แอสไพริน (Aspirin)
.
Aspirin หรือ Acetylsalicylic acid (ASA) เป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ที่มีการค้นพบและถูกใช้มานาน โดยมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ 2500 ปีก่อน Hippocrates ซึ่งเป็นบิดาแห่งการแพทย์ได้ใช้ใบและเปลือกต้นหลิว (willow) ในการรักษาอาการปวดของคนไข้ จากนั้นหลายร้อยปีถัดมาได้มีนักเคมีชาวเยอรมัน Felix Hoffmann นำสารสกัดจากต้นหลิวมาสังเคราะห์ได้เป็นแอสไพริน โดยยุคแรกๆนิยมใช้ลดไข้และลดการอักเสบ
.
กลไกการออกฤทธิ์ของ Aspirin คือยับยั้งเอนไซม์ Cyclo-oxygenase (COX) ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยน Arachidonic acid เป็น Prostaglandin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้นในร่างกายตามรูป โดยมีข้อบ่งใช้เช่น ลดไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ปวดหลังผ่าตัด เป็นต้น
.
นอกจากนี้ยังพบว่าการยับยั้ง COX มีทำให้ Thromboxane-A2 (TXA2) ที่เกี่ยวข้องกับการเกาะตัวของเกล็ดเลือดลดลง จึงมีการนำมาใช้เพื่อลดการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดด้วย
.
>>> ข้อบ่งใช้จะขึ้นกับขนาดยาที่ใช้ โดย Aspirin 325-650 mg จะได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ ส่วนขนาด 75-150 mg จะมีผลในการต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด <<<
.
#สถานะทางกฎหมายของแอสไพริน
จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 33 ส่งผลให้แอสไพรินมีสถานะทางกฎหมายดังนี้
.
1. ข้อบ่งใช้ ต้านการอักเสบและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด จัดเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” (ขนาด 81 มิลลิกรัม) ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
.
2. ข้อบ่งใช้ สำหรับแก้ปวด ลดไข้ จัดเป็น “ยาอันตราย” เภสัชกรสามารถจ่ายได้ตามความจำเป็น
.
ดังนั้นหากเข้าไปซื้อยาในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่ หากใช้เพื่อแก้ปวดทั่วไป เภสัชกรสามารถจ่ายได้ตามความเหมาะสม แต่ในกรณีที่ต้องการใช้ในโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอื่นๆที่หวังผลป้องกันการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด จำเป็นที่จำต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อยา มิฉะนั้นถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายได้
.
แม้ว่า Aspirin จะเป็นยาที่ดีแต่ไม่ได้แปลว่าเป็นยาที่เหมาะสำหรับทุกคน ตัวยาเองก็มีผลข้างเคียงได้แก่
- ระคายเคืองกระเพาะอาหาร (กัดกระเพาะ) แม้ว่าจะทำเม็ดในรูปแบบ enteric coated แต่ก็ยังแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆ
- คลื่นไส้อาเจียน
- แสบร้อนกลางอก
- ปวดศีรษะ
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก
- ได้ยินเสียงในหู
.
ยานี้ไม่ควรใช้ใน เด็กอายุต่ำกว่า 16-19 ปี (เนื่องจากทำให้เกิดภาวะ Reye’s syndrome ได้) ห้ามใช้ลดใช้ในกรณีที่สงสัยไข้เลือดออก อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยากลุ่ม NSAIDs และหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร อาการหอบหืด ความผิดปกติของตับและไตยกเว้นแพทย์สั่ง
.
ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพจะได้กลิ่นน้ำส้มสายชู (จากโครงสร้างเมื่อถูก hydrolyzed จะกลายเป็น acetic acid หรือกรดน้ำส้มสายชู) ดังนั้นไม่ควรรับประทานหากมีสีหรือกลิ่นดังกล่าว
.
เอกสารอ้างอิง
BAYER ASPIRIN [เอกสารกำกับยา]. บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด. 2552.
สิกขวัฒน์ นักร้อง. Aspirin กับโรคหลอดเลือดสมองซื้อกินเองได้หรือไม่. วงการยา [ฉบับเดือนมีนาคม 2563]. 2020.