27 พ.ย. 2020 เวลา 10:24 • ประวัติศาสตร์
“เหตุการณ์ 8888 (8888 Uprising)” การลุกฮือของชาวพม่า
1
ในปีค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่อประเทศพม่า
ในปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ในพม่าคุกรุ่น และกลุ่มนักศึกษาก็ได้กำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) เป็นวันประท้วงใหญ่ ต่อต้านเผด็จการ
ในสัปดาห์ก่อนวันประท้วง ประชาชนในพม่าต่างตื่นตัวและลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล
ประชาชนได้รวมกลุ่ม ปกป้องแกนนำบนเวทีปราศรัย หนังสือพิมพ์ต่างก็ตีพิมพ์ข่าวโจมตีรัฐบาล มีการตื่นตัวทั่วประเทศ
ในทีแรก การชุมนุมประท้วงเป็นไปอย่างสันติ หากแต่ในเวลาต่อมา การประท้วงเริ่มลุกลาม แพร่หลายไปยังชนบท ทำให้นายพลเนวิน (Ne Win) ผู้นำทางทหารของพม่า ตัดสินใจเรียกให้ทหารที่ประจำการอยู่ตามชนบท กลับเข้ามายังตัวเมืองเพื่อเป็นกำลังเสริม และออกคำสั่งให้สลายการชุมนุม
ถึงแม้จะต้องเผชิญกับความรุนแรงจากทหาร หากแต่ผู้ชุมนุมประท้วงก็ยังสามารถยืนหยัดจนถึงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตอบโต้ทหารและตำรวจด้วยการขว้างหินและระเบิดขวด รวมทั้งยังโจมตีป้อมตำรวจ
ก่อนหน้านั้น คือวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ทหารได้ทำการไล่ต้อนผู้ชุมนุมเข้าไปในโรงพยาบาล ก่อนจะทำการยิงผู้คนในโรงพยาบาล รวมทั้งแพทย์และพยาบาล
ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) “เซนลวีน (Sein Lwin)” ผู้นำพม่าที่มารับตำแหน่งต่อจากนายพลเนวิน ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หากแต่ความรุนแรงก็ยังไม่สิ้นสุด ยังคงเกิดความขัดแย้ง ทำให้ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ผู้คนกว่า 100,000 คนได้มาชุมนุมกันที่มัณฑะเลย์ และในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) คนกว่าหนึ่งล้านคนก็ได้ออกมาเดินขบวนที่เจดีย์ชเวดากอง
หนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัย คือ “อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi)”
ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) การชุมนุมประท้วงก็ยิ่งรุนแรงขึ้น รัฐบาลก็อับจนหนทาง ทหารเองก็ทำหน้าที่ปราบปรามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi)
ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ได้เกิดการรัฐประหาร โดยกองทัพได้ประกาศกฎอัยการศึกและสลายการชุมนุม
ในสัปดาห์แรก มีผู้ที่เสียชีวิตกว่า 1,500 คน ซึ่งในนี้มีทั้งเด็กนักเรียนและพระสงฆ์ด้วย
กว่าจะหมดปีค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก สูญหายอีกนับพัน และกองทัพก็ได้ทำการปิดมหาวิทยาลัยเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษาจับกลุ่มประท้วงได้อีก
นับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของพม่า
โฆษณา