21 ธ.ค. 2020 เวลา 02:09 • ศิลปะ & ออกแบบ
ใกล้ฤดูกาลสอบเอ็นทรานซ์เข้ามาแล้ว หลายคนยังไม่แน่ใจว่า ควรเรียนอะไร ? เหมาะกับคณะที่เลือกแน่ไหม ?
เท่าที่จำได้เมื่อนานมาแล้ว คนมักพูดกันว่า ถ้าชอบวาดรูป น่าจะไปเรียนสถาปัตย์นะ อืม.. แล้วมันจริงไหมนะ ? 
วันนี้จะมาเล่าให้ฟังครับ
Cr. : The Guardian
อย่างที่เขียนเมื่อตอนก่อนๆหน้านี้ว่า ลักษณะงานของสถาปนิกนั้นเป็นงานในรูปแบบที่ใช้การออกแบบเพื่อแก้ปัญหา
ดังนั้นก็อาจจะสะท้อนออกมาเป็นลักษณะหรือทักษะที่ควรจะมี ประมาณนี้ครับ
1.ชอบการเรียนรู้
เพราะอาชีพสถาปนิกคือการออกแบบอาคารชนิดต่างๆให้แก่ผู้อื่น เช่น ออกแบบโรงพยาบาลให้คุณหมอและคนไข้ ออกแบบโรงเรียนให้นักเรียนและคุณครู ออกแบบบ้านติสๆให้ศิลปินสุดเซอร์
สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราต้องเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานของหมอและการใช้สอยของคนไข้ เรียนรู้การเรียนการสอนของระบบการศึกษา เรียนรู้ขั้นตอนการทำงานและการใช้ชีวิตของศิลปิน
Cr. : issuu
เพราะถ้าเราไม่สามารถเข้าใจผู้ใช้งานได้แล้ว เราจะสามารถออกแบบเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองเขาได้หรือ ?
2.มีทักษะการรับฟังและจับประเด็น
ข้อนี้ก็เป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ ทุกครั้งที่เราเริ่มโปรเจคใหม่ๆ สถาปนิกจะต้องเข้าไปรับฟังพูดคุยกับเจ้าของโครงการ ซึ่งจะมีทั้งเรื่องความต้องการใช้สอยจริงๆและความต้องการแฝง (คืออยากได้นะแต่ก็รู้ว่าไม่จำเป็น)
ดังนั้นเราจะต้องจับประเด็นให้ออกเพื่อที่จะได้เรียงลำดับความสำคัญให้ได้อย่างแม่นยำ
Cr. : Cheezburger
3.ดังนั้น สถาปนิกจึงมักเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี คือมองปัญหาเป็นโอกาส เป็นความท้าทาย ไม่ชอบคำตอบสำเร็จรูป
แม้จะชอบความสวยงาม แต่ก็ต้องหัดเรียนรู้จากความน่าเกลียด (555 จะได้จำขึ้นใจว่า อย่าริทำแบบนี้ 😅😅)
Cr. : Inhatbitat
4.นอกจากไม่ชอบคำตอบสำเร็จรูปแล้ว ยังชอบที่จะตั้งคำถาม ก็เพื่อที่จะสกรีนข้อมูลส่วนที่ไม่ใช่ประเด็นออกไป และเปิดประเด็นในบางเรื่องที่เจ้าของโครงการลืมนึกถึง
5.ชอบในความสมบูรณ์แบบแต่ก็รับรู้ว่ามันไม่มีอยู่จริง
ข้อนี้เหมือนกวน แต่จริงๆก็คือ เมื่อไม่ชอบคำตอบสำเร็จรูป สถาปนิกจึงมักดิ้นรนพยายามมองหาคำตอบอย่างไม่สิ้นสุด แต่ก็ยอมรับขอบเขตในการดิ้นนั้นๆ เช่นขอบเขตอาจจะเป็นเรื่องของงบประมาณ เรื่องของเวลา กฎหมาย หรือ รสนิยมส่วนตัว
โจทย์หนึ่งโจทย์ อาจจะมีคำตอบอยู่มากมายหลายทางมาให้เลือก แล้วแต่ว่าเมื่อดิ้นหาทางแล้วจะไปสุดขอบที่ตรงไหน
Cr. : CGarchitect.com
ยกตัวอย่างของการหาคำตอบที่ไม่มีจุดจบสิ้น เช่น ออกแบบอาคารสุดสวยออกมาได้หนึ่งหลัง ดูไปดูมา เกิดมีคำถามว่า ทำให้ราคาถูกลงกว่านี้ได้ไหม
เมื่อปรับแบบจนได้ราคาที่ประหยัดกว่าเดิม ก็เกิดอยากจะหาวิธีให้ก่อสร้างได้ง่ายขึ้น หาวิธีให้การใช้งานสะดวกขึ้นอีกนิด
เอ่อ.. ขอแบบประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยก็ดีนะ 😵😵
ครับ มันจะเป็นแบบนี้ทุกโปรเจคนั่นแหละ ทำวนไปจนถึงเวลาต้องส่งงานล่ะ
Cr. : pinterest
6.ความอดทน จากตัวอย่างข้างบน เราจึงต้องมี ความอึดและถึกเป็นคุณสมบัติประจำตัว โดยเฉพาะตอนเรียนที่ แต่ละวิชาต่างก็บอกว่าเน้นภาคปฏิบัติ เน้นทำโปรเจคฝึกฝนสกิลการออกแบบ
เพราะต้องผ่านการทำเยอะๆ ถึงจะรู้ว่า อาคารแต่ละแบบ มันมีท่าไม้ตายอยู่ตรงไหน มีจุดสลบที่ไหนให้ระวัง
7.ทักษะทางมิติสัมพันธ์ เรื่องนี้บางคนก็เป็นพรสวรรค์ แต่ก็ฝึกเป็นพรแสวงได้
มันคือทักษะในการมองแบบบนแผ่นกระดาษให้เกิดเป็นภาพสามมิติในหัว
เรื่องนี้เป็นทักษะในการทำงานโดยตรง คือมองสิ่งต่างๆที่ทำอยู่ในแบบให้ได้ทะลุปรุโปร่งราวกับสร้างขึ้นมาแล้วนำมาวางอยู่ตรงหน้า
Cr. :flickr.com
ปัจจุบันนี้มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายหลากที่มาช่วยในการนี้
สมัยก่อน ก็คือคนที่สเก็ตช์รูปออกมาสวยๆนั่นแหละ คือวาดสิ่งที่คิดในหัวออกมาเป็นภาพให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งทักษะข้อนี้นั่นเองที่กลายมาเป็นข้อสอบความถนัดทางสถาปัตย์ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
8.มิติสัมพันธ์อีกแง่หนึ่งที่อยากจะเน้นคือ ความสัมพันธ์ในมิติของผู้อื่น เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ รู้จักทำงานเป็นทีม
เพราะงานสถาปัตย์จำเป็นต้องทำงานเป็นร่วมกับคนหลายฝ่าย
เบื้องต้นน้อยสุด ก็ต้องมีสามฝ่ายล่ะคือ เจ้าของ-ผู้ออกแบบ-ผู้ก่อสร้าง
ในแต่ละฝ่าย ยังต้องมีทีมงานอีกมากมาย
ซึ่งสถาปนิกนี่แหละ คือผู้ทำหน้าที่ประสานทุกฝ่ายให้ทำงานร่วมกัน ดังนั้นผู้ที่ทำงานเป็นสถาปนิกจะต้องเป็นผู้ที่ยืดหยุ่น เปิดใจรับฟัง และรู้จักประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย
Cr. : pinterest
9.ข้อสุดท้าย คือ คุณสมบัติที่สำคัญมากๆไม่ว่าอาชีพไหน ก็คือ การตรงต่อเวลา
เหตุผลก็มาจากแปดข้อข้างบน ยิ่งทำงานกับคน ทำงานกับความเชื่อใจ  การตรงต่อเวลาเป็นเครดิตข้อแรกๆที่ทำให้เชื่อใจกัน
Cr. : Addthis
ครับ เก้าข้อที่เล่ามา แต่ละคนอาจจะมีมากบ้างน้อยบ้าง ก็ฝึกสะสมกันไป บางคนพูดไม่เก่งถามไม่เป็น แต่ทักษะออกแบบเยี่ยม ก็ต้องไปอยู่เป็นทีมงานเบื้องหลัง ปล่อยให้คนที่พรีเซ้นต์เก่งๆอยู่หน้า มันก็คงคล้ายๆกันในทุกอาชีพ
ยังไงก็อย่าลืม คุณสมบัติขั้นพื้นฐาน
คิดดี ทำดี และทบทวนเป็น นะคร้าบ
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ล่าสุด การ์ตูนกวนเมือง
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา