Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เลิกบุหรี่บ้านละคน
•
ติดตาม
22 ธ.ค. 2020 เวลา 03:47 • สุขภาพ
ป่วยเพราะไม่รู้ EP.19 | “หายจากโรคหนึ่งแต่เป็นอีกโรคหนึ่ง”
ผมเป็นคนชอบทำงานสังคม ทำงานจิตอาสาต่าง ๆ ทั้งอาสาสมัครพลเรือนป้องกันหมู่บ้าน (อปพร.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ทำมาต่อเนื่องกว่า 30 ปี ปัจจุบันอายุ 64 ปี แต่ยังคงรักการทำงานให้สังคมอยู่ ผมพอมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพอยู่บ้าง เมื่อก่อนจึงดูแลสุขภาพตัวเองด้วยดี และเผื่อแผ่ไปถึงชาวบ้านด้วย โดยให้คำปรึกษาหารือเรื่องการดูแลสุขภาพอยู่เสมอ
แต่สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ช่วยเหลือคนอื่นจนลืมดูแลสุขภาพตัวเอง ตอนที่มีอายุ 40 กว่าปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตอนนั้นมีอาการปวดหัวมากจนต้องส่งโรงพยาบาล เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้น ก็รับยากลับมารับประทานที่บ้าน และมาพบแพทย์ตามนัดเป็นระยะ ๆ
ผ่านไปหลายปี ผมเริ่มเบื่อกับการรับประทานยา ด้วยความที่ตัวเองเป็น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และ ผสส. (ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข) จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เมื่อเราเจ็บป่วยเสียเอง แล้วจะแนะนำชาวบ้านได้อย่างไร” พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ ผนวกกับนำความรู้ที่เคยอบรม อสม. มาปรับใช้ ต่อมาประธาน อสม. ได้แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรใบขลู่ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูง หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับผู้ที่มีความรู้หลายท่าน ได้ให้ความเห็นว่าสามารถดื่มควบคู่กับการรักษาทั่วไปได้
ใบขลู่
ผมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม รับประทานผักมากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดและดื่มน้ำมาก ๆ ควบคู่กับการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และดื่มชาใบขลู่ไปด้วย หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน เมื่อมาตรวจร่างกายอีกครั้ง ความดันโลหิตลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แพทย์จึงค่อย ๆ ปรับลดปริมาณยาลง จากที่รับประทานวันละ 2 เม็ด ลดลงมาเหลือ 1 เม็ด และครึ่งเม็ด จนกระทั่งหยุดยาอย่างเด็ดขาด
พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ผมปฏิบัติเป็นประจำ ซึ่งมีส่วนช่วยให้หายจากโรคความดันโลหิตสูงคือ การดื่มน้ำมาก ๆ ชีวิตจึงติดการดื่มน้ำ หลังอาหารทุกครั้งจะดื่มน้ำในปริมาณมาก เป็นเหยือก ๆ ต่อมาตอนที่มีอายุประมาณ 50 กว่าปี เริ่มมีอาการท้องอืด เจ็บแสบแน่นในอก เมื่อเรอออกมาเหม็นเปรี้ยว มีรสเผ็ดร้อน ลมอัดกระเพาะและไม่ค่อยผายลม อาการจะเกิดตอนกลางคืนหลังรับประทานอาหารเย็น และเป็นมากช่วงเวลาตีหนึ่งตีสอง บางคืนท้องอืดปวดท้องมากจนนอนหงายไม่ได้ ต้องนอนคว่ำให้ท้องกดกับที่นอนจนง่วงหลับ ทำให้กลางคืนพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย
เมื่อไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน รับยาลดกรดมารับประทาน และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง โดยรับประทานอาหารปริมาณน้อย ไม่รับประทานของดอง แป้งข้าวหมาก หลีกเลี่ยงแกงเผ็ดหรือรับประทานเพียงเล็กน้อย หลังรับประทานอาหารจะนั่งหรือเดินเล่นสักพักก่อนเข้านอนและถ่ายอุจจาระเป็นเวลาทุกวัน ยาลดกรดหมดไปหลายขวด แต่ก็ยังไม่หาย
กรดไหลย้อน
ต่อมาได้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปัญหาสุขภาพกับ อสม. จากพื้นที่ต่าง ๆ และหมอพื้นบ้านที่มีความรู้ด้านสมุนไพร โดยมีการนำปัญหาสุขภาพของตัวเอง มาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของโรค ซึ่งนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง
จากกิจกรรมดังกล่าวได้ค้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อน มาจากการดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ หลังรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำ ส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร มีคำแนะนำให้เว้นระยะการดื่มน้ำหลังอาหารไปสักครึ่งหรือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานก่อนแล้วค่อยดื่มน้ำในปริมาณที่ไม่มากนัก และปรับเวลาอาหารเย็น มารับประทานก่อนค่ำหรือก่อนละหมาดมักริบ (ละหมาดตอนค่ำ) เพราะร่างกายมีการเคลื่อนไหว ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากหมอพื้นบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม ให้ดื่มน้ำต้มเม็ดผักชี ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำข้อแนะนำไปปฏิบัติ ผลปรากฏว่าอาการท้องอืดท้องเฟ้อลดน้อยลง อาการปวดท้องรุนแรงในช่วงกลางคืนไม่เป็นอีกเลย กลางคืนนอนหลับสบายขึ้น
น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย การดื่มน้ำบ่อย ๆ เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ลดความเสี่ยงจากโรคความดันโลหิตสูง และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย แต่การดื่มน้ำในบางช่วงเวลาและปริมาณที่มากเกินไป ก็จะเกิดผลกระทบที่ให้โทษต่อร่างกายได้เช่นกัน ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า ทุก ๆ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เปรียบเหมือนเหรียญมี 2 ด้านเสมอ มีทั้งให้คุณและให้โทษ จงเรียนรู้ทั้ง 2 ด้าน เลือกด้านที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงด้านที่ให้โทษ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าจากปากของผู้ป่วยเอง บางเรื่องอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณ
เนื้อหาทั้งหมดมาจากหนังสือ "ป่วยเพราะไม่รู้" โดย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ป่วยเพราะไม่รู้ | เรื่องเล่าสุขภาพที่ไม่อิงตำราแพทย์
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย