28 ธ.ค. 2020 เวลา 06:49 • ประวัติศาสตร์
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓
"วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
(น้อมรำลึกถึงมหาราชกู้แผ่นดิน)
พระราชปรารถนา
พระราชปรารถนา น้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
คำจารึกในศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี
1
"อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน"
"ย้อนอดีตกลับไป ๒๕๓ ปี"
สู่ห้วงเวลาไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ให้กับกองทัพพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
    "พระเจ้าตาก" รวบรวมผู้มีปณิธานกอบกู้ชาติได้จำนวนหนึ่ง ใช้เวลา ๗ เดือน ไล่ตีกองทัพพม่า กระเจิดกระเจิงพ้นราชอาณาจักรไป 
    กอบกู้เอกราชคืนแผ่นดินมาได้
    ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๐ ซึ่งตรงกับวันนี้ "๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓"
    คือ วันที่ "พระเจ้าตาก" ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
    หรือ "สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" หรืออีกพระนาม "สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔"
    สร้าง "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" เป็นราชธานีหรือเมืองหลวง แทน "กรุงศรีอยุธยา" ชาวบ้านเรียกวันนี้ ว่า
    "วันพระเจ้าตากนั่งเมือง"
    หมายถึง ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ไม่มีเวลาได้นั่งเลย ต้องยืน เดิน นอน วิ่ง ในสมรภูมิ ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและซากศพ กรำศึกตลอด
    แต่เมื่อได้ทรงนั่ง พระองค์ทรงนั่งช่วงเวลาสั้นๆ แค่  ๑๕ ปีเท่านั้น ก็เสด็จสวรรคต 
    ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๔๘ พรรษา เมื่อ ๖  เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕
    ด้วยพระมหากรุณาธิคุณสุดจะกล่าว ต่อยอด ยืนยาววัฒนาถาวรเป็น "กรุงรัตนโกสินทร์" ปัจจุบันยันอนาคตกาลมิสิ้นสุดนี้........
ในทุกวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี คือ "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
เมืองไทยนั้นเวลามีเรื่องยากก็จะให้คนทำงานเป็นมาทำ เมื่อเสร็จงานแล้วมักจะได้รับปัญหาในบั้นปลาย ชีวิตในบั้นปลายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังคงแฝงไว้ด้วยความมืดมน หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่า พระองค์ถูกพระยาสรรค์ทรยศ พระองค์ได้ตรัสห้ามไม่ให้คนใกล้ชิดพระองค์ได้ต่อสู้กับขบถตรัสว่า “ สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย ” พระองค์ได้ทรงผนวชที่วัดอินทารามและได้ทรงปลูกบัวหลวงเป็นอนุสรณ์
บ้างก็ว่าพระองค์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์และพระยาสรรค์เองก็ถูกประหารชีวิต พระบรมศพถูกฝังไว้ ณ บริเวณที่เป็นอุโบสถของวัดอินทารามในปัจจุบัน และได้ถวายพระเพลิงในเวลาต่อมา บ้างก็ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพียงในนามเท่านั้น พระองค์ดำรงเพศเป็นพระภิกษุประทับอยู่ในถ้ำที่วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี นครศรีธรรมราช จวบจนสิ้นพระชนม์ เรื่องราวที่เล่าขานกันต่อมา จึงเป็นเพียงเรื่องราวที่ต้องเล่าขานกันต่อไป
โฆษณา