2 ม.ค. 2021 เวลา 02:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP33
“กองทุนทองคำและกองทุนน้ำมัน”
สวัสดีครับ และแล้วเราก็มาถึงกองทุนกลุ่มสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดนะ นั่นคือกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำและน้ำมัน ซึ่งทั้งสองตัวนี้ จัดว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)
แล้วสินค้าโภคภัณฑ์มันคืออะไร?
(ตอบ) สินค้าโภคภัณฑ์เป็นคำเรียกรวมๆของสินค้า ที่ไม่ว่าจะผลิตที่ไหนในโลกก็จะมีคุณสมบัติเหมือนๆกัน และ มีความต้องการใช้งานทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ทองคำ, น้ำมัน, เหล็ก, ทองแดง, ข้าวโพด, ยางพารา, ถั่วเหลือง ฯลฯ ซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์จะมีการกำหนดราคากลางให้ใช้เหมือนกันทั่วโลก
ในบ้านเรา นอกจากกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ และ กองทุนรวมที่ลงทุนน้ำมัน แล้ว ยังมีกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆด้วย แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ ขออนุญาตไม่พูดถึงนะครับ
ที่สำคัญคือกองทุนในกลุ่มนี้ เป็นกองทุนกลุ่มที่เคยบอกใน EP7 ว่าเป็นกลุ่มอินดี้ คือต่อให้เราถือไว้นานๆ มันก็ไม่แน่ว่าจะได้กำไร ซึ่งเราเคยเห็นกราฟ NAV กองทุนทองคำและกองทุนน้ำมันมาแล้วใน EP แรกๆ วันนี้เราลองไปดูกราฟราคาทองคำระยะยาวกันดีกว่า
จากรูปเป็นกราฟราคาทองคำตั้งแต่ปี คศ.1971 (พ.ศ. 2514) จะเห็นว่า ถ้าเราซื้อทองคำในปี คศ. 1981 (พ.ศ. 2524) แล้วถือยาวมา 26 ปี จนถึงปี คศ. 2006 (พศ.2549) เราจะยังขาดทุนอยู่นะครับ คุณพระ!!
อีกช่วงเวลาที่น่าจะมีคนเจ็บกันเยอะ (รวมผมด้วย 555) คือถ้าเราซื้อทองคำในปี คศ.2011 (พศ. 2554) เราจะติดดอยอย่างยาวนานจนเพิ่งจะมาหลุดดดอยเอาปี คศ.2020 (พศ.2563) นี่เอง สิริรวมเวลาติดดอยทั้งหมด 9 ปี ถถถถถ
กลับมาที่ตัวกองทุนนะครับ ไอ้เจ้ากองทุนทองคำเนี่ย เขาก็จะไปลงทุนในทองคำให้ NAV ของกองทุน มีการเคลื่อนไหวเหมือนกับราคาทองคำนั่นแหละ ไม่ได้เข้าไปซื้อๆขายๆทอง เพื่อให้ได้กำไรระยะสั้นๆ
ถ้าเราไปซื้อกองทุนทองคำ เงินเราก็จะเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงไปตามราคาทองคำในตลาดโลก
(ถาม) ในเมื่อมันเดาทางไม่ได้ แล้วเราจะซื้อทำไมล่ะครับ
(ตอบ) เพื่อกระจายความเสี่ยง ในกรณีที่เราลงทุนเป็นพอร์ทโฟลิโอครับ
ถ้าเราลงทุนเป็นพอร์ทโฟลิโอเนี่ย เราจะลงทุนในกองทุนหลายๆกอง โดยมีจุดประสงค์ให้พอร์ทโดยรวมมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และ ถ้าเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา ผลตอบแทนของพอร์ทจะต้องไม่ติดลบมาก ดังนั้นกองทุนที่เลือกมา จะต้องมีกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงข้ามกัน เพื่อคอยถ่วงไม่ให้พอร์ทแกว่งมาก
ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆในวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าหุ้นตกยับเลย แต่ทองกลับมีราคาแพงขึ้นมาถึงขั้นทำสถิติใหม่ ถ้าในพอร์ทเรามีแต่กองหุ้น ผลตอบแทนของพอร์ทก็จะดิ่งเหวกระจุยกระจาย
แต่ถ้าเรามีกองทุนทองคำในพอร์ทด้วย กำไรจากกองทุนทองคำก็จะไปหักลบกับการขาดทุนของกองหุ้น ทำให้พอร์ทโดยรวมเราไม่แย่มาก
(ถาม) แล้วทำไมทองถึงวิ่งสวนกับหุ้นล่ะครับ?
(ตอบ) จริงๆก็ไม่ได้วิ่งสวนกันเสมอไปหรอกครับ แต่เวลาเกิดวิกฤตอะไรที่ทำให้หุ้นตกเยอะๆ ทองมักจะวิ่งสวนหุ้น
เหตุผลคือ หุ้นถือเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากๆ แต่ทองคำเนี่ย เขาถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มูลค่าของมันก็จะยังมีอยู่แน่ๆ
ขยายความคือ ถ้าเราถือหุ้น บางทีหุ้นก็มีโอกาสที่จะราคาหล่นไปเหลือ 0 ได้ ว่ากันตามทฤษฏีนะ แต่ทองคำถึงจะราคาตกลงไปแค่ไหน มันจะไม่เหลือ 0 แน่ๆ แต่เหลือเท่าไหร่ก็อีกเรื่องนะครับ
ด้วยธรรมชาติของทองคำที่ว่ามา ทำให้ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อะไรทำให้นักลงทุนเกิดความกลัว ไม่แน่ใจในการลงทุน เขาจะย้ายเงินจากสินทรัพย์เสี่ยง ไปซื้อทองคำกัน ในวงการเลยเรียกทองคำว่าเป็น “สินทรัพย์แห่งความกลัว” แบบในช่วงวิกฤตโควิดนี่เป็นตัวอย่างทีดีมากๆ
(ถาม) แล้วเราควรซื้อกองทุนทองคำหรือเปล่า
(ตอบ) ขึ้นอยู่กับวิธีการครับ ถ้าลงทุนเป็นพอร์ทโฟลิโอ แน่นอนว่าคำตอบคือควรซื้อแหละ
นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีที่เคยเห็นคือ กลุ่มนักลงทุนที่ชอบซื้อทองเก็บ กลุ่มนี้เขาคอยติดตามราคาทองคำตลอด และจะมีราคาทองคำในใจว่า เท่านี้ราคาถูกซื้อได้ แล้วพอราคาขึ้นไปแพงๆก็ขายทำกำไร ก็จัดว่าเป็นการเก็งกำไรแบบนึงนะครับ
การลงทุนผ่านกองทุนทองคำจะดีกว่าการซื้อทองจริงๆมาเก็บ ตรงที่เราไม่ต้องปวดหัวเรื่องการเก็บทองไว้ที่บ้าน เดี๋ยวมีคนมาขโมย หรือ เก็บไว้ดีเกิน เป็นอะไรไปขึ้นมา ลูกหลานหาไม่เจออีก จะไปเช่าตู้เซพธนาคารก็มีค่าใช้จ่าย ประมาณนี้
ส่วนวิธีที่ผมแนะนำนั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนทองคำ เนื่องจากผมจะแนะนำให้แบ่งเงินใช้จ่ายเป็น แผนระยะสั้น-กลาง-ยาว แล้วซื้อกองทุนที่ตอบโจทย์กับระยะเวลาที่เราต้องการจะใช้เงินก้อนนั้น ซึ่งวิธีนี้จะง่ายต่อการทำความเข้าใจ และการบริหารจัดการมากกว่า
โดยเงินส่วนที่ลงทุนระยะยาว เราต้องทำใจยอมรับว่า ในระหว่างทางโดยเฉพาะช่วงวิกฤตพอร์ตเราจะติดลบบ้างเป็นเรื่องปกติ
การที่เราจะเพิ่มกองทุนทองคำเข้ามานั้น มันจะมีข้อเสียคือตอนหุ้นขึ้นเยอะๆ พอร์ทเราจะโดนถ่วงโดยกองทุนทองคำที่ไม่ขึ้นตามหุ้นนั่นเอง หรือ ราคาทองคำอาจจะร่วงสวนทางกับหุ้นก็ได้นะ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนนั้นไม่มีวิธีการตายตัว ใครที่ทนดูพอร์ทตัวเองติดลบเยอะๆไม่ได้ การซื้อกองทุนทองคำเพื่อช่วยให้พอร์ทไม่แกว่งมากก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ต้องดูสัดส่วนที่เหมาะสมด้วยนะครับ
สำหรับท่านไหนที่สนใจ การคัดเลือกกองทุนทองคำในเว็บ Morningstar สามารถทำได้ตามนี้นะครับ
เลือก Commodities Precious Metals ตามรูป
จากนั้นก็ไปดูผลตอบแทนระยะยาวๆ ลองเรียงที่ 10 ปีดูก่อนนะ
จะเห็นว่าผลตอบแทน 1 ปี นี่โหดสัสรัสเซียมากๆ แต่ผลตอบแทน 10 ปีนี่คืออะไร ก็อย่างที่คุยกันไปนะครับ ปีนี้วิกฤตโควิดราคาทองขึ้นมามาก เรื่องนี้เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย
ส่วนวิธีการเลือกกองทุนทองคำนั้นให้ดูที่
1. การป้องกันค่าเงิน ให้ดูที่คำว่าเฮดจ์ (Hedge) ถ้ามี แปลว่ามีการป้องกันค่าเงิน
2. ผลตอบแทน
3. ค่าธรรมเนียม
ดูแค่นี้พอ
ตามรูป เฮดจ์ หรือ H คือมีการป้องกันค่าเงิน UH คือไม่มีการป้องกัน อย่างไรก็ตามบางกองก็ไม่บอกในชื่อนะ ต้องเข้าไปดูใน Fund Fact Sheet อีกทีเพื่อความแน่นอนนะครับ
1
มาต่อกันที่กองทุนน้ำมันกันเลย สั้นๆเลยว่าไม่แนะนำยิ่งกว่ากองทุนทองคำ ด้วย 2 เหตุผล
เรื่องแรกคือความอินดี้เหมือนๆทองคำเลย
เรื่องสอง อันนี้สำคัญ คือเมื่อก่อนราคาน้ำมันสามารถขึ้นไปสูงๆได้ ตามที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตเขาจะปรับลด/เพิ่มกำลังการผลิต แต่เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ขึ้นมาใช้ ด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้
เรื่องนี้ทำให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันต้องพยายามไม่ให้ราคาน้ำมันสูงเกินไป เพราะราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะทำให้น้ำมัน Shale Oil สามารถเข้ามาแข่งขันได้ ดังนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงแบบในอดีตนั้น คงไม่เกิดขึ้นแล้ว
เมื่อราคาน้ำมันขึ้นไปได้จำกัด กองทุนที่ลงทุนในน้ำมันจึงไม่น่าสนใจอีกแล้วเช่นกัน
คิดว่าน่าจะพอเห็นภาพของกองทุนทองคำและน้ำมันกันนะครับ หลักๆคือไม่แนะนำแหละ แต่อยากให้รู้ไว้ว่าที่ไม่แนะนำนั้นมันมีที่มาที่ไปยังไง จะได้เห็นภาพนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา