Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
31 ธ.ค. 2020 เวลา 10:06 • กีฬา
NBA The Player Part 9 : โดดเด่นในความกดดัน - 6 บทเรียนจาก Clutch Players
โดย วิธพล เจาะจิตต์
.
.
ในบรรดาผู้เล่นชั้นยอดของ NBA มีผู้เล่นอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะสร้างผลงานมหัศจรรย์ในช่วงเวลาคับขันของเกม หลายครั้งผู้เล่นเหล่านี้นำทีมกลับมาชนะในขณะที่คนดูเริ่มทยอยลุกเดินออกจากสนามเพื่อกลับบ้าน ส่วนผู้ชมทางบ้านก็เปลี่ยนช่องไปดูรายการอื่นแล้ว หลายหนผู้เล่นเหล่านี้ทำคะแนนตัดสินเกมสำคัญๆ แล้วกลายเป็นลูกยิงในตำนาน เรียกว่ายิ่งมีแรงกดดันมากเท่าไร ผู้เล่นพวกนี้ก็ยิ่งสร้างผลงานได้เป็นที่จดจำและกล่าวขวัญถึงมากขึ้นเท่านั้น
3
Credit: NBA
ผู้เล่นกลุ่มนี้ถูกเรียกขานว่า Clutch Players หลายคนมีชื่อในหอเกียรติยศ ไม่ว่าจะเป็น เจอร์รี เวสต์, แลร์รี เบิร์ด, เมจิก จอห์นสัน, ไมเคิล จอร์แดน, เรจจี มิลเลอร์, เรย์ อัลเลน, โคบี ไบรอันต์ และที่จะมีชื่อในหอเกียรติยศแน่ๆ ในอนาคต เช่น เลบรอน เจมส์ กับ สเตฟ เคอร์รี
ยังมีผู้เล่นอีกหลายคนที่อาจไม่มีชื่อในหอเกียรติยศ แต่เมื่อถามแฟนบาสเกตบอลว่าใครคือ Clutch Players ที่โดดเด่น ชื่อของ โรเบิร์ต ฮอร์รี, มาร์ค ไพรซ์, ชอว์นซี บิลล์อัพส์, สตีฟ เคอร์, จอห์น แพ็กสันส์ มักจะโผล่มาเสมอ
ปัจจัยอะไรทำให้ Clutch Players มีความสามารถโดดเด่นแตกต่างจากผู้เล่นอื่น Play Now Thailand จะมาถอดบทเรียนอันแสนมหัศจรรย์ จากผู้เล่นเหล่านี้ในบทความส่งท้ายปี 2020 กันครับ
- มองภารกิจที่ยากลำบากเป็นความท้าทายที่น่าสนุก : หากใครสักคนถาม เกร็ก โพโพวิช หัวหน้าโค้ชของซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ว่าถ้าทีมนำอยู่ 12 แต้มและเหลือเวลาอีก 33 วินาที จะมีโอกาสแพ้มั้ย เขาคงตอบว่าไม่มีทางที่ทีมวินัยสูงแบบสเปอร์สจะแพ้ เว้นแต่กรณีเดียวคือทีมคู่แข่งมี เทรซี แม็กเกรดี...
“ผมกลัวเขาจับใจ” เกร็กกล่าวพร้อมย้อนคิดถึงความหลังในวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2004 เมื่อแม็กเกรดีทำ 13 คะแนนใน 33 วินาที ปล้นชัยจากสเปอร์สให้ฮุสตัน ร็อกเก็ตส์กลับมาชนะ 81-80 เขายิง 3 คะแนนสี่ลูกในช่วงเวลานั้น แถมลูกหนึ่งในนั้นยังเรียกฟาวล์จาก ทิม ดันแคน ได้เป็นโฟร์พอยต์เพลย์อีกต่างหาก
หลังจบเกมแม็กเกรดีให้สัมภาษณ์ว่า “ผมดีใจมาก มันมหัศจรรย์จริงๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการชนะทีมแบบสเปอร์ส ผมไม่ได้เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่แรกหรอกครับว่าจะกลับมาชนะได้ แต่เวลายังไม่หมดมันก็ต้องลองลุ้นสู้กันไป สำหรับผมความท้าทายสนุกเสมอครับ”
1
ในชีวิตคนเรา หลายครั้งเรามองปัญหาเป็นเรื่องทุกข์ใจมากกว่าโอกาสพัฒนาตน มองอุปสรรคเป็นตัวทำลายความสุขมากกว่าสนุกที่ได้แก้ปัญหา ความท้าทายในชีวิตจึงเป็นเรื่องน่าท้อถอยชวนหลีกเลี่ยง เรามักเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ชีวิตและปรับปรุงตน ตลอดจนพลาดที่ได้รับรู้ถึงความปรีดาที่เกิดขึ้นหลังจากที่อุปสรรคคลี่คลาย
- ใส่ใจรายละเอียด เคารพและไม่มองข้ามคู่แข่ง : “โคบี คุณพัฒนาเกมการเล่นของคุณจนสมบูรณ์แบบได้ไงครับ” นักข่าวสำนักข่าวอีเอสพีเอ็นถามโคบี
Credit: YouTube
“ผมเป็นคนบ้าดูเทปบันทึกการแข่งขันน่ะครับ ผมนั่งดูได้เป็นวันๆ ไม่เบื่อเลย โดยเฉพาะก่อนเกมผมจะศึกษาว่าคู่แข่งที่จะประกบผม ‘เก่ง’ การป้องกันแบบไหน และคนที่ผมจะประกบ ‘เก่ง’ ทำแต้มแบบไหน”
โคบีเริ่มดูเทปผู้เล่นเก่งๆ ที่คุณปู่เขาส่งมาให้ตั้งแต่ 10 ขวบ สมัยที่เขาย้ายตามพ่อซึ่งไปเล่นบาสเกตบอลอาชีพที่อิตาลี และสร้างนิสัยการศึกษาคู่แข่งในรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง
1
“คุณรู้มั้ย ผมน่ะจอมขโมย ผมขโมยท่ากระโดดชู้ตมาจาก เจอร์รี เวสต์ (ตำนานทีมเลเกอร์ส) ส่วนการเล่นโพสต์อัพน่ะ ผมก็เลียนแบบท่า “ดรีมเช็ก” ของ ฮาคีม โอลาจูวอน แล้วก็การเลี้ยงบอลผ่านคู่แข่งแบบครอสโอเวอร์น่ะ ผมก็ดูต้นแบบจากไอเวอร์สันกับฮาร์ดอเวย์มาครับ คุณศึกษาจากคู่แข่งได้เยอะนะครับ” โคบีมักเล่าเรื่องที่เขาพัฒนารูปแบบการเล่นโดยเลียนแบบจากคู่แข่งด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มเสมอ
1
หลังเลิกซ้อมทีม ภาพชินตาของผู้เล่นเลเกอร์สที่เห็นกันทุกวันคือ ภาพโคบีซ้อมวิ่ง ซ้อมเคลื่อนที่ และซ้อมทำแต้มคนเดียวโดยไม่มีบอลในมือ ครั้งแรกที่ แชคิล โอนีล เห็นภาพนั้น เขาอดไม่ได้ที่จะถามโคบี “เฮ้โคบี นายกำลังทำบ้าอะไรอยู่นั่น!”
“ผมกำลังจินตนาการการตั้งรับแบบโซนของบอสตันอยู่น่ะ ว่าผู้เล่น 5 คนของเขาจะเคลื่อนที่ยังไง ทีมเราเซตแผนยังไง แล้วจะมีทางเลือกกี่ทางที่เราจะทำแต้มได้”
1
โคบีชอบจินตนาว่าเขาเป็นคนที่ได้ยิงลูกสำคัญๆ เสมอ และในจินตนาการของเขานั้นคู่แข่งที่มาประกบเขาไม่ได้เก่งน้อยลงเลย เรียกได้ว่าโคบีกดดันตัวเองแม้แต่ในโลกจินตนาการ เพื่อให้เขาทำได้ในโลกจริง
1
ต่างจากคนทั่วไปที่มักจะสร้างมโนภาพว่าเราประสบความสำเร็จเพราะเหนือกว่าคนอื่น เมื่อเจอสภาพความเป็นจริงที่ต่างจากภาพฝัน จึงไม่สามารถก้าวผ่านไปได้
- โฟกัสในสิ่งที่ต้องทำมากกว่าผลลัพธ์ : แฟนบาสเกตบอลทีมคลีฟแลนด์ คาวาเลียส์ ในยุค 80-90 มีศัตรูตัวเอ้ร่วมกันเพียงคนเดียว แต่พวกเขาโชคร้ายที่ผู้ชายคนนั้นชื่อ ไมเคิล จอร์แดน
คลิปวิดีโอเดอะช็อตที่จอร์แดนยิงใส่ เคร็ก อีห์โล ในเพลย์ออฟเกม 5 ปี 1989 ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเป็นหนึ่งในลูกยิงตัดสินเกมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ทว่าจอร์แดนไม่ได้ทำร้ายจิตใจแฟนคลีฟแลนด์เพียงครั้งเดียว ในเพลย์ออฟปี 1993 ก็เกิดเดอะช็อตที่ 2 เมื่อจอร์แดนยิง fade away ใส่ เจอรัลด์ วิลกินส์ ผู้เล่นที่คลีฟแลนด์ตั้งใจซื้อตัวมาทำหน้าที่ “ตัวหยุดจอร์แดน (Jordan Stopper)” โดยเฉพาะ แต่เขากลับมีชะตากรรมไม่ต่างจากอีห์โลเลย โดนลูกยิงตัดสินเกม แถมเป็นเกมที่ส่งคลีฟแลนด์ตกรอบกลับบ้านเหมือนกัน
หลังจบทั้งสองเกม จอร์แดนได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาให้เครดิตกับแผนที่ทีมเซตไว้ในช่วงเวลานอกมากกว่าลูกยิงของเขา แน่นอนว่าเขามั่นใจในตัวเอง แต่ก็ไม่มีวันแน่ใจว่าลูกยิงนั้นจะลงห่วงอย่างแน่นอน สิ่งที่เขาพูดเสมอคือ “ผมเน้นวิ่งตามแผน รับบอลตามจุดที่โค้ชสั่ง เลี้ยงไปในทิศทางตามเส้นที่โค้ชวาด แล้วรอจนกว่าคู่ประกบผมเสียจังหวะ จนผมเห็นห่วงชัดที่สุด ผมเน้นเฉพาะเรื่องนี้จริงๆ ส่วนที่เหลือก็เป็นผลจากการฝึกซ้อม”
1
มุมมองของจอร์แดนสะท้อนความเชื่อว่าการทำตามแผนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าตั้งใจเน้นทุกขั้นตอนผลลัพธ์ที่ต้องการจะตามมาเอง ต่างจากคนส่วนใหญ่ที่ในภาวะกดดันมักจะพะวงอยู่กับความสำเร็จมากกว่าจะใส่ใจในสิ่งที่ต้องทำ
1
- มุ่งมั่นและสมาธิ ฝึกใจให้ดีควบคู่กับทักษะ : เมื่อครั้งคลีฟแลนด์สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกที่ตามซีรีส์รอบชิง 1-3 เกม แล้วกลับมาชนะโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส 4-3 เกมในรอบชิงปี 2016 เลบรอน เจมส์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับซีรีส์นั้นไว้ว่า
“หลังจบเกม 4 ผมเพียงแค่คิดว่าต้องชนะไปทีละเกมเท่านั้น และตั้งใจจะทำมันให้ได้ทีละเกม ผมไม่เคยมีภาพอยู่ในใจเลยว่าเราจะกลับมาชนะซีรีส์ และผมไม่เคยบอกตัวเองว่าต้องชนะ 3 เกมรวดเลย ความคิดว่าเอาชนะไปทีละเกมทำให้ใจผมสงบและมีสมาธิขึ้น แน่นอนว่าพวกเขาเป็นทีมชั้นเยี่ยมและผมยิ่งต้องซ้อมมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในใจคุณ เกมที่ผ่านมาที่เราแพ้ไม่ใช่เพราะฝีมือ แต่เป็นเพราะใจที่ไม่นิ่งพอ พอใจคุณไม่นิ่งความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะสั่นคลอน”
ปัจจุบันเจมส์ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสมาธิและประโยชน์ของสมาธิต่อการแข่งขัน ในแอพชื่อ Calm เขาเล่าว่าเกือบทุกครั้งหลังจากฟังแผนระหว่างขอเวลานอกครั้งสำคัญ เขามักจะปลีกตัวเองออกมาใช้เวลาไม่กี่วินาทีหลับตาเพื่อเรียกสมาธิและสติกลับมา ก่อนจะลงไปเล่นในเพลย์สำคัญ เขาเชื่อเสมอว่า “ความกดดันเกิดขึ้นในใจไม่ใช่ในสนาม เราจึงต้องจัดการใจตัวเองให้พร้อมทำสิ่งที่ต้องทำในสนาม”
1
Credit: Calm
- ทุ่มเทฝึกซ้อม ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ : สเตฟ เคอร์รี ขึ้นชื่อเรื่องฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงและมีรูปแบบวอร์มอัพก่อนเกมที่ไม่เหมือนใคร จนช่วงหนึ่งถูกถ่ายทอดอย่างแพร่หลายผ่านสื่อสังคมต่างๆ การซ้อมหนักของเขาโดยเฉพาะการซ้อมยิง 3 คะแนน ส่งผลให้เขาเป็นผู้เปลี่ยนรูปแบบเกมบาสเกตบอลไปสู่การเล่นแบบสมอลบอล ล่าสุดในวันที่ 27 ธันวาคมนี้เอง หลังการฝึกซ้อมทีมตามปกติ เขาก็ซ้อมต่อส่วนตัวและยิง 3 แต้มลงติดต่อกัน 105 ลูกจนสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นต้องเอาไปกล่าวถึง ผู้ประกาศข่าวถาม สตีฟ เคอร์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าเคอร์รีรู้สึกยังไงเมื่อยิงลูกที่ 106 ไม่ลง เคอร์ตอบยิ้มๆ ขำๆ ว่า “ผมว่าเขาหัวเสียทีเดียวล่ะ”
Credit: YouTube
เคอร์รีเชื่อเสมอว่า “การฝึกซ้อมเป็นสิ่งเดียวที่สร้างความสมบูรณ์แบบ” และเขาก็แสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องในการยิงลูกสำคัญๆ เมื่อทีมต้องการ เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงซ้อมหนักเช่นนี้ เคอร์รีมักตอบว่า “ผมต้องพร้อมจะยิงลูกสำคัญเสมอ แม้ว่าจะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม”
ตอนที่เขาแข่งยิง 3 แต้มรอบแรกในสัปดาห์ออลสตาร์ในปี 2019 เขายิง 10 ลูกสุดท้ายลง ทำคะแนนรวมแซงเป็นที่หนึ่ง จนผู้บรรยายถึงกับกล่าวด้วยความชื่นชมฟอร์มของเคอร์รีว่า “นี่คือศิลปะ นี่คือความสวยงาม นี่คือผลของการฝึกหนัก นี่คือรูปแบบในอุดมคติของการชู้ตบาสเกตบอล โดยชู้ตเตอร์ที่อาจจะดีที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ลีกใหม่ครับ!!” ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นทั้งผู้ชมในสนาม ผู้ร่วมแข่งขัน รวมถึงผู้บรรยายด้วย ถ้าไม่กระโดดโลดเต้นก็ตาเบิกโพลงไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น มีเพียงคนสองคนที่ยินดีเป็นอย่างมากต่อผลงานเคอร์รี แต่ไม่ได้ส่งสายตาประหลาดใจ คนหนึ่งคือ เซธ เคอร์รี น้องชายสเตฟที่ร่วมแข่งในวันนั้น เขาเดินเข้ามาสวมกอดพี่ชายแสดงความยินดี อีกคนที่อยู่ในกลุ่มคนดู จิบน้ำพลางยิ้มน้อยๆ ซ่อนความดีใจไว้ภายใน คือ เดล เคอร์รี มือสามแต้มผู้เป็นพ่อที่เปี่ยมด้วยความภูมิใจ “ผมเห็นแบบนี้มาตั้งแต่สเตฟยังเด็กแล้วล่ะครับ”
เคอร์รีไม่ได้ถูกยกย่องในฐานะผู้เล่นที่มีพรสวรรค์ แต่เขาได้รับการยกย่องในฐานะผู้เล่นพรแสวงที่มุมานะ เพียรพยายาม มีวินัย มีจรรยาบรรณวิชาชีพสูง พัฒนาความสามารถจนเปลี่ยนแปลงรูปแบบเกมบาสเกตบอล และแน่นอนเขาไม่เชื่อว่าคนที่มีผลงานเด่นภายใต้ความกดดันจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีพรสวรรค์เท่านั้น
ไม่ใช่เคอร์รีคนเดียวที่มีความเชื่อเช่นนั้น แต่ชู้ตเตอร์ชั้นยอดอย่าง เรย์ อัลเลน, มาร์ค ไพรซ์ และ เคลย์ ทอมป์สัน คู่หูสแปลชบราเธอร์สของสเตฟ ก็มีความเชื่อแบบนี้เช่นกัน
- ไม่จำเป็นต้องแบกทุกอย่างไว้คนเดียว : หลายต่อหลายครั้งเรารู้สึกว่าต้องรับความกดดันหลายๆ อย่างไว้กับตัว โดยเราอาจจะลืมเหลียวมองคนที่พร้อมและเต็มใจช่วยเรา เหตุผลส่วนหนึ่งในทางจิตวิทยาคือ เมื่อเราเจอแรงกดดันเรามักจะผลักตัวเราให้ออกจากภาวะนั้นโดยเร็วที่สุด และวิธีที่ง่ายที่สุดคือทำให้เสร็จคนเดียว คนที่มีแนวคิดเช่นนี้อาจจะสามารถผ่านแรงกดดันได้ในบางครั้งแต่คงไม่ทุกครั้ง
ผู้เล่นแบบ โรเบิร์ต ฮอร์รี, สตีฟ เคอร์ และ จอห์น แพ็กซ์สัน เป็นผู้เล่นที่ทุกทีมอยากมีไว้เพราะช่วยลดแรงกดดันของผู้เล่นมือหนึ่งของทีม แถมยังช่วยสร้างทางเลือกในแผนพิชิตชัยได้อีกด้วย
“บิ๊กช็อตร็อบ” คือฉายาของฮอร์รี ผู้มีชื่อเสียงในการยิงลูกตัดสินเกมให้กับทุกทีมที่เคยสังกัดไม่ว่าจะเป็น ฮุสตัน ร็อกเก็ตส์, แอลเอ เลเกอร์ส หรือซานอันโตนิโอ สเปอร์ส เขาจะอยู่ในแผนการเล่นครั้งสำคัญเสมอ และเป็นทางเลือกของทีมเมื่อแผนแรกไม่เปิดให้มือหนึ่งของทีมได้ทำแต้ม ทั้ง ฮาคีม โอลาจูวอน, โคบี ไบรอันต์ หรือ ทิม ดันแคน มักมองหาฮอร์รีเสมอเมื่อตัวเองเจอทางตัน และฮอร์รีก็ไม่เคยทำให้พวกเขาเสียใจ
สตีฟ เคอร์ ใช้เวลาส่วนใหญ่บนม้านั่งสำรอง แต่เมื่อถึงคราวต้องคว้าชัยในรอบชิงปี 1997 ไมเคิล จอร์แดน กลับบอกเคอร์ให้เตรียมพร้อม เขาจะส่งลูกให้ถ้าดึงตัวประกบมาได้ และเคอร์ก็ไม่ทำให้จอร์แดนผิดหวัง
ส่วน จอห์น แพ็กซ์สัน การ์ดยิงบอลในชุดแชมป์ต่อเนื่อง 3 ปี 1991-1993 ของชิคาโก บูลส์นั้น ในเกมสำคัญไม่ว่าจะเป็นเกม 5 ของรอบชิงที่บูลส์โค่นเลเกอร์สลง 4-1 ได้แชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลีกในปี 1991 หรือในเกมที่เขายิงลูกตัดสินแชมป์ให้บูลส์เอาชนะฟีนิกซ์ ซันส์ในเกมที่ 6 ปี 1993 เขาไม่ได้เป็นทางเลือกที่ 2 รองจากจอร์แดน แต่เป็นทางเลือกแรกที่ทั้งทีมมอบความไว้วางใจให้ และในปี 1993 นั้นด้วยอายุของเขา แพ็กซ์สันต้องลดบทบาทลงมาเป็นตัวสำรอง
1
ถ้าจะถามว่าผู้เล่นที่ผมกล่าวถึงเป็นตัวแทนของคุณสมบัติข้อไหน ก็คงต้องขอตอบว่าพวกเขามีคุณสมบัติที่พูดถึงข้างต้นครบถ้วน แม้ว่าพวกเขาจะมีเวลาลงเล่นน้อยกว่าผู้เล่นหลักคนอื่นๆ ก็ตาม
ในทุกประเภทกีฬา ในทุกองค์กร และในทุกสังคม จะมีคนแบบฮอร์รี, เคอร์ และแพ็กซ์สันอยู่เสมอ ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่แก้ไม่ได้ด้วยฮีโร่เพียงคนเดียว หากเราสามารถหาเพื่อนผู้ช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นเจอ แรงกดดันที่เราเผชิญจะลดน้อยลงไปอย่างมาก เพราะมีกำลังใจจากความเชื่อมั่นและเชื่อใจมาเสริม
ปี 2021 ก็คงเป็นปีที่ยุ่งยากไม่น้อยกว่าปีนี้ และหลายท่านคงเผชิญกับความกดดันในรูปแบบต่างๆ แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านน่าจะรับมือกับแรงกดดันเหล่านั้นได้ดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนจาก Clutch Players ที่บทความนี้นำเสนอจะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย
สวัสดีปีใหม่ครับ
#โคบีไบรอันต์ #NBA #บาส #บาสเกตบอล #ClutchPlayers #จอร์แดน #เล่นเป็นเรื่อง
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม
https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand
7 บันทึก
29
11
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
NBA - The Player
7
29
11
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย