14 ธ.ค. 2020 เวลา 08:46 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับสมบูรณ์) ไจ๋หว่อ (宰我)
ไจ๋หว่อ แซ่ไจ่ นามว่าอวี่ ชาวแคว้นหลู่ เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวาทศิลป์
ไว้ทุกข์แค่ปีเดียวก็พอ
การไว้ทุกข์ เป็นพิธีแต่โบราณที่กำหนดให้กระทำในวาระที่บุคคลในครอบครัวได้เสียชีวิตจากไป พื้นฐานของการไว้ทุกข์ก็คือการไว้อาลัยแก่บุคคลที่เรารัก เพื่อรำลึกในบุญคุณที่ได้รับ และเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในวาระสุดท้ายนั่นเอง การไว้ทุกข์แต่โบราณจะกำหนดให้ทำการไว้ทุกข์เป็นเวลาสามปี ห้วงเวลาไว้ทุกข์ที่ยาวนานถึงสามปีแม้นจะเป็นเวลาที่ยาวนานมากก็จริง แต่สำหรับผู้ที่มีความรักความอาวรณ์อย่างหาที่สุดมิได้แล้วก็จะไม่นับว่ามากแต่อย่างใด หากแต่บุคคลที่มีความห่วงหาอาลัยน้อยแล้ว เพียงเสร็จสิ้นอวมงคลพิธีก็สิ้นทุกข์สิ้นโศก และหันกลับไปใช้ชีวิตที่เริงร่าตามปกติเลยก็มี
เหตุที่สังคมจีนแต่โบราณกาลได้กำหนดเวลาไว้ทุกข์เป็นเวลานานถึงสามปีนั้น นั่นก็เพราะผู้คนในสมัยก่อนได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า กว่าเด็กทารกน้อยคนหนึ่งจะเติบใหญ่จนพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อแม่จะต้องคอยทะนุถนอมไม่ยอมห่างอย่างเหนื่อยยากเป็นเวลานานถึงสามปีนั่นเอง
สำหรับกำหนดการไว้ทุกข์ที่ใช้เวลายาวนานถึงสามปี ไจ๋หว่อได้แสดงความคิดเห็นต่อท่านขงจื่อดังนี้ว่า
“สามปีแห่งการไว้ทุกข์ ถือว่านานพอแล้ว หากวิญญูชนสามปีไม่ปฏิบัติจริยธรรม จริยธรรมก็จักเสื่อมเสียหาย หากสามปีไม่ขับกล่อมดนตรี ดนตรีก็จักพังทลาย อันธัญญาหารเมื่อปีกลายได้สิ้นไป ธัญญาหารในปีนี้ก็เกิดใหม่ อันไม้ฟืนที่ใช้สีไฟ ยังต้องหมุนเวียนเปลี่ยนชนิดฟืนไปตามฤดูกาล ดังนั้นไว้ทุกข์เพียงขวบปีก็น่าจะพอแล้ว”
ไจ๋หว่อก็เหมือนเช่นผู้คนในสมัยนี้ จากเดิมที่กำหนดการไว้ทุกข์ว่าจะไม่ร่วมงานรื่นเริง ให้แต่งแต่ชุดดำหรือชุดขาว ตามหนังสือ “ประเพณีเนื่องในการตาย” ของ เสฐียรโกเศศ ที่ได้มีการบันทึกไว้ว่า “เดิมการไว้ทุกข์ของคนไทยมีทั้งนุ่งดำ นุ่งขาว นุ่งน้ำเงิน และนุ่งสีนกพิราบ ลางทีแถมโกนหัวด้วย” ส่วนกำหนดเวลานั้น ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เขียนไว้ว่า “กำหนดไว้ทุกข์นั้น ขึ้นอยู่กับความผูกพันกับผู้ตาย อาจจะไว้ทุกข์เพียง ๓ วัน ๗ วัน หรือถ้าเป็นบิดามารดาก็อาจจะไว้ได้ถึง ๓ ปี”
แต่สังคมในปัจจุบัน ก็มักจะอ้างเรื่องความสะดวกในการประกอบอาชีพการงาน จึงได้มีการผ่อนผันการแต่งกายให้เป็นการใช้เข็มกลัดกลัดผ้าดำไว้ที่แขนเสื้อแทน แต่หลังๆ มานี้ วันสิ้นสุดการไว้ทุกข์ก็คือวันที่เสร็จสิ้นอวมงคลพิธีนั่นเอง การที่ไจ๋หว่อได้อ้างเรื่องจริยธรรมและคีตะ อ้างเรื่องธัญญาหารหรือไม้ฟืนที่ยังต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผันเป็นรอบปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าการไว้ทุกข์เพียงเวลาหนึ่งปีก็น่าจะเพียงพอแล้ว เหตุผลในข้อนี้ก็ไม่ต่างจากเหตุผลของสังคมในปัจจุบันแต่อย่างใดเลย
ครั้นไจ๋หว่อได้เรียนถามพร้อมอ้างเหตุผลประกอบ เพื่อขอความเห็นชอบให้ไว้ทุกข์เพียงแค่หนึ่งปีก็พอแล้วนั้น ขงจื่อก็ไม่ได้ค้านความคิดเห็นของไจ๋หว่อแต่อย่างใด เพราะขงจื่อเห็นว่า เรื่องของการไว้ทุกข์เป็นเรื่องของสำนึก สำหรับผู้ที่มีจิตสำนึกตรึกพระคุณแล้ว เรื่องของการไว้ทุกข์สามปี จะมิใช่เรื่องที่จะต้องโต้แย้งอะไรเลย ขงจื่อจึงถามไจ๋หว่อเพียงว่า
“ทานข้าวสวย สวมแพรสำรวย เจ้าสามารถทำใจสบายได้ไหมล่ะ ?”
ไจ๋หว่อตอบว่า “ได้”
ครั้นขงจื่อได้ยินก็กล่าวว่า “หากเจ้าสบายใจได้ ก็จงทำไปเถอะ เพราะอันการไว้ทุกข์แห่งวิญญูชน หากได้ทานโภชนาหารอันโอชะก็จะมิรู้สึกอร่อย ได้ฟังดนตรีอันเสนาะก็จะมิรู้สึกสำราญ พำนักในนิวาสอันโอฬารก็มิรู้สึกสบายตัว ฉะนั้นวิญญูชนจึงมิกระทำแล แต่หากเจ้าสบายใจได้ ก็จงทำไปเถอะ”
ขงจื่อได้อธิบายอย่างชัดเจนแล้วว่า “การไว้ทุกข์ ก็คือการไว้อาลัย” สำหรับคนที่มีความกตัญญูรู้คุณ ยามผู้มีพระคุณได้ลาจากไปอย่างมิมีวันหวนกลับ เขาย่อมมิอาจตัดใจไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้โดยง่าย ในเรื่องกำหนดเวลาของการไว้ทุกข์ ความจริงก็หาใช่เป็นข้อกฎหมายที่บังคับทุกคนให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างไม่ หากแต่เป็นธรรมเนียมตามระเบียบจริยธรรม เป็นเรื่องของการสำนึก ดังนั้นจึงมิอาจบังคับให้กระทำได้ ทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับใจสมัคร ดังนั้นขงจื่อจึงกล่าวว่า “ถ้าทำแล้วสบายใจ ก็จงทำไปเถอะ”
แต่ครั้นไจ๋หว่อลาจากไปแล้ว ขงจื่อได้เปรยขึ้นว่า
“ไจ๋หว่อผู้นี้ไร้เมตตาธรรมจริง ๆ หลังจากบุตรเกิดได้สามปี จึงจะพ้นจากอ้อมอกของบุพการี ดังนั้นการไว้ทุกข์สามปี จึงถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติโดยทั่วไป อันไจ๋หว่อผู้นี้ ได้มีความรักสามปีที่ได้ปฏิบัติต่อบิดามารดรหรือไม่ล่ะ?”
ไม้ผุที่มิอาจเสลาได้
ขงจื่อให้ความสำคัญกับการศึกษามากเป็นที่สุด ดังนั้นท่านจึงมีความเข้มงวดกวดขันในด้านการเรียนการสอน และทุ่มเทให้กับการอบรมถ่ายทอดวิชาอย่างมากที่สุด
ในด้านการประสิทธิ์ประสาทวิชา ท่านหาได้เคยแบ่งแยกวรรณะและมีใจสูงต่ำแต่อย่างใดไม่ ทุกคนต่างทราบดีว่า แม้นผู้ที่มาขอปวารณาตนเป็นศิษย์จะมีค่าครูเพียงเล็กน้อย ขงจื่อก็หาได้เคยปฏิเสธแม้แต่ครั้งเดียวไม่ ทั้งนี้ ท่านยังจะอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ตามจริตอย่างมีกุศโลบาย พยายามโน้มน้าวอบรมอย่างเป็นขั้นตอน และไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาเพื่อให้ลูกศิษย์มีความเข้าใจเลยแม้แต่น้อย หากแต่มีเพียงสิ่งเดียวที่ท่านจะคาดหวังกับลูกศิษย์มากเป็นพิเศษ นั่นก็คือศิษย์ทุกคนจะต้องมีความสนใจใฝ่เรียน เรียนหนึ่งต้องรู้จักพลิกแพลงแตกฉานให้เป็นสาม พยายามแสดงคำถามให้ได้มากที่สุด หากลูกศิษย์คนใดสามารถแสดงคำถามจนท่านคาดคิดไม่ถึง ท่านก็จะมีความดีใจมากเป็นพิเศษ เพราะนี่คือคุณสมบัติที่สำคัญของความวิริยะอุตสาหะนั่นเอง ขอเพียงศิษย์มีความวิริยะอุตสาหะ แม้นสติปัญญาจะมีเพียงน้อยนิดจนตามไม่ทัน ท่านก็หาได้เคยปรารมภ์ไม่ นี่ก็คือท่าทีในการประสิทธิ์ประสาทวิชาของท่านขงจื่อนั่นเอง
แต่มีอยู่วันหนึ่ง ขงจื่อเห็นไจ๋หว่อนอนกลางวัน ไม่ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงทำการตำหนิไจ๋หว่ออย่างรุนแรงว่า
“ไม้ที่ผุแล้ว มิอาจนำไปแกะสลักได้อีก กำแพงดินที่เปรอะเปื้อน มิอาจทาสีให้ใหม่อีกได้ สำหรับเจ้าแล้ว ยังคู่ควรแก่การตำหนิอีกหรือ ?”
การนอนกลางวันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมปัจจุบัน แต่สำหรับสังคมสมัยโบราณที่ยังไม่มีอุปกรณ์ส่องสว่างในเวลากลางคืนเช่นปัจจุบัน การที่คนๆ หนึ่งเสียเวลาไปกับการนอนในตอนกลางวัน ก็อาจจะเป็นพฤติกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงความเกียจคร้านไม่ใส่ใจในหน้าที่การงานอย่างร้ายแรงก็เป็นได้ ดังนั้นครั้นขงจื่อเห็นไจ๋หว่อใช้เวลาไปกับการนอนหลับอย่างสุขสบายในยามกลางวัน จึงได้ทำการตำหนิติเตียนเพื่อให้เกิดความวิริยะอุตสาหะ นี่ก็คือหน้าที่แห่งครูบาอาจารย์ทั่วไปที่พึงมี จึงมิไยต้องกล่าวถึงบรมครูขงจื่อ ที่มีความรักความเมตตาต่อศิษย์อย่างหาที่สุดมิได้เลย
แต่สำหรับคำติเตียนของขงจื่อในที่นี้ หากอ่านทบทวนโดยแยบคายแล้ว ก็จะเห็นว่าค่อนข้างจะเป็นคำติติงที่รุนแรงอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นคำติติงที่รุนแรงแล้ว ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความหมดหวังด้วยในขณะเดียวกัน เพราะหลังจากที่ขงจื่อได้ตำหนิไจ๋หว่อแล้ว ท่านก็ยังกล่าวสำทับเพิ่มอีกว่า
“ทัศนะต่อผู้อื่นของข้าในอดีตคือ ครั้นฟังซึ่งวาจาก็เชื่อซึ่งการกระทำ หากทัศนะต่อผู้คนของข้าในปัจจุบันคือ ครั้นฟังซึ่งวาจายังต้องพิจารณาดูที่การกระทำก่อน สาเหตุที่เปลี่ยนไปก็เพราะไจ๋หว่อนั่นเอง”
เมตตาธรรมในบ่อน้ำ
หัวใจของเมตตาธรรมก็คือการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขแห่งส่วนรวม แต่หากในยามที่ประโยชน์สุขส่วนตนขัดแย้งกับประโยชน์สุขส่วนรวมแล้ว ยามนี้แหละที่จะเป็นจุดทดสอบปณิธานความมุ่งมั่นที่มีต่อวิถีปฏิบัติแห่งเมตตาธรรมได้เป็นอย่างดี ในส่วนนี้ ไจ๋หว่อได้เคยตั้งคำถามถามขงจื่อว่า
“อันเมตตาชนไซร้ หากกล่าวว่าในบ่อมีเมตตาธรรมแล้ว เขาจะกระโดดลงไปหรือไม่ ?”
เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดแห่งการบำเพ็ญปฏิบัติของสำนักขงจื่อ คือการบรรลุสุดยอดแห่งเมตตาธรรม แน่นอนว่าเมตตาธรรมเป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ต่อให้ทุกคนต่างใฝ่ฝันในภาวะแห่งเมตตาธรรมเช่นไรก็ตาม แต่หากต้องทำการเลือกระหว่างอุดมการณ์และชีวิตแล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงจะตัดสินไม่ถูกได้เช่นกัน ด้วยเพราะเหตุนี้ ไจ๋หว่อจึงได้ถามคำถามขงจื่อว่า เมตตาธรรมคือสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา แต่หากบอกกับเขาว่าเมตตาธรรมอยู่ในบ่อน้ำไซร้ เขาจะยอมกระโดดลงไปเพื่อบรรลุซึ่งที่สุดแห่งเมตตาธรรมหรือไม่? ในส่วนนี้ ขงจื่อกลับสามารถตอบคำถามได้อย่างชาญฉลาดว่า
“ไฉนต้องทำเช่นนี้ด้วย ? วิญญูชนจะมุ่งหน้า หากจะไม่ติดกับ ยอมให้หลอก แต่จะมิยอมให้ลวง”
สำหรับคำถามลักษณะนี้ของไจ๋หว่อ ในฐานะลูกศิษย์นั้นแน่นอนว่าย่อมเป็นการถามเพื่อต้องการความรู้ แต่หากเป็นผู้อื่นที่ตั้งคำถามเช่นนี้แล้ว ก็คงจะเป็นการถามเพื่อลองสติปัญญา เพราะสำหรับคำถามเช่นนี้ หากตอบว่าใช่ก็จะดูมีแต่ความกล้าบุ่มบ่ามอย่างขาดสติ แต่หากตอบว่าไม่ก็จะเป็นความขี้ขลาดที่ไร้อุดมการณ์ความมุ่งมั่น ดังนั้น ไม่ว่าจะตอบเช่นไรก็ดูไม่ดีทั้งสิ้น
ปกติ คำถามหนึ่งคำถาม ผู้คนจะตอบแต่เพียงว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แต่จากบทสนทนาบทนี้ เราจะสามารถเห็นถึงสติปัญญาและอุดมการณ์ความมุ่งมั่นในคุณธรรมของขงจื่อได้เป็นอย่างดี ท่านตอบว่า ในการบำเพ็ญเพื่อบรรลุซึ่งที่สุดแห่งเมตตาธรรมของวิญญูชนนั้น แน่นอนว่าต้องมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว แต่ก็มิควรละทิ้งปัญญาธรรมที่ควรจะมีด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นในหนทางแห่งเมตตาธรรมจึงต้องประกอบด้วยปัญญาและความกล้าหาญในขณะเดียวกัน ในเส้นทางแห่งเมตตาธรรมนั้น วิญญูชนจะมีแต่มุ่งหน้าอย่างกล้าหาญ แต่ก็จะยังคงพรั่งพร้อมด้วยสติปัญญาที่หลักแหลมในขณะเดียวกัน แม้นในบางครั้งจะต้องทำการซ่อนความหลักแหลมจนดูทึมทึบ ยอมให้หลอกจนเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนที่ไร้ปัญญาอยู่บ้างก็ตาม แต่หากวิญญูชนถึงคราวที่ต้องธำรงรักษาหลักการแห่งคุณธรรมมิให้หมองหม่นแล้ว ท่านก็จะแสดงสติปัญญาอันเฉียบคมออกมาให้ประจักษ์ โดยจะมิยอมถูกลวงล่อให้ติดกับแต่อย่างใด
ไม่รื้อฟื้นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว
ครั้งหนึ่ง เจ้าแคว้นเมืองหลู่ พระนามว่าหลู่ไอกง ได้ทรงปรึกษาด้วยไจ๋หว่อในเรื่องการตั้งป้ายพระธรณี ไจ๋หว่อจึงกราบทูลความคิดเห็นดังนี้ว่า
“ในสมัยราชวงศ์เซี่ยใช้ไม้สนเข็ม ในสมัยราชวงศ์ซังใช้ไม้สนแผง ในสมัยราชวงศ์โจวใช้ไม้เกาลัด กล่าวกันว่า เพื่อให้ประชาราษฎร์เกิดความยำเกรง”
คำว่าไม้เกาลัด ภาษาจีนออกเสียงว่า “ลี่ (栗)” คำว่า “ลี่” นอกจากจะมีความหมายว่าไม้เกาลัดแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งความหมายว่า “กลัวจนตัวสั่น (戰栗)” การที่ไจ๋หว่อได้ถวายข้อคิดเห็นที่เป็นการแสดงนัยยะให้สร้างอำนาจบารมีให้ประชาราษฎร์มีความยำเกรงนี้ ขงจื่อเห็นว่ามีความไม่เหมาะสม เพราะขึ้นชื่อว่าอำนาจ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต่างปรารถนา อำนาจยิ่งมาก ผู้คนยิ่งยำเกรง เมื่อผู้คนไม่ยำเกรง ผู้ปกครองก็มักจะวางอำนาจจนประชาราษฎร์ต้องพลอยทุกข์ร้อน ดังนั้น การที่ไจ๋หว่อแสดงความคิดเห็นในเชิงของการสร้างอำนาจบารมี แทนที่เสนอความคิดเห็นให้ผู้ปกครองสร้างคุณธรรมบารมีนี้ ขงจื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะคำกราบทูลของไจ๋หว่อเช่นนี้ อาจจะเป็นชนวนเหตุให้หลู่ไอกงทรงเกิดพระทัยเหิมเกริมในพระอำนาจได้ ดังนั้น ครั้นขงจื่อได้ทราบเรื่องราวการแสดงความคิดเห็นของไจ๋หว่อเช่นนี้ จึงได้กล่าวขึ้นว่า
“เรื่องที่ตัดสินแล้วอย่าได้วิจารณ์ เรื่องที่ทำไปแล้วอย่าได้ทักท้วง เรื่องที่พ้นไปแล้วอย่าได้รื้อฟื้น”
เจรจาด้วยเจ้าแคว้นฉู่
แม้นในอดีตไจ๋หว่อจะเคยถูกขงจื่อตำหนิอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สุดแล้ว ไจ๋หว่อก็ยังเป็นยอดนักปราชญ์แห่งการเจรจาในสำนักขงจื่อ
ครั้งหนึ่ง ท่านทำหน้าที่เป็นตัวแทนขงจื่อไปปฏิบัติภารกิจที่แคว้นฉู่ เจ้าแคว้นฉู่เจาหวังทรงพระราชทานรถลายคชสารแก่ขงจื่อ ไจ๋หว่อกราบทูลว่า “รถนี้ไม่มีประโยชน์อันใดกับอาจารย์ข้าดอก”
ฉู่เจาหวังรับสั่งถามซึ่งสาเหตุ ?
ไจ๋หว่อกราบทูลว่า “กระหม่อมทราบจากชีวิตประจำวันของท่าน”
ฉู่เจาหวังรับสั่งให้อธิบาย
ไจ๋หว่อกราบทูลว่า “นับแต่กระหม่อมอยู่ปรนนิบัติท่านอาจารย์เป็นต้นมา กระหม่อมเห็นการเจรจาของท่านไม่เคยห่างจากหลักคุณธรรม การปฏิบัติของท่านไม่เคยห่างจากเมตตาธรรม ท่านเป็นผู้ที่มีความสมถะและมัธยัสถ์ ไม่เคยสะสมบำเหน็จเป็นการส่วนตัว หากเห็นว่าวงราชการใดไร้คุณธรรม ท่านก็จะปลีกตัวลาออกจากวงราชการนั้นอย่างไม่อาลัย ภรรยาท่านไม่แต่งตัวฟุ้งเฟ้อ ส่วนบริวารก็ไร้เสื้อผ้าอันวิจิตร ยานพาหนะก็เรียบง่ายไม่ตกแต่งจนสวยหรู นี่ก็คือวิถีชีวิตของท่านขงจื่อ และหากหลักธรรมที่ท่านเผยแพร่สามารถขจรขจาย ท่านจะมีความมานะอุตสาหะในการอุทิศทุ่มเทอย่างแข็งขัน หรือหากหลักธรรมของท่านจะมิเป็นที่ยอมรับ ท่านก็จะเก็บตัวบำเพ็ญตนอย่างสงบ นี่ก็คือจริยวัตรที่ท่านได้ปฏิบัติเป็นต้นมา ดังนั้น สำหรับรูปลักษณ์ที่วิจิตรสวยหรู หรือสรรพเสียงที่ยวนเย้าเร้าอารมณ์ ท่านหาได้เคยสนใจไม่ ดังนั้นข้าจึงทราบว่ารถคันนี้ไม่มีประโยชน์ต่อท่านอาจารย์แต่อย่างใด”
ฉู่เจาหวังรับสั่งถามว่า “เช่นนั้นแล้ว สิ่งใดจึงจะมีประโยชน์ต่ออาจารย์ท่านล่ะ ?”
ไจ๋หว่อกราบทูลว่า “คุณธรรมในสังคมปัจจุบันได้เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนไปอย่างมากมาย ท่านจึงมีดำริจะฟื้นฟูและผลักดันเมตตาธรรมให้ขจร และหากมีเจ้าแคว้นพระองค์ใดทรงมีพระประสงค์ที่จะผลักดันหลักการของท่าน แม้นจะให้ท่านเดินทางด้วยเท้าเปล่ามาเข้าเฝ้า ท่านอาจารย์ก็ยินดี จึงมิไยต้องกล่าวถึงว่าท่านอาจารย์ต้องการเครื่องพระราชทานแต่อย่างใดเลย”
เจ้าแคว้นฉู่เจาหวังรับสั่งว่า “ข้าเพิ่งจะทราบถึงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของท่านขงจื่อก็วันนี้นี่เอง”
ภายหลังไจ๋หว่อได้นำเรื่องราวทั้งหมดรายงานให้ขงจื่อทราบโดยละเอียด ขงจื่อกล่าวขึ้นว่า “ทุกคนมีความเห็นเช่นไรกับคำพูดของไจ๋หว่อ?”
จื่อก้งกล่าวว่า “ยังมิอาจบรรยายถึงคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ของอาจารย์ให้หมดได้ อันคุณธรรมของท่านอาจารย์นั้น มีความยิ่งใหญ่เทียมฟ้าสูง มีความลุ่มลึกดุจมหาสมุทรกว้าง แต่ที่ไจ๋หว่อกล่าวมาเมื่อสักครู่ ก็บรรยายได้เพียงจริยวัตรบางประการที่ท่านอาจารย์ได้ทำไว้แล้วเท่านั้น”
ขงจื่อกล่าวว่า “การเจรจาต้องเน้นที่สารัตถะ ต้องให้เกิดความเชื่อถือจึงจะดี หากเป็นการกล่าวที่ไร้สารัตถะ แล้วจะเกิดประโยชน์อันใดได้เล่า ? ดังนั้นคำพูดหรูหราของจื่อก้ง จึงยังมิอาจดีเท่าความมีสารัตถะของไจ๋หว่อได้เลย”
เรื่องราวนี้ได้มีการบันทึกอยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า “ข่งฉงจื่อ (孔叢子)” เป็นหนังสือที่ประพันธ์โดยทายาทรุ่นที่แปดของขงจื่อ นามว่า “ข่งฟู่ (孔鮒)” หากดูจากเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่บันทึกคำติชมของขงจื่อที่มีต่อศิษย์สองคน ซึ่งต่างก็เป็นศิษย์ที่ถูกจัดให้อยู่ในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดวาทศิลป์แล้ว ก็จะพบว่า ความช่างเจรจาของจื่อก้งจะมากไปในทางอลังการ ส่วนความช่างเจรจาของไจ๋หว่อนั้นจะค่อนไปในทางตรงไปตรงมานั่นเอง
โฆษณา