28 ธ.ค. 2020 เวลา 07:46 • ธุรกิจ
The Story of Slack
Slack Cofounder: Stewart Butterfield และ Cal Henderson (credit: slack.com)
ข่าวใหญ่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาก็คือเรื่องดีลการเข้าซื้อ Slack ของ Saleforce ในมูลค่าอภิมหาศาลถึง 27,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท 
แต่กว่า CEO และทีมงานของ Slack จะมาถึงวันนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ลองมาอ่านเรื่องราวของพวกเขาดู
ปี 2002 Butterfield ก่อตั้งบริษัท Ludicorp ขึ้นเพื่อผลิตเกมส์ ผ่านไปประมาณสามปี เกมส์ดังกล่าวล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่กลับกลายเป็นว่าหนึ่งฟีเจอร์ในเกมส์ที่ให้ผู้เล่นอัพโหลดและแชร์รูปกันกลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ฟีเจอร์ดังกล่าวภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อ Flickr ซึ่ง Yahoo เข้าซื้อ Flickr ด้วยจำนวน 20 ล้านเหรียญ นับเป็น tech startup แรกของ Butterfield ที่ประสบความสำเร็จในแง่การได้ exit อย่างสวยงาม
อย่างไรก็ดี หลังจากร่วมงานกับ Yahoo ประมาณสามปี Butterfield ก็ลาออกจาก Yahoo มาเปิดบริษัท Tiny Speck เพื่อสร้างเกมส์อีกครั้งในปี 2009 โดยวางแผนจะปล่อยเกมส์ web-base multiplayer ที่ชื่อว่า Glitch ภายในปลายปี 2010
Tiny Speck ได้เงินลงทุนมากถึง 5 ล้านเหรียญจากบริษัทลงทุนชื่อดังในรอบ Series A แต่ Glitch พลาดการเปิดตัวครั้งแรกตามที่ได้วางแผนไว้
ในปีถัดมา Tiny Speck ได้เงินลงทุนอีกจำนวน 10.7 ล้านเหรียญและได้ปล่อยเกมส์ Glitch เวอร์ชั่น beta ให้กับผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น ก่อนจะปล่อยตัวจริงในช่วงปลายปี 2011 อย่างไรก็ดี เพียงแค่สองเดือนหลังเปิดตัว Butterfield ดึงเกมส์กลับไปเป็นเวอร์ชั่น beta พร้อมให้เหตุผลว่าต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการสร้างประสบการณ์ที่ดีของผู้เล่นใหม่ๆ
Credit: Techcruch
หลังจากผ่านไปสามปี เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า Glitch ไม่น่าจะไปรอดเพราะไม่สามารถดึงผู้เล่นจำนวนมากพอที่จะสร้างรายได้ให้รันธุรกิจต่อไปได้ ในช่วงปลายปี 2012 Butterfield ออกมายืนยันเรื่องนี้ผ่านทาง Twitter ว่า Glitch ตายแล้ว
แต่ก็คล้ายๆ กับกรณี Flickr ที่อยู่ๆ เรื่องที่ไม่ได้วางแผนไว้กลับกลายเป็นอนาคตของบริษัทไปได้
ช่วงที่สร้างเกมส์ Glitch ทีมของ Tiny Speck กระจายตัวอยู่สามเมืองด้วยกันนั่นคือ New York, San Francisco, และ Vancouver เพื่อติดต่อสื่อสารกัน พวกเขาเลือกที่จะใช้ระบบ chat IRC (ใช่แล้ว IRC ที่เด็กยุค 90’s ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี) แต่อย่างไรก็ดี IRC ขาดฟีเจอร์และเครื่องมือที่เพียงพอกับการพูดคุยเรื่องงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยความที่บริษัทเต็มไปด้วยเหล่า engineer ดังนั้นถ้าอยากได้เครื่องมืออะไร ก็พัฒนากันขึ้นมากันเองซะเลย แน่นอนว่าทาง Butterfield ไม่ได้คิดวางแผนว่าจะเอาเครื่องมือที่ใช้กันภายในไปขายให้บริษัทข้างนอก แต่หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า Glitch ไปไม่รอดแน่ๆ ทาง Butterfield จึงลองดูสิ่งต่างๆ ที่ทีมสร้างขึ้นมาที่มีศักยภาพสามารถนำไปต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการ Pivot ระบบติดต่อสื่อสารตัวนี้ ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่า Slack ย่อมาจาก “Searchable Log of All Conversation and Knowledge” เรียกได้ว่าเป็นการเอาข้อดีของ Email, Chat, และ Knowledge Management มารวมไว้ในที่เดียวและใช้ได้แบบ real-time พร้อมๆ กันในทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อไว้ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อประสานงานของคนในองค์กรได้ดีกว่าระบบอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดในช่วงเวลานั้น
เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการจริงของตลาดทาง Tiny Speck จำเป็นต้องเพิ่มผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลและ feedback ไปพัฒนาระบบให้ดีขึ้นไปอีก และสร้างความมั่นใจว่ามันจะมีประโยชน์และเป็นที่ต้องการจริงๆ ดังนั้นทาง Butterfield จึงงัดทุก connection ที่เขามี พร้อมกับขอร้องเพื่อน คนรู้จักทั้งในและนอกวงการให้เปิดใจลองใช้งาน Slack กัน
นอกจากนั้นได้ใช้พลังของ PR ช่วยพลักดัน เพื่อชวนคนที่สนใจมาลงทะเบียนขอ invitation เพื่อใช้งาน Slack โดยภายในวันแรกหลังประกาศ มีคนขอเข้าใช้มากถึง 8,000 คน และภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นก็มีคนรอใช้งานมากถึง 15,000 คน และไม่กี่เดือนหลังจากนั้น Tiny Speck ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Slack Technologies ด้วยการออกแบบที่ใส่ใจประสบการณ์ผู้ใช้งานและความเข้าใจในความต้องการของคนทำงาน ทำให้ Slack มีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 1 ล้านบัญชีภายใน 18 เดือนหลังเปิดตัว
ในเดือนเมษายน ปี 2014 Slack ได้รับเงินลงทุน 42.75 ล้านเหรียญ และในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ได้เพิ่มอีก 120 ล้านเหรียญ ทำให้มูลค่าบริษัททะลุไปถึง 1,200 ล้านเหรียญทันที 
John Doerr หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลใน Silicon Valley ถึงกับบอกว่าตัวเขาไม่เคยเห็นการให้ความสนใจอย่างล้นหลามกับ software สำหรับองค์กรแบบนี้มาก่อนเลย
แม้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาโดยตลอดตั้งแต่เปิดตัว แต่ในปี 2016 Slack ก็เจอกับผู้ท้าชิงระดับ heavy weight ที่ชื่อว่า... Microsoft
ในปี 2016 Microsoft ผู้ที่มีพร้อมทุกอย่าง เงินทุน ฐานลูกค้า และทีมพัฒนา ตัดสินใจที่จะเข้ายึดครองตลาด โดยนำเสนอ product แบบเดียวกับ Slack แล้วผูกเข้ากับ Microsoft Office356 ช่วง 4 ปีที่ Slack เติบโต Microsoft Teams ก็สามารถสร้างฐานผู้ใช้งานได้ถึง 115 ล้านบัญชี เป็นที่มาของการยืนยันทฤษฎีว่า หากบริษัทเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Microsoft คิดจะกระโดดมาเล่นตลาดไหนแล้วละก็ พวกเขาสามารถทำได้ในสเกลที่ tech startup ไม่สามารถสู้ได้เลย
เรื่องราวแนวนี้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่พร้อมจะบดขยี้บริษัทที่เล็กกว่าเพื่อครองตลาดไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างตอนที่แล้วที่ได้เล่าเรื่อง Instagram (real) Story ไป หนึ่งในเหตุผลหลักที่ cofounder ทั้งสองคนของ Instagram ตัดสินใจเข้าร่วม Facebook เพราะพวกเขารู้ว่า หาก Facebook พัฒนา app คล้าย ของ Instagram ด้วยเงินทุนและ infrastructure ที่ Facebook มี ต่อไปทาง Instagram จะไม่มีทางสู้ได้เลย ดังนั้นแทนที่จะเสี่ยงกับการถูกบดขยี้ ยอมไปร่วมกับพวกเขายังจะดีกว่า
หรือในเคสของ Vevo ที่สุดท้ายต้องถอยทัพไปในปี 2018 เพราะไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจาก YouTube ได้ แม้จริงๆ แล้ว YouTube เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนใน Vevo ซะด้วยซ้ำ
ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา Slack พยายามต่อกรกับ Microsoft ถึงที่สุดเพื่อรักษาฐานการเป็นตัวเลือกของลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้งานระบบติดต่อสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อย่างว่า ด้วยชื่อชั้นของ Microsoft แล้ว ทาง Slack ยังห่างไกลอยู่มาก Slack พยายามทำทุกวิถีทาง ตั้งแต่ระดมทุนจากการ IPO ไปจนถึงยื่นฟ้องต่อ European Commission ในยุโรปเรื่องการผูกขาดทางการค้าของ Microsoft ที่แถม Microsoft Teams เข้ากับ Microsoft Office Suite การต่อสู้ของ Slack ก็ยังคงเหมือนไม้จิ้มฟันงัดกับท่อนซุง
แต่แล้วการต่อสู้ของ Slack น่าจะมีความหวังมากขึ้น หลังจากที่ทาง Butterfield ตัดสินใจเข้าไปคุยกับ Bret Taylor COO ของ Saleforce
ต้นปี 2020 ช่วงที่โควิดเริ่มเล่นงานเศรษฐกิจโลกใหม่ๆ ทาง Butterfield เข้าไปคุยกับ Taylor เพื่อหวังว่าจะขอซื้อ product ที่ชื่อว่า Quip ของ Saleforce เพราะ Butterfield เชื่อว่าจะสามารถเอามาต่อยอดและแข่งขันกับ Microsoft ได้ ทาง Taylor แจ้งว่าจะติดต่อกลับเพื่อให้คำตอบ แต่กลับกลายเป็นว่า 6 เดือนหลังจากนั้นกลายเป็น Saleforce จะเข้าซื้อ Slack แทน
ในมุมของ Saleforce มองว่าการได้ Slack มาจะทำให้ Saleforce ครบเครื่องยิ่งขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงระบบ CRM ต่อยอดมาเรื่อยๆ จนครอบคลุม marketing, customer service, data visualization และ Workflow แต่สิ่งที่ยังขาดก็คือ ระบบติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสำหรับยุคที่ทุกองค์กรล้วนตื่นตัวกับ digital transformation ในปัจจุบัน
ซึ่งทาง Butterfield ก็เห็นด้วยว่าการที่ Slack ไปเป็นส่วนหนึ่งกับระบบการทำงานสำหรับองค์กรที่ใหญ่กว่า น่าจะเป็นผลดีสำหรับลูกค้าผู้ใช้งาน แทนที่จะเอาเรื่องไปใส่ใน email กด link เป็น browser และ login เพื่อข้ามจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งนั้น ยุ่งยากและกินเวลาเกินไป ต่อไปทุกอย่างสามารถจบได้ใน message เดียวบน Slack
credit: slack.com
แม้ทั้งทาง Slack และ Saleforce จะไม่ยอมรับว่า การรวมกันนี้ก็เพื่อร่วมกันสู้กับ Microsoft แต่การรวมพลังแทนที่จะแยกกันสู้ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับทั้ง Slack และ Saleforce นอกจากนั้นในความเป็นจริง Slack ถือว่าเป็นที่ชื่นชอบเฉพาะในวงการสายนักพัฒนาและบริษัท tech เป็นส่วนใหญ่ แต่ในสายธุรกิจ Slack กลับไม่ได้เป็นทางเลือกที่เป็นที่นิยมมากนัก ต่างจาก Saleforce ที่อยู่ในใจของฝั่งผู้ใช้งานสาย sales และ marketing ค่อนข้างมากอยู่แล้ว ดังนั้นดีลนี้น่าจะส่งผลให้ Slack ไปอีกได้ไกลและสู้กับ Microsoft ได้สูสีมากยิ่งขึ้น
มาคอยติดตามกันต่อไปว่า Slack ที่เข้าร่วมค่าย Saleforce จะยืนระยะสู้กับ Microsoft ได้ไกลแค่ไหน เรามาลุ้นกันไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา