23 ธ.ค. 2020 เวลา 03:18 • สุขภาพ
ป่วยเพราะไม่รู้ EP.20 | “น้ำหนักที่ได้มาไม่ใช่เพราะโชค”
ผมอายุ 47 ปี เมื่อก่อนน้ำหนักมากกว่า 150 กิโลกรัม เป็นคนที่มีความสุขกับการกิน อาหารตรงหน้ามีเท่าไหร่ต้องกินให้หมดไม่ให้เหลือ และถ้าดีใจหรือเครียดก็จะยิ่งกินเยอะกว่าปกติ ทำให้น้ำหนักไต่ระดับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ประกอบกับเป็นคนไม่ค่อยออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพราะไม่ชอบให้เหงื่อออกไม่ชอบให้หัวใจเต้นแรง และลักษณะนิสัยของผมที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีกอย่างคือไม่ค่อยชอบไปพบแพทย์และไม่ค่อยชอบกินยา
แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผมมีสุขภาพดีมาตลอดไม่ค่อยป่วย ปีหนึ่ง ๆ จะไม่สบายเป็นไข้หวัดแค่ 2-3 วัน แต่การที่มีน้ำหนักตัวเยอะก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจ (ละหมาด) วันละ 5 เวลา เหมือนกับมุสลิมทั่วไปได้ ต้องนั่งละหมาดบนเก้าอี้ และก่อนนั่งเก้าอี้ผมต้องตรวจสอบก่อนว่าแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักของตัวผมได้
จนกระทั่งเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ผมมีอาการปวดข้อปวดเข่าอย่างรุนแรงจนแทบเดินไม่ได้ ต้องเดินเกาะกำแพงหรือใช้ไม้ค้ำยัน ในตอนแรกเข้าใจว่าเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเพราะเดินทางขับรถเยอะ จึงหายามาทานวดอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ก็ไม่หาย จึงไปพบแพทย์ได้ตรวจร่างกาย
ปวดเข่า
ตรวจเลือดปรากฏว่าเป็นโรคเก๊าต์ และแถมยังได้โรคตามสมัยนิยม ทั้งโรคความดันโลหิตสูงและโรคไขมันในเลือดสูงมาด้วย เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วย จึงเริ่มควบคุมอาหาร ลดอาหารจำพวกแป้ง อาหารทอดและของหวาน งดกินสัตว์ปีกและยอดผักทุกชนิด ซึ่งมีผลต่อโรคเก๊าต์
โรคเก๊าต์
หลังจากนั้นก็มาวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของตัวเอง ที่เป็นหลายโรคเพราะนิสัยเสียในเรื่องการกินเป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เริ่มชั่งน้ำหนักตัวเองบ่อยครั้งขึ้น พยายามควบคุมให้น้ำหนักให้คงที่ โดยใช้ศาสนบำบัด ถือศีลอดสุนัตวันจันทร์และวันพฤหัสตามแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมมัด (ซล.) เป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้ทั้งผลบุญและช่วยให้สุขภาพดีขึ้นด้วย
เมื่อถือศีลอดมาได้ระยะหนึ่ง รู้สึกว่าตัวเองไม่อยากอาหารเหมือนเมื่อก่อน แต่ละมื้อจะกินอาหารน้อยลง จากปกติอาหารมื้อเที่ยงจะกิน 2 จาน มื้อเย็น 1 จาน มื้อเที่ยงลดลงมาเหลือ 1 จาน ส่วนอาหารเย็นจะดื่มน้ำผลไม้ปั่นแทนข้าวน้ำหนักตัวในช่วงนี้จะอยู่ระหว่าง 140-145 กิโลกรัม และเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการเดิน ทั้งเดินช้าและเดินไวสลับกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อข้อเข่าหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และหลังจากนี้จะต้องปรึกษาแพทย์หรือเทรนเนอร์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
น้ำหนักของผมที่ได้มาไม่ใช่โชคร้ายหรือเกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ใช้เวลาสะสมมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เรียนจบจนถึงปัจจุบัน การลดน้ำหนักก็ไม่มีโชคใด ๆ มาช่วยเช่นเดียวกัน ต้องใช้ความตั้งใจและความอดทนเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาผมสามารถควบคุมน้ำหนักให้คงที่ได้แล้ว ต่อไปก็จะออกกำลังกายให้น้ำหนักลดลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นความแข็งแกร่งของข้อเข่าเป็นหลักไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าจากปากของผู้ป่วยเอง บางเรื่องอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ
เนื้อหาทั้งหมดมาจากหนังสือ "ป่วยเพราะไม่รู้" โดย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
โฆษณา