16 ม.ค. 2021 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP35
“การลดความเสี่ยงจากการลงทุน”
สวัสดีครับ หลังจากรู้จักกองทุนมาหมดทุกประเภทแล้ว ยังเหลืออะไรให้เขียนอีกเหรอครับ 5555
(ตอบ) เหลือสิครับ หลังจากที่เราเลือกกองทุนได้แล้ว วิธีต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุน ไม่ใช่เฉพาะแค่กองทุนนั้นๆ แต่เป็นกองทุนทั้งหมดที่เราลงทุนที่มักจะเรียกกันว่าพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio)
จริงอยู่ว่า การที่เราเลือกกองทุนที่ทำผลงานได้ดี และ มีความเสี่ยงต่ำกว่ากองอื่นๆในกลุ่มเดียวกันก็จัดว่าเป็นการลดความเสี่ยงระดับหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังจำกันได้ตอนที่เราคุยกันถึงเรื่องความเสี่ยงนั้น เรารู้ว่า ยิ่งเรารู้จักสิ่งที่เราลงทุนมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งหาทางลดความเสี่ยงได้มากขึ้นอีก โดยจะยังได้ผลตอบแทนเท่าเดิม และสิ่งที่รู้จักแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงเพิ่มได้อีกมี 3 ข้อด้วยกัน
1. ติดตามการดำเนินงานของกองทุน
2. DCA (Dollar Cost Average)
3. จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง
1. ติดตามการดำเนินงานของกองทุน เรื่องนี้ควรทำทุกๆ 3-6 เดือน
กองทุนรวมเนี่ย เราเลือกจากข้อมูลในอดีต ดังนั้นในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าผลงานที่เคยทำได้ดี อาจจะไม่เหมือนเดิม เราจึงต้องคอยติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ในเมื่อเราผ่านการคัดเลือกกองทุนรวมมาแล้ว ข้อนี้ทำได้ไม่ยากฮะ อย่างแรกเลยคือเซพ Fund Fact Sheet เก็บไว้ และทุกครั้งที่มีฉบับใหม่ออกมา ก็ควรตรวจสอบว่าทางกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือเปล่า
ที่สำคัญคือการเก็บตารางและกราฟ ที่เราเปรียบเทียบกองทุนไว้ เพื่อดูว่าพอเวลาผ่านไปแล้วเนี่ย กองทุนที่เราซื้อยังทำผลงานได้ดีเมื่อเทียบกับความเสี่ยงหรือเปล่า โดยเทียบกับตัวมันเองในอดีต และ เทียบกับกองทุนกองอื่นที่เราเคยเปรียบเทียบตอนคัดเลือกนั่นเอง
ตรงนี้มีทริคนิดหน่อย สำหรับกองทุนหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active เราสามารถเปรียบเทียบกองทุนนั้น กับกองทุน Passive ที่ลงทุนในดัชนีเดียวกัน เพราะกองทุน Active ที่ดีควรมีผลงานชนะกอง Passive นะฮะ คือตราบใดที่ยังชนะดัชนีอยู่ก็ถือว่าโอเคแหละ
2. DCA (Dollar Cost Average)
จากที่เราเลือกๆกองทุนกันมา เราจะเห็นว่า NAV ของกองทุนมันก็ขึ้นๆลงๆ หรือที่เรียกกันว่าผันผวนนั่นแหละ ส่วนจะผันผวนมาก หรือ ผันผวนน้อยก็อยู่ที่ประเภทของกองทุน
การซื้อกองทุนตูมเดียวเป็นเงินเยอะๆ (Lumpsum) สำหรับกองทุนเสี่ยงต่ำอย่าง กองตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (ในช่วงที่ไม่ใช่วิกฤตนะ) ก็ดูจะไม่เสี่ยงอะไร เพราะ NAV มันผันผวนน้อย
แต่ถ้าเราไปซื้อตูมเดียวเยอะๆ กับกองทุนผันผวนสูง ขึ้นๆลงๆแรงๆ มันก็แลดูเสี่ยงไป โดยเฉพาะหลังจากที่เราซื้อแล้ว ถ้า NAV ขึ้นเรื่อยๆก็ดีไป แต่ถ้าลงแรงๆ เราก็จะทำได้แค่นั่งดูการขาดทุนตาปริบๆ การทำ DCA ก็เลยเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้
DCA ปกติเราก็จะเรียกทับศัพท์กันไปว่า ดีซีเอ (ยังไม่เคยได้ยินใครเรียกว่า ดีค่า) มันคือการซื้อกองทุนแบบต่อเนื่องเป็นจำนวนเท่าๆกัน ที่แนะนำคือซื้อเดือนละครั้ง (เคยมีคนทำเดือนละหลายครั้ง ซึ่งผลในระยะยาวไม่ต่างกันเท่าไหร่) ซึ่งแต่ละครั้งไม่ต้องตรงวันเดียวกันเป๊ะๆ หรือ จำนวนเท่ากันเป๊ะๆก็ได้ครับ
สมมุติว่าเราจะ DCA เดือนละ 2,000 บาท ทุกวันที่ 30 ของเดือน เราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ 2,000 บาทเป๊ะๆ ทุกวันที่ 30 เป๊ะๆก้ได้ครับ อาจจะซื้อวันที่ 27 เป็นเงิน 1,800 บาทก็ได้นะ คือมันไม่ต้องเป๊ะมาก เอาที่เราสะดวก
แต่ถ้าใครอยากทำ DCA แบบเป๊ะๆ หรือ กลัวลืม สามารถติดต่อ บลจ. ให้เขาทำ DCA ให้เราได้นะครับ วิธีนี้ต้องทำเรื่องและกรอกเอกสารยินยอมให้เขาหักบัญชี พอทำเรื่องเสร็จ ทาง บลจ. จะหักเงินเราไปซื้อกองทุนในวันที่เรากำหนด เป็นจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน แบบเป๊ะๆเลย ถ้าว่าวันที่กำหนดดันตรงกับวันหยุด ทาง บลจ. ก็จะซื้อและหักเงินในวันทำการถัดไป
อย่างที่คุยกันไป การทำ DCA นั้น ถึงจะเหมาะกับการซื้อกองทุนที่มีความผันผวนสูงๆ แต่กองทุนเสี่ยงต่ำก็สามารถทำได้นะครับ โดยนอกจากจะได้ฝึกวินัยการเงินแล้ว NAV ที่เราได้ในการซื้อแต่ละครั้งมันจะทำให้ต้นทุนเราลดในระยะยาวได้ กล่าวคือ
เมื่อ NAV ถูกลง แล้วเราซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม เราจะได้หน่วยลงทุนเยอะ
เมื่อ NAV แพงขึ้น แล้วเราซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม เราจะได้หน่วยลงทุนน้อยลง
จะเห็นว่า ถ้าถูกเราจะซื้อได้เยอะ แล้วถ้าแพงเราจะซื้อได้น้อย ซึ่งการทำแบบนี้ในระยะยาวต้นทุนเราจะค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ
แต่ทว่า ถึงเราจะทำ DCA มาเป็นเวลานาน อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บางปีที่เกิดวิกฤตสามารถทำให้เราต้องขาดทุนอย่างช่วยไม่ได้ เช่นในปี พ.ศ. 2563 นี้แหละ
ลองไปดูของจริงกันดีกว่า สมมุติว่าเรา DCA กองทุน TMB50 มาเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2563 โดยซื้อกองทุนทุกเดือนด้วยเงิน 1,000 บาท จะเป็นยังไง
ดูกันที่ขวาสุดก่อนเลย ปัจจุบัน (พ.ศ.2563) ขาดทุนอยู่นะครับ เพราะกราฟที่เป็นต้นทุน (เส้นสีแดง) อยู่สูงกว่า NAV ของกองทุน (เส้นสีฟ้า) โธ่ ถัง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูย้อนกลับไปเรื่อยๆทางซ้าย เราจะเห็นว่า ช่วงเวลาที่ขาดทุนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีแค่ 2 ช่วงสั้นๆ คือช่วงกลางปี พ.ศ.2558 ถึง ต้นปี พ.ศ. 2559 และ ช่วงปี พ.ศ.2563 นี่เอง นอกนั้นได้กำไรมาตลอด
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราสามารถเตรียมตัวรับวิกฤตได้หรือเปล่า?
(ตอบ) จากสถิติและประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงปี พ.ศ. 2540 หรือ วิกฤตซับไพร์มช่วงปี พ.ศ.2550 วิกฤตจะเข้ามาและผ่านไปภายในเวลา 1-2 ปี สิ่งที่เราจะทำได้ในกรณีที่เรา DCA ก็คือทำความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะมีปีที่วิกฤตบ้าง
ถ้าจุดประสงค์ของการลงทุนคือการเก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ เราอาจจะเตรียมเงินให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายล่วงหน้าประมาณ 3-5 ปี กะว่าพอสำหรับการรอให้วิกฤตผ่านไปแน่ๆ ถ้าปีไหนที่ยังไม่เกิดวิกฤต เราก็ขายกองทุนมาเติมเงินในก้อนนี้ ให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย 3-5 ปีไปเรื่อยๆ
เช่น พอเราใช้เงินส่วนของ 1 ปีหมดไป เราก็ขายมาเติมอีก 1 ปีไปเรื่อยๆ ให้พอสำหรับ 3-5 ปี ซึ่งเงินส่วนนี้อาจจะเก็บในธนาคารหรือกองทุนเสี่ยงต่ำพวกตลาดเงิน ตราสารหนี้ในประเทศ
พอมีวิกฤตเกิดขึ้น เราจะได้มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายโดยที่ไม่ต้องขายกองทุนในระหว่างวิกฤต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้ขายขาดทุน รอให้วิกฤตผ่านไปก่อน (1-2 ปี) แล้วค่อยขายกองทุนมาเติมเงินก้อนนั้น
อย่างไรก็ตามยังมีตัวช่วยอีกตัวหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่ขาดทุนมากในวิกฤต เราไปดูข้อ 3 กันต่อนะครับ
3. จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง
การจัดพอร์ตเนี่ย ถ้าเราไปเรียนแบบเป็นเรื่องเป็นราว เขาจะมีการสอนจัดพอร์ตลงทุนที่เรียกว่า Asset Allocation แปลไทยได้ว่า “การจัดทัพลงทุน” อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำการจัดพอร์ตแบบง่ายต่อความเข้าใจ และใช้งานได้จริงก่อนเนาะ ถ้าใครอ่านจบแล้ว รู้สึกว่าอยากรู้ลึกกว่านี้ ก็ลองเอาคำว่า Asset Allocation ไปค้นต่อได้นะครับ
การจัดพอร์ตแบบง่าย เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1. การจัดพอร์ตแนวตั้ง เพื่อตอบโจทย์การใช้เงินของเรา ในช่วงเวลาต่างๆกัน
2. การจัดพอร์ตแนวนอน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง
ไปดูแนวตั้งกันก่อน
การจัดพอร์ตแนวตั้งนั้นอาจจะมีผลอ้อมๆเรื่องการลดความเสี่ยง แต่จุดประสงค์หลักๆคือการจัดสรรเงินไปไว้ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการใช้เงินของเรา ซึ่งเราจะดูจากเวลาที่เราต้องการใช้เงินในส่วนนั้น โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ
- ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี ผลิตภัณ์ทางการเงินที่แนะนำ เงินฝากธนาคารสำหรับเงินเก็บฉุกเฉิน, กองทุนตลาดเงิน, กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
- ระยะกลาง 1-7 ปี ผลิตภัณ์ทางการเงินที่แนะนำ กองทุนตลาดเงิน, กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือ แม้แต่กองทุนผสมถ้าใครรับความเสี่ยงได้
- ระยะยาว มากกว่า 7 ปีขึ้นไป ผลิตภัณ์ทางการเงินที่แนะนำ กองทุนหุ้นทั้งในและต่างประเทศ
เรื่องการจัดสรรเงินตามระยะเวลาที่เราจะใช้นั้นสำคัญมากๆ ถ้าไม่ทำ บอกเลยว่าเสี่ยงมาก
ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเก็บตังค์ต่อเดือนได้ 5,000 บาท แต่เราไม่วางแผนระยะสั้น เอาไปลงกองทุนหุ้นเป็นแผนระยะยาวหมดเลย ต่อให้ทำ DCA ก็เถอะ พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา แล้วต้องการใช้เงินก้อนพอดี ก็จำเป็นต้องขายกองทุนหุ้นแบบขาดทุน เพื่อเอามาใช้จ่าย
ดังนั้นการจัดพอร์ตการลงทุนที่ดี ควรไล่จากระยะสั้นไปหาระยะกลาง และ ระยะยาวตามลำดับ
ในระยะสั้นๆ ที่ต้องมีทุกคนเลยก็คือเงินเก็บฉุกเฉิน 3-6 เดือน ส่วนใครจะเก็บไว้มากกว่านั้น เช่น 1 ปี หรือ มีหลายส่วน เช่น ส่วนนี้เก็บฉุกเฉิน อีกส่วนสำหรับไปเที่ยว อันนั้นแล้วแต่แผนของแต่ละคนเลยนะครับ หลักๆที่แนะนำก็จะเป็นไปตามรูปนี้
แผนใช้จ่ายรายเดือน และ แผนป้องกันความเสี่ยงเคยเขียนไว้แล้วใน ออมให้เงินโต หาอ่านได้ในลิ้งก์ท้ายบทความนะครับ
ส่วนการจัดพอร์ตแนวนอนนั้น เราจะลงไปดูกันในแต่ละช่วงเวลา ว่าเราจะจัดสรรเงินในช่วงนั้นยังไงบ้าง ยกตัวอย่างให้ดูเป็นแนวทางนะครับ
แผนระยะสั้น จุดประสงค์คือ เงินใช้ฉุกเฉิน (สมมุติว่า 1 ปี และ มีแผนเก็บเงินสำหรับไปเที่ยวละครั้ง)
ต้องเอาเงินออกมาได้ตลอด และ ตอนเอาเงินออกมาต้องไม่ขาดทุนแน่ๆ กำไรน้อยช่างมัน
- เงินเก็บฉุกเฉินสำหรับใช้จ่าย 6 เดือนแรก ฝากธนาคารบัญชีออมทรัพย์ สามารถถอนได้ตลอดเวลา
- เงินเก็บฉุกเฉินสำหรับใช้จ่าย 6 เดือนหลัง กองทุนตลาดเงิน / ตราสารหนี้ระยะสั้น ในกรณีที่เงิน 6 เดือนแรกเริ่มจะเอาไม่อยู่ก็ขายกองทุนไปช่วย
- เงินเก็บสำหรับไปเที่ยว 50,000 บาท กองทุนตลาดเงิน จะไปเที่ยวเมื่อไหร่ก็ขายกองทุนออกมา
แผนระยะกลาง จุดประสงค์เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ๆ เตรียมเงินก้อน เพื่อ เรียนต่อ, แต่งงาน ฯลฯ
ขอกำไรสูสีเงินเฟ้อก็พอ และ ตอนเอาเงินออกมาโอกาสขาดทุนต้องน้อย
- ดาวน์รถในอีก 3 ปี กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
- ดาวน์คอนโดในอีก 5 ปี กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
ในกรณีที่แผนยาวๆ 5-7 ปี และรับความเสี่ยงได้ อาจจะแบ่งไปลงกองทุนหุ้นได้บ้างนะครับ
แผนระยะยาว จุดประสงค์ เงินใช้หลังเกษียณ
ระยะสั้นยอมรับการขาดทุนได้ แต่ ยาวๆขอกำไรเยอะ
- แผนเกษียณ กองทุนหุ้น แบ่งเป็น กองทุนหุ้นไทย 30% กองทุนหุ้นอเมริกา 40% กองทุนหุ้นจีน 30%
สัดส่วนที่แบ่งแบบนี้ มาจากที่เราไปดูดัชนีของทั้งบ้านเรา, อเมริกา และ จีน ซึ่งเราเห็นว่าแต่ละประเทศก็มีช่วงเวลาที่ดี และ ช่วงเวลาที่แย่ ถ้าเรามองภาพในอนาคตไม่ออก ก็เฉลี่ยๆลงทุนให้พอๆกันแบบนี้ ก็จะพอช่วยลดความเสี่ยงได้
แต่ถ้าใครมองว่าบ้านเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจไม่น่าโตแบบในอดีตอีกแล้ว จะลดสัดส่วนของกองทุนหุ้นในประเทศไปลงในกองทุนรายอุตสาหกรรมบ้างก็ได้ เช่น กองทุนหุ้นไทย 20% กองทุนหุ้นอเมริกา 40% กองทุนหุ้นจีน 30% กองทุนกลุ่มเทคโนโลยี/สุขภาพ 10%
1
จะเห็นว่า แผนระยะสั้นกับระยะกลาง เราไม่ต้องกระจายความเสี่ยงมากก็ได้ เพราะลงทุนในกองทุนที่เสี่ยงต่ำอยู่แล้ว ถ้าอยากจะกระจายก็อาจจะแบ่งแต่เงินที่มีจุดประสงค์ในการใช้ต่างกันเป็นคนละกอง เช่น เก็บเงินดาวน์รถซื้อกองทุน A เก็บเงินดาวน์คอนโดซื้อกองทุน B
ส่วนแผนลงทุนที่จำเป็นต้องเน้นกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศก็คือแผนระยะยาวนั่นเอง
สำหรับใครที่เสียภาษี แผนระยะสั้นกับระยะกลาง ซื้อกองทุนทั่วๆไปดีกว่า ส่วนแผนระยะยาวแนะนำให้ซื้อกองทุน SSF, RMF เพราะไหนๆก็ต้องถือยาวๆแล้ว ลงทุนในกองหุ้นไปเลยจะดีกว่า
แต่ถ้าอายุเกิน 50 ปีแล้ว จะลงทุนใน RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ก็สามารถทำได้นะ เพราะถือไว้ 5 ปีก็จะขายได้แล้ว
ในส่วนของการคำนวณ ว่าเราต้องเก็บเงินเท่าไหร่ ถึงจะพอใช้ในอนาคตนั้น เรื่องนี้เขียนไว้แบบละเอียดในออมให้เงินโตแล้ว ขออนุญาตไม่เอามาฉายซ้ำอีกในเนื้อหาตรงนี้เนาะ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา