23 ธ.ค. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
วันนี้ Career Fact จะมาพูดคุยกับ ‘ฟาอีส’ จิรวีร์ ตานีพันธ์ นักศึกษา BBA ธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร moresheet.co แพลตฟอร์มซื้อ-ขายชีทสรุปที่มาคู่กับสโลแกน “เพื่อนยามยากในทุกการสอบ”
ความยากลำบากของ Startup คืออะไร? ทำไมถึงรีบทำธุรกิจทั้งๆ ที่ยังเรียนอยู่? อนาคตของ more sheet จะไปทางไหน? ค้นหาคำตอบได้ที่นี่
#moresheetคืออะไร
more sheet คือเว็บไซต์ซื้อ-ขายชีทสรุปออนไลน์สำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ พูดง่ายๆ คือตัวเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางหรือ Marketplace ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายชีทนั่นเอง โดยปัจจุบันผ่านไปปีกว่ามีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมกว่า 26 แห่ง มีชีทในระบบกว่า 6,500 ชีท และมีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นกว่า 46,000 ครั้ง
#จุดเริ่มต้น
ตอนปี 1 - ปี 2 ฟาอีสชอบแข่งเคสธุรกิจมาก มีรายการไหนก็ไปลงแข่งหมด จนได้เจอกับรุ่นน้องในคณะคนหนึ่งแล้วชวนคุยเรื่องการทำเคส แต่เธอกลับบอกว่าชอบสตาร์ทอัพมากกว่า ฟาอีสจึงสงสัยว่าการทำสตาร์ทอัพต่างกับการทำงาน Corporate หรือในบริษัทอย่างไร และด้วยความที่การแข่งเคสในช่วงนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เขาจึงเลือกเบนเส้นทางจากสายแข่งเคสมาสตาร์ทอัพแทน
#หาความรู้ในการตั้งบริษัท
ความรู้ก็ได้มาจากหลายช่องทาง แต่ 2 ช่องทางที่รู้สึกว่าสำคัญเป็นพิเศษคือ
1. เพลย์ลิสต์ Startup 101 ใน YouTube ของ Startup Thailand League เป็นพื้นฐานที่คนทำ Startup ควรรู้
2. Workshop Session จาก CEO และนักลงทุน ทำให้ได้ Insight ที่หาที่ไหนไม่ได้
หลังจากศึกษาเยอะมากจนพอเข้าใจหลักการพื้นฐานแล้ว ด่านต่อมาก็คือ ‘ไอเดีย’ เขาจึงโทรชวนเพื่อนมาช่วยกันคิดหาไอเดียไปแข่งรายการ Startup Thailand League จนมีไอเดียหนึ่งผุดขึ้นมาว่า ช่วงสอบเนี่ย ชีทที่จดเองมันล้ำค่ามาก แต่พอสอบเสร็จปุ๊บก็แทบจะโยนมันทิ้ง ทว่าพอนึกดูดีๆ แล้วจะเห็นว่ายังมีคนที่ต้องการชีทแผ่นนั้น อาจจะเป็นรุ่นน้อง หรือเพื่อนที่จะลงวิชาเดียวกันในเทอมหน้า จึงคิดได้ว่ามูลค่ามันหมดแค่กับคนที่ทำ ไม่ใช่กับคนที่ต้องการ เมื่อเห็นโอกาสตรงนี้ก็เริ่มอยากหาแพลตฟอร์มมารองรับเพื่อทำให้ชีทสรุปกลายเป็นสินค้าทำเงิน ซึ่งสุดท้ายก็ลงตัวที่เว็บไซต์ เขาตัดสินใจลงมือทำตามไอเดียนี้ทันที โดย ณ ตอนนั้นตั้งชื่อทีมว่า sheetplus
1
#จากคู่แข่งสู่เพื่อนร่วมทีม
เขาเพิ่งมารู้ก่อนแข่งไม่นานว่ามีคนเริ่มแนวคิดนี้มาก่อนแล้ว แถมยังต้องเจอกันบนเวทีเดียวกัน รอบเดียวกัน ห้องเดียวกันที่สงขลาอีกต่างหาก ซึ่งคู่แข่งในตอนนั้นคือ “มินนี่ เมริสา สิงหเดโช” ผู้ก่อตั้งเริ่มกิจการ TU more sheet ขายชีทสรุป ผ่าน Facebook Page เพราะเคยฝากตามร้านถ่ายเอกสารแล้วโดนโกง
ขณะที่ทีมของฟาอีสกำลังนำเสนอไอเดียอยู่ ทางกรรมการก็ถามเขาว่า “คู่แข่งคุณก็อยู่ในห้องนี้ แล้วเขาก็เห็นไอเดียคุณหมดแล้ว คุณจะทำยังไงต่อ” ทางฟาอีสก็ตอบไปว่า หากมีเป้าหมายอยากขยายธุรกิจไประดับประเทศเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมองเป็นคู่แข่ง แต่มารวมกันเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดดีกว่า เพราะฝั่ง TU more sheet ก็มีข้อจำกัดด้านขั้นตอนการสั่งซื้อที่มีหลายขั้นตอนและใช้เวลานานกว่าเพราะใช้วิธีคุยกันผ่าน Messenger แต่ในขณะเดียวกันเจ้าของเพจเองก็มีประสบการณ์ด้านการขายที่ Sheetplus ไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรวมตัวกันของอดีตคู่แข่ง กลายเป็น more sheet ในปัจจุบัน
#ทำไมตัดสินใจทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
ฟาอีสให้เหตุผลหลักกับเราอยู่ 3 ข้อ
1. ค่าเสียโอกาสหรือความเสี่ยงในการทำธุรกิจตอนเรียนอยู่นั้นต่ำกว่าหลังเรียนจบ เพราะว่ากันตามตรงคือตอนเรียนยังไม่ต้องหาเงินเอง ทำให้หากลองทำธุรกิจแล้วพลาดก็ยังไม่เสียหายอะไร
2. ได้เรียนรู้ก่อนทำธุรกิจจริง เพราะมีหลายเวทีช่วยบ่มเพาะให้กับเฉพาะเด็กมหาวิทยาลัย ทั้งในแง่เงินทุนและ Mentor ที่คอยให้คำแนะนำและ Resource อื่นๆ
 
3. หลายคนมองว่าถ้าเราให้น้ำหนักกับการทำอย่างอื่นมากไปอาจแบ่งเวลาให้กับการเรียนได้ไม่ดี แต่เขามองกลับกัน เขาคิดว่าในช่วงมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่มีเวลาว่างเยอะที่สุดแล้ว ในขณะที่พอเรียนจบก็จะเริ่มกดดันกับการทำงานจนคิดไอเดียดีๆ ได้ยาก
#สิ่งที่ยากที่สุดในการทำStartup
ฟาอีสบอกว่าการทำ Startup นั้น แน่นอนว่ามีสิ่งที่ยากอยู่หลายจุด แต่หากจะให้เลือกสิ่งที่ยากที่สุดก็คงเป็นการพิสูจน์ไอเดียว่าจะออกมาเวิร์คไหม เพราะบางครั้งในฐานะคนคิดไอเดียขึ้นมา ก็ย่อมรู้สึกว่าไอเดียตั้งต้นนั้นดีแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวโปรดักต์ไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของลูกค้า รองจากนั้นคือการหาทีมที่ดี เพราะนอกจากจะต้องหาคนเก่งมาจากหลายแขนงแล้ว ยังต้องลุ้นให้ทุกคนเข้ากันได้ดีอีก
#ความสำคัญของทีม
จุดแข็งอีกจุดหนึ่งของ more sheet ก็คือ การที่คนในทีมมี Character และความถนัดที่แตกต่างกัน แต่มีประสิทธิภาพสูงและความตั้งใจที่สูงมากในทุกคน ไม่ว่าจะเป็น มินนี่ ข้าว เทพ พูม เพา หรือ เฟิร์น กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ more sheet เดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าไม่มีคนร่วมเดินทางเหล่านี้ more sheet ไม่มีทางที่จะโตมาขนาดนี้ได้เลย
#บริหารคนจำนวนมากยังไง
หลังจากขยายสาขาไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จากเริ่มแรกมีอยู่ด้วยกัน 5 คนในทีม ตอนนี้ก็กลายเป็น 50 คน ซึ่งถือว่าไม่น้อยสำหรับสตาร์ทอัพเล็กๆ แบบนี้ แต่สำหรับฟาอีสการบริหารคนจำนวนนี้ (หรือมากกว่านี้ในอนาคต) เป็นเรื่องง่ายนิดเดียว เพราะหลังจากลงไปช่วยทีมของมหาวิทยาลัยอื่น 4-5 ครั้งแล้วก็จะเห็นแพทเทิร์นในการทำธุรกิจที่มีความตายตัว จึงนำแพทเทิร์นนั้นมาทำเป็นไกด์ไลน์ให้มหาวิทยาลัยอื่นที่ตามเข้ามาทีหลัง หลังจากนี้เขาก็ทำเพียงอธิบายไกด์ไลน์ให้ฟัง 1 ชั่วโมงไล่ไปตามไทม์ไลน์แต่ละเดือนว่าต้องทำอะไรบ้าง แล้วปล่อยให้ทีมของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ดูแลตัวเอง
ในเรื่องของการดูแลบุคลากรในมหาวิทยาลัยต่างๆ ฟาอีสยกเครดิตให้กับ “เทพ อดิเทพ ปัสรีจา” เพราะเป็นผู้ดูแลการประสานงานได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนวิธีเลือกคนก็มีเพียงหลักการเดียว นั่นคือ ‘Commitment’ ขอแค่พร้อมลุยด้วยกันอย่างน้อย 1 ปี ก็สามารถเซ็นสัญญาได้เลย
#ตอนนี้moresheetอยู่Stageไหน
ในแง่ของตัวโปรดักต์ more sheet อยู่ในระยะที่ทำกำไรขึ้นในระดับหนึ่งและอยู่รอดด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ในแง่ระยะการระดมทุนในฐานะสตาร์ทอัพ more sheet ยังไม่ได้เปิดรับนักลงทุนเพราะอยากมีอำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างเต็มที่
#อนาคตของmoresheet
เป้าหมายของ more sheet คือ เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ย่อยแล้วของคนทั่วประเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะรูปแบบชีท การติว วิดีโอ เสียง โดยตอนนี้มีแพลนจะขยาย Segment เดิมซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยให้ครอบคลุมทุกแห่งทั่วประเทศ และเจาะตลาดเพิ่มอีกกลุ่มคือระดับมัธยม
#แรงผลักดัน
ฟาอีสมีเป้าหมายสูงสุดที่เป็นมากกว่าการหวังให้ธุรกิจเติบโตจนสามารถเลี้ยงตัวเองและคนในทีมได้ นั่นคือให้ธุรกิจช่วยสร้างกำลังทรัพย์และชื่อเสียงมากพอจะสร้างอิมแพคให้สังคมได้ง่าย รวดเร็ว และยิ่งใหญ่ เพื่อพาสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น more sheet ในตอนนี้ก็ทำสิ่งที่คล้ายๆ กันอยู่ คือการช่วยเหลือให้ผู้ทำชีทสรุปได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่เม็ดเงินและการจดจำ
1
ในอนาคต เมื่อถึงจุดที่ more sheet เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากพอ เขาหวังว่าจะช่วยลดข้อจำกัดด้านระยะทางและเงินลงไปได้ และทำให้ความรู้ที่ย่อยแล้วเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
#โอกาสอยู่รอบตัวเรา
“บทเรียนที่ได้จาก more sheet อาจจะฟังดูคลิเช่หน่อย แต่โอกาสมันอยู่รอบตัวเรา อยู่ที่ว่าเราจะเดินไปหามันหรือเปล่า”
อย่าง more sheet เองที่เกิดขึ้นได้ มองเผินๆ ก็เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่เจอคู่แข่งในห้องเดียวกันตอนไป Startup Thailand League พอดี แต่ถ้าเขาไม่ ‘เดินไปหา’ โอกาส ถ้าเขาไม่สมัครลงแข่ง ไม่ลองรวมทีม ไม่ถ่อไป Pitch ถึงสงขลา ไม่เอ่ยปากชวน TU more sheet ให้มาทำด้วยกัน ก็คงไม่มี moresheet.co อย่างทุกวันนี้
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เขาเคยลงแข่งรายการที่ยังไงก็ไม่มีทางชนะเพราะเป็นสตาร์ทอัพสาย Tech เข้มข้น แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่รายการนี้จัดโดยบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งในตอนนั้น moresheet เองมีปัญหาขั้นตอนการจ่ายเงินที่ยุ่งยาก เขาจึงเดินเข้าไปหา Director พร้อมบอกเล่าปัญหาดังกล่าว สิ่งที่ Director คนนั้นทำคือการต่อสายโทรศัพท์หา Marketing Director ให้เข้ามาช่วยดูแลทีม moresheet โดยตรง การกล้าเดินเข้าไปถามในตอนนั้นทำให้ more sheet ได้ระบบพร้อมเพย์มาไว้ในเว็บฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
“เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเดินเข้าไปสมัคร เข้าไปคุย ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไงเนี่ย คุณได้ลองคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้หรือยัง” ฟาอีสกล่าวทิ้งท้าย
1
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
โฆษณา