22 ธ.ค. 2020 เวลา 22:30 • สุขภาพ
โรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder)
แม้ว่าเป็นโรคค่อนข้างใหม่ แต่พบผู้ป่วยถึงร้อยละ 2-5!!!!
โรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder)
โรคเก็บสะสมของ คืออะไร?
โรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder คืออาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งของคนที่ชอบเก็บสะสมของไว้มาก เสียดาย ไม่กล้าทิ้งอะไรเลย ยึดติดว่าทุกชิ้นเป็นของสำคัญ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือถึงขั้นอาจทำให้เกิดอันตราย เช่น หกล้มเพราะสะดุดข้าวของ ข้าวของล้มทับ หรือป่วยเป็นภูมิแพ้จากห้องรก สกปรก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อ พ.ศ. 2556
โรคเก็บสะสมของ มีสาเหตุมาจากอะไร?
เนื่องจากยังเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ จึงมีข้อมูลศึกษาน้อยมากหากเทียบกับข้อมูลของโรคจิตเวชอื่น ๆ แต่จากการศึกษาเท่าที่ผ่านมาพบว่า 80% เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ผ่านพันธุกรรม โดยผู้ป่วยมีญาติสายเลือดตรงที่มีอาการในลักษณะเดียวกัน บางรายเป็นกลไกทางจิตที่ชดเชยจากการวิตกกังวล เก็บของไว้เยอะ ๆ รู้สึกอุ่นใจ
1
นอกจากนี้ประสาทสมองบางส่วนทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสมองในเรื่องของการคิด และตัดสินใจ จึงทำให้ผู้ป่วยมีความยากลำบากในการตัดใจที่จะทิ้งของบางอย่าง
ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของที่พบในวัยผู้ใหญ่แล้ว อาจเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคทางสมองอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น โรคสมองเสื่อม เป็นต้น
แต่โดยรวมแล้วยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าโรคเก็บสะสมของ เกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่
พบได้บ่อยแค่ไหน?
การศึกษาในต่างประเทศ พบโรคเก็บสะสมของได้ประมาณ 2-5% ในคนทั่วไป
คนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนโสด (อ่านอาการแล้วจะเข้าใจว่าทำไมส่วนใหญ่ถึงโสด) โดยมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นและเป็นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
สิ่งของที่พบได้บ่อย!
นักสะสมส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะสะสมสิ่งของดังต่อไปนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ ถุงพลาสติก เสื้อผ้า ขวดน้ำ ในบางรายอาจสะสมถึงขั้นขยะ เศษอาหาร ซึ่งของเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคต่าง ๆ อีกด้วย
ความแตกต่าง! ระหว่างคนปกติ กับผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของ
หลายคนอาจชอบเก็บสะสมของบางชิ้นเหมือนกัน เช่น เก็บกล่องคุกกี้ลายน่ารัก ๆ ที่ซื้อมา หรือเก็บหนังสือ นิตยสารที่ชอบ แต่ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างคนปกติ กับผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของ คือ คนปกติจะเก็บของที่ตัวเองชอบเอาไว้จำนวนหนึ่ง ไม่มากจนเกินไป และเก็บอย่างเป็นที่เป็นทาง เช่น เรียงหนังสือเอาไว้ในชั้นหนังสือ เก็บกล่องเอาไว้ใต้เตียง หรือพับถุงกระดาษเก็บไว้ในตู้
แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของ จะเก็บของเอาไว้มากจนส่งผลกระทบในทางลบกับตัวเอง เช่น เก็บจนไม่มีที่เดินในบ้าน เก็บจนฝุ่นเต็มบ้านจนมีอาการป่วยติดเชื้อ เป็นภูมิแพ้ เก็บหนังสือกองเหนือหัวจนหนังสือร่วงหล่นทับ หรือเก็บจนล้นกองเต็มบ้านโดยไม่สามารถจัดให้เป็นที่เป็นทางอย่างเรียบร้อยได้อีกต่อไป
2
อาการของโรคเก็บสะสมของ (Hoarding Disorder) เป็นอย่างไร?
1. ไม่กล้าตัดสินใจทิ้งข้าวของเลยและมีความกังวลใจมากเมื่อต้องทิ้งข้าวของ
2. รู้สึกยากลำบากในการจัดเรียงข้าวของให้เป็นหมวดหมู่
3. รู้สึกทนทุกข์กับการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอย่างมาก หรือรู้สึกละอายใจเพราะข้าวของที่ตัวเองเก็บ
4. ไม่ไว้ใจ กลัวคนอื่นจะมาแตะต้องข้าวของตัวเอง และไม่ยอมให้ใครมาหยิบยืมไปด้วย
1
5. มีความคิดและการกระทำที่หมกมุ่น เช่น กลัวว่าถ้าทิ้งสิ่งใดไปแล้ว ในอนาคตจะไม่มีใช้ เมื่อเผลอทิ้งสิ่งใดไปก็จะรีบไปเช็กดูที่ถังขยะแล้วเอากลับคืนมาทันที
1
6. ไม่สามารถดำเนินชีวิตโดยปกติได้ เช่น ไม่มีพื้นที่อยู่อาศัย แยกตัวออกจากสังคม ทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัวหรือคู่สมรส มีปัญหาทางการเงิน มีปัญหาด้านสุขภาพ
โรคเก็บสะสมของ มีวิธีรักษาอย่างไร?
ข้อมูลโดย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุโรคเก็บสะสมของจะมีลักษณะเรื้อรัง ไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยในปัจจุบันวิธีรักษาโรคเก็บสะสมของนั้นนิยมรักษาอยู่ 2 แนวทาง คือ...
1. ใช้ยาต้านเศร้า (antidepressant)
คุณหมอจะให้ยาต้านเศร้าเพื่อให้เราลดความเครียดและความหมกมุ่นในการสะสมของ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
2. พฤติกรรมบำบัด
เป็นหนึ่งในวิธีรักษาอาการทางจิตที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและค่อนข้างได้ผลพอสมควร
ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถใช้เยียวยาอาการของโรคเก็บสะสมของได้ด้วย โดยเป็นวิธีที่มุ่งเน้นฝึกทักษะการตัดสินใจให้ผู้ป่วยสามารถจัดการเก็บหรือทิ้งสิ่งของในครอบครองได้อย่างมีเหตุผลยิ่งขึ้น การจัดกลุ่มข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งฝึกให้ทนได้กับการทิ้งของเหลือใช้ร่วมด้วย
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
พิสูจน์อักษรโดย วาลีพ
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา