่วม แต่เมื่อภาวะทุกข์ยากเหล่านี้ผ่านพ้นไป มนุษย์ก็ยังอยู่เป็นสังคมใหญ่เช่นนี้ต่อไป
ในสังคมใหญ่ที่มีสมาชิกมากมายจะทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบปลอม ๆ โครงสร้างปลอม ๆ ทรัพย์สมบัติปลอม ๆ ที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตขึ้นมา เช่น เกิดการแบ่งงานกันทำ เกิดอาชีพ เกิดสมาคม เกิดสถาบันต่าง ๆ เกิดความรวยความจน เกิดผู้มีอำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง ๆ ของมนุษย์
7
เมื่อเกิดความรวย เกิดคนที่มีอำนาจขึ้น คนเหล่านี้ก็จะหลงติดกับความรวยและอำนาจ และพยายามที่จะคงรูปแบบของสังคมที่ทำให้ตัวเองร่ำรวยและมีอำนาจต่อไป
ดังนั้นจะเห็นว่า เทคโนโลยีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น มันทำให้มนุษย์ห่างไกลจากสภาพเดิมที่พระเจ้าสร้างขึ้น แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้คุณธรรมของมนุษย์เสื่อมทรามลง
เขายังอธิบายต่อว่า
ความศิวิไลซ์และสังคมที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มนุษย์เริ่มเทียบตัวเองกับคนอื่นในสังคมมากขึ้น
เมื่อเริ่มเทียบกับคนอื่นก็อยากจะมีเหมือนคนอื่น เป็นเหมือนคนอื่น จนสูญเสียความเป็นตัวตนของตัวเองไป
3
มนุษย์เริ่มไม่รู้ว่าความต้องการที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร สนใจแค่เพียงว่าต้องการจะมีเหมือนคนอื่น ต้องการเลียนแบบ ต้องการแข่งขัน
1
ในสภาพธรรมชาติ มนุษย์ต้องการแค่มีอาหารการกินให้อิ่ม แต่ในสังคมที่รุ่มรวยศิลปะวัฒนธรรม มนุษย์ต้องการจะกินอาหารที่เสิร์ฟมาบนถาดทองคำ โดยคนรับใช้ที่ใส่เสื้อผ้าสวยงาม
3
ในสภาพธรรมชาติ มนุษย์ต้องการแค่เพิงหรือที่พักพิงสำหรับ หลบฝน หลบหนาว แต่ในสังคมที่เจริญทางเทคโนโลยีและศิลปะ มนุษย์ต้องการบ้านที่สวยที่สุด ใหญ่ที่สุด
1
ในสภาพธรรมชาติมนุษย์ต้องการแค่พอใจกับความสุขทางเพศ แต่ในสังคมเมืองใหญ่ มนุษย์ต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่สวยหล่อที่สุด และรู้สึกไม่พอใจเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่สวยหล่อเท่าคนอื่น
7
ในสภาวะธรรมชาติความไม่เท่าเทียมในสังคมนั้น จะเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกายที่ต่างกัน เช่น สุขภาพ ความแข็งแรง ความสูงต่ำ ความสวยหล่อ
3
สภาพร่างกายที่ต่างกันนี้ อาจจะทำให้คนตัวสูงเก็บผลไม้กินได้ดีกว่า แต่ในโลกที่มีผลไม้มากพอสำหรับทุกคน การสูงกว่าก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการหาของกิน
2
สภาพร่างกายอาจจะทำให้ คนที่วิ่งเร็วกว่าล่าสัตว์ได้ดีกว่า แต่ในธรรมชาติที่มีอาหารเพียงพอ การวิ่งเร็วกว่าก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
2
สิ่งเหล่านี้คือ ความต้องการปลอม ๆ ที่ศิลปะ วัฒนธรรมและเทคโนโลยี สร้างขึ้นมา
2
และเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการปลอม ๆ เหล่านี้ มนุษย์ต้องเสียแรงเสียเวลาไปมากมาย มนุษย์เห็นแก่ตัวมากขึ้น และมนุษย์รักพวกพ้องน้อยลง
1
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังทำให้คนรักสบาย เบื่อง่าย และรู้สึกพอใจกับสิ่งที่มีได้ยากขึ้น
2
ในสภาพธรรมชาติ มนุษย์มีความสุขเมื่อล่าสัตว์มาเป็นอาหารได้ แต่ในสังคมที่เจริญทางเทคโนโลยี มนุษย์ไม่ได้ตื่นเต้นหรือดีใจ กับการที่มีคนนำเนื้อสัตว์มาให้พ่อครัวปรุงแล้วนำมาเสริฟ์ให้กิน
2
ทั้งหมดนี้คือ ความต้องการปลอมที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วทำให้มนุษย์กลายเป็นทาสของมันไปในทุกหนแห่ง
2
4.
ในแง่ของความเชื่อทางศาสนา
รุสโซเชื่อในพระเจ้า แต่ไม่เชื่อในศาสนาและสถาบันศาสนา
เขาเชื่อว่าพระเจ้าเผยตัวเองให้เห็นในธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างขึ้น ดังนั้น การจะเข้าใจพระเจ้า มนุษย์ก็ต้องกลับไปสู่สภาวะธรรมชาติ
3
รุสโซ ยังเชื่อว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีสำนึกที่จะรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด เพราะเป็นสำนึกที่พระเจ้าสร้างให้กับมนุษย์ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม ในศาสนาต่าง ๆ จึงมีคำสอนที่ฟังดูคล้ายกัน ทำไมสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ควรทำในศาสนาต่าง ๆ จึงคล้ายกัน สิ่งที่ไม่ดีหรือควรโดนลงโทษในก็คล้ายกัน นั่นคือเหตุผลว่า แม้แต่คนที่ทำผิดก็ยังรู้ตัวลึก ๆ ว่าตัวเองทำผิด
3
แต่ศาสนาต่าง ๆ รวมถึงสถาบันศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นวัฒนธรรม และการที่มนุษย์แต่ละคนนับถือศาสนาไหนก็เป็นเรื่องของความบังเอิญว่าเกิดมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาไหน
2
รุสโซเชื่อว่า มนุษย์ในสภาพธรรมชาติจะมีสำนึกคอยชี้ทางว่า สิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด
สำนึกทำให้คนยอมตายเพื่อคนอื่น แต่สังคมหรือวัฒนธรรม ทำให้คนเห็นแก่ตัว
2
สิ่งที่ต้องทำคือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้กลับไปสู่สภาวะธรรมชาติที่ดีของมนุษย์อีกครั้ง
1
ตรงนี้จะเห็นว่าความคิดของรุสโซค่อนข้างจะต่างไป ฟิโลโซฟส์ (Philosophes) คนอื่น เพราะเขามองว่าการใช้เหตุผลแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ไม่มากนัก แต่การใช้สำนึก หรือการทำตามใจทำตามความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีกว่า
2
โดยสรุป จะเห็นว่า ภายในบทเรียงความแค่บทความเดียว รุสโซแทบจะทำลายสิ่งที่เชื่อกันมาในสังคมศาสนาคริสต์อย่างยาวนาน เพราะการมองว่า พื้นฐานหรือเนื้อแท้ของมนุษย์ดีนั้น มันตรงข้ามกับความเชื่อทางศาสนาที่สอนว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับ original sin เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นลูกหลานของอดัมและอีฟ ผู้ซึ่งขัดคำสั่งพระเจ้าและกินผลไม้ต้องห้าม
2
เขาสามารถโน้มน้าวให้คนเห็นเชื่อได้ว่า มนุษย์ในสภาพธรรมชาติมีความบริสุทธิ์ แต่ถูกทำให้เสื่อมลงด้วยศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1
ประโยคแรกในหนังสือและประโยคคลาสสคิของ รุสโซ เขาบอกว่า Man is born free but everywhere he is in chain หมายความว่า มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เมื่ออยู่ในสังคม ไม่ว่าจะหันไปทางไหน มนุษย์ก็ไม่มีอิสรภาพ ทุกคนเหมือนเหมือนถูกล่ามโซ่ ด้วยกฎเกณฑ์หรือประเพณีของสังคม
4
คำถามคือ แล้วเราจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ?
5.
รุสโซมองว่าปัญหาต่าง ๆ ส่วนหนึ่งต้องแก้ด้วยการศึกษา
เขาจึงเขียนหนังสือชื่อ อีมีล
หรือ Emile, or On Education (Émile, ou De l’éducation)
โดยหลักการหลัก ๆ ที่เขาเสนอคือ
การศึกษาของเด็กต้องเน้นการเรียนรู้จากธรรมชาติให้มากที่สุด
ไม่ใช่เรียนจากคนอื่น ไม่ใช่เรียนจากการท่องจำ
เด็กควรจะได้เล่นหรือใช้ชีวิตในธรรมชาติ
เช่น
1
ถ้าอยากให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์
ก็ให้ไปปล่อยเล่นในป่าตอนที่หิว
เด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับทิศทาง
เส้นทางการไหลของแม่น้ำด้วยตัวเอง
1
ถ้าอยากให้เข้าใจการทำธุรกิจ
ก็ให้เด็กไปปลูกผักในที่ดินของคนอื่น
เพราะเมื่อเจ้าของที่ดินมาเห็นก็จะทำลายผักที่เด็กปลูก
แล้วเด็กก็จะเรียนรู้ที่จะต่อรอง
เช่น ให้เจ้าของที่ดินพรวนดิน เด็กจะลงแรงปลูก
แล้วผลผลิตที่ได้จะแบ่งกันคนละครึ่ง
2
ในแง่การศึกษา ความคิดของรุสโซจึงมีแปลกกว่านักคิดคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกันพอสมควร คือ ไม่เน้นการใช้เหตุผลหรือการให้ความรู้จากคนอื่นมากนัก แต่เน้นการให้เรียนรู้จริงในธรรมชาติ ให้ลำบาก ให้หิว ให้หนาว เพื่อที่จะมีภูมิต่อความเสื่อมโทรมของสังคมที่จะไปเจอ
2
สิ่งที่เขาเสนอในแง่การปกครอง
เขาเห็นด้วยกับนักคิดชาวอังกฤษรุ่นพี่
อย่าง เดวิด ฮูมมส์ (David Hummes)
และ จอห์น ล็อค (John Locke)
ในแนวคิดที่เรียกว่า social contract
ซึ่งมีใจความกว้าง ๆ ว่า
1
ประชาชนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจในการดูแลสังคม
เพื่อให้รัฐบาลสร้างสังคมในแบบที่ประชาชนต้องการ
แต่รัฐจะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
ถ้าไม่ทำตามหรือทำไม่ได้
ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกรัฐบาลนั้น
2
แต่ social contract ของรุสโซ
ก็มีความต่างไปจาก จอห์น ล็อค มากพอสมควร
Locke บอกว่า รัฐจะต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพโดยกำเนิดประชาชน ซึ่งก็คือ ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สมบัติ (life liberty และ property) ซึ่งจะเห็นว่า เน้นไปในแง่ “บุคคล” คือ คนมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตในอย่างที่ต้องการและได้รับการปกป้องจากรัฐ
รุสโซ บอกว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือ
จะต้องสะท้อน general will ของประชาชน
คำถามคือ general will ที่ว่าคืออะไร ?
general will เป็นคำที่มีใช้มาก่อนรุสโซ
และแต่ละคนที่ใช้ก็ยังให้ความหมายไม่เหมือนกัน
สำหรับรุสโซ จำได้ไหมครับ เขาเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์มีสำนึกที่จะรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด เขาจึงเชื่อว่ามนุษย์ในสภาพธรรมชาติทุกคนจะบอกได้ว่าอะไรถูกหรือผิด โดยไม่ต้องมีการโต้เถียงด้วยเหตุผลแต่ใช้ความรู้สึกหรือสัญชาตญาน
และเนื่องจากสำนึกนี้
เป็นความสามารถของมนุษย์ทุกคนมี
สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเห็นว่าถูกหรือผิด
จึงออกมาเหมือนกันเป็นเอกฉันท์
โดยไม่ต้องโหวต
2
สิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องการเหมือนกันคือ
สิ่งที่เรียกว่า general wil หรือเจตจำนงร่วมกัน
และนี่คือสิ่งที่รัฐต้องทำ นั่นก็คือ
สะท้อนความต้องการของ general will
จุดที่รุสโซต่างจากล็อคมากที่สุดคือตรงนี้ครับ
ใน Social contract ของรุสโซ เขาบอกว่าสมาชิกในสังคมจะต้องยกเสรีภาพส่วนบุคคลทั้งหมดให้กับรัฐ (ซึ่งมีหน้าที่ทำตาม general will)
จากนั้นทุกคนจะหาความสุขและเสรีภาพของตัวเอง ผ่านความสุขของสังคม คือ ช่วยกันทำให้สังคมเป็นไปตามเจตจำนงร่วมหรือ genral will และเมื่อทำได้ สมาชิกในสังคมทุกคนก็จะมีความสุขไปด้วยกัน
2
ถ้าจะเทียบก็เหมือนคนที่นำเงินส่วนตัวไปลงทุนทำธุรกิจไปด้วยกัน หุ้นส่วนแต่ละคนจะร่ำรวยขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อช่วยกันทำให้ธุรกิจร่ำรวยขึ้น เช่นเดียวกัน สมาชิกในสังคมจะต้องลงทุนเสรีภาพไปไว้ให้กับรัฐ แล้วรัฐและประชาชนจะช่วยกันทำให้สังคมเป็นไปตามเจตจำนงร่วม แล้วทุกคนจะมีความสุข
ฟังดูแล้วเหมือนจะย้อนแย้งไหมครับ อยากมีเสรีภาพ จึงต้องยกเสรีภาพ ยกสมบัติส่วนบุคคลให้กับรัฐ เพื่อให้รัฐสร้างสังคมที่มีเสรีขึ้นมา แต่เนื่องจากรุสโซ มองว่า เจตจำนงร่วมที่รัฐต้องทำให้เกิดขึ้นนั้น จริง ๆ ก็มาจากประชาชน ดังนั้นการที่รัฐบังคับประชาชนนั้น ก็เหมือนกับเราใช้ด้านดีของตัวเองบังคับตัวเราเอง
1
แล้วการปกครองแบบนี้จะสามารถช่วยลดความต่างระหว่างชนชั้น จะไม่มีคนจนคนรวย ไม่มีความอิจฉา ไม่มีความโลภ เพราะมนุษย์จะกลับไปสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์
1
ฟังดูเหมือนสังคมนิยมหรือมาร์กซิสต์ ไหมครับ?
2
คำถามต่อไปคือ แล้วถ้ามีใครในสังคมไม่ยอมจะทำอย่างไร?
คำตอบที่มีชื่อเสียงของรุสโซสามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า force to be free ซึ่งก็หมายความว่ารัฐต้องบังคับ กดให้คนยินยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐ
รุสโซจึงมองว่า เสรีภาพกับการกดขี่ไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกัน เพราะการบังคับกดขี่ให้ทำตามกฎหมาย (ซึ่งเป็นกฎที่สร้างมาจาก general will ของสมาชิกในสังคม) ก็เป็นการบังคับให้ทำตามความต้องการของเขาเอง
6.
แต่สังคมฝรั่งเศสในยุคของรุสโซ ห่างไกลจากสภาพธรรมชาติของมนุษย์ไปมาก
ฝรั่งเศสช่วงเวลานั้นถือได้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมมากที่สุดในยุโรป ซึ่งในมุมมองของรุสโซคือ มีความเสื่อมโทรมทางคุณธรรมไปมาก มนุษย์ในสังคมที่ใหญ่และเจริญทางวัตถุเช่นนี้ คงไม่สามารถเห็นความต้องการที่แท้จริงได้
แล้วจะทำยังไงดี?
รุสโซ เชื่อว่าสังคมที่บิดเบี้ยวไปจากธรรมชาติมากเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ในประวัติศาสตร์เมื่อสังคมเสื่อมทรามลงมาก ๆ ก็จะมีผู้บังคับกฎหมายที่มาจากประชาชนเกิดขึ้นมา แล้วมาแก้ไขให้สังคมกลับมามีคุณธรรมอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น โมเสสที่รับบัญญัติ 10 ประการมาจากพระเจ้า โซลอนที่มาปฏิรูปกฎหมายของเอเธนส์ เป็นต้น
แต่ถ้าสังคมมันห่างไกลจากธรรมชาติมากเกินกว่าที่ใครจะมาแก้ไขได้ วิธีการเดียวที่พอจะทำได้คือ ทำลายโครงสร้างของสังคมแบบเดิมนั้น แล้วเริ่มต้นใหม่
ยังไม่หมดแค่นี้ครับ
จากที่คุยกันมาทั้งหมด จะเห็นว่า สังคมอุดมคติของรุสโซ คือ สังคมเล็ก ๆ ที่สมาชิกรู้จักกันหมด อาศัยอยู่ในธรรมชาติ พอใจและมีความสุขกับสิ่งเรียบง่าย แล้วธรรมชาติที่ดีของมนุษย์จึงจะช่วยสร้างกฎเกณฑ์ที่ดีของสังคมขึ้นมา
ดังนั้น ก็จะบอกต่อได้ว่า ชนชั้นสูง คนมีการศึกษาสูง คนที่ร่ำรวย คนชั้นสูง คนที่อาศัยในบ้านใหญ่ ๆ หรือพระราชวัง คือกลุ่มคนที่ห่างไกลจากสภาพธรรมชาติมากที่สุด
ในทางตรงข้ามคนไม่มีการศึกษา ชาวบ้านในชนบทที่ยากจน คือคนที่อยู่ใกล้สภาพธรรมชาติมากที่สุด ดังนั้นอำนาจของรัฐควรจะอยู่ในมือของประชาชนกลุ่มนี้
1
ความคิดนี้ของรุสโซมันแหวกแนวมาก ๆ เพราะในศตวรรษที่ 18 ความคิดว่าอำนาจของรัฐควรจะอยู่ในมือของประชาชนธรรมดา เป็นความคิดที่ไม่อยู่ในหัวของใครเลย กรอบความคิดเดิมของยุโรป ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร คือ รัฐเป็นของกษัตริย์ ประเทศเป็นของกษัตริย์ และประชาชนก็เป็นประชาชนของกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสถึงกับพูดว่า ฉันคือรัฐ I am the state หรือ l'état, c'est moi
2
แต่ข้อความสำคัญหนึ่งของรุสโซคือ
รัฐมีขึ้นมาเพื่อทำงานให้ประชาชน ประชาชนไม่ได้มีหน้าที่รับใช้รัฐ
2
แนวคิดที่ว่า อำนาจการปกครองมาจากประชาชนโดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากจนไม่มีการศึกษา เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความคิดของคนทั่วไปเลย แม้แต่นักคิดคนอื่นๆ ก็ยังมองว่าการบริหารหรือแก้ปัญหาก็ควรจะมาจากคนที่มีความรู้ คือเป็นลักษณะจากบนลงล่างหรือ top down ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของรุสโซ
ยังจำตอนก่อนหน้าได้ไหมครับ ที่ผมเล่าว่า แม้แต่มองเตสกิเยอ ก็มองว่าอำนาจไม่ควรอยู่กับประชาชนมากเกินไป เพราะเป็นอันตรายเสี่ยงที่จะเกิด mob rule ดังนั้นอำนาจของประชาชนจึงควรถูกคานด้วยอำนาจของกษัตริย์ ขุนนาง และศาสนา แต่รุสโซมองว่าประชาชนธรรมดาทั่วไป จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา
1
อ่านถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพไหมครับว่า ทำไมความคิดและสิ่งที่เขาเขียนจึงมีอิทธิพลต่อโลกปัจจุบันมาก เพราะต่อมาไม่ว่าจะเป็นไอเดียการปกครองแบบมาร์กซิสของคาร์ล มาร์กซ์ เผด็จการอย่างฮิตเลอร์ ฟาสซิสต์อย่างมุสโสลินี ประชาธิปไตยที่ให้อำนาจกับประชาชน รวมไปถึง กลุ่ม ยาโคบิน (Jacobin) ที่จะนำประชาชนชาวฝรั่งเศสมาตัดคอนับหมื่นคนในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย ต่างก็สามารถอ้างถึงสิ่งที่รุสโซเขียนไว้ได้ทั้งนั้น
1
7.
ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านที่ไม่เคยได้ยินคำว่ายุคเรืองปัญญา หรือ Enlightenment มาก่อนหรืออาจจะเคยได้ยินแต่ไม่เคยได้อ่าน น่าจะพอนึกภาพออกราง ๆ แล้วว่านักคิดในยุคสมัยนี้เขาคิดอะไรกัน แล้วยุคสมัยนี้มีลักษณะพิเศษอะไรถึงทำให้นักประวัติศาสตร์ตั้งชื่อเรียกให้กับช่วงเวลานี้
แม้ว่าฟิโลโซฟส์ (Philosophes) แต่ละคนจะมีความคิดต่างกันไป แต่ในภาพรวมพวกเขามีแนวคิดบางอย่างร่วมกันคือ เรียกร้องให้กษัตริย์และขุนนาง ชนชั้นสูง ปฏิรูปสังคม โดยให้มีการใช้เหตุผลมากขึ้น ล้มเลิกประเพณีที่หรือสิ่งเก่า ๆ ที่ทำกันมา แบบไม่มีเหตุผล ต้องการให้มีการเปิดเสรีทางความคิด ต้องการให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีประโยชน์ในทางโลกมากขึ้น และสนับสนุนการคิดแบบวิทยาศาสตร์
ส่วนรุสโซ แม้ว่าจะค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ไม่เชื่อเรื่องการใช้เหตุผล ไม่สนับสนุนการให้ความรู้ และไม่ชื่นชมวิทยาศาสตร์นัก แต่เขาก็เห็นด้วยกับการปฏิรูประบอบเก่า ๆ และเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้น และที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ พวกเข้าไม่ใช่แค่นักคิด นักเขียน แต่พวกเขาเป็น อินฟลูเอนเซอร์
เพราะแม้ว่าความคิดหลายอย่างที่พวกเขาเขียนจะไม่ใช่ความคิดของเขาเอง แต่พวกเขาก็ทำให้แนวคิดใหม่ ๆ ที่เดิมจำกัดแต่ในวงของคนมีการศึกษาสูงของปารีส ได้ถูกถ่ายทอดออกไปในวงกว้าง
1
คนที่อ่านออกเขียนได้ในชนบท ในเมืองอื่น ๆ ของยุโรปจึงได้รับรู้เกี่ยวกับความคิดใหม่ ๆ เหล่านี้ และถ่ายทอดต่อไปให้คนที่อ่านหนังสือไม่ได้อื่น ๆ อีกมากมาย
แล้วในที่สุด ความคิดใหม่ ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปทดลองใช้จริง
แรกสุด การทดลองจะเกิดขึ้นโดยการนำของชนชั้น elite หรือชนชั้นปกครอง เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า .... enlightened despotism หรือ สมบูรณาญาสิทธิราชที่นำไอเดียของยุคเรืองปัญญามาทดลองใช้
ซึ่งการปฏิรูปจะล้มเหลว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ต่อมา ไอเดียจึงถูกนำไปทดลองใช้โดยประชาชนที่โดนกดขี่ เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า .... การปฏิวัติ
เราจะไปคุยทั้งสองเรื่องกันครับ
โดยในบทความหน้า เราจะไปดูกันว่า
เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อกษัตริย์หรือชนชั้นสูงพยายามนำแนวคิดของนักคิดต่าง ๆ ไปใช้เพื่อปฏิรูปสังคม หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า enlightened despotism
1
ถ้าสนใจอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายที่ผมเขียน
สามารถเข้าไปเลือกดูใน shopee และ Line Myshop
ไม่อยากพลาดการแจ้งเตือนเมื่อมีโพสต์หรือบทความใหม่ๆ
Add Line เพื่อรับการแจ้งเตือนต่างๆได้ที่นี่ครับ
🔔 Line: @chatchapolbook
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา