9 ธ.ค. 2020 เวลา 08:34 • ความคิดเห็น
จาก Emily in Paris ถึงที่นี่….การเมืองไทย
1
Emily in Paris ถือเป็นซีรี่ย์ที่ได้รับความนิยมจากฝั่งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ซีรี่ย์เรื่องนี้ติด TOP 10 ที่มีผู้ชมมากที่สุดของ Netflix ประเทศไทย และเป็น 1 ใน 10 ของซีรี่ย์ที่มีสตรีมมากที่สุดในอเมริกาในการเข้าฉายสัปดาห์แรก
หากเข้าไปดูกระแสในโลกโซเชียลก็จะพบถึงความประทับใจ ความชอบ ข้อวิจารณ์หลากหลายความเห็น ซึ่งผมก็มองว่าปฏิกิริยาที่หลากหลายของผู้ชมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการติดตามและรับชมซีรี่ย์อย่างต่อเนื่อง
ทำให้ผู้ชมคอยติดตามพัฒนาการของตัวละคร วิจารณ์บทบาทของนักแสดง รวมถึงดราม่าต่างๆที่รายล้อมสาวเจ้าเอมิลี่ ทั้งรักทางไกลกับแฟนชาวอเมริกา และ culture shock ที่มาจากความไม่ลงรอยกันระหว่างวัฒนธรรมองค์กรของฝรั่งเศสและอเมริกาที่นำพามาสู่สถานการณ์ เศร้า ฮา เซ็ง แก่แม่หนูเอมิลี่อย่างไม่ขาดสาย
แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในความสนใจและดูเหมือนว่าหลายๆคนจะชอบเสียด้วย นอกเหนือจากประเด็นการวิจารณ์ต่างๆ คือ “สถานที่” และ “ไลฟ์สไตล์” ของเอมิลี่ตามฉากต่างๆ
.
ซีรี่ย์เรื่องนี้ได้เลือกใช้สถานที่สำคัญของปารีสและผูกโยงกับการใช้ชีวิตของเอมิลี่ไล่ตั้งแต่ Place de Valois ที่นางเอกเดินผ่านประจำ และแวะไปซื้อครัวซองค์กับป้าหน้าบึ้งๆ ซึ่งที่นี่เป็นสถานที่สำคัญในการจัดแสดงศิลปะและการตกแต่งต่างๆ หรือ Rue de l’Abreuvior ซึ่งเอมิลี่ใช้ทำมาเก็ตติ้งและถ่ายรูปกับเพื่อนสาว ถือเป็นย่านสำคัญที่มีตึกสีชมพูโดดเด่นแบบสุดๆ หรือจะเป็น Palais Garnier ที่เอมิลี่ไปเที่ยวกับหนุ่มฝรั่งเศส (ส่วนจะเที่ยวจบอย่างไรไม่ขอเล่า) ก็เป็นโรงละครโอเปร่าที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น
หรือในฉากที่ผมชอบที่สุดคืองานเปิดตัวน้ำหอมที่เอมลี่ไปเข้าร่วม ณ Le Café’ de L’Homme ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของหอไอเฟลได้อย่างไม่มีอะไรมาบังตา ( ขอขอบคุณเวบไซต์แพรว และ HELLO สำหรับข้อมูลสถานที่ )
ฉากหน้าของความนิยมในไลฟ์สไตล์และสถานที่นี้ สามารถมองได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ผู้คนชื่นชมในความงามของศาสตร์และศิลป์ที่สร้างความโดดเด่นให้แก่ตัวมหาครปารีส อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้มองว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองไม่แพ้เรื่องวัฒนธรรมเช่นกัน
ในบทความ The Art of Rent: Globalization, Monopoly and the Commodification of Culture (ปี 2009) โดย เดวิด ฮาร์วี่ย์ นักคิดมาร์กซิสต์ชื่อดัง ได้ให้มุมมองว่าการเกิดขึ้นของเมืองที่มีวัฒนธรรมโดดเด่น ไม่ใช่เรื่องของการประกอบสร้างจากสุนทรียะอย่างเดียวหากแต่เกี่ยวพันกับกระบวนการของ “ทุน”
โดยสถานที่โดดเด่นเหล่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นบาร์เซโลน่า นิวยอร์ค ปารีส ฯลฯ) ถูกมองได้ว่าเป็นพื้นที่รวมทุนทางสัญลักษณ์อย่างมหาศาล (collective symbolic capital) (เข้าใจว่าฮาร์วี่ย์ก็หยิบแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรมมาจากบูดิเยอร์อีกทอดหนึ่ง)
เพื่อให้พื้นที่นั้นเกิดลักษณะทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น โดยกระบวนการสั่งสมทุนทางวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นเมืองและการพัฒนาพื้นที่ต่างๆของเมืองให้เกิดเป็น cultural localities ยังผลให้เกิดการดึงดูดผู้คนและทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา
ปรากฏการณ์นี้ถ้าพูดแบบภาษาง่ายๆก็คือ การเกิดขึ้นของ “สถานที่ท่องเที่ยว” ที่วัฒนธรรม ทิวทัศน์ ของสถานที่ได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าและโยงใยกับกิจกรรมในการหากำไรในพื้นที่นั้นอย่างหลากหลาย เช่น การทานอาหารในภัตตาคารบนหอคอยสูงๆหรืออาคารสวยๆ หรือ การจัดอีเว้นท์ต่างๆทั้งการประมูล ดนตรี การขายงานศิลปะในสถานที่สำคัญต่างๆ
 
ฮาร์วี่ย์มองว่าการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้านี้มันเผยให้เห็นถึงอำนาจแห่งทุน ทำให้ทุนเอกชน และ/หรือ อำนาจแห่งรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปทำกำไรจาก “ค่าเช่า” (ค่าเช่าในที่นี้ไม่ใช่ค่าเช่าบ้านนะครับแต่หมายถึงส่วนเกินทางเศรษฐกิจ) ที่เพิ่มพูนขึ้นไปตามความเข้มข้นของทุนทางสัญลักษณ์และทุนทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ
ลองดูทรัมป์ทาวเวอร์ในเมืองสำคัญต่างๆก็สะท้อนปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ในการสร้าง locality ของตนให้โดดเด่นผ่านการลอบบี้ที่ซับซ้อนและกระบวนการขูดรีดแรงงานจนกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของเมืองเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ตน
นอกจากนี้ กระบวนการทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าอาจส่งผลให้ขบวนการทางการเมืองของวัฒนธรรมกลุ่มย่อยสูญเสียอิสรภาพในการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เพราะถูกกลืนเข้าไปสู่กระบวนการสั่งสมทุนสัญลักษณ์เพื่อเป็นสินค้าทั้งสิ้น (เช่นในย่าน บรองซ์ ฮาเร็ม หรือ ควีน ใน นิวยอร์ค)
ดังนั้นฮาร์วี่ย์จึงต้องการพูดถึงโอกาสจัดตั้งการเมืองทางเลือกจากร่องรอยความขัดแย้ง (contradiction) ในกลไกแห่งทุน ด้วยการอิงคุณค่าแห่งวัฒนธรรมเฉพาะในฐานะที่เป็นเงื่อนไขสร้างเสริมการเมืองขั้วทางเลือก เพราะอย่างไรเสียอำนาจแห่งทุนก็ไม่สามารถปิดกั้นแรงต้านได้อย่างหมดจดอยู่แล้ว
เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทยที่ช่วงเวลาที่ใกล้ๆกับวันฉาย Emily in Paris ก็อาจเห็นรูปแบบของวัฒนธรรมเฉพาะที่มีการเคลื่อนไหวอย่าง “บริสุทธิ์” (บริสุทธิ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดีแท้ แต่หมายถึงยังไม่ถูกเจือปนผ่านกระบวนการกลายเป็นสินค้า) ผ่านกิจกรรมชุมชนส่งเสียงเรียกร้องของเยาวชนไปยังรัฐบาลหลากหลายรูปแบบด้วยการร้อง เล่น เต้น แฟชั่น ของกิจกรรมชุมนุม “ศิลปะราษฎร”
ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้แม้ไม่ได้โต้ตอบเสรีนิยมใหม่โดยตรง แต่มันก็ได้สะท้อนการเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมกลุ่มย่อย (แต่อิงจากกรอบ sentiment ของคนกลุ่มใหญ่ด้วย) ให้เป็นหนึ่งในกระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านการเมืองอำนาจนิยมที่อยู่คู่กับประเทศมาอย่างยาวนานในการเรียกร้องประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อแก้ไข ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสถานภาพของนายกประยุทธ์ว่าควรอยู่ในรัฐบาลต่อไปหรือไม่
แม้นักวิจารณ์การเมืองหลายคนมองว่า ม๊อบเยาวชนที่เกิดขึ้นคงยากที่จะกรีฑาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างของการโต้กลับอำนาจครอบงำ (ที่ไม่สู้ชอบธรรมนัก) ด้วยคุณค่าที่มาจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความทรงจำร่วม เพื่อนำไปสู่พื้นที่การสร้างทางความคิดและขบวนการทางการเมืองใหม่ๆ ส่วนจะจบในรุ่นไหนอันนี้ตอบยาก คงได้แต่บอกว่าต้องติดตามกันต่อไป
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน กรุงเทพธุรกิจ : 4 ธันวาคม 2563
** บทความนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเพจหนังหลายมิติ **

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา