21 ธ.ค. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘พี่โจ้ ​​ธนา’
หัวเรือการตลาด SCB ชายผู้มีคติในการใช้ชีวิตว่า ‘อะไรที่ไม่แน่ใจก็ลองทำไปก่อน’ ผู้ที่เคยหลงทางและหลงผิด
อะไรผลักคน ‘กลางๆ’ ให้กลายเป็นดาวรุ่ง? เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คนอีโก้สูงกลายเป็นหัวหน้าที่ใครๆ ก็ให้ความเคารพ? เขาจะสู้ในสนามที่ไม่มีทางชนะได้ยังไง? ติดตามได้ที่นี่
#เกริ่น
‘พี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ’ เป็นอดีตผู้บริหาร dtac ผู้โด่งดังในหมู่นักการตลาดจากการทำแบรนด์ Happy ของ dtac ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารฝ่ายการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการบริหาร Purple Ventures บริษัทลูกของ SCB ที่ดูแล Robinhood แอป Food Delivery สัญชาติไทย
#ผิดแผน
พี่โจ้เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเติบโตแบบอยู่ในกรอบมาตลอด มัธยมต้นเรียนโรงเรียนประจำ มัธยมปลายสอบเข้าสายศิลป์ภาษาโรงเรียนเตรียมอุดมฯ มหาวิทยาลัยเข้าจุฬาฯ คณะเศรษฐศาสตร์ กระทั่งพบกับจุดหักเหเล็กน้อย คือสอบเข้าระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่ต้องการไม่ได้ จึงสมัครงานเป็นสจ๊วตเพราะไม่รู้จะทำอะไรดีหลังจากทำตามแผนไม่สำเร็จ
ตอนนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นการออกนอกกรอบครั้งแรกเพราะได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยคิดจะทำ และไม่ได้คิดว่าตัวเองเหมาะสมกับงานสักเท่าไหร่เนื่องจากภาษาอังกฤษก็ไม่ได้พูดเก่งมาก งานบริการก็ไม่ถนัดนัก พี่โจ้เล่าติดตลกว่าเผลอทำไวน์หกใส่ คาร์ล มาโลน นักบาสในลีก NBA ด้วย แต่ถึงกระนั้น พี่โจ้ก็มองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
#ทำสิ่งที่คนอื่นไม่อยากทำ
หลังจากเป็นสจ๊วตได้อยู่ 1 ปีครึ่ง พี่โจ้ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ Washington State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพี่โจ้มองว่าเป็นมหาวิทยาลัยกลางๆ เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยก็สมัครงานไปเป็นร้อยที่ แต่มีเพียง 2 ที่เท่านั้นที่เรียกสัมภาษณ์และรับเข้าทำงาน โดยสุดท้ายพี่โจ้เลือกทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง (Securities One)
บทเรียนที่พี่โจ้ได้จากการทำงานที่แรกคือ ความรู้ที่ตรากตรำร่ำเรียนเรียนมา ไม่ว่าทั้งในไทยหรือต่างประเทศ ก็เอามาใช้กับงานแทบไม่ได้เลย เมื่อย้อนกลับไปยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังบูม ทำให้พี่ๆ ในที่ทำงานต่างก็รีบป้อนความรู้และสอนงานให้ทำเป็นให้เร็วที่สุด โดยแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นทฤษฎี แค่ได้เจอหน้าลูกค้าเป็นครั้งที่สอง ก็โดนส่งไปคุยกับคนใหญ่คนโตระดับ CEO ด้วยตัวคนเดียวแล้ว
อีกหนึ่งบทเรียนคือการได้วิชาติดตัวที่มีคุณค่าจากการทำสิ่งที่คนอื่นไม่อยากทำ นั่นคือการทำ Financial Model เพราะเป็นงาน Excel ที่มีไว้สำหรับคนถึกทน ไม่เก๋เหมือนการได้ไปพูดคุยชนแก้วกับลูกค้า พอทำไปได้เป็นปีก็เริ่มผูกสูตรคล่อง และเห็นความเชื่อมโยงของการเงินทั้งระบบ ทำให้เข้าใจแก่นของมัน ต่างจากตอนเรียนที่เรียนแยกเรียนเป็นหัวข้อ นี่เป็นครั้งที่พี่โจ้รู้สึกว่าตัวเองมีสกิลที่แตกต่างจากคนอื่น
1
#ไม่ต้องเก่งมากแต่ต้องต่าง
พอเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนสายเดียวกันแต่จบจากมหาลัยชั้นนำระดับโลกอย่างเครือ Ivy League ก็รู้สึกว่าตัวเองสู้คนเหล่านี้ไม่ได้ และคงไม่ได้โตในสายงานการเงินเท่าไรนัก เมื่อมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์งานกับ dtac ในตำแหน่ง Investor Relation เขาจึงคว้าเอาไว้
นับว่าพี่โจ้เป็น Investor Relation คนแรกของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะตอนนั้นไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าตำแหน่งนี้มีไว้ทำอะไร รู้เพียงว่าทางฝ่ายการตลาดบอกว่าต้องมี เพื่อคอยพูดคุยตอบคำถามกับนักลงทุนต่างชาติ ผู้สัมภาษณ์ในตอนนั้นเองก็ไม่มั่นใจ
และคงนึกภาพแค่ว่าเป็นการเข้าสังคมสร้างเครือข่ายธรรมดา จึงถามคำถามทำนอง “กินเหล้าได้ไหม?” ออกมา แต่ความจริงแล้วเนื้องานโหดมาก เพราะนักลงทุนเหล่านี้ปกติจะประจำอยู่ต่างประเทศ บางคนบินตรงจากวอชิงตัน ดี.ซี. มากรุงเทพฯ เพื่อมาพูดคุยกับ CEO หรือ CFO ของ dtac แต่กลับมาเจอพี่โจ้ ซึ่งตอนนั้นยังถือว่าอายุน้อย ตำแหน่งงานก็ไม่ได้สูงอะไร พวกเขาจึงมักแสดงอาการโมโห และถามคำถามเชิงลึกที่รู้ว่าพี่โจ้คงตอบไม่ได้
สำหรับพี่โจ้ ช่วงหลายเดือนนี้ถือเป็นช่วงที่ทรมานมากจนไม่อยากตื่นไปทำงาน แต่เพราะเงินเดือนค่อนข้างดี พี่โจ้จึงพยายามดิ้นรนหาวิธีตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ วิธีแรกคือการนำความรู้ Financial Model ที่มีมาใช้ ทว่าก็ช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากเจอคำถามที่ลึกมากๆ พี่โจ้ก็จำต้องถามจากผู้บริหารอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นผู้ที่ถือข้อมูลเยอะที่สุดในบริษัทเพราะไม่มีใครต้องคอยตอบคำถามนักลงทุนแบบนี้มาก่อน
จนระยะหลังผู้บริหารเริ่มเบื่อจะตอบคำถามแยก จึงให้พี่โจ้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหาร ซึ่งในบรรดาคนรุ่นราวคราวเดียวกัน มีเพียงพี่โจ้ที่ได้รับโอกาสนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะคล้ายกับงานที่แล้ว นั่นคือโอกาสมาจากการทำงานที่คนอื่นไม่เคยและไม่อยากทำ (เพราะคงไม่มีใครอยากโดนด่าโดนว่า) และพี่โจ้เองเมื่อได้เข้าร่วมประชุมก็ไม่ได้เป็นฝ่ายรับข้อมูลอย่างเดียว แต่ยังเป็นฝ่ายให้ข้อมูลด้วย โดยผู้อาวุโสในห้องประชุมก็รับฟังและให้ความใส่ใจ เพราะพี่โจ้เป็นคนเดียวในบริษัทที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นของนักลงทุน สุดท้ายเมื่อนึกถึง ‘ดาวรุ่ง’ คนใหญ่คนโตในบริษัทก็มักจะนึกถึงพี่โจ้เป็นอันดับแรกๆ
#อดีตเคยแรง
พี่โจ้เล่าว่าคนยุคนั้นก็ฝันคล้ายกันหมด คือการได้นั่งเก้าอี้ประธานบริหาร เลยทำให้อยากเลื่อนตำแหน่งเร็วๆ แต่การจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องมีความเห็นแก่ตัว มีอีโก้สูง และด้วยความที่พี่โจ้ประสบความสำเร็จเร็ว รู้ตัวว่าคำพูดตัวเองมีน้ำหนัก เมื่อไม่ชอบใจใครก็เลยกล้าโจมตีออกไปอย่างไม่อ้อมค้อม
1
จนถึงช่วงที่ได้เลื่อนขั้นเป็น Vice President (VP) นิสัยนี้ก็ยังคงอยู่ ตอนนั้นพี่โจ้มองว่าหัวหน้าตัวเองไม่เก่ง ถึงขั้นเอาเรื่องนี้ไปพูดกับคนตำแหน่งใหญ่โตที่มีอำนาจมากพอจะเปลี่ยนคน แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง พี่โจ้จึงตัดสินใจลาออกไปอยู่กับ Hutch ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งของ dtac ในขณะนั้น แต่พอออกไปก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดเพราะแนวความคิดไม่ตรงกัน จึงทำงานร่วมกันได้ไม่ค่อยดี โชคดีที่ทำได้ไม่นาน dtac ก็เรียกตัวกลับ
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พี่โจ้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง อย่างแรกคือ เขาเคยคิดว่าตัวเองเก่งจนทุกคนต้องง้อ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ บริษัทใหม่ไม่ได้ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น ส่วนบริษัทเก่าในช่วงที่ลาออกไปก็มีคนมาทำหน้าที่แทนได้ปกติ อย่างที่สองคือความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานก็สำคัญไม่แพ้ความสามารถ หลังจากกลับมา คนที่พี่โจ้เคยดีด้วย เขาก็ยังดีตอบ ส่วนคนที่พี่โจ้เคยโจมตี เขาก็โจมตีกลับเหมือนกัน
1
การกลับมา dtac ครั้งที่สองทำให้พี่โจ้เปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาเลือกจะวางอีโก้ลง และหันมาใส่ใจคนมากขึ้น ทำงานร่วมกับคนในทีมได้ราบรื่นขึ้น จนทำให้แผนการตลาดแบรนด์ Happy ที่ดูแลออกมาได้ดี
เขาพูดว่า “เมื่อให้ความสำคัญกับคน ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีกัน
บรรยากาศการทำงานก็สนุก พลังงานเหล่านี้ก็จะส่งไปถึงตัวแบรนด์”
#ผู้นำที่ดีคือคนที่ทำเพื่อส่วนรวม
การเป็นผู้นำที่ผู้ตามเชื่อใจจนยอมทำตามโดยไม่สงสัยในการตัดสินใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ Sigve Brekke (อดีต CEO ของ dtac) ทำได้ พี่โจ้บอกว่าคุณสมบัติหนึ่งที่ Sigve มีคือความเห็นแก่ส่วนรวม และมีความหวังดีให้กับลูกน้องจากใจจริง ทุกครั้งที่เขาให้คำแนะนำ จะรู้สึกได้เลยว่าเป็นการเตือนเพราะหวังให้พัฒนาขึ้น ไม่ใช่เพื่อโจมตี หลายครั้งที่ Sigve ย้ายงานให้พี่โจ้ไปเจองานยากๆ แต่พี่โจ้ก็ไม่เคยคิดลบกับการตัดสินใจนั้นเลยแม้แต่น้อย เพราะรู้ว่าอีกฝ่ายอยากให้พี่โจ้เติบโตมาเป็น Future Leader ที่ดี
“เขาอยากให้เรายืนอยู่บนชะง่อนผาเสมอ เพราะการได้ยืนบนนั้น จะตกแหล่ไม่ตกแหล่ก็ไม่รู้ มันทำให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด” พี่โจ้กล่าวถึง Sigve
#The_Impossible_Race
เมื่อ dtac เริ่มอยู่ตัว พนักงานหลายคนเริ่มไม่อยากท้าทายอะไรใหม่ๆ เพราะที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว แต่ทั้งพี่โจ้และคุณซิกเว่ CEO ในขณะนั้น ต่างก็อยากทำอะไรเพื่อผลักดันทั้งตัวเองและองค์กรให้กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง พี่โจ้จึงเสนอให้วิ่ง 10 กิโลเมตรในที่ประชุม เพราะตอนนั้นเขาเองก็อยากลดน้ำหนักด้วย โดยทั้งห้องมีเพียงคุณซิกเว่คนเดียวที่ซื้อไอเดีย แต่สุดท้ายก็บังคับทุกคนเพราะมองว่าถ้าแค่วิ่งยังทำไม่ได้แล้วจะปรับปรุงองค์กรได้ยังไง
การวิ่งครั้งนี้มีเป้าหมายว่า 80% ของผู้บริหารต้องถึงเส้นชัยภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง ให้เวลาฝึกซ้อม 4 เดือน แน่นอนว่าช่วงแรกๆ ย่อมมีคนบ่นกับกิจกรรมนี้ แต่เมื่อเห็นว่ามีคนทำ ก็ชวนกันมาทำตามมากขึ้น เพราะเป็น Common Goal หรือเป้าหมายร่วมขององค์กรนั่นเอง
ผ่านไป 4 เดือนถึงวันวิ่งจริง สุดท้ายก็ทำตามเป้า 80% ได้พอดี ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้นอกจากจะสร้างพลังให้แก่องค์กร ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังทำให้พี่โจ้เรียนรู้ว่าถ้าหากเรามีวินัยมากพอ เราก็จะสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ เกิดเป็น Mindset ว่าถ้าเราวิ่ง 10 กิโลฯ ได้ อย่างอื่นเราก็ทำได้
#Robinhood #บริหารด้วยเท้า
ที่มาที่ไปของ Robinhood มาจาก คุณอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB มีแนวคิดอยากทำ Food Delivery แบบไม่เก็บค่าธรรมเนียม (Gross Profit) เพื่อให้ร้านอาหารได้เงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พี่โจ้คิดว่าทำให้ประสบความสำเร็จยากเพราะมีหลายเจ้าที่ครองตลาดอยู่แล้ว เงินทุนของเขาก็เยอะกว่ามาก ทำแบบนี้เหมือนเอาคนไทยที่บ้านเมืองไม่มีหิมะไปแข่ง Winter Olympics แต่เนื่องจากทางคุณอาทิตย์มุ่งมั่นมาก บวกกับนิสัย ‘ไม่แน่ใจก็ทำไปก่อน’ เลยทำให้พี่โจ้ตัดสินใจลุยต่อ
พี่โจ้บอกว่า แอป Robinhood เป็นชิ้นงานที่น่าสนใจที่สุดชิ้นหนึ่งที่เคยทำมาด้วยเหตุผล 2 ข้อ
1. ไม่มี Revenue Target เพราะ CEO มองว่าเป็นโปรเจกต์เพื่อสังคม
2. เป็นโปรเจกต์ที่ฝึกให้หา ‘Why’ ว่าทำไมเราถึงสร้างมันขึ้นมา เพื่อใช้อธิบายกับร้านอาหารว่าทำไมต้องเป็นพาร์ทเนอร์กับ Robinhood
ตอนแรกพี่โจ้เดินหน้าแบบไม่มี Why คิดแค่ว่าอยากได้ยอดสูงๆ เหมือนแอปอื่น ก็เลยเลือกที่จะไปคุยกับร้านใหญ่ๆ แล้วก็โดนปฏิเสธกลับมาเพราะโปรโมชั่นสู้แอปอื่นไม่ได้ โดยที่ลืมไปว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณอาทิตย์ต้องการ คุณอาทิตย์ไม่เคยบอกว่าต้องการให้ทำยอด เป็นตัวพี่โจ้เองที่เผลอใส่กรอบว่าตัวเองต้องเป็น Grab ต้องเป็น Lineman เพราะต้องการเอาชนะคู่แข่ง แต่ลืมหาว่าลูกค้าคือใคร พี่โจ้บอกว่านี่คือข้อดีของการลงเดินโปรเจกต์ด้วยตัวเอง ถ้าไม่ลงเดินก็คงไม่ได้มาเห็นปัญหา
1
กลับกันลูกทีมที่ไปคุยตามร้านเล็กๆ กลับบอกว่าร้านพวกนี้สนใจมาก เพราะเดือดร้อนกับการที่แอปอื่นเก็บค่าธรรมเนียม พี่โจ้จึงเริ่มมองเห็นแสงสว่างและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “หรือแอปนี้จะเกิดมาเพื่อคนกลุ่มนี้?” ทำให้ได้ Why? ออกมาว่าเป็นแอปเพื่อช่วยคนตัวเล็ก พอตอบคำถามได้ว่าทำไปทำไม ก็ทำให้รู้ว่าควรเดินต่อทางไหน เรียกว่า Why นี้ถือเป็นเข็มทิศของโปรเจกต์เลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน Robinhood ให้บริการแล้ว โดยมีพาร์ทเนอร์ SKOOTAR เป็นผู้ดูแลการจัดส่งสินค้า โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ จัดเป็น CSR ของกลุ่ม SCB ที่จะทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถสร้างยอดขาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงจะทำให้ร้านค้ามีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
1
“ชีวิตราบรื่นมาตลอด พอสะดุดทีนึงก็เลยคิดว่าเป็นความซวย แต่พอสะดุดบ่อยๆ จะรู้เลยว่านี่มันคือของดี เพราะมันจะพาเราอ้อมไปเจอสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเจอ” - ธนา เธียรอัจฉริยะ
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
…………………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา