Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
24 ธ.ค. 2020 เวลา 11:19 • กีฬา
NBA The Player Part 8: ตัวตนและความสำเร็จ
โดย วิธพล เจาะจิตต์
“บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์และความดีงามของคำสอนแนะที่ครูแอ๋วมีต่อผู้เขียน”
.
.
ว่ากันว่านักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชอบ มักวางตัวได้ดีในกาลเทศะต่างๆ โดยเฉพาะต่อหน้าสื่อสาธารณะด้วยการให้สัมภาษณ์แบบฉลาดคิด ฉลาดพูด นักกีฬาเหล่านี้มักมีภาพลักษณ์ที่ดีและรักษาภาพที่ดีนั้นได้เสมอ ตัวอย่างเช่น ไมเคิล จอร์แดน, เมจิก จอห์นสัน, ทิม ดันแคน หรือ สเตฟ เคอร์รี ในยุคปัจจุบัน
1
Credit: Clutchpoint
เร็วๆ นี้ซีรีส์สารคดีกีฬาเรื่อง The Last Dance ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมไม่น้อย เมื่อ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานเดินได้ผู้เป็นฮีโร่ของคนรักบาสเกตบอลทุกรุ่นทุกวัย ได้เผยให้เห็นด้านที่สาธารณชนไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการท้าทายเพื่อนร่วมทีม การคอมเมนต์อย่างไม่เกรงอกเกรงใจเพื่อนร่วมอาชีพ หรือแม้กระทั่งความจริงที่ว่าเขาเคยชกต่อยกับ สตีฟ เคอร์ ระหว่างการฝึกซ้อม ในซีรีส์เดียวกันเรายังได้เห็นตัวอย่างการวางตัวของ สก็อตตี พิพเพน และ เดนนิส ร็อดแมน ซึ่งก็มีความเป็นตัวตนที่แตกต่างกันไป อย่างพิพเพนถือเป็นผู้เล่นที่เป็นที่รักของแฟนบาสเกตบอลแต่ไม่เท่าจอร์แดน และหลายครั้งก็ทำเอาแฟนๆ และเพื่อนร่วมทีมฉงนสนเท่ห์ในพฤติกรรมของเขา ส่วนพ่อคุณร็อดแมนนั้น แม้จะมีเสน่ห์และฝีมือเยี่ยมในเรื่องการรีบาวด์ แต่ความสำเร็จก็ไม่ยั่งยืนเท่าจอร์แดนและพิพเพน ด้วยพฤติกรรมส่วนตัวดึงความสำเร็จในอาชีพให้ต่ำกว่าที่ควรเป็น
หันมามองที่ สตีฟ เคอร์ เทพสามแต้มบ้าง ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นเพียงตัวสำรอง แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ทั้งเพื่อนร่วมทีมนับถือ และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายบริหารทีมตลอดจนบรรดาสื่อมวลชนอีกด้วย ซึ่งเมื่อเขาเลิกเล่นแล้วสื่อหลายสำนักได้ชวนเขาไปทำหน้าที่นักวิเคราะห์กับผู้บรรยายเกม ก่อนเขาจะผันตัวไปเป็นผู้บริหารทีมและโค้ชที่ประสบความสำเร็จ
1
อะไรทำให้ผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์เหล่านี้มีความสำเร็จที่แตกต่างกัน ตัวตนที่แท้จริงของนักกีฬาเหล่านี้เป็นอย่างไร การวางตัวในวาระโอกาสต่างๆ ถือว่าสูญเสียตัวตนไปหรือไม่
ในเรื่องตัวตนของแต่ละคน ครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ กูรูลำดับต้นของประเทศไทยด้าน Acting Coach และ Executive Coach ได้ให้แนวคิดในเรื่องนี้ไว้ว่า คนเรามี 3 ตัว ประกอบด้วย “ตัวที่ 1” คือตัวที่เป็นธรรมชาติของเรามากที่สุด คือตัวของเราที่ตื่นมาบนเตียงทุกเช้า จะหัวยุ่ง หน้าตายู่ยี่ ไร้วินัย ทำอะไรตามใจ ดูไม่หล่อไม่สวยเราก็ไม่สนใจเพราะไม่มีใครเห็น ตัวที่ 1 นี้คือตัวที่ลึกๆ แล้วทุกคนหวงแหนรักใคร่ ไม่อยากเสียไป เพราะกลัวว่าหากเสียไปจะสูญเสียตัวตนของเรา และที่สำคัญที่สุด ตัวตนที่ 1 นี้ เราต้องรดน้ำพรวนดินเพราะเป็นตัวจริงแท้ เป็นแก่นแท้ที่จะทำให้เราเป็นสุขอย่างแท้จริง ทำให้เรามีที่ทางเป็นส่วนตัวของเราเอง
ส่วน “ตัวที่ 2” คือตัวเราในสังคมที่เราใกล้ชิด คือบทบาทของเราในฐานะผู้นำครอบครัว สมาชิกของตระกูล พ่อของลูก ลูกของแม่ เพื่อนของมิตร สมาชิกของชุมชน เป็นตัวตนที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความรู้สึกที่มีต่อคนรอบข้าง ความเชื่อใจ การพึ่งพิงกันและกัน มองในอีกมุมหนึ่งตัวที่ 2 คือ “ตัวรับแขก” คือตัวที่ต้องทำไปตามความคาดหวังหรือความต้องการของภายนอกคือสังคมและคนอื่นๆ ไม่ได้เป็นตัวเองเต็มที่ ขึ้นกับกาละเทศะและความเหมาะควร
ตัวที่ 2 นี้แม้เราจะรักหวงน้อยกว่าตัวที่ 1 แต่ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากันเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การรักษาตัวที่ 1 ช่วยให้เรามีตัวตนที่แจ่มชัด แต่ถ้าไม่มีตัวที่ 2 ก็อาจทำให้เรารู้สึกอ้างว้างไร้คุณค่า เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง แต่ตัวที่ 2 ก็เป็นตัวที่วางกับดักตัวเองได้เช่นกัน เพราะถ้ายึดติดมากเกินไป จะทำให้ติดกับภาพลักษณ์และมายาได้ง่ายๆ ในที่สุดจะหาตัวจริงไม่เจอเพราะมัวแต่สร้างภาพ
ตัวสุดท้าย “ตัวที่ 3” คือตัวเราในที่ทำงาน ในสภาพแวดล้อมของมืออาชีพ เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้นำองค์กร เป็นเจ้าของกิจการ ตัวตนนี้สำคัญต่อเราเพราะเป็นกลไกสำคัญในความก้าวหน้าในอาชีพ เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นในกรณีของนักกีฬาก็คือค่าจ้างต่อฤดูกาลและรายได้จากสปอนเซอร์ สำหรับหลายคนตัวที่ 3 เหมือนบทละครที่ต้องเล่น เพราะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จจะตระหนักดีถึงความสำคัญของตัวตนที่ 3 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทิ้งตัวที่ 1 และตัวที่ 2 ไป เพียงแต่พวกเขารู้ดีว่ากาละเทศะใดควรจะเอาตัวไหนออกมาใช้
ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ล้มเหลวในชีวิตส่วนตัว ก็อาจเป็นได้ว่าชอบเอาตัวที่ 3 มาเล่นที่บ้าน เอาบทเจ้านายมาเล่นกับภรรยาและลูก ในขณะที่คนมีความสามารถสูงหลายคนไปได้ไม่ไกลเพราะดันเอาตัวเองที่อยู่บนเตียงมาที่ออฟฟิศ สร้างปรากฏการณ์เด็กแนวที่ไม่มีที่ยืนในที่ทำงาน
Credit: Netflix
กลับมาที่เรื่องบาสเกตบอลที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้น การที่ผู้ชมซีรีส์ The Last Dance ประหลาดใจกับด้านที่ไม่เคยพบเห็นของจอร์แดน ก็เพราะในอดีตแฟนบาสเห็นเฉพาะภาพที่ดีของตัวที่ 3 ของเขาเป็นส่วนใหญ่ ทว่าบางตอนในซีรีส์ถ่ายทำตอนที่เขาเลิกเล่นไปแล้ว จอร์แดนไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่าใครจะรู้สึกอย่างไรกับคอมเมนต์ที่เขาพูด ผู้ชมจึงได้เห็นตัวที่ 1 และตัวที่ 2 ของจอร์แดนบนจอ โดยเฉพาะตอนที่เขาใส่ขาสั้นมือคีบซิการ์ให้สัมภาษณ์นั้น ตัวที่ 1 ก็ออกมาเต็มๆ
2
จอร์แดนเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ตัวที่ 2 และตัวที่ 3 ขณะที่ยังเล่นบาสเกตบอลจนประสบความสำเร็จเป็นที่รักของแฟนๆ และเขายังมีความสุขได้หลังเลิกเล่น ไม่ใช่เพราะรวยล้นฟ้าหากแต่เป็นเพราะเขายังถนอมรักษาตัวที่ 1 ของเขาไว้เสมอ ปัจจุบันเขายังคงอยู่กับสิ่งที่รักคือบาสเกตบอล แต่เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้บริหารและเจ้าของทีม และใช้บทบาทตัวที่ 2 และ 3 ตามวาระโอกาสที่ควร
ในภาพชีวิตตรงกันข้าม ในวงการภาพยนตร์ ดาราบางคนปล่อยให้ตัวที่ 2 และตัวที่ 3 กลืนกินตัวที่ 1 จนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า อาทิ โรบิน วิลเลียมส์ ซึ่งติดกับภาพพจน์ตลก ให้ความบันเทิง เป็นได้หลายอย่างจนหาตัวเองไม่เจอ อีกคนก็ ฮีธ เลดเจอร์ ก็ติดหล่มบทบาทโจ๊กเกอร์จนซึมเศร้าคิดลบ และคิดสั้นในท้ายที่สุด หรือในฝั่งดาราหญิง มาริลีน มอนโร ก็ติดกับภาพลักษณ์เซ็กซ์ซิมโบล จนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้แบบผู้หญิงธรรมดาที่มีคนรักและสร้างครอบครัวที่เรียบง่ายได้เลย
1
Credit: LA Times
เมื่อคราว โคบี ไบรอันท์ จมในวิกฤติชีวิตด้วยข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากพยายามต่อสู้คดีความในระดับหนึ่ง เขาตัดสินใจยอมรับผิดและแถลงข่าวกล่าวขอโทษแฟนบาสเกตบอลและสังคม โดยมีภรรยาอยู่เคียงข้างในงานแถลงข่าว ถือเป็นตัวอย่างชั้นดีในการจัดการวิกฤติ เพราะโคบีใช้สปิริตความเป็นมืออาชีพของตัวที่ 3 แสดงความรับผิดชอบต่อวงการบาสเกตบอล และเมื่อมีภรรยาอยู่ร่วมกับเขา ก็ถือเป็นการถนอมรักษาตัวที่ 2 ไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้ในท้ายที่สุดเขาผ่านวิกฤติชีวิตในครั้งนั้น และกลับมายิ่งใหญ่ได้ดังเดิม
ในกรณีการออกสื่อ The Decision ของ เลอบรอน เจมส์ คราวที่เขาตัดสินใจทิ้งทีมคลีฟแลนด์ คาวาเลียส์ ไปร่วมทีมไมอามี ฮีท แล้วก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่แฟนบาสคลีฟแลนด์ บางคนถึงกับออกมาเผาเสื้อแข่งของเจมส์ ก็เป็นตัวอย่างของการไม่ให้เกียรติสังคม ไม่ได้คำนึงถึงความอ่อนไหวเพียงพอกับความสำคัญของตัวที่ 2 ของเจมส์ซึ่งสำคัญกับคนมลรัฐโอไฮโอ ในฐานะที่เป็นยอดนักบาสที่เกิดในเมืองแอครอน เล่นมัธยมในโรงเรียนของรัฐ และเข้าสู่ลีกกับทีมประจำรัฐ เหตุการณ์ครั้งนั้นเปลี่ยนเจมส์จาก ฮีโร่ของบ้านเกิด เป็นผู้ร้ายที่คนบ้านเกิดสาปส่ง จนกระทั่งเจมส์ย้ายกลับมาร่วมทีมคลีฟแลนด์อีกหน และช่วยทีมคว้าแชมป์ในปี 2016 พร้อมกล่าววลีเด็ด “คลีฟแลนด์!!! แชมป์นี้เพื่อคุณ!!!” เขาถึงได้กลับไปเป็นที่รักของคนคลีฟแลนด์ดังเดิม เนื่องเพราะตัวที่ 2 ของเจมส์ได้ถูกสร้างขึ้นมาในใจของแฟนบาสบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าจะพูดถึงนักบาสที่มักจะนำตัวที่ 1 มาซ้อม มาแข่งขัน และมาออกสื่อเสมอ คนนั้นคือ เดนนิส ร็อดแมน ซึ่งในด้านหนึ่งพฤติกรรมส่วนตัวก็เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบาส เพราะมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เขามีอาชีพนักบาสที่ยืนยาวและประสบความสำเร็จเช่นคนอื่น ทั้งๆ ที่ด้วยความสามารถเนื้อแท้แล้ว เขาสามารถก้าวไปสู่การเป็นรีบาวน์เดอร์ที่เก่งที่สุดตลอดกาลได้เลย ในช่วงที่ร็อดแมนประสบความสำเร็จและมีฟอร์มการเล่นที่ดี เขาต้องพึ่งพาโค้ชระดับเทพที่เข้าใจตัวตนของเขา และพร้อมโอบรับความแปลกแยกด้วยใจ เช่น โค้ชชัค เดลีย์ ของดีทรอยต์ พิสตันส์ โค้ชฟิล แจ็กสัน ของชิคาโก บูลส์ แต่ก็ไม่ใช่ว่านักบาสเด็กแนวทุกคนจะโชคดีแบบร็อดแมนนะครับ และถึงจุดนี้แฟนบาสคงคาดเดาได้ง่ายๆ ว่าชีวิตส่วนตัวร็อดแมนนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเขาไม่เคยมีตัวที่ 2 เลย อย่างไรก็ตามเขาก็ยังมีความสุขกับโลกที่เป็นที่ทางของเขา เพราะตัวที่ 1 ของเขายังอยู่เสมอ
1
หันมามองซูเปอร์สตาร์ สเตฟ เคอร์รี ผู้เล่นที่ว่ากันว่าเป็นชูตติ้งการ์ดที่เก่งสุดเท่าที่เคยมีมากันบ้าง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเคอร์รีเป็นที่รักของแฟนและวงการ เป็นอีกคนหนึ่งที่จัดการตัวตนทั้ง 3 ตัวของเขาได้ดีมาก แม้ว่าจะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่าในส่วนตัวที่ 1 นั้น เคอร์รีเป็นคนที่มีบุคลิกซับซ้อน เข้าถึงยาก และไม่ง่ายที่จะเข้าใจ แต่ด้วยการดำรงตนในส่วนของตัวที่ 2 อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรักต่อครอบครัว การสนับสนุนภรรยาในรายการโชว์ปรุงอาหาร หรือเมื่อตอนรับรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของลีกแล้วเขากล่าวว่าตนเองได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อ ตลอดจนการให้ผลงานในสนามพูดแทนตัวที่ 3 ของเขา ก็ช่วยให้ภาพในเชิงลบนิดๆ ของตัวที่ 1 ไร้ความหมายในการรับรู้ของสาธารณชนไปเลย นี่เป็นอีกตัวอย่างของการบริหารตัวที่ 2 และ 3 ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เคอร์รีมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับตัวที่ 1 ได้เสมอ
ภาษิตที่ว่า “ดูหนังดูละครย้อนดูตัว” นั้นถือว่าเป็นข้อคิดที่น่าสนใจหยิบยกมาใช้ประโยชน์เสมอ ทำนองเดียวกันกับข้อคิดที่ว่า “การยกย่องฮีโร่ที่ดีที่สุด ก็คือการเรียนรู้จากเขา” นักกีฬาชั้นยอดของโลกทุกคนโดยพื้นฐานก็เป็นมนุษย์ปุถุชน ย่อมมีข้อดีข้อเสียซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากพวกเขาเหล่านั้นได้ เพื่อมาปรับใช้กับสูตรสำเร็จในงานและชีวิตของเรา
2
ท่านผู้อ่านล่ะครับ ในตอนนี้ท่านใช้ตัวตนไหนแสดงบทอะไรกันอยู่บ้างครับ
#จอร์แดน #สเตฟเคอร์รี #บาส #บาสเกตบอล #TheLastDance #บอลไทย #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม
https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand
19 บันทึก
69
16
40
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
NBA - The Player
กีฬาหลากมุมคิด
19
69
16
40
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย