22 ธ.ค. 2020 เวลา 15:22 • ท่องเที่ยว
ช๑๐๗_วัดเชิงท่า โกษาวาส โกษาปานและ
ที่บวชเรียนพระเจ้าตากสิน ตอนที่๑.
เสก็ตในสถานที่
.......แทบไม่ต้องบอกเลยว่าวัดนี้ต้องอยู่ริมน้ำจากชื่อของวัด แม้ไม่ใช่วัดหลวงแต่เป็นวัดที่มีเรื่องราวเป็นอันมากต่อเนื่องกับวังหลวง อาจจะด้วยว่าวัดอยู่ตรงข้ามกับวังหลวง (น่าจะ)เป็นที่เดินเข้าออกของข้าราชบริพารไปโดยเรือแพเรือข้ามฟากอะไรต่อมิอะไรลองจินตนาการต่อกันเอาเอง ชื่อวัดในช่วงต้นก็มีกับหลายชื่อในยุคแรกสืบความไม่พบแต่คงเป็นช่วงก่อนพระนารายณ์เล็กน้อย เชิงท่า ตีนท่า กระทั่ง คอยท่า ยังชื่อหลังนี้เรื่องราวถูกผูกเป็นนิทานที่เศรษฐี รอลูกสาวที่หนีตามไอ้หนุ่มไป รอแล้วลูกสาวก็ไม่กลับมา ภายหลัง ก็ยกเรือนมาถวายวัด ถึงยุคพระนารายณ์พอมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่าท่านโกษาปานเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสหลังจากกลับมา ท่านได้บูรณะบำรุงวัดนี้ จนชื่อวัดเปลี่ยนเป็นชื่อท่าน ชื่อโกษาวาส ไม่นานนักต่อเนื่องมายุค พระเจ้าบรมโกศที่นี่เป็นที่บวชเรียน ที่เรียนรู้ของพระเจ้าตากสินก่อนเข้ารับราชการ สมัยโน้นท่านเป็นบุตร บุญธรรมเจ้าพระยาจักรี บริเวณพื้นที่นี้ก็เหมือนเป็นชุมชนสมัยอยุธยาอันหนาแน่น
.........วัดบ้านเราการหันหน้าโบสถ์วิหารคงมีอยู่สองคติคติแรกก็คือหันหน้าวิหารนั้นไปทางทิศตะวันออกนัยว่าเหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ท่านนั่งตรัสรู้ อีกนัยหนึ่งคือหันหน้าโบสถ์วิหารไปทางทิศแม่น้ำมาในสมัยใหม่อาจพูดได้ว่าหันไปทางที่มีถนนที่เข้ามาวัดด้วยในสมัยก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางเช่นอยุธยาในสมัยก่อนนี้การเดินทางจะเป็นด้วยเรือเป็นหลักแต่กระนั้นตอนพระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้ท่านก็หันหน้าไปหาแม่น้ำด้วยเหมือนกัน อันอาจถือเป็นคติอันเดียวกันได้ ที่นี่เป็นตัวอย่างอันดีถ้าดูจากผังทิศเหนือจะอยู่ตอนบน(12นาฬิกา) สังเกตุที่ตัวโบราณสถานเบอร์ ๑ ๒ ๓ องค์ปรางค์ โบสถ์ วิหาร ล้วนหันหน้าเข้าหาแม่น้ำทั้งสิ้นส่วนเรื่องทิศ ก็คือหันหน้าวัดทางทิศใต้ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะบอกได้เป็นอันดีว่ากฏทุกกฏมีข้อยกเว้นเสมอ แม้แต่ คติความเชื่อของผู้คนแต่โบราณที่เราคิดว่าเปลี่ยนแปลงหรือยืดหยุ่นไม่ได้เพียงแต่จะยืดหยุ่นไปทางใดเท่านั้น ตรงข้ามกับผู้ไม่รู้จริงก็จะแข็งตัวต่อกฏเกณฑ์ของคนโบราณเมื่อรับมาด้วยการท่องจำ
ดั้น
๑๏. งามเอยงามปรางค์ล้ำ ทยมสวรรค
รอยรูปปราสาททองอนน กลบฟ้า
ผ่านกาลผ่านไกลด้นน ท่ามสมัย
เหลือเห็นชัดเชิงท้า เชิงท่า ฯ
๒๏.อิ่มเอยชมปรางค์นั้น อิศเรศ
อิ่มใจสุเมรุถลา ช่อชั้น
อิ่มเอมนภศูลรมเยศ แทงฟ้า
อิ่มแสงปราสาททองคั้น ใจบาน ฯ
๓๏.ผันภาพอยุธยาแสร้ง เวียนกลับ
อดีตเลื่อนชลอเช่นยาน ทิพย์ฟ้า
ปรางค์รอบวิหารจับ ข้ามกาล
นารายณ์ล่องสินธูคร้าม ขามแมน ฯ
ปรางค์วัดไชยวัฒนารามเป็นต้นทางของปรางค์หลายที่ในอยุธยา ลองจดจำหน้าตาไว้ด้วยมีงานในรุ่นนี้ และลักษณะปรางค์คล้ายอย่างนี้อยู่มากทีเดียว อย่างน้อยก็อ้างอิงได้ว่าเป็นปรางค์รุ่นพระเจ้าปราสาททอง
ปรางค์ที่วัดวรเชตุเทพบำรุง เทียบกับวัดวัดไชยวัฒนารามและอยู่ใกล้ๆกัน
......ตามโพยบอกว่าปรางค์องค์นี้สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ซึ่งน่าจะอยู่ในรุ่นพระเจ้าปราสาททองหรือหลังจากนั้น โดยโพยให้เหตุผลว่าลักษณะคล้ายปรางค์วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งถ้าเราจำวัดวรเชตุเทพบำรุงได้ก็จะมีลักษณะคล้ายกัน ผมได้นำรูปเก่าที่วัดไชยวัฒนารามและที่วัดวรเชตุฯมาให้ดูเปรียบเทียบว่าที่ว่าคล้าย คล้ายอย่างไร ขอให้ดูเปรียบเทียบกันเอง ตัวแท่งของปรางค์คงต้องดูสัดส่วนจะเห็นว่าสัดส่วนเป็นอย่างเดียว กันคือสัดส่วนจะอ้วนๆหน่อย จริงๆเรานึกถึงรูปทรงของข้าวโพดได้เป็นข้าวโพดอ้วนๆ ตัวโคนของฝักข้าวโพด เมื่อจบจังหวะจะเปลี่ยนรูปทรงให้ขนาดผายออกมาตรงนี้เรียกเรือนธาตุ ซึ่งที่นี่ก็ทำเป็นรุปซุ้มทั้งสี่ด้านตามทิศ มีองค์พระทรงยืนปางประทานอภัย เหนือซุ้มบางด้านยังเห็นมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปรางค์ที่นี่อยู่ในเกณฑ์ สมบูรณ์ แต่รูปประดับตกแต่งเช่นครุฑนาคยักษ์หลุดไปเยอะแล้วเหมือนกัน
......เกือบมองไม่เห็น ที่น่าสนใจถ้าเรา ดูจากรูปถ่ายดาวเทียมเราจะเห็นว่าตำแหน่งปรางค์นั้นเหมือนตั้งอยู่บนสี่เหลี่ยมจตุรัสก้อนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ จะมีรูปสี่เหลี่ยมอยู่ที่ด้านเหนือตะวันตกและตะวันออกเราน่าจะเรียกว่ามุขน่าจะได้ และจุดนี้คือลักษณะเด่นของ ปรางค์ที่นี่ ที่ด้านตะวันออกตรงทางเข้าจากที่จอดรถหน้าวัดมาหาปรางค์มีหอระฆังรูปทรงสวยงาม โดยเฉพาะ ลวดลายที่ประดับอยู่ที่ช่องโค้งแหลมนั่นมันงดงามจริงส่วนด้านใต้นั้นมีวิหารใหญ่ ที่เหลือแต่พื้นและกำแพง บางส่วนส่วนรูปหลังคาหายไปหมดแล้ว
๔๏.ดั่งปราสาททองเจ้า กลบอิน
เฉกไชยวัฒนารามแดน สรวงท้า
สุเมรุสุดเสียดบิน ชลอเลื่อน
ดาลใจฝากสวรรค์คว้า ลงดิน ฯ
๕๏.ยักษ์ยมพรหมนาคเพี้ยง ว่ายเวียน
ไตรโลกนั่นคือสิ้น หมุนย้าย
เกิดดับสุเมรุเตียน กี่ล่ม
เราล้วนเศษฝุ่นคล้าย ปลิวลอย ฯ
๖๏.ยังเห็นสุดปรางค์นั้น นพศูล
หยัดยันยืนเยี่ยมคอย ชนรู้
รู้ไร้ไร้เราสูญ ตนตัว
ที่นี่เดี๋ยวนี้ผู้ เห็นทาง ฯ
ลวดลายประดับตกแต่งรายละเอียดยังค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว
พระอุโบสถ
.....ผ่านยุคพระเจ้าปราสาททองลงมา ความเป็นอยุธยาในอารมณ์ของสุโขทัยเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อยุธยาตีเขมรได้ สายวัฒนธรรมเขมรที่เกี่ยวกับระบบเทวราชาเริ่มเข้ามานิยม(อีกครั้ง) ความเข้มแข็งทางการทหารของอยุธยา วัดไชยวัฒนารามอันมหัศจรรย์ที่มีกลิ่นอายของนครวัดเมืองพระนคร การลบศักราชในสมัยพระเจ้าปราสาททอง จารีตประเพณีของอยุธยามีการปรับตัว พระราชาที่มีความเป็นสมมติเทพมากขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้เพียงถูกคลี่คลายผ่านวัฒนธรรมและอารยธรรมเท่านั้นมันถูกส่งผ่านสถาปัตยกรรมและศิลปะสายอื่นๆมาด้วย แม้ในยุคต้นอยุธยาก็ใช้ระบบเทวราชาเหมือนกันแต่ราวกับว่ามันได้ถูกปลุกจิตสำนึกใหม่หลังยุคพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบแห่งสายฟ้า
๏.พรายพรายปรางค์แก้ว เสียดแล้วแสดงหน
ยันเยี่ยมไพชยนต์ กี่แดนอินองค์ ฯ
๏.ห้องยอดสุดปรางค์ สว่างศิวะวงศ์
จากพระนครตรง แปรผันอาบพุทธ ฯ
๏.งามสง่าเถราวาท ประกาศปรากฎสุด
ปักยอดปรางค์จุด นภศูลสำแดง ฯ
๏.ก้านกิ่งสี่ชั้น สี่คั้นแจกแจง
สี่อริยะแสดง ร่างรูปรอยนำ ฯ
๏.กรีดฟ้าฝ่าฟัน ตัดแกนกงกำ
วัฏฏเวียนงายงำ หยุดว่ายหมุนวง ฯ
๏.จุดพุทธผ่านกาล สานกรุงศรีฯคง
ฉาบอารยธรรมตรง เค้นความคดีปรางค์ ฯ
๏.ศิลปะวิเศษ สาวเหตุต้นทาง
สื่อชนใสสว่าง สิ่อธรรมนำใจ ๚ะ
โคลงชมวัด
ทางแก้ว
วาดวัด
๒๔๕๘~๒๕๖๓
โปรดติดตามต่อตอนที่ 2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา