31 ม.ค. 2021 เวลา 13:59 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับสมบูรณ์) หยั่นฉิว (冉求)
หยั่นฉิว ฉายาจื๋ออิ่ว (子有) โดยทั่วไปจะเรียกท่านว่าหยันอิ่ว (冉有) และถูกยกย่องว่าหยันจื่อ (冉子) บิดาท่านมีนามว่าหยั่นหลี (冉離) ชาวแคว้นหลู่ อายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๒๙ ปี
หยั่นฉิวเป็นผู้ที่มีความเปรื่องปราดในด้านการเมือง ดังนั้นจึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดการเมือง
หยั่นฉิว
หนึ่งตระกูลสามเมธา (一門三賢)
ตามบันทึกในสาแหรกตระกูลแห่งตระกูลหมิ่น ได้มีการบันทึกไว้ว่า หยั่นหลีได้แต่งงานกับเหยียนซื่อ (顏氏) ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คนโตนามว่าหยั่นป๋อหนิว คนกลางนามว่าหยั่นยง ภายหลังเหยียนซื่อได้ถึงแก่กรรม หยั่นหลีจึงแต่งงานใหม่กับกงซีซื่อ (公西氏) และให้กำเนิดบุตรชายนามว่าหยั่นฉิว จากตรงนี้จึงทราบได้ว่า หยั่นหลีมีบุตรชายสามคน และทั้งสามคนต่างก็เป็นศิษย์ในสำนักขงจื่อ ทั้งยังมีคุณธรรมความสามารถเป็นที่ปรากฏและถูกยกย่องให้อยู่ในทำเนียบนักปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อด้วยกันทั้งสามคน โดยหยั่นป๋อหนิวและหยั่นยงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดคุณธรรม ส่วนหยั่นฉิวจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดการเมือง
สนใจการเมือง
ในการศึกษาวิชาความรู้ หากศิษย์คนใดรู้จักรักษาโอกาสใกล้ชิดครูบาอาจารย์ แน่นอนว่าย่อมจะมีโอกาสที่จะได้ไต่ถามให้ได้มาซึ่งวิชาความรู้ นอกเหนือจากที่ได้สดับรับฟังมาตามปกติในห้องเรียนอย่างแน่นอน
ครั้งหนึ่ง ขงจื่อเดินทางไปที่แคว้นเว่ย หยั่นฉิวได้ขออาสาเป็นสารถีให้ขงจื่อ ครั้นขงจื่อเข้าสู่เมืองเว่ยแล้ว ได้อุทานขึ้นด้วยความดีใจว่า “ที่นี่มีประชากรคับคั่งเหลือเกิน”
ครั้นหยั่นฉิวได้ฟังแล้วก็เกิดความสนใจใคร่รู้ จึงถามขึ้นว่า “เมื่อมีประชากรคับคั่งแล้ว พึงทำอย่างไรต่อไป ?”
ขงจื่อตอบหยั่นฉิวว่า “ทำให้พวกเขาสมบูรณ์พูนสุข”
หยั่นฉิวถามต่อไปอีกว่า “ครั้นสมบูรณ์พูนสุขแล้ว พึงทำอย่างไรต่อไป ?”
ขงจื่อกล่าวว่า “จงประสิทธิ์วิชาให้แก่พวกเขา”
 
ขงจื่อมีอุดมการณ์อันสูงส่งที่ต้องการบันดาลใต้หล้าให้เป็นโลกแห่งสันติภพ และอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ของขงจื่อเช่นนี้ ก็หาได้เป็นเพียงอุดมการณ์ที่เอาแต่วาดฝัน โดยมิสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ เพราะขงจื่อเคยได้ทำให้โลกแห่งสันติภพน้อยๆ เกิดขึ้นได้จริงแล้วที่เมืองจงตู หลังจากที่ท่านใช้เวลาปกครองสั้นๆ เพียงหนึ่งปีเท่านั้น
แต่อุดมการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร และท่านมีปรัชญชาในการบริหารบ้านเมืองเช่นไร ก็เป็นสิ่งที่หยั่นฉิวสนใจใคร่รู้เป็นยิ่งนัก ดังนั้นครั้นมีโอกาส หยั่นฉิวจึงรีบถามไถ่ขอความรู้นี้ในทันที
ขงจื่อเห็นว่า ก่อนที่จะเกิดโลกแห่งสันติภพ ประชาชนจะต้องอิ่มท้องเสียก่อน ครั้นประชาชนสามารถอิ่มท้องและมีความอยู่ดีกินดีในระดับหนึ่งแล้ว ตอนนั้นจึงค่อยทำการอบรมสอนสั่งด้วยหลักคุณธรรม ครั้นบรรยากาศแห่งคุณธรรมขจรขจายไปทั่วแล้ว โลกแห่งสันติภพจึงจะเป็นจริงได้
แต่สำหรับบ้านเมืองที่พบเห็นโดยทั่วไป ผู้ปกครองจะสนแต่เพียงทำอย่างไรให้ประชาชนมั่งมีศรีสุข โดยหาได้คิดอ่านที่จะยกระดับจิตใจประชาชนให้สูงส่งยิ่งขึ้นเลยไม่ หากสังคมที่มีแต่การพัฒนาให้ก้าวหน้าทางวัตถุนอกกาย โดยหาได้นำพาในการพัฒนาทางจิตวิญญาณไม่แล้ว ที่สุดก็คงกลายเป็นสังคมที่หัวโตขาลีบจนล้มคะมำหน้าคว่ำ และกลายเป็นสังคมที่ฟอนเฟะในที่สุด
หยั่นฉิว
ความสามารถเอกอุ
หยั่นฉิวมีความสามารถที่หลากหลาย ในข้อนี้ ขงจื่อก็เคยได้กล่าวชื่นชมหยั่นฉิวในโอกาสต่างๆ อยู่หลายครั้ง
ครั้งหนึ่ง จี้คังจื่อซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สุดในแคว้นหลู่ มีความคิดที่จะค้นหานักปราชญ์ผู้เก่งกาจมาช่วยบริหารกิจการงานของตน วันหนึ่ง จี้คังจื่อได้ขอเข้าพบขงจื่อ พร้อมถามไถ่ความสามารถศิษย์ขงจื่อแต่ละคนว่าเป็นเช่นไร ดังมีปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
จี้คังจื่อถามขงจื่อว่า “จื่อลู่ควรแก่การแต่งตั้งตำแหน่งการเมืองหรือไม่ ?” ขงจื่อกล่าวว่า “จื่อลู่นั้นเด็ดขาด งานการเมืองจะยากไปไย ?”
จี้คังจื่อถามอีกว่า “จื่อก้งควรแก่การแต่งตั้งตำแหน่งการเมืองหรือไม่ ?” ขงจื่อกล่าวว่า “จื่อก้งนั้นเก่งกาจ งานการเมืองจะยากไปไย ?”
จี้คังจื่อถามอีกว่า “หยั่นฉิวควรแก่การแต่งตั้งตำแหน่งการเมืองหรือไม่ ?” ขงจื่อกล่าวว่า “หยั่นฉิวนั้นสามารถ งานการเมืองจะยากไปไย ?”
นอกจากนี้ ยังมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งแห่งแคว้นหลู่ นามว่าเมิ่งอู่ป๋อ ได้ถามไถ่ถึงคุณธรรมศิษย์ขงจื่อ ดังนี้
เมิ่งอู่ป๋อถามขงจื่อว่า “จื่อลู่มีเมตตาธรรมหรือไม่ ?” ขงจื่อตอบว่า “ไม่ทราบได้แล” เมิ่งอู่ป๋อถามอีกครั้ง ขงจื่อจึงตอบว่า “สำหรับจื่อลู่แล้ว บ้านเมืองขนาดรถศึก ๑,๐๐๐ คัน สามารถแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพได้ หากแต่มิอาจทราบได้ว่าเขามีเมตตาธรรมหรือไม่”
เมิ่งอู่ป๋อถามอีกว่า “แล้วหยั่นฉิวล่ะ ?” ขงจื่อตอบว่า “สำหรับหยั่นฉิวแล้ว อำเภอขนาด ๑,๐๐๐ หลังคาเรือน ตระกูลใหญ่ขนาด ๑๐๐ คันรถ สามารถแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารได้ หากแต่มิอาจทราบได้ว่าเขามีเมตตาธรรมหรือไม่”
เมิ่งอู่ป๋อถามถึงกงซีฮว๋าว่าเป็นคนอย่างไร ขงจื่อตอบว่า “สำหรับกงซีฮว๋าแล้ว หากได้สวมชุดขุนนางยืนอยู่กลางท้องพระโรง ก็สามารถแต่งตั้งให้เจรจาปราศรัยต่อแขกบ้านแขกเมืองได้ หากแต่มิอาจทราบได้ว่าเขามีเมตตาธรรมหรือไม่ ?”
หยั่นฉิว
หากกล่าวว่า ดาบที่คมกริบจะต้องคู่กับฝักดาบฉันใด ความสามารถที่แหลมคม ก็จะต้องมีคุณธรรมที่สมบูรณ์พร้อมคอยอยู่คู่เคียงฉันนั้น เพราะหากสักแต่มีความสามารถที่แหลมคม โดยไม่มีคุณธรรมคอยกำกับด้วยแล้ว ที่สุดก็จะต้องแพ้ภัยแก่ตนเอง เหมือนดังเช่นนักดาบมักสังเวยชีวิตให้แก่คมดาบ หมองูที่มักสังเวยชีวิตให้กับพิษงูนั่นเอง
ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดแห่งสำนักขงจื่อจะหาใช่การเป็นนักปราชญ์ที่มีความสามารถเก่งกาจไม่ หากแต่คือเมตตาธรรมที่จะดาลดลทั้งตนเองและผู้คนให้สำเร็จสู่สภาวะแห่งเมตตาธรรมนั่นเอง สภาวะแห่งเมตตาธรรมหรือ 仁 นั้นเป็นสิ่งที่ขงจื่อเทิดทูนไว้อย่างสูงส่งที่สุด ปกติท่านจึงไม่ค่อยชมเชยใครว่ามีเมตตาธรรมโดยง่าย แต่สภาวะแห่งเมตตาธรรมเป็นเช่นไร เราจะสามารถเห็นได้จากบทสนทนาระหว่างขงจื่อและเหยียนหุยดังต่อไปนี้
เหยียนหุยถามเรื่องเมตตาธรรม ขงจื่อกล่าวว่า “สำรวมตนสู่จริยธรรมนั้นคือเมตตาธรรม ครั้นทุกคนต่างสำรวมตนสู่จริยธรรมแล้ว โลกหล้าจักหวนคืนสู่เมตตาธรรมทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติแห่งเมตตาธรรมนั้นพึงอยู่ที่ตน มีด้วยฤๅที่จะอยู่ที่ผู้อื่น ?”
เหยียนหุยถามอีกว่า “ขอถามซึ่งรายละเอียด ?” ขงจื่อตอบว่า “มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงดู มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงฟัง มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงกล่าว มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงทำ”
เหยียนหุยกล่าวว่า “แม้นศิษย์จะมิปราดเปรื่อง แต่จะขอปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์”
เหยียนหุย
หรืออย่างเช่นจื่อจังที่ได้เรียนถามขงจื่อเกี่ยวกับเมตตาธรรม ดังปรากฏในบทสนทนาในต่อไปนี้
จื่อจังถามขงจื่อเรื่องเมตตาธรรม
ขงจื่อกล่าวว่า “หากสามารถปฏิบัติหลัก ๕ ประการสู่ใต้หล้า ก็ถือว่าเป็นเมตตาธรรมแล”
จื่อจังจึงเรียนถามซึ่งรายละเอียด
ขงจื่อกล่าวว่า “หลัก ๕ ประการคือ นบนอบ ใจกว้าง สัจจา ว่องไว อารี เพราะหากนบนอบย่อมไม่ถูกดูหมิ่น หากใจกว้างย่อมเป็นที่รักใคร่ หากมีสัจจาย่อมเป็นที่เชื่อถือ หากว่องไวย่อมได้สำเร็จผล หากอารีย่อมง่ายต่อการใช้คน”
จึงเห็นได้ว่า เมตตาธรรมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการปฏิบัติ ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการยกระดับพัฒนาจิตใจ ดังนั้น การมีความสามารถที่ปราดเปรื่อง ก็หาใช่เครื่องบ่งชี้ว่าจะต้องมีเมตตาธรรมไม่ ดังนั้นครั้นเมิ่งอู่ป๋อถามความเห็นขงจื่อว่าจื่อลู่ หยั่นฉิว และกงซีฮว๋ามีเมตตาธรรมหรือไม่ ท่านก็หาได้ให้ความเห็นในข้อนี้ไม่ หากแต่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าศิษย์ทั้งสามต่างมีความสามารถที่ปราดเปรื่องเลยทีเดียว
ขงจื่อได้กล่าวชมจื่อลู่ว่ามีความสามารถในการปกครองประเทศที่มีขนาดหนึ่งพันรถศึก ส่วนหยั่นฉิวนั้นมีความสามารถที่จะปกครองประเทศขนาดหนึ่งร้อยรถศึก
แล้วประเทศขนาดหนึ่งพันรถศึกเป็นเช่นไร?
ในโบราณจะวัดขนาดและความยิ่งใหญ่ของประเทศโดยประมาณด้วยจำนวนรถศึก เพราะรถศึกหนึ่งคัน จะประกอบด้วยม้าศึกสี่ตัว ทหารประจำการบนรถศึกจำนวนสามนาย และยังต้องมีทหารราบที่คอยติดตามอีกประมาณ ๗๐ นาย หรือ ๑๐๐ นาย หรือ ๑๒๕ นาย เป็นต้น ดังนั้น ประเทศที่มีขนาดหนึ่งพันรถศึก จึงมีจำนวนทหารประมาณแปดหมื่นถึงหนึ่งแสนสามหมื่นนาย ประเทศขนาดหนึ่งพันรถศึกจึงนับเป็นประเทศที่มีขนาดไม่น้อยเลยทีเดียว และในส่วนนี้ ขงจื่อได้กล่าวชื่นชมหยั่นฉิวว่ามีความสามารถในการปกครองประเทศที่มีขนาดหนึ่งร้อยรถศึก ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนทหารประมาณแปดพันถึงหมื่นสามพันนายนั่นเอง
อุปนิสัยไม่เด็ดขาด
แม้นขงจี่อจะชื่นชมหยั่นฉิวว่ามีความสามารถที่เก่งกาจก็จริง แต่ขงจื่อก็รู้สึกเป็นห่วงอุปนิสัยด้านที่มีความโลเลไม่เด็ดขาดของหยั่นฉิวอยู่ไม่น้อย
ครั้งหนึ่ง จื่อลู่ได้ถามขงจื่อว่า “เมื่อได้ฟังแล้วพึงรีบลงมือทำเลยหรือไม่ ?”
ขงจื่อตอบว่า “บิดาแลพี่ชายยังอยู่ เมื่อฟังแล้วรีบลงมือทำได้อย่างไร ?”
ต่อมา หยั่นฉิวก็ถามคำถามเช่นเดียวกับจื่อลู่ว่า “เมื่อได้ฟังแล้วพึงรีบทำเลยหรือไม่ ?”
ขงจื่อตอบว่า “เมื่อฟังแล้วก็รีบทำได้เลย”
กงซีฮว๋าที่เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ได้ถามขึ้นอย่างไม่เข้าใจว่า “จื่อลู่ถามว่าพึงรีบทำเลยหรือไม่ ? ท่านอาจารย์ตอบว่าบิดาแลพี่ชายยังอยู่ แต่เมื่อหยั่นฉิวถามว่าพึงรีบทำเลยหรือไม่ ? ท่านอาจารย์กลับตอบว่าให้ทำได้เลย ศิษย์รู้สึกสับสนยิ่งนัก จึงขอให้ท่านอาจารย์โปรดให้ความกระจ่างด้วยเถิด”
ขงจื่อตอบว่า “หยั่นฉิวเป็นคนขลาดกลัว ข้าจึงกระตุ้นให้รีบรุดหน้า ส่วนจื่อลู่นั้นแกร่งกล้าเหนือคน ข้าจึงยับยั้งให้เพลา ๆ”
ขงจื่อได้ชื่อว่าเป็นบรมครูแห่งแผ่นดิน ท่านจึงไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์เท่านั้น หากท่านยังจะคอยขัดเกลาอุปนิสัยที่ไม่ดีของศิษย์แต่ละคนอีกด้วย
ขงจื่อเห็นว่า จื่อลู่มีนิสัยที่มุ่งมั่นและบุ่มบ่าม แม้นนิสัยที่มีความมุ่งมั่นจะเป็นเรื่องดีต่อการศึกษา หากแต่นิสัยที่มุ่งมั่นอย่างขาดจริยธรรมคอยขัดเกลา ก็จะกลายเป็นความบุ่มบ่ามที่อาจจะเป็นภัยแก่ชีวิตได้เป็นแน่แท้ ดังนั้นขงจื่อจึงพยายามกล่อมเกลาให้จื่อลู่มีความมุ่งมั่นอย่างมีสติอยู่เสมอ
แต่ในส่วนของหยั่นฉิวนั้น แม้นต่างก็ถูกจัดให้เป็นนักปราชญ์ในหมวดการเมืองร่วมกับจื่อลู่ก็ตาม แต่หยั่นฉิวกลับมีอุปนิสัยที่ตรงข้ามกับจื่อลู่อย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ ขงจื่อจึงมักจะคอยกระตุ้นให้รุดหน้า อย่าโลเลไม่เด็ดขาด จนกลายเป็นคนที่ขาดความวิริยะอุตสาหะต่อการบำเพ็ญปฏิบัติไปนั่นเอง
จื่อลู่
ไม่มุ่งมั่นในเมตตาธรรม
ด้วยเพราะหยั่นฉิวมีอุปนิสัยที่โลเลไม่เด็ดขาด ดังนั้นจึงขาดความวิริยะใฝ่ก้าวหน้าในธรรมแห่งขงจื่อ จนถึงขนาดได้เปรยกับขงจื่อในโอกาสหนึ่งว่า
“มิใช่ไม่ปรารถนาในธรรมของท่านอาจารย์ หากเพราะด้อยความสามารถต่างหาก”
ครั้นขงจื่อได้ยินหยั่นฉิวเปรยขึ้นเช่นนี้ ท่านทราบดีว่าหาใช่หยั่นฉิวไร้ความสามารถในการปฏิบัติธรรมไม่ หากแต่เพราะขาดความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นต่างหาก จึงกล่าวขึ้นว่า
“ผู้ที่ด้อยความสามารถ นั่นเป็นเพราะหยุดเดินกลางคัน ความจริงคือเจ้ากำลังตีกรอบตัวเองต่างหาก”
ความจริงการศึกษาธรรม หาใช่หมายถึงต้องมีความสามารถที่เก่งกาจจึงจะสามารถศึกษาธรรมไม่ หากแต่อยู่ที่ความขมีขมันมุ่งมั่นต่างหาก เพราะการศึกษาธรรม จะมิใช่การศึกษาวิชาความรู้ที่ต้องแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่งแต่อย่างใด หากแต่คือการแข่งขันกับตนเองเพื่อเอาชนะตนเองต่างหาก ขอแต่เพียงมีใจ ใครๆ ก็สามารถศึกษาธรรมได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่หยั่นฉิวกล่าวว่าไร้ความสามารถนั้น ความจริงเป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้สำหรับกลบเกลื่อนความจริงที่เกียจคร้านต่อความวิริยะในธรรมนั่นเอง ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงให้สติกับหยั่นฉิวว่า “ไม่ใช่เพราะไร้ความสามารถ หากแต่เพราะตีกรอบตนเองว่าทำไม่ได้ต่างหาก”
พึงรู้ว่า หากคนเราตีกรอบว่าทำไม่ได้ งานง่ายๆ เช่นกวาดบ้านถูพื้นก็ไม่มีวันสำเร็จได้อย่างแน่นอน แต่หากมีความมุ่งมั่นทะลวงกรอบ งานยากๆ เช่นย้ายภูเขาถมทะเล ก็จะสามารถเป็นจริงได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นขงจื่อจึงกล่าวว่า
จะมีผู้ที่ใช้เวลาทั้งวันมุ่งมั่นในเมตตาธรรมหรือไม่ ? จะว่าไปแล้ว ข้ายังไม่เคยเห็นใครไร้กำลังความสามารถเลย อาจจะมีอยู่ แต่ข้ายังไม่เคยเห็นเลย”
ความกล้าหาญชาญชัย
แต่ผลงานการเมืองของหยั่นฉิวก็ยังมีสิ่งที่น่าสรรเสริญอยู่ไม่น้อย อย่างเมื่อสมัยปีหลู่ไอกงศกที่ ๑๑ วสันตฤดู (ก่อนค.ศ.484) แคว้นฉียกทัพรุกรานแคว้นหลู่ อุปราชจี้ซุนซื่อจึงมาขอความเห็นจากหยั่นฉิว ตอนนั้นกำลังทหารส่วนใหญ่ของแคว้นหลู่ตกอยู่กับสามตระกูลใหญ่คือ ตระกูลจี้ซุน ตระกูลสูซุน และตระกูลเมิ่งซุน ซึ่งหยั่นฉิวรู้ดีว่าฝ่ายตระกูลสูซุนและตระกูลเมิ่งซุนจะมิยอมจัดทัพปะทะกับทัพฉีเป็นแน่ จึงได้ใช้อุบายพูดจาสบประมาททั้งสองตระกูลให้อับอาย ครั้นฝ่ายตระกูลสูซุนรู้สึกได้รับความอัปยศจากการสบประมาทแล้ว ก็ได้ผนึกกำลังกับตระกูลเมิ่งซุนเป็นทัพขวา และเข้าประจัญบานรับศึกทัพฉีอย่างเสียมิได้ ส่วนตระกูลจี้ซุนก็จัดทัพเป็นทัพซ้าย โดยมีหยั่นฉิวเป็นผู้บัญชาการทัพ และมีฝันฉือเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทัพ
หลังจากทั้งสองทัพได้ปะทะกับทัพฉีอย่างเต็มสามารถแล้ว ปรากฏว่าทัพขวาต้องประสบกับความพ่ายแพ้จนย่อยยับ แต่ทัพซ้ายซึ่งมีหยั่นฉิวบัญชาการทัพกลับสามารถแก้สถานการณ์รุกตีทัพฉีจนถอยร่นกลับไปได้อย่างงดงาม จึงเห็นได้ว่าหยั่นฉิวไม่เพียงแต่มีความสามารถด้านการบริหารเท่านั้น หากแต่ยังมีพรสวรรค์ด้านการทหารอย่างน่ายกย่องอีกด้วย
รถม้าศึกในสมัยโบราณ
รับขงจื่อกลับเมือง
หลังจากหยั่นฉิวได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่แล้ว หยั่นฉิวก็ได้ถือโอกาสร้องขอจี้ซุนซื่อให้ทำการส่งทูตไปเชิญขงจื่อที่พเนจรเร่ร่อนยังต่างแดนกลับคืนสู่แคว้นหลู่ เนื่องจากครั้งนี้หยิ่นฉิวได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ ได้ช่วยผลักดันอริราชศัตรูจนทำให้แคว้นหลู่อยู่รอดปลอดภัยจากการถูกรุกรานได้สำเร็จ จี้ซุนซื่อจึงตอบรับคำร้องขอ และทำการแต่งทูตไปเชิญขงจื่อกลับคืนสู่มาตุภูมิ จึงนับว่าได้สิ้นสุดการเดินทางเร่ร่อนยังต่างแดนเป็นเวลายาวนานถึง 14 ปีของขงจื่อนั่นเอง
ถูกขงจื่อตำหนิ
หยั่นฉิวได้รับความไว้วางใจให้อยู่รับราชการด้วยตระกูลจี้ซุนซื่อ แต่ผลงานหลายอย่างของหยั่นฉิวก็ถูกขงจื่อตำหนิอย่างหนักหน่วงไม่น้อย
ครั้งหนึ่ง จี้ซุนซื่อมีความคิดที่จะไปบูชาเทพเจ้าแห่งภูเขาไท่ซัน ครั้นขงจื่อทราบเรื่องก็ไม่พอใจอย่างยิ่ง เหตุใดขงจื่อจึงรู้สึกไม่พอใจในเรื่องนี้เล่า?
นั่นก็เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยก่อน ฮ่องเต้ผู้ทรงเป็นโอรสแห่งสวรรค์จะต้องทรงประกอบพิธีบูชาฟ้าดิน และภูเขาไท่ซันในสมัยนั้นก็ถูกยกย่องให้เป็นราชาแห่งทุกขุนเขา ด้วยเพราะเหตุนี้ การทำพิธีบูชาฟ้าดินที่ภูเขาไท่ซัน จึงเป็นเอกสิทธิ์ที่จะสามารถทำได้เฉพาะฮ่องเต้เท่านั้น สำหรับจี้ซุนซื่อที่ดำรงตำแหน่งเพียงขุนนางในแว่นแคว้น จึงไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะประกอบพิธีบูชาที่ภูเขาไท่ซันแต่อย่างใด การที่จี้ซุนซื่อมีดำริที่จะประกอบพิธีบูชาภูเขาไท่ซัน ย่อมสะท้อนถึงจิตใจที่ตีตนเสมอเจ้า มีความคิดมักใหญ่ใฝ่สูง มีความกระด้างกระเดื่องที่ปราศจากความจงรัก และพร้อมที่จะแสดงความใจคดก่อการกบฏได้ทุกเวลา ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงรู้สึกสะท้อนใจเมื่อได้ทราบเรื่องราวนี้ ดังปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ดังต่อไปนี้
จี้ซื่อจะไปเซ่นไหว้ภูเขาไท่ซัน ขงจื่อถามหยั่นฉิวว่า “เจ้าไปยับยั้งได้หรือไม่ ?” หยั่นฉิวตอบว่า “ไม่ได้” ขงจื่อพูดว่า “ฮ่าย! หรือว่าเทพเจ้าแห่งภูเขาไท่ซันจะมิอาจเทียมหลินฟั่งได้เลยกระนั้นฤๅ ?”
ขงจื่อ
หลินฟั่งเป็นศิษย์ขงจื่อ เป็นบุคคลที่สนใจใคร่รู้ในจริยธรรมมากเป็นพิเศษ การที่ขงจื่อมีการกล่าวอ้างถึงหลินฟั่งในที่นี้ นั่นก็เพราะต้องการเปรียบเปรยว่า แม้นแต่หลินฟั่งยังเป็นผู้ที่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ รู้หลักแห่งจริยธรรม แล้วเทพเจ้าแห่งขุนเขาไท่ซันนั้นเล่า จะไม่รู้หลักแห่งจริยธรรมเลยเชียวหรือ แน่นอนว่าเทพเจ้าแห่งขุนเขาไท่ซันจะต้องรู้ ดังนั้น ท่านย่อมจะไม่รับเครื่องบูชาของจี้ซุนซื่อ ที่ได้กระทำการคิดคดแหกธรรมเนียมอย่างแน่นอน
ในบทสนทนาบทนี้ แม้นขงจื่อจะไม่ได้ตำหนิหยั่นฉิวออกมาให้ปรากฏ แต่ในฐานะที่หยั่นฉิวเป็นขุนนางภายใต้การปกครองของจี้ซุนซื่อ ครั้นรับบำเหน็จจากเขาแล้ว ก็ควรจะต้องทำการทักท้วงเจ้านายให้อยู่ในครรลอง แต่หยั่นฉิวกลับไม่สามารถทัดทานเรื่องที่ไม่ถูกต้องนี้ได้ ขงจื่อย่อมต้องรู้สึกไม่พอใจอย่างแน่นอน
ตราบจนครั้งหนึ่ง ขงจื่อไม่พอใจหยั่นฉิวอย่างรุนแรง ด้วยเพราะจี้ซุนซื่อมีความร่ำรวยมากอย่างที่สุดอยู่แล้ว แต่หยั่นฉิวกลับยังช่วยขูดรีดเพิ่มความร่ำรวยให้กับจี้ซุนซื่อเพิ่มขึ้นอีก ขงจื่อจึงลั่นวาจากับเหล่าลูกศิษย์ว่า
“หยั่นฉิวไม่ใช่ศิษย์ของข้าอีกแล้ว พวกเจ้าสามารถลั่นกลองประจัญกับเขาได้เลย”
ภูเขาไท่ซัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีหลู่ไอกงที่ 11 (ก่อนปีค.ศ. 484 ขงจื่ออายุ 68 ปี) และเรื่องราวทั้งหมดได้ถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์จั่วจ้วนดังนี้
จี้ซุนซื่อประสงค์จะเก็บอากรนา จึงให้หยั่นฉิวเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาด้วยขงจื่อ ขงจื่อกล่าวว่า “ข้าไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้” ทูตได้ถามความเห็นถึงสามครา สุดท้ายกล่าวว่า “ท่านเป็นผู้ใหญ่แห่งบ้านเมือง เจ้านายกำลังรอความคิดเห็นจากท่านเพื่อนำไปปฏิบัติ ไฉนจึงมิกล่าวคำใดเลยเล่า?”
ขงจื่อมิกล่าวคำใดๆ หากแต่ได้กล่าวกับหยั่นฉิวโดยส่วนตัวว่า “การปฏิบัติแห่งวิญญูชน จะยึดถือจริยธรรมเป็นสำคัญ การแบ่งปันยิ่งมากจึงจะยิ่งประเสริฐ ด้านการปฏิบัติก็ให้ยึดถือความพอดีพอควรเป็นหลัก ส่วนการเก็บอากรนั้นเล่า พึงเก็บแต่เพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว หากเป็นเช่นนี้ได้ ข้าก็เห็นว่ามีความเหมาะสมดีแล้ว แต่หากไม่ยึดตามหลักจริยธรรม แลมีแต่ความละโมบโลภมากอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว แม้นจะเก็บอากรตามที่นาก็จริง แต่สุดท้ายก็คงจะยังไม่รู้พออยู่ดี ทั้งนี้ หากจี้ซุนซื่อประสงค์ดำเนินตามเนติธรรม ก็ธรรมเนียมแห่งกรุงราชวงศ์โจวก็มีบัญญัติอยู่แล้ว หากเขาคิดที่จะดำเนินตาม ไฉนจึงมาถามความเห็นด้วยเล่า?”
จนที่สุด จี้ซุนซื่อก็ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของขงจื่ออยู่ดี
อีกครั้งหนึ่ง จี้ซุนซื่อเตรียมยาตราทัพเข้าปราบเมืองจวนอวี๋ หยั่นฉิวและจื่อลู่จึงเข้าพบขงจื่อเพื่อขอคำปรึกษา ครั้งนั้นขงจื่อได้ตำหนิหยั่นฉิวอย่างรุนแรง ดังต่อไปนี้
ขงจื่อกล่าวว่า “หยั่นฉิว นี่มิใช่เป็นความผิดของเจ้าดอกหรือ ? ในอดีต จวนอวี๋ได้รับพระราชทานแต่งตั้งจากบูรพกษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งประธานในศาสนพิธีที่เขาตงเหมิงซัน ซึ่งอยู่ในเขตขัณฑสีมา อีกยังเป็นขุนนางของชาติบ้านเมือง แล้วเหตุใดจึงต้องยกทัพไปปราบด้วยเล่า ?”
หยั่นฉิวอธิบายว่า “จี้ซุนซื่อต้องการเช่นนั้น เราทั้งสองต่างไม่เห็นด้วย”
ขงจื่อกล่าวว่า “หยั่นฉิว โจวเยิ่นเคยกล่าวไว้ว่า ‘ทุ่มสุดความสามารถในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนมี หากมิอาจเป็นดังหวัง ก็จงลาออกเสีย’ หากอันตรายแล้วไม่ค้ำจุน สั่นคลอนแล้วไม่ประคอง แล้วไยยังต้องใช้ขุนนางอีกด้วยเล่า ? อีกอย่าง คำที่เจ้ากล่าวเมื่อสักครู่ก็ผิดไปเสียแล้ว หากเสือและควายหลุดจากกรง กระดองเต่าและหยกงามแตกหักในกำปั่น จะถือเป็นความผิดของใครได้ล่ะ ?”
หยั่นฉิวกล่าวว่า “อันจวนอวี๋ในปัจจุบัน มีค่ายคูแข็งแกร่งและประชิดเมืองปี้ หากวันนี้ไม่ยึดเสีย ภายหน้าก็จะเป็นภัยแก่ลูกหลานเป็นมั่นคง”
ขงจื่อกล่าวว่า “หยั่นฉิว วิญญูชนจะรู้สึกรังเกียจผู้ที่มิยอมรับว่าตนละโมบ แล้วยังพยายามยกข้ออ้างมาปกป้องตัวเองเสียมากมาย ข้าได้ยินมาว่า ผู้ที่มีประเทศชาติและตระกูลนั้น จะไม่กลุ้มในเรื่องความขัดสน หากจะกลุ้มในเรื่องความไม่เท่าเทียม จะไม่กลุ้มในเรื่องความยากจน หากจะกลุ้มในเรื่องการไร้ความสงบสุข เพราะเมื่อเท่าเทียมก็จะไร้ความยากจน เมื่อสมานก็จะไร้ความขัดสน เมื่อสงบสุขก็จะไร้ความสั่นคลอน หากทำเช่นนี้แล้วผู้คนในแดนไกลยังไม่ให้ความยอมรับ ก็ควรจะบำเพ็ญวรธรรมเพื่อดึงดูดผู้คนเหล่านั้น ครั้นผู้คนเหล่านั้นได้มาแล้ว ก็จงเกลี้ยกล่อมให้สงบ แต่ที่เจ้าทั้งสองได้ทำงานให้แก่จี้ซุนในบัดนี้ ก็เพราะผู้คนจากแดนไกลมิให้ความยอมรับ ดังนั้นจึงมิได้มา ก็เพราะบ้านเมืองแตกแยกระส่ำระสาย ดังนั้นจึงมิอาจประคองรักษา และที่กำลังคิดก่อการศึกภายในบ้านเมืองขึ้นนั้น ข้าเกรงว่า ความกังวลของจี้ซุนจะไม่ได้อยู่ที่จวนอวี๋ หากอยู่ที่ประมุขแคว้นกระมัง”
โดยสรุปก็คือ แม้จื่อลู่และหยั่นฉิวต่างถูกจัดให้เป็นปราชญ์ในหมวดการเมืองก็จริง แต่อุปนิสัยของทั้งสองกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ จื่อลู่เป็นคนที่ห้าวหาญ แต่มักบุ่มบ่ามไม่เกรงกลัวผู้ใด ส่วนหยั่นฉิวจะค่อนไปทางอ่อนแอ ดังนั้นบ่อยครั้งจึงไม่สามารถธำรงในหลักการจนคล้อยตามกระแสในที่สุด
โฆษณา