8 ธ.ค. 2020 เวลา 00:00 • สุขภาพ
ป่วยเพราะไม่รู้ EP.05 | “คุยกับแท็กซี่” เล่าโดย อิศรา ศานติศาสน์
ช่วงหลายปีมานี้ ผมไม่ค่อยขับรถเอง เช้า ๆ มักนั่งรถน้องสาวแล้วไปต่อรถไฟฟ้าหรือรถแท็กซี่เพื่อไปทำงานที่จุฬาฯ ตอนเย็นก็จะนั่งรถไฟฟ้าแล้วต่อแท็กซี่กลับบ้านที่มีนบุรี การเปลี่ยนวิถีการเดินทาง ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของคนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ย้ายถิ่นจากต่างจังหวัดมาแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองหลวงคือ กทม.
ในด้านวัฒนธรรมการใช้บริการขนส่งสาธารณะ สมัยผมยังเด็ก รถเมล์มาคันหนึ่งผู้คนก็กรูกัน แย่งกันขึ้นรถ คนที่ขึ้นไม่ได้ก็ต้องรอคันใหม่ที่กว่าจะมาก็อีกนับสิบนาที ผมยังจำภาพที่พี่ชายของผมกระโดดลงจากรถเมล์สาย 26 เมื่อเห็นว่ารถกำลังจะออกจากป้ายแล้ว แต่ผมซึ่งอายุประมาณสิบเอ็ดขวบถูกเบียดกระเด็นจนขึ้นรถไม่ได้ คนสมัยนี้เข้าคิวกันดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ
ผมยังจำได้ว่าเมื่อขึ้นรถแล้วไม่มีที่นั่ง ต้องแบกกระเป๋าหนังสือที่หนักอึ้ง โหนรถจากย่านสนามเป้าไปมีนบุรีซึ่งไกลกว่าสามสิบกิโลเมตร มักจะมีผู้ใหญ่หรือเด็กที่โตกว่าและได้ที่นั่งแล้ว มีน้ำใจสละที่นั่งให้ หรืออย่างน้อยก็รับกระเป๋าไปช่วยถือให้ เด็กๆ นักเรียนที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างผม ก็จะยกมือไหว้ขอบคุณและตอบแทนน้ำใจ ด้วยการรับข้าวของหรือกระเป๋าของผู้ที่มีน้ำใจไปถือให้ สมัยนี้การสละที่นั่งให้เด็ก คนชรา และสตรีมีครรภ์ ยังพอมีให้เห็น แต่คนที่ละเมิดสิทธิ์และนั่งบนที่นั่งที่สงวนไว้ให้คนที่อ่อนแอกว่าก็พอมีให้เห็นเช่นกัน ที่ไม่ค่อยได้เห็นคือคนที่คอยช่วยเหลือหรือการตอบแทนน้ำใจด้วยการช่วยถือข้าวของให้คนที่สละที่นั่งให้
การนั่งแท็กซี่บ่อย ๆ ช่วยให้ผมได้เรียนรู้หลายเรื่องราวจากคนขับรถ ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาที่ต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง ปัญหาครอบครัวที่เกิดจากการต้องใช้เวลากว่าครึ่งของแต่ละวันอยู่บนรถแท็กซี่ การส่งเงินกลับบ้านช่วยเหลือครอบครัวในต่างจังหวัด และปัญหาสุขภาพ
คนขับรถแท็กซี่แทบทุกคนบอกผมว่า ถ้าไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ อาชีพนี้หาเลี้ยงครอบครัว มีเงินเก็บให้ตั้งตัวได้ ผมมั่นใจว่าผู้อ่านทุกท่านเห็นด้วย
ที่ตลกมากคือเรื่องเล่าของคนขับแท็กซี่คันหนึ่งที่ผมนั่งกลับบ้านเมื่อหลายวันที่ผ่านมา บอกเล่าด้วยความมั่นใจและภูมิใจ ให้ผมทราบว่า ในประเทศไทย เขาสูบบุหรี่หนักเป็นอันดับสาม (รองจากคนในวงการบันเทิงสองคนที่เสียชีวิตไปแล้ว) โดยเขาเคยสูบมากถึงวันละสี่ซอง ปอดยังดีไม่มีที่ติ เคยเลิกบุหรี่มาแล้วแปดครั้ง ด้วยการหักดิบ เวลากลับมาสูบใหม่แทบอาเจียนทุกครั้ง ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะสูบได้เหมือนเดิม
ห้ามสูบบุหรี่ในรถ ปรับ 5,000 บาท
ผมพยายามให้มุมมองใหม่แก่คนขับแท็กซี่คนนี้ ชมเชยที่เขาสามารถอดบุหรี่ได้ตอนขับรถ เตือนว่าที่ปอดยังดีไม่มีที่ตินั้น คิดเอาเองควรไปตรวจกับหมอบ้าง ที่บอกว่าเลิกบุหรี่ง่ายมากเลิกมาแปดครั้งแล้วนั้นถ้าเลิกง่ายจริงต้องเลิกได้ในครั้งเดียว และคำนวณให้ฟังว่าตั้งแต่เขาเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 8 ขวบ จนถึงปัจจุบันอายุ 58 ปีนั้น ทิ้งเงินไปแล้วกว่าล้านบาท ยังไม่รวมเงินค่ารักษาพยาบาลที่จะตามมา สำหรับตัวเอง และหลานชายคนเดียวอายุสองสามขวบที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ (และเพิ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปกว่าสองแสนบาท)
ความคิดเห็นของผู้คนย่อมแตกต่างกันได้ คนขับรถฟังอย่างเดียวไม่ได้ตอบอะไรผม ผมเองก็ไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่านี้ แต่ก่อนลงจากรถ ผมลืมถามคนขับรถคันนี้ไปว่า ตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่อีกครั้งเป็นครั้งที่เก้าหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าจากปากของผู้ป่วยเอง บางเรื่องอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ
เนื้อหาทั้งหมดมาจากหนังสือ "ป่วยเพราะไม่รู้" โดย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
โฆษณา