14 ธ.ค. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
สหราชอาณาจักรก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
บทความก่อน ผมกล่าวถึงเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึงความเป็นไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ของอีกประเทศหนึ่ง
2
นั่นคือ “สหราชอาณาจักร”
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรคือชาติมหาอำนาจที่รุ่งเรืองและยากที่จะหาชาติใดมาทัดเทียม ถึงแม้ว่าในเวลานั้น สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีเริ่มจะก้าวขึ้นมายืนแถวหน้า หากแต่สหราชอาณาจักรก็ยังคงเป็นชาติชั้นนำ เป็นศูนย์กลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเป็นถิ่นกำเนิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ
1
ลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักรในยุค 10 (พ.ศ.2453-2462)
การพัฒนาของเครื่องจักรไอน้ำในศตวรรษที่ 18 ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตในสหราชอาณาจักรเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย เครื่องจักรก็เป็นเครื่องจักรไอน้ำที่สามารถผลิตสินค้าได้ทีละมากๆ ไม่ต้องผลิตด้วยแรงงานคนเหมือนแต่ก่อน
นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ อีก เช่น การขนส่ง แรงงาน และสังคม
ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม สหราชอาณาจักรก็กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าต่างๆ ในยุโรป มีการนำเข้าวัตถุดิบจากดินแดนอาณานิคม อีกทั้งอู่ต่อเรือในสหราชอาณาจักรยังเป็นอู่ต่อเรือที่มีขนาดใหญ่ ทำการผลิตเรือนับพันลำ
การปฏิวัติอุตสาหกรรม
ได้มีการขุดคลองเพื่อให้เรือขนส่งสินค้าเดินทางได้สะดวก ก่อนที่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เรือที่เดินทางตามลำคลองเริ่มจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟ
นอกจากความรุ่งเรืองในประเทศแล้ว สหราชอาณาจักรยังเป็นเจ้าอาณานิคม ขยายขอบเขตไปถึง 35 ล้านตารางกิโลเมตร มีอาณานิคมทั้งในอินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา แอฟริกาใต้
ช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักรยิ่งขยายขอบเขตอาณานิคมของตนออกไปมากขึ้น เนื่องด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมหรืออาวุธ ทำให้อาณานิคมของสหราชอาณาจักรยิ่งขยายใหญ่กว่าเดิม
แผนที่ในปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) สีแดงคือดินแดนของสหราชอาณาจักร
การที่สหราชอาณาจักรมีอาณานิคมมากมาย ทำให้มีแหล่งทรัพยากรมหาศาล เช่น ทองคำ แร่เงิน โลหะต่างๆ เพชร ฝ้าย ขนสัตว์ รวมทั้งเสบียงมากมาย
การค้ากับต่างประเทศก็รุ่งเรือง นอกจากเหตุผลเรื่องของทรัพยากรมากมายมหาศาล กองทัพเรืออังกฤษก็เกรียงไกรและเป็นกองกำลังทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในศตวรรษที่ 19
ทหารเรืออังกฤษในศตวรรษที่ 19
หากแต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา การเติบโตของอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ทำให้ชนชั้นกลางถึงสูงนั้นมั่งคั่ง หากแต่ชนชั้นแรงงานก็ต้องประสบกับคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก ต้องทำงานหนักหลายชั่วโมง สภาพการทำงานก็ไม่ดี ไม่มีสิทธิมีเสียงมากนัก และยังไม่ได้รับความคุ้มครองในหลายๆ เรื่อง
การเติบโตของอุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจนในชนชั้นแรงงาน อาชญากรรม การค้าประเวณี การใช้แรงงานเด็ก คุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน รวมทั้งปัญหาโรคต่างๆ ที่ตามมา
เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงเกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูป และถึงแม้สภาอังกฤษจะมาจากการเลือกตั้ง หากแต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มักจะเป็นชนชั้นสูงที่ทรงอำนาจและมั่งคั่ง ซึ่งมีเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น
ที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานในสหราชอาณาจักร สมัยศตวรรษที่ 19
ในปีค.ศ.1819 (พ.ศ.2362) ผู้คนกว่า 70,000 คนได้ไปชุมนุมกันที่หน้าจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ เมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง
หากแต่การเรียกร้องนี้ ก็ได้รับการตอบรับโดยทหารม้า ที่เข้ามาปะทะกับฝูงชน ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตาย
เหตุการณ์นี้คือ “การสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู (Peterloo Massacre)”
การสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู (Peterloo Massacre)
ในเวลาต่อมา ได้เกิดการเคลื่อนไหว เรียกร้องของชนชั้นแรงงาน และก่อเกิดสหภาพแรงงาน รวมทั้งพรรคแรงงานแห่งสหราชอาณาจักร
ทางด้านการต่างประเทศนั้น ถึงแม้ว่าสหราชอาณาจักรจะทรงอำนาจ แต่ในศตวรรษที่ 19 เหล่านักการเมืองอังกฤษ ต่างก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงสงครามให้ได้มากที่สุด
คู่แข่งที่สำคัญของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลานี้คือรัสเซีย ทั้งสองชาติได้แข่งขันกันขยายขอบเขตอำนาจเข้าไปยังหลายพื้นที่ ทั้งจีนและเอเชียกลาง
ค.ศ.1853 (พ.ศ.2396) ทั้งสองชาติได้เข้าไปมีส่วนในสงครามไครเมีย (Crimean War) ซึ่งเป็นสงครามที่มีหลายชาติเข้ามามีส่วนร่วม โดยสหราชอาณาจักรก็ต้องการที่จะหยุดยั้งการขยายอำนาจของรัสเซีย
สงครามไครเมีย (Crimean War)
ผลของสงครามนี้ สหราชอาณาจักรเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ และหลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและรัสเซียก็ไม่สู้ดีนัก หากแต่ในเวลาต่อมา ความกังวลใหม่ของสหราชอาณาจักรก็ได้กำเนิดขึ้น
การรวมเป็นปึกแผ่นของเยอรมนีในปีค.ศ.1871 (พ.ศ.2414) ทำให้สหราชอาณาจักรไม่วางใจ โดยสหราชอาณาจักรเกรงว่าเยอรมนีซึ่งมีความเป็นชาตินิยมสูง อาจจะวางแผนครอบงำยุโรป
ในปีค.ศ.1888 (พ.ศ.2431) “จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II)” ขึ้นเป็นพระประมุขแห่งเยอรมนี
จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 เป็นคนที่มุทะลุ ทะเยอทะยาน ยิ่งทำให้สหราชอาณาจักรไม่วางใจ
จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II)
ไม่เพียงแค่ความหวาดระแวงในเยอรมนี หากแต่ในแอฟริกาใต้ ชาวเมืองก็เริ่มจะท้าทายอำนาจของสหราชอาณาจักร เกิดการปะทะและเกิดเป็นสงครามในเวลาต่อมา
นอกจากนั้น ในคราวเปลี่ยนศตวรรษใหม่ ทั้งออสเตรเลียและไอร์แลนด์ก็เริ่มจะตื่นตัวเรื่องอิสรภาพของประเทศ เกิดการเรียกร้องอิสรภาพ
ในปีค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) สหราชอาณาจักรและรัสเซียก็เริ่มจะตกลงกันได้ ได้จับมือกัน ก่อเกิดเป็นพันธมิตรสามชาติ นั่นคือฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และรัสเซีย
และในเวลาต่อมา สหราชอาณาจักรก็คือหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 1
โฆษณา