9 ม.ค. 2021 เวลา 02:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP34
“กองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษี”
สวัสดีครับ วันนี้มาถึงกองทุนกลุ่มสุดท้ายจริงๆเสียที นั่นคือกองทุนกลุ่มที่เราสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า กองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่เรารู้จักกันในชื่อกองทุน SSF และ กองทุน RMF นั่นเองๆๆๆๆๆ (เสียงเอ็คโค่)
จริงๆแล้วกองทุนกลุ่มนี้ ก็ไม่เชิงว่าเป็นอีกกลุ่มนะ เพราะมันก็จะลงทุนเหมือนกองทุนทั้งหมดที่เราคุยกันมาแล้ว
(ถาม) อ้าวเฮ้ย ยังไงครับพี่
(ตอบ) คือกอง SSF และ RMF สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์แบบเดียวกับกองทุนที่เราเคยคุยกันมาน่ะครับ แต่ที่เพิ่มตเมขึ้นมาก็คือ มีเงื่อนไขในการซื้อ และการถือ (ถือคือการซื้อแล้วเก็บไว้)
เราไม่สามารถซื้อเท่าไหร่ก็ได้ และ ไม่สามารถขายเมื่อไหร่ก็ได้ ตามอำเภอใจ ซึ่งเราต้องดูจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้
อะไรนะ กลัวว่าเราจะไม่รู้ว่าเป็นกองทุน SSF หรือ RMF เหรอ
ไม่ยากๆ กองทุนกลุ่มนี้ดูจากชื่อก็รู้แล้วว่าไม่ใช่กองทุนแบบทั่วไป โดยชื่อภาษาอังกฤษจะมีคำว่า SSF (ภาษาไทย กองทุนรวมเพื่อการออม) หรือ RMF (ภาษาไทย กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ) แบบที่เราเคยเห็น (และเราตัดออกไป) ตอนคัดกองทุนนั่นเอง
จากรูปจะเห็นว่าสินทรัพย์ที่กองทุน SSF และ RMF สามารถไปลงทุนได้นั้นเหมือนกองทุนทั่วไปเป๊ะๆ สมมติกองทุน SSF ไปลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ เราก็จะเรียกว่ากองทุน SSF ตลาดเงิน และ ถ้าเจอ RMF ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ก็เรียกว่า กองทุน RMF หุ้นต่างประเทศ
สรุปคือกองทุนที่เราคุยกันมาทั้งหมด มันก็เป็นได้ทั้งกองทุนทั่วๆไป และ กองทุน SSF, RMF นั่นเอง ดังนั้นตอนคัดกองทุนในเว็บ Morningstar เราจึงเห็นกองทุน SSF, RMF ปนเข้ามาด้วยบ่อยๆ
เรื่องของกองทุน SSF และ RMF ที่เจอว่าเข้าใจผิดกันบ่อยมากก็อย่างเช่น
- เข้าใจผิดว่ากองทุนทั้งหมดมีแต่ SSF, RMF เท่านั้น และ ซื้อขายตามใจไม่ได้ทั้งหมด
- เข้าใจผิดว่ากองทุน SSF, RMF ซื้อขายได้ตลอด อันนี้ก็จะโดนค่าปรับกันไป
แล้ว SSF กับ RMF นั้นต่างกันยังไง, เงื่อนไขที่ว่าเป็นแบบไหน เราลองไปดูทีละตัวกันนะครับ
กองทุน SSF (Super Saving Fund – กองทุนเพื่อการออม)
เป็นกองทุนที่มาแทนกองทุน LTF นะครับ เราสามารถซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึง พ.ศ.2567 หลังจากนั้นต้องมาดูกันอีกรอบว่าจะเปลี่ยนเป็นกองทุนแบบอื่น หรือ ต่ออายุ SSF ออกไป
เงื่อนไขของกองทุน SSF
- ในแต่ละปี เราจะซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ในปีนั้นๆ และ ไม่เกิน 200,000 บาท
- ต้องถือไว้ 10 ปีบริบูรณ์ (นับวันชนวัน) เป็นอย่างน้อย ถึงจะขายได้
- ขายได้ตามจำนวนหน่วยลงทุนที่ครบอายุ ก้อนไหนครบอายุก่อน ขายได้ก่อน อันนี้ในวงการจะเรียกว่า First In First Out หรือ FIFO (ออกเสียงว่าไฟโฟ่)
เช่น ซื้อกองทุน SSF วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 จำนวน 100 หน่วย และ ซื้อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 อีก 200 หน่วย
เราจะสามารถขายกองทุน SSF ได้ 100 หน่วยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2573 เป็นต้นไป และ สามารถขายอีก 200 หน่วยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2574 เป็นต้นไป
ซึ่งในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2574 นี้สมมติว่าเรายังไม่ได้ขาย 100 หน่วยแรก เราก็จะสามารถขายทั้งหมด 300 หน่วยทีเดียวก็ได้
- ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการซื้อต่อเนื่อง ซื้อปีไหนลดหย่อนในปีนั้น จะไม่ซื้อนานกี่ปีก็ได้
RMF (Retirement Mutual Fund - กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ)
ลักษณะเด่นของกองทุน RMF คือจะไม่มีปันผลนะครับ ต่อให้กองทุน RMF นั้นเป็นหน่วยลงทุนที่อยู่กับกองทุนที่มีปันผล แต่หน่วยลงทุนที่เป็น RMF จะไม่มีปันผลอยู่ดี
เงื่อนไขของกองทุน RMF
- ในแต่ละปี เราจะซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ในปีนั้นๆ และ ไม่เกิน 500,000 บาท
- ต้องถือไว้ 5 ปีบริบูรณ์ (นับวันชนวันจากวันที่ซื้อครั้งแรก) และ ต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ถึงจะขายได้
- ต้องซื้อต่อเนื่อง ห้ามเว้นเกิน 1 ปี และไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ จะซื้อเท่าไหร่ก็ได้อย่าเกินโควต้าในปีนั้นก็พอ
เช่น เราซื้อครั้งแรกปี พ.ศ. 2563 แล้วปี พ.ศ. 2564 ไม่ได้ซื้อ แปลว่าในปี พ.ศ. 2565 เราต้องซื้อแล้วนะครับ ไม่งั้นจะผิดเงื่อนไขและโดนปรับ ซึ่งตรงนี้ถ้าคิดจะซื้อ RMF แนะนำว่าควรซื้อทุกปีไปเลย จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการลืม
- สามารถขายได้ทั้งหมดในทีเดียวถ้าครบตามเงื่อนไข
เช่น เราซื้อ RMF ครั้งแรก วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 และมีการซื้อต่อเนื่องมาตลอดทุกปี
ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568 ถ้าเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว เราสามารถขายหน่วยลงทุนที่มีทั้งหมดได้เลย
*** ยอดซื้อรวมทั้งหมดของกองทุน SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำนาญข้าราชการ และ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญในปีนั้นๆต้องไม่เกิน 500,000 บาท ***
การปรับในกรณีทำผิดเงื่อนไข
1. ซื้อเกินโควต้า ส่วนที่ซื้อเกินจะนำไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ และ ถ้าขายหน่วยลงทุนได้กำไร ต้องเอากำไรไปรวมคำนวณภาษี
2. ขายก่อน
กรณีขายกองทุน SSF ก่อนกำหนด
- เงินที่ขายจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
- คืนภาษีที่เคยได้ลดหย่อนจากยอดเงินที่ซื้อ จะโดนดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือนด้วย
- เงินที่ขายได้กำไร ต้องนำมารวมคำนวณภาษี
กรณีขายกองทุน RMF ก่อนกำหนด เราจะต้องคืนภาษีได้เคยได้ลดหย่อนจากยอดซื้อย้อนหลัง 5 ปี
3. ซื้อ RMF ไม่ต่อเนื่อง
จะโดนคล้ายๆขายก่อนกำหนด คือเราต้องคืนภาษีที่เคยได้ลดหย่อนของปีก่อนๆทั้งหมด
จะเห็นว่านอกจากการซื้อเกินแล้ว กรณีอื่นๆการโดนปรับจะค่อนข้างแรงเนาะ ดังนั้นถ้าคิดจะซื้อ SSF และ RMF อย่าทำผิดเงื่อนไขจะดีที่สุดนะครับ
ในส่วนของการเลือกกองทุน SSF และ RMF ง่ายมาก ก่อนอื่นเราต้องเลือกก่อนว่าเราจะลงทุนใน SSF หรือ RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์ตัวไหน พอเลือกได้แล้วก็เลือกเหมือนกับกองทุนกลุ่มนั้น
เช่น จะเลือกกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เราก็เลือกเหมือนตอนเลือกกองทุนหุ้นต่างประเทศเลย ง่ายมะ 5555
โดยการที่จะเลือกดูเฉพาะกองทุน SSF และ RMF ในเว็บ Morningstar ทำได้ตามนี้เลย
RMFEQ คือ กอง RMF ที่ลงทุนในหุ้น (หุ้นต่างประเทศก็จะอยู่ในกลุ่มนี้)
RMFFIX คือ กอง RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้
RMFMIX คือ กอง RMF ที่ลงทุนแบบผสม เหมือนกองทุนผสมนะครับ
RMFOTH คือ กอง RMF ที่ลงทุนในทองคำ, น้ำมัน และ สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ
SSF คือ กองทุน SSF นั่นแหละ
(ถาม) ทำไมกองทุน SSF ที่ลงทุนได้ในสินทรัพย์หลากหลาย ถึงมีให้เลือกแค่ SSF เฉยๆล่ะครับ?
(ตอบ) กองทุน SSF เพิ่งจะมีการเปิดขายในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีแรก และ เป็นปีที่มีวิกฤตโควิดพอดี
ผลของวิกฤตโควิดทำให้ดัชนี SET ตกลงไปเยอะมาก ดังนั้นกอง SSF ที่ขายในช่วงแรกจึงเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก เพื่อดึงเงินไปช่วยพยุงไม่ให้ตลาดหุ้นตกแรงมาก
กองทุน SSF ที่ขายช่วงแรกนี้มีชื่อว่า SSFX ซึ่งขายอยู่ 3 เดือน (1 เมษายน – 30 มิ.ย. พ.ศ. 2563)
และเนื่องจากการจัดตั้งกองทุนนั้น พูดได้ว่าเป็นงานที่ไม่ได้จะทำกันง่ายๆ ต้องมีงานเอกสาร และ จัดเตรียมบุคคลากร บลาๆ จะให้เปิดกองมาเพื่อขายแค่ 3 เดือนมันก็ดูน้อยเกินไป
ทาง บลจ. ทั้งหมดจึงเปิดขายกองทุน SSFX 3 เดือน แล้วขายกอง SSF ที่มีนโยบายเหมือนกอง SSFX ต่อเนื่องไปเลยในกองเดียวกัน โดยมีการแบ่งเป็นหน่วยลงทุน SSFX (ขาย 3 เดือน) และ หน่วยลงทุน SSF ที่ขายต่อจากนั้น
ด้วยเหตุนี้ กอง SSF เกือบทั้งหมดที่เราเห็นในปี พ.ศ. 2563 จึงมีแต่กอง SSF ที่ลงเน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลักนั่นเอง อย่างไรก็ตามปลายปี พ.ศ. 2563 เริ่มเห็นกอง SSF ที่ลงทุนในต่างประเทศบ้างแล้ว
แล้วเราควรซื้อกอง SSF และ RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์ตัวไหนดี?
(ตอบ) ครับ เนื่องจากโดยเงื่อนไขแล้วเนี่ย กอง SSF เราต้องถือ 10 ปี และ RMF เราต้องถือต่ำๆก็ 5 ปี ส่วนตัวแนะนำให้ซื้อกอง SSF และ RMF ที่ลงทุนในหุ้นไปเลย เพราะไหนๆก็ต้องถือยาวๆอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวจะได้คุยกันใน EP ถัดๆไปเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุนครับ
ส่วนที่ว่าเราควรซื้อกองทุน SSF, RMF เท่าไหร่ เพื่อจะได้ลดภาษีได้เท่านั้นเท่านี้ เรื่องนี้เขียนไว้ในออมให้เงินโตนะครับ หาอ่านได้ในลิ้งก์ด้านล่าง
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา