Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wasabi
•
ติดตาม
14 ธ.ค. 2020 เวลา 23:30 • สุขภาพ
โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) หรือไข้รากสาดน้อย คืออะไร?
สาเหตุของไข้ไทฟอยด์?
อาการของไข้ไทฟอยด์เป็นอย่างไร?
อันตรายของโรคไข้ไทฟอยด์เป็นอย่างไร?
การป้องกัน รักษาโรคไข้ไทฟอยด์ ทำอย่างไร?
วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ชนิดฉีด คืออะไร?
โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) หรือไข้รากสาดน้อย
โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) หรือไข้รากสาดน้อย คืออะไร?
โรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) หรือไข้รากสาดน้อย เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi หรือ Samonella Paratyphi A, B, C ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด หรือการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อนี้
ทำให้มีไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องผูก และตามมาด้วยอาการท้องเสีย หากไม่ได้รับการรักษาจะมีไข้อยู่นานถึง 2 - 3 สัปดาห์
#สาระจี๊ดจี๊ด
ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาพบมีอัตราป่วยสูง ทั่วโลกพบผู้ป่วยประมาณ 21 ล้านคนต่อปี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 200,000 คนต่อปี โดย 80% ของผู้ป่วยทั่วโลกมาจากประเทศบังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน จีน อินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยในปี 2553 มีรายงานตัวเลขผู้ป่วยประมาณ 2,509 คน แต่ไม่พบมีผู้ป่วยเสียชีวิต สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วยประมาณ 324 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย
สาเหตุของไข้ไทฟอยด์?
ติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi
1. ติดเชื้อทางปาก
2. ติดเชื้อจากพาหะนำโรคไข้ไทฟอยด์
1. ติดเชื้อทางปาก
สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อจากน้ำที่ปนเปื้อนและสาธารณูปโภคที่ไม่ดี ส่วนผู้ป่วยในประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะได้รับเชื้อจากการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหาร
2. ติดเชื้อจากพาหะนำโรคไข้ไทฟอยด์
ผู้ป่วยบางรายที่หายจากไข้ไทฟอยด์โดยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว จะยังคงมีเชื้ออยู่ในลำไส้หรือถุงน้ำดี ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้นับว่าเป็นพาหะนำโรค สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ทางอุจจาระ
#สาระจี๊ดจี๊ด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้ไทฟอยด์ เช่น ทำงานหรือเดินทางไปยังประเทศที่มีไข้ไทฟอยด์เป็นโรคประจำถิ่น เช่น ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ประเทศในแถบละตินอเมริกา หรือแอฟริกา และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ
อาการของไข้ไทฟอยด์เป็นอย่างไร?
อาการในระยะฟักตัวจะอยู่ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และอาการจะแสดงในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 จากการได้รับเชื้อ โดยมีอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่
- เริ่มจากมีไข้ต่ำและจะเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน อาจมีไข้สูงได้ถึง 40.5 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะ
- ไอแห้ง
- เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลด
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลีย
- เซื่องซึม
- มีเหงื่อออก
- มีผื่นขึ้นบริเวณหน้าท้อง หรือหน้าอก
- ปวดท้อง ท้องบวม
- ท้องเสีย หรือท้องผูก
#สาระจี๊ดจี๊ด
ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ หรือไตวายได้ ในขณะที่ผู้ป่วยบางราย แม้จะหายจากโรคแล้ว แต่ก็ยังสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นต่อไปได้
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรรีบพบแพทย์เสมอ เมื่อมีไข้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ โดยที่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ และอื่น ๆ
อันตรายของโรคไข้ไทฟอยด์เป็นอย่างไร?
ตามปกติแล้วผู้ป่วยโรคไข้ไทฟอยด์สามารถหายได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะจากแพทย์ แต่หากมีอาการรุนแรง หรือถึงมือแพทย์ช้า อาจเสี่ยงอาการแทรกซ้อนที่อันตรายได้ เช่น มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร หรือลำไส้ทะลุ ไข้สูงจนเป็นพิษ จนช็อกและอาจเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ยังมีโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย เช่น
- ปอดบวม
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ตับอ่อนอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- เกิดการติดเชื้อในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ
- เกิดปัญหาทางจิต เช่น อาการเพ้อคลั่ง อาการประสาทหลอน และโรคจิตหวาดระแวง
การป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์
- หากจำเป็นต้องไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ก่อนเดินทาง
- ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่ดูไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ดิบที่อาจสงสัยว่าล้างไม่สะอาด
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
- ผู้ป่วยควรรีบรักษาตัวเองให้หาย รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่ง และระมัดระวังไม่แพร่เชื้อด้วยการสัมผัส หรือเตรียมอาหารให้ผู้อื่น จนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากแพทย์ว่าหยุดแพร่เชื้อแล้ว
การรักษาโรคไข้ไทฟอยด์
หากพบแพทย์แล้ว ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักจะได้รับยาไปรับประทานที่บ้าน รายที่มีอาการหนัก เช่น ไข้สูงมาก อ่อนเพลียมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหนักมาก ฯลฯ ก็จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ชนิดฉีด คืออะไร?
เป็นวัคซีนที่ทำมาจากเชื้อไทฟอยด์ที่ตายแล้ว ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ทำให้เกิดโรคไข้ไทฟอยด์ในผู้ที่ได้รับวัคซีน เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป
#สาระจี๊ดจี๊ด
ไทฟอยด์ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์มี 2 ชนิด คือ
1. วัคซีนชนิดฉีด (Vi Capsular Polysaccharide Typhoid Vaccine : ViCPS)
ซึ่งใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว และสามารถฉีดกระตุ้นทุก ๆ 3 ปี หากมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ
2. วัคซีนชนิดกิน (Oral Typhoid Vaccine : Ty21a) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ แต่ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย อาการข้างเคียงของวัคซีนชนิดมีน้อย ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ บวมแดงบริเวณที่ฉีด และอาจมีปฏิกิริยาอื่น ๆ เช่น มึนศีรษะ คันตามตัว และปวดท้อง
เมื่อต้องไปในพื้นที่เสี่ยง นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ควรใส่ใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะน้ำดื่ม หากไม่แน่ใจว่าน้ำสะอาดหรือไม่ควรดื่มน้ำสุก และรับประทานอาหารที่สะอาด มีภาชนะปกปิด ไม่มีแมลงวันตอม ถ้าเดินทางไปในท้องถิ่นที่มีอาหารและน้ำดื่มไม่ถูกสุขลักษณะ ควรเตรียมอาหารและน้ำไปเอง โดยเฉพาะขณะที่มีโรคระบาด
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
พิสูจน์อักษรโดย วาลีพ
บรรณานุกรม (Referance) / แหล่งที่มา
https://www.pobpad.com/ไข้ไทฟอยด์
https://www.sanook.com/health/19757
https://www.phyathai.com/article_detail/3156/th/รู้จัก!_วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์_หรือ_ไข้รากสาดน้อย
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/บทความ-โรคติดต่อ-เชื้อไวรัส/วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์
http://www.msihospital.com/โรคไทฟอยด์-โรคติดต่อที่
http://nih.dmsc.moph.go.th/data/data/fact_sheet/9_59.pdf
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
2 บันทึก
10
8
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุขภาพ โรคภัย การแพทย์
2
10
8
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย