19 ม.ค. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
NBA 104 - ประวัติย่อของทีม NBA ตอนที่ 8 - Denver Nuggets
ประวัติทีม Denver Nuggets
ฝั่งที่สังกัด - ฝั่งตะวันตก Northwest Division
ปีที่ก่อตั้ง - 1967
ชื่อเดิม -
Denver Rockets (1967-1974)
Denver Nuggets (1974-ปัจจุบัน)
สถานที่ตั้ง - เมือง Denver รัฐ Colorado
ชื่อสนามเหย้า - Ball Arena
เจ้าของทีม - Ann Walton Kroenke
CEO - Jim Martin
GM (General Manager) – Calvin Booth
HC (Head Coach) - Michael Malone
ทีมสังกัดใน G-League - ไม่มี
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ลีก - 0
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ฝั่งทวีป - 0
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ Division - 11 (1970, 1975, 1977, 1978, 1985, 1988, 2006, 2009, 2010, 2019, 2020)
จำนวนเบอร์เสื้อที่ทำการ Retired - 7 (2, 12, 33, 40, 44, 55, 432)
ประวัติทีมโดยสังเขป
จริงๆ แล้ว ในก่อนที่ทีมนี้จะถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1967 ทีมเคยถูกก่อตั้งขึ้นมาก่อนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในปี 1948 ในชื่อของ Denver Nuggets ภายใต้สังกัดของ NBL (National Basketball League) ก่อนที่ลีกนั้นจะถูกควบรวมกับ BAA (Basketball Association of America) กลายเป็น NBA ในที่สุด เพียงแต่ว่าทีมนั้นไม่ได้ถูกบรรจุตามเข้ามาด้วย และสุดท้ายก็ถูกยุบทีมไปในปี 1951 โดยได้เล่นใน NBA เพียงแค่ 1 ฤดูกาลเท่านั้น
ต่อมาในปี 1967 ทีมจึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นใหม่ภายใต้สังกัดของ ABA (American Basketball Association) ซึ่งในตอนแรกทีมจะก่อตั้งบริเวณ Kansas City แต่เนื่องจากผู้ก่อตั้งลีกและเจ้าของทีมไม่สามารถหาสนามเหย้าที่เหมาะสมได้ จึงได้ทำการมองหาสนามเหย้าใหม่ที่เมือง Denver และได้ก่อตั้งทีมขึ้นภายใต้ชื่อว่า Denver Rockets ขึ้นมา
Denver Rockets 1967 Logo
ในช่วงที่อยู่กับลีก ABA นั้น ถือว่าทีมทำผลงานได้ดีระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ได้เข้ารอบ Playoffs อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะไปได้ไม่ไกลเท่าไหร่นักหลังจากนั้นก็ตาม นำทีมโดย Spencer Haywood ดาวรุ่งที่ตอนแรกถูกทางลีก NBA ปฎิเสธไม่ให้เข้าลีก เนื่องจากเจ้าตัวต้องการที่จะเดินทางสายอาชีพนักกีฬาก่อนที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นของลีกในขณะนั้น
Spencer Haywood
เจ้าตัวจึงตัดสินใจมาเข้าร่วมกับทีมนี้แทน ก่อนที่จะทำผลงานได้ในระดับเฉลี่ย 30 แต้มและ 19.5 Rebounds ่ต่อเกม คว้าทั้งรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยม MVP ประจำฤดูกาล และติดทีม All-Star ในปีเดียวกันอีกด้วย ก่อนที่ในปี 1970/71 เจ้าตัวจะได้ย้ายไป NBA สมใจ โดยได้ไปอยู่กับ Seattle Supersonics ในที่สุด แต่หลังจากนั้นทีมก็มีผลงานที่ย่ำแย่ลง จนเจ้าของทีมอย่าง Ringsby ได้ตัดสินใจขายทีมให้กับ Frank Goldberg และ Bud Fischer ในปี 1972 นั่นเอง
ต่อมาหลังจากที่ทีมเริ่มแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมกับลีก NBA เพียงแต่ว่าทีมต้องทำการตั้งชื่อทีมขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ Rockets นั้นซ้ำกับทีม Houstion Rockets ที่อยู่ในลีกมาก่อนแล้ว หลังจากที่ทำการคัดเลือกอยู่นาน สุดท้ายทีมก็ตัดสินใจที่จะใช้ชื่อทีมว่า Nuggets เป็นการให้เกียรติกับทีมชื่อเดียวกันที่ได้ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้ และตั้งใจที่จะสานต่อชื่อทีมนี้ต่อไปในภายหลัง
Denver Nuggets 1976 Logo
จากนั้นในปี 1976 หลังจากที่ ABA ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ NBA แล้ว Nuggets จึงได้ทำการเข้าร่วมลีก NBA สมความตั้งใจเสียที โดยเข้าร่วมลีกพร้อมกับ Nets, Pacers และ Spurs
1
ยุคแรกของทีมหลังจากเข้าร่วมในลีก NBA
ในช่วงแรกที่ทีมได้ย้ายเข้าสู่ลีก ทีมทำผลงานได้ถือว่าน่าประทับใจเลยทีเดียว โดยเฉพาะใน 3 ฤดูกาลแรกที่เข้ารอบ Playoffs ได้ตลอด แถม 2 ฤดูกาลแรกทีมยังคว้าแชมป์ Division มาครองได้อีกด้วย
แต่กระนั้นผลงานในช่วง Playoffs ทีมกลับทำผลงานได้ไม่ดีนัก ทำให้ในที่สุดทีมเริ่มที่จะประสบกับปัญหาการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเข้าลีกที่ต้องเสียเม็ดเงินกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินที่ถือว่าสูงมากในตอนนั้น สุดท้ายแล้วเจ้าของทีมจึงได้เปลี่ยนมือไปอีกครั้ง คราวนี้ได้มาอยู่ในมือของ Red McCombs แทนในปี 1978
หลังจากนั้นทีมก็มีผลงานที่ย่ำแย่ลง จนกระทั่งมีการเปลี่ยน HC ของทีมเป็นครั้งแรก นั่นคือการนำ Doug Moe เข้ามาคุมทีมแทนคนเก่าอย่าง Larry Brown ที่ลาออกไป
Doug Moe
ซึ่งเจ้าตัวก็มาพร้อมกับระบบทำทีมแบบ Motion Offense ที่เน้นการถ่ายบอลเพื่อทำเกมรุกให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าการเน้นที่เกมรับ ระบบดังกล่าวส่งผลให้ทีมมีค่าเฉลี่ยการทำแต้มที่ถือว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ของลีกในขณะนั้น โดยเฉพาะในฤดูกาล 1981/82 ที่ทีมทำแต้มต่อเกมได้ไม่เคยต่ำกว่า 100 แต้มเลย และมีแต้มเฉลี่ยตลอดฤดูกาลสูงมากถึง 126.5 แต้มต่อเกมเลยทีเดียว
การมาของ Alex English
ในยุคที่ Nuggets สามารถทำแต้มได้เป็นกอบเป็นกำนั้น การมาของ Alex English ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ในฐานะเครื่องจักรทำแต้มอันดับหนึ่งของทีมในขณะนั้น
Alex English
Engllish ร่วมกับ Kiki Vandeweghe และ Dan Issel ถือเป็นสามกำลังสำคัญที่มีส่วนในการผลิตแต้มให้กับทีมเป็นอย่างมาก และทำให้ทีมสามารถเข้ารอบ Playoffs ได้บ่อยๆ ในชวงที่ Moe คุมทีมอยู่นั่นเอง
โดยเฉพาะในฤดูกาล 1984/85 ที่ทีมสามารถทะลุเข้าไปถึงรอบชิงแชมป์สายตะวันตกได้เลยทีเดียว ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Lakers ในเกมที่ 5 ในท้ายที่สุด
แต่หลังจากที่ Vandeweghe ได้ถูก Trade ออกไปให้กับ Blazers ทีมก็ไม่เคยไต่ไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สายอีกเลย ผลงานที่ดีที่สุดคือการไปแพ้ใน Playoffs รอบสองกับ Mavericks ในฤดูกาล 1987/88 นั่นเอง ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมือเจ้าของทีมอีกครั้งหลังจากนั้น
เพียงแต่หลังจากที่ English และ Moe ได้ออกจากทีมไปในปี 1990 ถึงแม้ว่าโค้ชคนใหม่จะยังพยายามยึดแนวทางการทำแต้มให้มากๆ เพียงแต่ว่าระบบยิบย่อยอื่นๆ กลับดูแย่กว่าเดิมพอสมควร ทำให้ผลงานโดยรวมของทีมตกลงจนไม่สามารถเข้ารอบ Playoffs ได้อีกต่อไป ซึ่งสุดท้ายแล้วทีมก็ได้เริ่มเข้าสู่โหมดการสร้างทีมใหม่อย่างเต็มตัวหลังจากที่ฤดูกาล 1990/91 ได้จบลงนั่นเอง
ยุคของ Dikembe Mutombo
หลังจากที่ทีมได้ตัดสินใจเข้าสู่โหมดการสร้างทีมใหม่ ทีมยังได้เลือกที่จะเน้นเกมรับให้มากขึ้นอีกด้วย จึงได้ทำการ Draft ดาวรุ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องเกมรับตั้งแต่ลีกมหาวิทยาลัยอย่าง Dikembe Mutombo มาในปี 1991
Dikembe Mutombo
ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะไม่สามารถคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีมาได้ แต่ก็โชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่ปีแรกที่เข้าสู่ทีมเลยทีเดียว
จากนั้นทีมจึงค่อยๆ เสริมผู้เล่นขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้แกนหลักอย่าง Mutombo เป็นตัวหลัก นำโดย Dan Issel ที่กลับมาในฐานะ HC ของทีม และผู้เล่นอย่าง Mahmoud Abdul-Rauf และ LaPhonso Ellis จนทีมสามารถกลับสู่ Playoffs ได้อีกครั้งในฤดูกาล 1983/84
พร้อมกับที่ทีมได้สร้างสถิติกลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีก ที่กลายเป็นทีมอันดับ 8 ใน Playoffs ที่สามารถเอาชนะทีมอันดับ 1 อย่าง Sonics ลงได้ในรอบแรกอย่างไม่น่าเชื่อ ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Jazz ในรอบสองไปในที่สุด
น่าเสียดายที่ปาฎิหาริย์แบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในฤดูกาลถัดมาผลงานกลับดรอปลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะยังเข้ารอบ Playoffs ในฐานะอันดับ 8 ได้อีกครั้ง แต่หนนี้กลับโดนจ่าฝูงอย่าง Spurs กวาดตกรอบไปตามคาดตั้งแต่รอบแรก
ซึ่งฤดูกาลดังกล่าวถือเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ทีมมีผลงานที่ดี หลังจากนั้นทีมก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งการที่ Mutombo ย้ายทีมไป Hawks และ Ellis มีปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ขาและหัวเข่า รวมไปถึง Abdul-Rauf ที่ถูก Trade ออกจากทีมไปในฤดูกาล 1996/97 ทำให้ผลงานของทีมเริ่มกลับมาตกต่ำลงอีกครั้ง
ช่วงเวลาที่ตกต่ำของทีม
หลังจากฤดูกาล 1996/97 เป็นต้นมา ทีมก็ได้เข้าสู่โหมดการสร้างทีมใหม่อีกครั้ง และมีการทยอยส่งผู้เล่นหลายคนออกจากทีมเรื่อยๆ ส่งผลให้ในฤดูกาล 1997/98 ทีมทำสถิติชนะแค่เพียง 11 เกมเท่านั้น พร้อมกับทำสถิติแพ้ติดต่อกันยาวนานถึง 23 นัด ถือครองสถิติที่เกือบจะย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกอยู่พักใหญ่ๆ เลยทีเดียว
แถมความย่ำแย่ยังยืนระยะไปถึงฤดูกาล 2002/03 ที่ทีมทำสถิติชนะแค่เพียง 17 นัด จมปลักในอันดับท้ายๆ ของลีกมาอย่างยาวนาน
ทางด้านการบริหารทีมเองก็ได้มีการเปลี่ยนเจ้าของมาหลายราย จนกระทั่งในปี 2000 ทีมก็ได้ตกมาอยู่ในมือของตระกูล Kroenke ที่มาพร้อมกับคำมั่นสัญญาที่ว่าทีม Nuggets จะยังอยู่ในเมือง Denver ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ถึงปี 2025 และได้สิทธิ์ในการบริหารทีมแบบเต็มตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ยุคของ Carmelo Anthony และ George Karl
หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเจ้าของทีมและผู้เล่นมาอย่างโชกโชน ในที่สุดทีมก็ได้ตัดสินใจ Rebrand ทีมใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยน Logo ให้ดูทันสมัยมากขึ้นจากเดิม
Denver Nuggets 2003 Logo
และทีมได้เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง เริ่มจากการ Draft ปี 2003 ทีมได้ตัดสินใจดึงดาวรุ่งว่าที่ผู้เล่นระดับ All-Star หลายสมัยอย่าง Carmelo Anthony เข้าสู่ทีม พร้อมทั้งการแต่งตั้ง GM ของทีมคนใหม่เป็น Kiki Vandeweghe ที่เคยเป็นอดีตผู้เล่นของทีมมาก่อนนั่นเอง
Carmelo Anthony
เจ้าตัวสามารถโชว์ฟอร์มได้เป็นอย่างดี จนทีมมีสถิติที่ดีขึ้นกว่าเดิมมากที่ 43-39 และคว้าอันดับสุดท้ายในการเข้ารอบ Playoffs ได้สำเร็จ ถือเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีกที่พลิกกลับมาเข้า Playoffs ได้หลังจากที่ฤดูกาลก่อนหน้านั้นมีสถิติชนะไม่ถึง 20 เกม
จากนั้นในปีถัดมา HC ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น George Karl ในช่วงกลางฤดูกาล และเขาก็ได้สร้างผลงานสุดยอดตั้งแต่เริ่มเข้ามาคุมทีมในฤดูกาล 2004/05 ทำให้ทีมเข้ารอบ Playoffs ไปได้อีกสมัย ถึงแม้ว่าจะตกแค่รอบแรกเหมือนเดิมก็ตามที
George Karl (Cr. Gettyimages)
พอทุกอย่างเริ่มจะลงตัว ผลงานของทีมก็ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ในฤดูกาล 2005/06 ทีมสามารถกลับมาคว้าแชมป์ Division ได้อีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนานหลายปี แต่ก็ต้องผิดหวังกับผลงานใน Playoffs ที่ต้องตกรอบแรกไปอีกครั้ง ทำให้หลังจบฤดูกาล GM ของทีมอย่าง Vandeweghe ก็ต้องออกจากทีมไปในที่สุด
การมาของ Allen Iverson
ในช่วงกลางฤดูกาล 2006/07 ทีมได้ตัดสินใจแลกผู้เล่น 2 คน พร้อมกับสิทธิ์ Draft ปี 2007 รอบแรกที่มีอยู่ 2 สิทธิ์ ส่งไปให้ Sixers เพื่อแลกกับการได้ Superstar อย่าง Allen Iverson มาร่วมทีม
Allen Iverson (Cr. Gettyimages)
ถึงแม้ว่าตลอด 3 ฤดูกาลที่อยู่กับทีม Nuggets ทีมจะมีสถิติในช่วงฤดูกาลปกติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฤดูกาล 2007/08 ที่ทีมจบด้วยสถิติ 50-32 นับว่าดีที่สุดในรอบหลายปีของทีม แต่เคมีในการเล่นของสองดาวเด่นอย่าง Anthony และ Iverson กลับจะดูไม่เข้าขากันเท่าไหร่
ส่งผลให้อาถรรพ์การตกรอบ Playoffs เพียงแค่รอบแรกยังคงความขลังสำหรับทีมนี้อยู่ ถ้านับถึงฤดูกาล 2007/08 เท่ากับว่าทีมทำสถิติตก Playoffs รอบแรกติดต่อกัน 5 ฤดูกาลเข้าไปแล้ว
กำเนิดคู่หูใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม
เนื่องจากการที่ทีมไม่ต้องการที่จะแบกภาระค่าเหนื่อยที่สูงจนเกินเพดาน ทำให้สุดท้ายแล้วทีมก็ตัดสินใจเก็บเพียง Anthony อยู่กับทีม และได้ Trade Iverson ออกไปให้กับ Pistons ในช่วงต้นฤดูกาล 2008/09 โดยแลกกับผู้เล่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งนำโดย Chauncey Billups ที่กำลังฟอร์มดีสุดๆ ในขณะนั้น ถือเป็นการกลับคืนสู่ทีมอีกครั้งของเจ้าตัวด้วย หลังจากที่เคยอยู่กับทีมในปี 1999 ช่วงที่ยังเป็นผู้เล่นอายุน้อย
Chauncey Billups
หลังจากที่การเปลี่ยนแกนหลักจาก Iverson เป็น Billups ทำให้ผลงานของทีมดีขึ้นมาพอสมควร ทีมจบฤดูกาล 2008/09 ด้วยสถิติ 54-28 รั้งอันดับ 2 ของฝั่งตะวันตกได้เป็นครั้งแรกของทีม
และฤดูกาลนี้เอง เป็นฤดูกาลที่ทีมสามารถลบล้างอาถรรพ์ของตนเองได้สำเร็จ ทีมสามารถทะลุเข้าไปถึงรอบชิงสาย ผ่านทั้ง Hornets และ Mavericks ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Lakers ในเกมที่ 6 แต่ก็ถือว่าทีมมีผลงานที่ดูดีขึ้นมากๆ เลยทีเดียว
แถมในฤดูกาลถัดมา ทีมก็ยังทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทีมจบฤดูกาลปกติด้วยสถิติ 53-29 แต่น่าเสียดายที่อาถรรพ์กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ทีมตก Playoffs เพียงแค่รอบแรกด้วยการแพ้ Jazz ไปในที่สุด
จากนั้นหลังจากที่ฤดูกาล 2010/11 จบลงด้วยการตก Playoffs รอบแรกอีกครั้ง โดยเป็นการแพ้ให้กับ Thunder ทำให้ทีมตัดสินใจล้างผู้เล่นครั้งใหญ่ เพื่อเข้าสู่โหมดการสร้างทีมใหม่อีกครั้ง ถือเป็นจุดสุดท้ายในยุคของคู่หู Anthony-Billups ไปในตัวด้วย
ภายหลังการจากไปของ Anthony และ Billups
หลังจากที่ Anthony และ Billups ได้ถูก Trade ออกจากทีมไปในช่วงกลางฤดูกาล 2011/12 ซึ่งเป็นการ Trade กันถึงสามทีมทั้ง Nuggets, Knicks และ Wolves ซึ่งสุดท้ายแล้วทีมก็ได้ผู้เล่นใหม่มาทดแทนอีกหลายคน นำโดย Danilo Gallinari ที่ทำผลงานได้เข้าตามากที่สุดนั่นเอง
Danilo Gallinari
การ Trade กลางฤดูกาลแบบชุดใหญ่ขนาดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ทีมก็ยังสามารถประคองตัวให้เข้ารอบ Playoffs ได้สำเร็จ โดยจุดด้อยด้านเกมรับที่มีมานานได้ถูกแก้ไขให้ดีขึ้นหลังจากการจากไปของทั้งคู่ เพียงแต่ว่าอาถรรพ์ตกรอบแรก Playoffs ก็ยังตามมาเล่นงานทีมอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ในฤดูกาลถัดมา Gallinari ได้แสดงผลงานที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในช่วงต้นฤดูกาล ที่มีผลให้ทีมมีสถิติในช่วง 20 เกมแรกของฤดูกาลที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่เจ้าตัวกลับได้รับอาการบาดเจ็บในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี หนังม้วนเดิมก็ถูกฉายซ้ำอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อทีมยังไม่สามารถผ่าน Playoffs รอบแรกไปได้อีกครั้ง
ต่อมาในฤดูกาล 2012/13 ทีมได้ผู้เล่นที่ขึ้นชื่อเรื่องเกมรับอย่าง Andre Iguodala เข้าสู่ทีม และเมื่อผนวกกำลังกับขุมกำลังที่มีอยู่เดิม ทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติสูงถึง 57-25 แต่โชคร้ายที่ทีมต้องตก Playoffs แค่รอบแรกไปอีกสมัย ทำให้รวมแล้ว 10 ปีหลังสุด ทีมไม่สามารถผ่านรอบแรกไปได้ถึง 9 ครั้ง และเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้การคุมทีมของ Karl จนสุดท้ายบอร์ดบริหารจึงไม่สามารถรั้งให้เขาอยู่คุมทีมได้อีกต่อไป
หลังจากที่ Karl ถูกปลดออกจากการเป็น HC ในฝั่งของ GM ที่มีผลงานมาอย่างยาวนานอย่าง Masai Ujiri ก็ได้ตอบตกลงที่จะไปทำงานให้กับ Raptors ด้วยเช่นกัน ทำให้ทีมได้แต่งตั้ง Tim Connelly ขึ้นมารับหน้าที่แทน
ในส่วนของผู้เล่นก็กลายเป็นว่าบรรดาแกนหลักหลายคนก็ต้องออกจากทีมไปเช่นกัน เมื่อแกนหลักเหลือเพียงแค่ Gallinari เพียงคนเดียว เจ้าตัวก็ไม่สามารถแบกทีมไว้ได้อีกต่อไป จนทำให้ทีมจบฤดูกาล 2013/14 ทีมไม่ได้เข้ารอบ Playoffs เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา
และหลังจากที่ทีมจบฤดูกาล 2014/15 ด้วยผลงานที่ไม่สู้ดีนัก ทีมได้มีการเปลี่ยนแปลง HC อีกครั้ง คราวนี้เป็น Michael Malone ที่มารับช่วงต่อแทนจนถึงปัจจุบัน
การมาของ Nikola Jokic
ถึงแม้ว่า Nikola Jokic จะถูกทีม Draft เข้ามาตั้งแต่ปี 2014 แต่กว่าจะได้ลงสนามอย่างเป็นทางการ ก็ต้องรอจนถึงฤดูกาล 2015/16 พร้อมกับบรรดาดาวรุ่งอายุน้อยที่ทำการ Draft เข้ามาใหม่อย่าง Emmanuel Mudiay พร้อมกับผนึกกำลังรวมกับขุมกำลังเดิมอย่าง Gallinari เพื่อเป็นแกนหลักชุดใหม่ของทีมต่อไป
Nikola Jokic
ต่อมาในการ Draft ปี 2016 ทีมได้ตัดสินใจเลือกดาวรุ่งอนาคตไกลอย่าง Jamal Murray มาเป็นแกนหลักในอนาคตให้กับทีมอีกคน นอกจากนั้นทีมยังได้ทำการเปลี่ยนถ่ายผู้เล่นสูงอายุที่ไม่ค่อยได้ใช้งานออกจากทีม เพื่อให้เวลากับบรรดาดาวรุ่งได้พัฒนาฝีมืออย่างเต็มที่ จนผลงานในฤดูกาลนี้ถือว่าใกล้เคียงมากๆ กับการที่จะกลับเข้าไปเล่นใน Playoffs ได้อีกครั้ง
Jamal Murray
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
ในปี 2017 ทีมได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารอีกครั้ง โดยทำการเลื่อนขั้น Connelly ให้เป็นประธานฝ่ายปฎิบัติการ และดัน Artūras Karnišovas ขึ้นมาเป็น GM คนปัจจุบันแทนที่ ส่วนในด้านผลงาน ทีมต้องผิดหวังกับการเข้ารอบ Playoffs อีกครั้ง เมื่อไปแพ้ให้กับ Wolves ในเกมสุดท้ายที่จะตัดสินว่าทีมไหนจะชิงเก้าอี้ตัวสุดท้ายไปได้นั่นเอง
ต่อมาในฤดูกาล 2018/19 ทีมได้ตัดสินใจ Draft ดาวรุ่งอย่าง Michael Porter Jr. และ Jarred Vanderbilt เขาสู่ทีม โชคร้ายที่รายแรกที่มาพร้อมอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณหลัง ส่งผลให้ยังไม่สามารถลงเล่นได้ตลอดฤดูกาลนี้
อย่างไรก็ดี ด้วยการที่บรรดาแกนหลักเริ่มที่จะมีประสบการณ์และพัฒนาฝีมือได้มากขึ้น ส่งผลให้ทีมสามารถจบฤดูกาลด้วยสถิติ 54-28 คว้าอันดับ 2 ในฝั่งตะวันตก และเข้ารอบ Playoffs ได้อีกครั้ง แถมยังสามารถล้างอาถรรพ์ด้วยการผ่านเข้ารอบสองไปได้อีกด้วย ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Blazers ในเกมตัดสินของรอบสองไปอย่างน่าเสียดาย
พอมาถึงฤดูกาลล่าสุดหรือฤดูกาล 2019/20 ทั้ง Jokic และ Murray ก็ได้พัฒนาฟอร์มการเล่นจนกลายเป็นแกนหลักให้กับทีมอย่างเต็มตัวแล้วในตอนนี้ นอกจากทีมจะผ่านเข้ารอบ Playoffs ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ทีมยังทำสถิติพลิกกลับมาเข้ารอบจากการที่ตามหลังถึง 3-1 ได้ทั้งสองรอบใน Playoffs ฤดูกาลเดียวอีกด้วย ทั้งการพลิกชนะ Jazz ในรอบแรก และการพลิกชนะ Clippers ในรอบสอง ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Lakers ในเกมที่ 5 ของรอบชิงสายในที่สุด
ถึงแม้ว่าในฤดูกาลปัจจุบันทีมจะไม่ได้ทำการเสริมทีมมากนัก แต่ก็ยังหนึ่งในตัวเต็งที่จะทำอันดับเข้ารอบ Playoffs ในฤดูกาลนี้ได้อยู่ดี ตราบใดที่ Jokic และ Murray ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างต่อเนื่อง
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา