18 ธ.ค. 2020 เวลา 19:10 • สิ่งแวดล้อม
ชวนก๊วน (พยาบาลลุ่มน้ำ) ไปแอ่วกว๊าน กับพี่อเล็กซ์ เรนเดล เรียนรู้การจัดการน้ำแบบฉบับบ้านตุ่น
เราเชื่อว่าหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการได้ออกมาสัมผัส และมาเรียนรู้ถึงปัญหาด้วยตนเอง ครั้งนี้เรามีโอกาสได้ไปเรียนรู้จากหมู่บ้านโมเดลต้นแบบของการจัดการน้ำ ว่าแต่ในที่นี้มีใครเคยไปแอ่วกว๊านพะเยากันบ้าง เป็นสถานที่ที่สวยจนบรรยายไม่ถูกเลยใช่มั้ยล่ะ กว๊านเป็นบริเวณสาธารณะที่เราเห็นว่าคนแถวนั้นชอบมาวิ่งออกกำลังกาย นั่งเม้ามอย บางคนตกปลา บ้างก็เอาเรือคายักมาพายเล่น มีไปจนถึงแพดเดิลบอร์ดเลย
ถึงแม้ว่าปัจจุบันกว๊านพะเยาจะเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ และมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามให้คนกรุงอย่างเราอิจฉา แต่เชื่อหรือไม่ว่าครั้งหนึ่งกว๊านพะเยาเคยเต็มไปด้วยผักตบชวา น้ำส่งกลิ่นเหม็นสภาพต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิงเลย แล้วทำไมปัจจุบันกว๊านจึงกลับมาน้ำใสจนเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และสามารถทำประมงได้กัน ?
เราเลยอยากพาทุกคนย้อนกลับไปดูตั้งแต่การจัดการต้นน้ำกันเลยที่กว่าและครั้งนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทางกลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พาก๊วนไปแอ่วกันถึงกว๊านพะเยาเพื่อให้คนปลายน้ำได้เรียนรู้และรู้จัก ‘บ้านตุ่น’ หมู่บ้านต้นแบบในการจัดการน้ำ ซึ่งแสดงเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำเร็จในการปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้ชาวบ้านสามารถมีน้ำบริโภคตลอดทั้งปี
ปริมาณน้ำที่เพียงพออย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัยดีตามไปด้วย และสามารถลดความขัดแย้ง รวมถึงผลกระทบอื่นๆ ได้ และที่สำคัญ ‘น้ำ’ ถือเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงทางอาหารในอนาคตนี้ด้วย การจัดการน้ำต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน และที่ขาดไม่ได้คือต้องมีการตัดสินใจร่วมกันทั้งคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำเหล่านี้
โดยโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าในการดำเนินงานในระยะแรกไว้ 5 ปี ซึ่งจะพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่ชุมชนให้ชุมชนสามารถมีน้ำใช้ได้มากขึ้นกว่า 12 ลูกบาศเซนติเมตร โดยเริ่มพัฒนาใน 7 จังหวัดลุ่มน้ำ ได้แก่ แพร่ สุโขทัย พิจิตร สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และอุบลราชธานี
ว่าแต่การจัดการน้ำ และความร่วมมือฉบับบ้านตุ่นจะเป็นอย่างไร? อะไรที่ทำให้การจัดการน้ำในบ้านตุ่นมีความน่าสนใจต้องตามมาดูกัน บอกเลยรู้แล้วจะหลงรัก !
ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน
ก่อนจะแอ่วกว๊าน มารู้จักกว๊านกันก่อนดีกว่า
กว๊านพะเยาเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของทางภาคเหนือและใหญ่เป็นลำดับ 3 ของประเทศ ซึ่งแต่ก่อนกว๊านที่มีขนาดใหญ่เท่าในปัจจุบันนี้เคยเป็นที่ลุ่มต่ำ พอฝนตกลงมาน้ำก็ขังอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งคนล้านนาเรียกว่า “บวก” แต่เมื่อปี 2484 มีการสร้างประตูน้ำจนทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้แอ่งน้ำน้อยใหญ่เหล่านั้นจมอยู่ใต้พื้นน้ำ ก่อเกิดเป็นกว๊านพะเยาที่มีเนื้อที่เฉลี่ย 10,915 ไร่ ตามที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ต้นกำเนิดของน้ำกว๊านพะเยามีที่มาจากดอยหลวง ซึ่งน้ำจากกว๊านพะเยานี้ก็จะไหลลงสู่แม่น้ำอิง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลขึ้นทางทิศเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำโขง
ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน
รู้จักกว๊านกันแล้ว มาแอ่ว(กับ)พี่อเล็กซ์กัน
ในฐานะที่พี่อเล็กซ์ เป็น TCP Spirit Brand Ambassador และสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว งานนี้พี่อเล็กซ์ได้เดินทางมาลงพื้นที่จริง มาเห็นเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายทางของน้ำ พี่อเล็กซ์ บอกว่า “น้ำคือชีวิตของคนจริงๆ ประเทศไทยมีน้ำเยอะ แต่เราลืมไปว่าการจัดการน้ำเพียงเล็กๆ น้อยๆ สามารถส่งผลให้อนาคตของเรา อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญตรงนี้ และบ้านตุ่นโมเดลก็เป็นแหล่งศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมกันเพื่อหาทางออก”
พะเยาเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่น่ารักมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงที่โควิดระบาดหนักภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การอนุรักษ์ไม่ได้หมายถึงการกีดกันคนออกจากธรรมชาติ แต่หมายถึงการที่จะทำให้คน และมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ โดยการแก้ปัญหาที่ว่าเราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้สมดุลและยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างการรักธรรมชาติให้แก่สังคมได้
ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน
ออกเดินทาง !
วันนี้เราขอพาเพื่อนเดินมาตามน้ำกันที่บ้านตุ่นโมเดลกับพี่อเล็กซ์ เรนเดลล์ มาดูกันว่าสิ่งสำคัญอะไรที่ทำให้บ้านตุ่นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีน้ำใช้กันอย่างสันติสุข
ในอดีตบ้านตุ่นมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านทำการเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นหลัก เมื่อไม่มีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ก็เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำไว้ใช้สำรอง
ปัญหาหลักทางภูมิศาสตร์คือพื้นที่บ้านตุ่นเป็นพื้นที่ลาดเอียงตั้งแต่ภูเขาจนถึงกว๊านพะเยา การไหลของน้ำจะไหลเร็วและไหลพาตะกอนลงมาด้วย เมื่อก่อนชุมชนขาดการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำทำให้ตะกอนทับถมสะสมในลำห้วย และไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ตลอดทั้งเส้นน้ำเลย ชาวบ้านจึงได้ครุ่นคิดตกลงหาทางออกร่วมกัน โดยได้ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์มาให้ความรู้ เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุดที่สุดก่อน
ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน
เริ่มต้นการจัดการน้ำ !
ชาวบ้านตุ่นแบ่งการกระจายน้ำออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำและกลางน้ำจะจ่ายน้ำ 3 วัน และปิดเพื่อสะสมน้ำอีก 10 วัน ในขณะที่ปลายน้ำจะจ่ายน้ำ 4 วัน
และที่สำคัญนอกจากจะมีระบบการกระจายน้ำที่ให้ชุมชนได้ใช้กันอย่างทั่วถึงแล้ว การกักเก็บน้ำก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งที่บ้านตุ่นนี้ก็มีอ่างเก็บน้ำที่สามารถรองรับน้ำได้มากกว่า 37,000 ลิตร สามารถหล่อเลี้ยงชาวบ้านได้ 15,000 ครัวเรือน และยังมีถังสำรองอีก 9 ถังที่สามารถจ่ายน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงได้อีก 200 ครัวเรือน
ส่วนในเรื่องของปัญหาตะกอนที่เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับฝนชาวบ้านได้มีการสร้างฝายดักตะกอนก่อนที่น้ำจะไหลลงอ่างเก็บน้ำบ้านตุ่น และมีการขุดลอกคลองและดักตะกอนก่อนถึงฤดูน้ำหลาก เพื่อลดความเสียหายในแต่ละพื้นที่
ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน
ไฮไลท์ !
อยากให้ทุกคนได้รู้จักอีกหนึ่ง Highlight ที่น่าสนใจของบ้านตุ่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ ‘แตปากฉลาม’ สิ่งประดิษฐ์ของพ่อสม คณะกรรมการจัดการน้ำของหมู่บ้าน จุดประสงค์ของแตปากฉลาม คือ การทำให้น้ำมีแรงดัน ส่งผลให้น้ำส่วนหนึ่งไหลไปยังที่สูงกว่าได้ ขณะที่บางส่วนไหลลงที่ต่ำเหมือนเดิม หรือพูดง่ายๆ คือช่วยทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ เป็นการช่วยลดความขัดแย้งของชาวบ้านที่ก่อนนี้ต้องแย่งน้ำกันใช้
ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน
ปลายน้ำแล้ว !
เอาละเราเดินทางมาจนปลายน้ำแล้ว เมื่อการจัดการน้ำดี ชุมชนที่อยู่ปลายน้ำ หรือตรงกว๊านก็จะมีน้ำใช้เพียงพอ สามารถหาเลี้ยงชีพได้ คุณสมศักดิ์ เทพตุ่น ประธานชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดพะเยา เล่าว่า “ในอดีตกว๊านเคยน้ำเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ตื้นเขินเพราะมีผักตบชวาเต็มไปหมด ที่กว๊านเป็นที่น้ำนิ่ง น้ำจะไหลก็ต่อเมื่อเปิดประตูน้ำ ในฤดูแล้งรากของผักตบจะเกาะเก็บดิน และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะอุ้มเอาดินขึ้นมา พอรากถูกลมพัดไปมาตามกระแส ของเสียที่เกาะอยู่กับรากก็จะตกลงมาสู่กว๊าน ประกอบกับที่ลำห้วยสาขาต่างๆ ไม่มีการดักตะกอน กว๊านก็เลยตื้นเขินและส่งกลิ่นเหม็น แต่เมื่อมีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ วิถีชีวิตของคนก็ดีขึ้นไปด้วย”
คุณสมศักดิ์ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า “ชุมชนหาปลาแบบวิถีดั้งเดิมสืบทอดกันมาตั้งแต่ยังไม่มีกว๊านเสียอีก สำหรับการดูแลของคนปลายน้ำนั้นพี่น้องชาวประมงได้รวมตัวกันทำเรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์ปลาใน 17 ชุมชน โดยให้แต่ละชุมชนอนุรักษ์ในพื้นที่ของชุมชนตนเองตามศักยภาพ ซึ่งชาวประมงแต่ละชุมชนทำข้อตกลงกันว่าจะไม่จับปลาอย่างเดียว แต่จะต้องเพาะพันธุ์และปล่อยลงสู่กว๊านด้วย จนตอนนี้ปลาที่เคยหายไปจากกว๊านก็กลับมา ชาวประมงที่นี่ตั้งกฎห้ามใช้อวนถี่ในการจับปลาเพื่อป้องกันไม่ให้จับโดนลูกปลา และอีกประการที่ชาวประมงตกลงร่วมกันคือ จะไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำเพื่อทัศนียภาพที่สวยงามของกว๊าน”
จะเห็นได้ว่าการจัดน้ำอย่างเป็นระบบสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้ ซึ่งบ้านตุ่นก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของหมู่บ้านที่สามารถจัดการน้ำได้อย่างสำเร็จ ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวบ้าน และความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา