2 ม.ค. 2021 เวลา 04:11 • ท่องเที่ยว
ช๑๐๘_วัดเชิงท่าอยุธยา ที่กำเนิดจอมกษัตริย์และการเปรียญวิเศษ ๒.
1
.....จากโบราณสถานที่โบสถ์วิหารและองค์ปรางค์ที่วัดเชิงท่าที่เราผ่านตาไปเมื่อตอนที่แล้ว เมื่อเราเดินต่อไปทางใต้หรือทางแม่น้ำ เราจะพบเรือนไม้ขวางจากเส้นแนวของโบสถ์วิหารอยู่ เรือนไม้จะหันทางทิศตะวันออกตะวันตก หรือขนานกับแนวแม่น้ำด้านหน้าและความโดดเด่นของเรือนไม้ที่เป็นศาลาการเปรียญหลังนี้คือ "มุขประเจิด" ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาต่อยอดจากหลังคาทรงโรงและทรงคฤห์โดยทั่วไปที่เราเห็นกันคุ้นตา เท่าที่จำได้ในตอน(เขียนเรื่อง)นี้หลังคามุขประเจิดจะพบที่ ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามเพชรบุรี วัดแก้วพิจิตรที่ปราจีนฯ วิหารที่วัดพระธาตุนครศรีธรรมราช ฯลฯ และความน่าจะเป็นที่วิหารวัดพระศรีสรรเพ็ชญ ที่อยุธยานี่เอง ที่มีประวัติเก่าและชัดเจนก็คือที่วัดใหญ่สุวรรณารามซึ่งมีกล่าวว่าศาลาการเปรียญนั้นเป็นเรือนเดิมของพระเจ้าเสือและมาถวายวัด ตามตำราที่ตีความมุขประเจิดจึงเป็นงานรุ่นอยุธยาตอนปลายแต่ที่นี่กล่าวว่าถูกสร้างมาในรุ่นหลังแล้วคือในรุ่น ร.๔ แล้วซึ่งน่าจะเป็นงาน"โพสต์อยุธยา"(Post Ayudhaya) ขออภัยเรื่องศัพท์แสงและใช้ภาษาหน่อย เพราะไม่มีใครใช้ศัพท์คำนี้กันคือ เอางานในอดีตกลับมาสร้างใหม่ด้วยแนวความคิดของอดีต แม้ถือว่าใหม่สักหน่อยเมื่อเทียบกับโบราณสถานด้านหน้าแต่ก็เก่าแก่พอสมควรและเป็นงานครู คือเป็นงานแบบอย่างที่ดีของการสร้างการเปรียญตามวัดวาอารามที่อื่นๆ ประกอบกับจิตรกรรมด้านในถือว่างดงามมากทีเดียว แม้ว่าตามโพยจะไม่ใช่สายช่างหลวงจากกรุงเทพฯ แต่มาจากเจ้าอาวาสและคนในพื้นที่จัดทำกัน
มุขประเจิดในสถานที่ต่างๆจากบน วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี วัดแก้วพิจิตร ปราจีนบุรี และวัดมหาธาตุนครศรีธรรมราช ขอบคุณรูปจากคุณหนุ่มรัตนะ พันธ์ทิพย์
สายน้ำแห่งอยุธยา
......การเปรียญที่นี่เกาะรูปผังโครงต่อเนื่องกับเขตสังฆาวาสแต่พลิกเรือนขวางจากแนวหลักของวัด การมีมุขประเจิดทำให้ดูฟรุ้งฟริ้งพริ้วพราย ความรู้สึกจะเหมือนเราเอาหน้าบันของเรือนทรงโรงทั่วไปแทงออกมาด้านหน้า หน้าบันเลยดูยิ่งเด่นงามตา เหมาะจะเป็นที่โชว์ฝีมือ การจำหลักหรือแกะสลักไม้ที่หน้าบันในสมัยก่อน ด้วยถือเป็นไม้หนึ่งสำหรับสำแดงในงานช่างเอาเลยทีเดียว
๏๑.มุขประเจิดเฉิดท้า เทียมสวรรค์
ราวรูปหน้าบันผัน ดีดดุ้ง
สะท้อนอยุธยาฝัน ลอยเลื่อน
เช่นเปรียญเชิงท่าคุ้ง ข้ามเกาะ ฯ
๏๒.ภาพก่อนอารามล้วน ผู้คน
อาบเอยเอิบอิ่มเสาะ บุญน้อม
คว้าธรรมฟังสงฆ์ดล พร่ำเทศน์
เสนาะสดับธรรมาสน์ย้อม ใจแก้ว ฯ
๏๓.กรุงศรีฯกรุงธนฯชี้ รัตนะ
สืบการเปรียญเห็นแล้ว อดีตโพ้น
ช่างกรุงเก่ายังจะ คืนคดี
เห็นงานดั่งเห็นโน้น ปรมโกศ ฯ
๏๔.ผ่องผ่องวิเศษก้าว แดนฝัน
ส่องส่องเรืองแสงโชติ สืบกว้าง
ฝันฝันเมืองล่มพลัน ฟื้นชีพ
แจ่มแจ่มเรืองแรงสร้าง อารยธรรม ฯ
๏๕.พ่อเอยพ่อตากเจ้า จอมคน
เหนื่อยเอยเนี่ยวชาวนำ กอบกู้
เหนื่อยเอยเศิกเสี้ยนชน ตลอดชีพ
สบท่านเราอาจรู้ เงื่อนเค้า ฯ
๏๖.คือคนคนหนึ่งผู้ มอบชีพ
ต่อแผ่นดินแดนเกล้า ผ่านแกล้ง
ปลุกอยุธยาปานทีป ค่อยเรือง
วันนี้โชติแสงแจ้ง สว่างไกล ฯ
๏๗.ใจมีใจภักดิ์เจ้า จอมขัตติย์
อดีตก่อนย้อนฝากใจ ไปฟ้า
วีรธรรมจำวีรกษัตริย์ เยี่ยมยืน
โลกหมุนโลกเวียนคว้า คืนคง ฯ
....... เมื่อเข้ามาด้านในของการเปรียญ เราจะพบกับสีสันของเพดานที่ตัดกันอย่างงดงามเพดานของอาคารเรือนไม้มีเสน่ห์ที่เราเห็นรูปโครงสร้างของรูปหลังคาภายนอก เสาที่เขียนลวดลายทำให้นึกไปถึงงานการเปรียญที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งเป็นงานอยุธยาจริงๆ(ที่นี่เป็นงานรุ่นรัชกาลที่๔) แต่ภาพรวมของงานก็ราวกับเราได้อยู่ในยุคสมัยของอยุธยาด้วยเหมือนกัน พระพุทธรูปทรงเครื่องอันวิจิตรสวมเทริดปิดทองมีฉัตรห้าชั้น ก็ถือเป็นงานรุ่นปลายอยุธยา ด้านหน้าของพระพุทธรูปมีรูปปั้นของพระเจ้าตากสินสวมชาวขาวแบบผู้ปฎิบัติ และที่สุดยอดของที่นี่ก็คือสังเค็ดหรืออาจเรียกว่าธรรมาสน์ยาวอาจจะทำให้พวกเราเข้าใจมากกว่า หลังคาบุษบกด้านหลังองค์พระประธาน กับธรรมมาสน์ด้านข้างอันวิจิตรงดงาม เห็นธรรมาสน์ทั้งสององค์ต้องยกมือไหว้เอาทีเดียวด้วยเป็นสุดยอดของงานช่างจำหลักไม้จริงๆ และแทบไม่ต้องไปเปิดโพยเอาทีเดียวว่านี่คืองานรุ่นอยุธยา พอกลับมาเปิดโพยโพยบอกว่า "เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา(จริงๆ)ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ มีส่วนที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ เส้นอ่อนโค้งที่ฐานและหลังคา.........ถือเป็นแบบอย่างในการศึกษาสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่สมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง"
๏๘.ปลายสมัยช่างเชิงชั้น เชี่ยวชาญ
ชมงานจำหลักองค์ ธรรมมาสน์ไม้
แอ่นโค้งยอดเยี่ยมยาน ข้ามฝั่ง
ดูเอ๋ยพิสดารไร้ ติติง ฯ
๏๙.หลังปธานทรงเครื่องนั้น งามสุด
สังเค็ดบุษบกอิง พิงฟ้า
ชมชื่นย่ยมล่องผุด ลื่นลาย
ผกผันพลิกมิติคว้า รูปลอย ฯ
๏๑๐.อรุณรุ่งรัตนะแจ้ง จิตรกรรม
สืบต่อต้นเค้าสอย ก่อนล้ำ
อยุธยาขีดเชิงธรรม ต้นราก
รัตนะส่งสืบค้ำ สมัยตน ฯ
๏๑๑.นี่คือการเปรียญอ้าง อวดยุค
นี่คือศิลปะผสานบน สมัยแล้ง
นี่คือฉ่ำบานปลุก ชีวิตศิลป์
แน้สมานริมคุ้งแจ้ง รุ้งเรือง ๚ะ
เห็นสีครามน้ำเงินในช่องรัศมีชองเทวดานี่ไหมครับ เป็นสีปรัสเชี่ยนบลู ของนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่สี่ กลับมาที่งานจิตรกรรมและงานตกแต่ง เนื่องจากมีการทำรุ่นรัชกาลที่๔ จึงยังมีบันทึกรายละเอียดไว้เป็นฝีมือของพระอาจารย์ธรรมเจ้าอาวาสในสมัยนั้น กับครูแข ช่างเขียนชาวบ้านตำบลท่าวาสุกรี ดูฝีมือท่านไม่ใช่ธรรมดาเลย ราวกับเป็นช่างหลวง การเปลี่ยนเชิงช่างจากรุ่นอยุธยามาเป็นรุ่นรัตนะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะพวกช่างนี่เป็นพวกที่จะถูกกวาดต้อนไปอยู่บ้านเมืองอื่นเวลามีศึกสงครามกัน ตอนรุ่นรัตนะยุคฟื้นฟูบ้านเมืองยังมีบันทึกว่ามีช่างลาวเอามาเขียนผนังวัดสุทัศน์ ที่นี่ตอนบนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างก็เป็นทศชาติและพุทธประวัติหลายผนังเลอะเลือนไปมากแต่หลายผนังยังสมบูรณ์จนพอที่จะดูรู้เรื่องว่าเป็นเรื่องอะไร เสาไม้กลมเขียนลายก้านแหย่งมีเทพพนมลอยเพดานเขียนดาว ประตูด้านในเขียนเป็นงานจีนแต่ด้านนอกลบเลือนหมดแล้ว ครูช่างที่อยู่ตามหัวเมืองพวกนี้น่าจะเคยเป็นคนรุ่นที่มาบูรณะบ้านเมืองในยุคต้นรัตนะบ้างและส่งทอดวิชากัน
๏๑๒. ที่นี่กำเนิดสร้าง ปรมกษัตริย์
กู้กอบสรรเสกเมือง ทิพย์แก้ว
เชิงท่าเช่นท่าวัด คลายร้อน
พักคลายเหนื่อยและแล้ว เดินต่อ ๚ะ
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
๒๕๕๘~๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา