Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สาระหลากด้าน ✅
•
ติดตาม
29 ธ.ค. 2020 เวลา 03:15 • ประวัติศาสตร์
"พระเจ้าติโลกราช" วีรกษัตริย์แห่งเมืองล้านนาผู้เกรียงไกร
เรื่องราวของวีรกษัตริย์พระนามว่า “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์แห่งเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” อาณาจักรล้านนาได้เรืองอำนาจจนขึ้นถึงจุดสูงสุดและยังเป็นที่เลื่องลือไปในบรรดาเมืองน้อยใหญ่ใกล้เคียง แม้แต่มหาอาณาจักรจีนยังได้บันทึกไว้ถึงความเกรียงไกรของอาณาจักรล้านนาภายใต้การปกครองของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนเหนือ พระองค์นี้เอาไว้
1
“พระเจ้าติโลกราช” หรือ “ท้าวลก” พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์มังราย ได้ทำสงครามขยายอาณาจักรล้านนาให้กว้างขวางจนเกิดสงครามกับอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรไดเวียต นอกจากนั้นพระองค์ยังเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอีกด้วย
พระราชประวัติของ “พระเจ้าติโลกราช”
“พระเจ้าติโลกราช” ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่เก้า แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้ปกครองนครพิงค์เชียงใหม่ ทรงมีพระนามเดิมว่า “เจ้าลก” เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.1952 ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ของ “พระเจ้าสามฝั่งแกน” ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาก็ทรงโปรดให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน (ปัจจุบันคือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่) ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้น ทัพของเจ้าลกยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้ (อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน)
การขึ้นครองราชย์สมบัติของ “พระเจ้าติโลกราช”
ต่อมามีอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ “สามเด็กย้อย” คิดเอาราชสมบัติให้ “เจ้าลก” จึงได้ซ่องสุมกำลัง และลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาไว้ที่เชียงใหม่ ในขณะที่ “พญาสามฝั่งแกน” ได้แปรพระราชฐานไปอยู่ที่เวียงเจ็ดริน เชิงดอยสุเทพ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อการก็ยกกำลังไปเผาเวียงเจ็ดรินแล้วจึงบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชย์ จากนั้นจึงไปกราบทูลเชิญเจ้าลกมาขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1985 โดยทรงมีพระนามว่า “พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช” เมื่อทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา ส่วนพระราชบิดานั้น พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาดในรัฐฉาน ประเทศพม่า และปูนบำเหน็จความชอบสามเด็กย้อยเป็น “เจ้าแสนขาน”
แต่อยู่มาได้เพียง 1 เดือน 15 วัน “เจ้าแสนขาน” ก็คิดก่อการเป็นกบฎอีก “พระเจ้าติโลกราช” จึงให้หมื่นโลกนคร พระเจ้าอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น “หมื่นขาน” และให้ไปครองเมืองเชียงแสน หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพอยุธยาของพระบรมราชาที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ที่ยกมารุกราน จากนั้นจึงทรงขยายแสนยานุภาพไปยึดครองเมืองน่าน และเมืองแพร่ได้สำเร็จ ทำให้เชียงใหม่สามารถรวมดินแดนทั้งหมดในล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก่อนจะขยายอาณาเขตต่อไปถึงแคว้นเชียงรุ่งสิบสองปันนา แคว้นเชียงตุง และหัวเมืองไทใหญ่ทั้งสิบเอ็ดหัวเมืองในเขตรัฐฉานทางภาคตะวันออก รวมทั้งยังแผ่อำนาจเข้าครอบงำอาณาจักรล้านช้าง และยังทำสงครามได้ชัยชนะเหนือกับกองทัพจีนจากมณฑลยูนนานที่ยกมารุกรานล้านนาอีกด้วย
1
สงครามล้านนากับอยุธยาครั้งแรกในสมัย “เจ้าสามพระยา”
อาณาจักรล้านนาในสมัย “พระเจ้าติโลกราช” ได้ทำสงครามครั้งแรกกับอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 หรือ “เจ้าสามพระยา” ต่อมาจึงทำสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถหลายครั้งด้วยกัน ในปี พ.ศ.1985 เจ้าเมืองเทิง แห่งอาณาจักรล้านนา (ปัจจุบันคือ อ.เทิง จังหวัดเชียงราย) ไม่พอใจที่ หมื่นโลกนคร แม่ทัพของพระเจ้าติโลกราช ติดตามไปฆ่าท้าวซ้อย เจ้าเมืองฝางที่แข็งเมือง และหลบหนีไปพึ่งบารมี จึงได้ขอสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จึงทรงถือเป็นโอกาสเสด็จยกทัพไปตีนครเชียงใหม่ ในขณะเดียวกัน พระเจ้าติโลกราชได้จับเจ้าเมืองเทิงประหารชีวิต กองทัพอยุธยาได้ถูกกลศึกของฝ่ายเชียงใหม่ปลอมตัวเป็นตะพุ่นช้าง (คนหาอาหารให้ช้าง) ปะปนเข้าไปในกองทัพเจ้าสามพระยาเมื่อได้จังหวะยามวิกาลจึงตัดปลอกช้าง ฟันหางช้างจนช้างแตกตื่นแล้วฟันนายช้างตาย กองทัพเชียงใหม่ได้ยินเสียงอึกทึกก็ได้ทียกเข้าตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายไป เจ้าสามพระยาได้พยายามอีกครั้งหนึ่งโดยยกทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเมืองเชียงใหม่แต่ประชวรสิ้นพระชนม์กลางทาง รวมการทำสงครามระหว่าง 2 อาณาจักร ยืดเยื้อยาวนานถึง 33 ปี (นับแต่ พ.ศ.1985 สมัยพระเจ้าสามพระยา ถึง พ.ศ.2018 สมัยพระบรมไตรโลกนาถ)
3
ต่อมาในปี พ.ศ.1994 “พญาสองแคว ยุทธิษเฐียร” ได้แปรภักดิ์จากอโยธยามาขอสวามิภักดิ์ต่อล้านนา ครั้น เมื่อทางอโยธยาทราบเรื่อง จึงยกทัพมาตี เมืองสองแคว ทว่าพญาสองแควได้อพยพผู้คนมาพึ่ง “พระเจ้าติโลกราช” หลังจากนั้นสงครามระหว่างเชียงใหม่กับอโยธยาก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง
สงครามล้านนากับอยุธยาครั้งที่สองในสมัย “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ”
ในช่วงแรกนั้น กองทัพเชียงใหม่ สามารถยึดเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัยได้ จนในปี พ.ศ.2008 “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” แห่งกรุงศรีอยุธยาต้องใช้วิธีออกผนวช และส่งสมณทูตมาขอบิณฑบาตรเมืองคืนแต่ “พระเจ้าติโลกราช” ไม่ทรงคืนให้ ด้วยเห็นว่ามิใช่กิจของสงฆ์
1
ต่อมา ทางกรุงศรีอยุธยาได้วางอุบายส่งไส้ศึกมาสร้างความปั่นป่วนในเมืองเชียงใหม่ โดยส่งพระเถระจากภุกามลอบเข้ามากระทำให้ “พระเจ้าติโลกราช” เลื่อมใส และหลอกให้ทรงตัดไม้นิโครธ อันเป็นศรีเมือง จนทำให้เชียงใหม่เกิดเรื่องวุ่นวายถึงขั้นที่พระเจ้าติโลกราชได้สั่งให้ประหาร “ท้าวศรีบุญเรือง” พระโอรสองค์เดียวของพระองค์ด้วยข้อหากบฏ และยังสั่งประหาร “เจ้าหลวงหมื่นด้งนคร” แม่ทัพใหญ่คู่บัลลังก์ ด้วยทรงเกิดระแวงว่า หมื่นด้งจะแปรภักตร์ไปเข้ากับกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์วุ่นวายทั้งหลายนี้ทำให้กองทัพเชียงใหม่อ่อนแอลง เป็นโอกาสให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาสามารถชิงเอาเมืองเชลียงกลับคืนไปได้ในปี พ.ศ.2017 และในปีต่อมา ล้านนา และอโยธยาก็ได้เจรจาสงบศึกกัน หลังสงครามกับกรุงศรีอยุธยายุติลง พระเจ้าติโลกราชได้ทรงหันมาใฝ่พระทัยในทางศาสนา โดยทรงโปรดให้สร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก และที่สำคัญคือ ทรงโปรดให้ทำสังคายนา พระไตรปิฎกในปี พ.ศ.2020 ณ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น “การสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลก”
5
สงครามล้านนากับอาณาจักร “ไดเวียต”
ในปี พ.ศ.2023 “เวียตนาม” ยกทัพใหญ่มารุกรานล้านช้าง และเมืองน่านที่เป็นประเทศราชของล้านนา “พระเจ้าติโลกราช” จึงทรงยกทัพไปปราบปราม และสามารถตีทัพใหญ่รี้พลสี่แสนนายของเวียตนามจนแตกพ่ายยับเยิน ชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้ทางจีนที่เป็นคู่ศึกกับเวียตนามในเวลานั้น ได้ยกย่องพระองค์ให้เป็นมหาราชผู้พิชิตแห่งตะวันตกโดยให้มีฐานะรองลงมาจากองค์ฮ่องเต้ นอกจากนั้นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิงของจีนยังทรงพระราชทานเครื่องยศ และทองคำจำนวนมากมามอบให้พระเจ้าติโลกราชเพื่อเป็นพระเกียรติอีกด้วย
การสวรรคตของ “พระเจ้าติโลกราช”
“พระเจ้าติโลกราช” เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2030 พระชนมายุ 78 พรรษา ครองราชย์รวมทั้งสิ้น 46 ปี หลังจากนั้น “พญายอดเชียงราย” พระนัดดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชนั้น นอกจากอาณาจักรล้านนาจะได้รวมกันเป็นปึกแผ่นเป็นครั้งแรกแล้ว ล้านนายังได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญอย่างที่สุดในทุกด้านอีกด้วย
สรุป “พระเจ้าติโลกราช” หรือ “ท้าวลก” ถือเป็นกษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่มีความยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนา ในช่วงแรกพระองค์อาจจะถูกกีดกันจากการครองราชย์แต่ก็มีขุนนางคนสนิทของพระบิดาพระองค์เข้ามาช่วยจนทำให้พระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์ แต่ก็ถูกขุนนางผู้ที่ช่วยให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ทรยศ จนสุดท้ายขุนนางคนนี้ก็ถูกโทษจำคุกและไปครองเมืองเชียงแสน ต่อมาพระองค์ก็ได้เริ่มทำสงครามขยายดินแดนจนเกิดสงครามครั้งแรกกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยเจ้าสามพระยาและสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในเวลาต่อมา นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรไดเวียต จนฮ่องเต้ของจักรวรรดิจีนส่งเครื่องบรรณาการและยกย่องพระองค์เป็นมหาราชผู้พิชิตแห่งตะวันตก และที่สำคัญพระเจ้าติโลกราชยังเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างมากเกิดการสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลกอีกด้วย สุดท้ายในปี พ.ศ.2030 พระเจ้าติโลกราช เสด็จสวรรคต พระชนมายุ 78 พรรษา ครองราชย์ 46 ปี
1
อ้างอิงจาก/ ข้อมูล : chiangmainews
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
1
23 บันทึก
17
1
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
"รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย"
23
17
1
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย