5 ธ.ค. 2020 เวลา 02:28 • สุขภาพ
หลอดเลือดหัวใจ...หลอดเลือดชีวิต
จากสถิติพบว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
1
ในแต่ละวันมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากถึง 236 คน หรือกว่า 85,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี และโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน”
โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) หมายถึง โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) ตีบหรือตัน
การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีการตีบแคบลง ทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดเฉียบพลันซึ่งมักเกิดจากคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือดจะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอันนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หรือเสียชีวิตกะทันหันได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่
ประวัติครอบครัว
อายุ
เพศ
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
น้ำหนักเกินและอ้วน
กลุ่มอาการที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาวะความดันโลหิตสูง
ความเครียด
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
การไม่ออกกำลังกาย
การรับประทานผักและผลไม้ในแต่ละวันน้อยเกินไป
การสูบบุหรี่
อาการนำที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์
อาการเจ็บเค้นอกที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอกหรือใต้กระดูกกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้ง 2 ข้างโดยเฉพาะข้างซ้าย เป็นมากขณะออกแรง เป็นนานครั้งละ 2-3 นาที เมื่อนั่งพักหรืออมยาขยายหลอดเลือดใต้ลิ้นอาการจะทุเลาลง
มีอาการเหนื่อยง่ายขณะออกแรงหรือออกกำลังกายที่เกิดขึ้นเฉียบพลันภายใน 1–2 สัปดาห์ หรือที่เกิดขึ้นเรื้อรังเกินกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
มาด้วยอาการเหนื่อย หายใจหอบนอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจเข้าไม่เต็มปอด อาจมีอาการเจ็บเค้นอกร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเป็นๆ หายๆ มาเป็นเวลานาน
มีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะ เป็นลม ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
อาการหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
ติดต่อสอบถามผ่านเรื่องโรคหัวใจ Line@
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ
1. การตรวจร่างกายและการซักประวัติ
2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ได้แก่
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram)
การถ่ายภาพรังสีของทรวงอก (chest X-ray)
การตรวจระดับเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจในเลือด (cardiac enzyme test)
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test)
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)
การตรวจวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (computed tomographic angiography)
การสวนหัวใจหรือการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (cardiac catheterization or coronary angiogram)
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ
ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กำจัดความเครียด
การรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น
การรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน เป็นการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนร่วมกับการสอดฝังขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ชนิดพิเศษ
การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา