3 ม.ค. 2021 เวลา 06:17 • การศึกษา
[ตอนที่ 2] CEFR – ระดับทักษะภาษาต่างประเทศที่น่าสนใจ และเกณฑ์การประเมินทักษะภาษาของตนเอง
Common European Framework of Reference for Languages “กรอบอ้างอิงโดยทั่วไปสำหรับภาษาแห่งยุโรป” หรือเรียกชื่อย่อว่า CEFR เป็นตัวบ่งชี้ที่ใช้บอกผลสัมฤทธิ์หรือทักษะของผู้เรียนภาษาต่าง ๆ ในยุโรป ผลักดันโดยสภายุโรป (Council of Europe) ในโครงการ “การเรียนภาษาสำหรับชาวยุโรป” ใน ค.ศ.1989-1996 เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาต่าง ๆ ในยุโรป
ในปี ค.ศ.2001 สภาแห่งสหภาพยุโรป (Council of European Union) ส่งเสริมให้ใช้ CEFR เป็นระบบวัดทักษะความสามารถทางภาษาต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 6 ระดับ และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปนิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ทักษะทางภาษาต่างประเทศรายบุคคล
ระดับทั้ง 6 ระดับของตัวบ่งชี้ทักษะภาษาต่างประเทศ CEFR ได้แก่...
ระดับต่าง ๆ ของระดับทักษะภาษาแบบ CEFR [ที่มาของภาพ : jfstandard.jp]
Basic User (ผู้ใช้ภาษาระดับพื้นฐาน)
1. ระดับ A1 (ผู้เริ่มต้นเรียนภาษา)
- สามารถเข้าใจและใช้คำพูดกับวลีพื้นฐานง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมได้
- สามารถแนะนำตนเองและผู้อื่นให้คนอื่นรู้จัก และสามารถถามตอบในคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลได้ (เช่น อาศัยอยู่ที่ใด คนที่ตนรู้จัก หรือสิ่งของที่ตนมี)
- สามารถมีปฏิสัมพันธ์อย่างง่าย ๆ กับผู้ใช้ภาษานั้นอีกฝ่ายที่พูดช้า ๆ และชัดเจน หรือพร้อมให้ความช่วยเหลือได้
2. ระดับ A2 (ทักษะระดับเบื้องต้น)
- สามารถเข้าใจประโยคและใช้คำพูดที่ใช้บ่อย ในประเด็นที่ใกล้ตัวได้เกือบทันที (เช่น ข้อมูลส่วนตัวและครอบครัวในระดับพื้นฐาน การซื้อของ ภูมิศาสตร์ท้องถิ่น การทำงาน)
- สามารถสื่อสารเกี่ยวกับกิจวัตรง่าย ๆ ที่ทำเป็นประจำ โดยในการสื่อสารเรื่องนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้นและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องราวประจำวัน
- สามารถอธิบายโดยใช้คำง่าย ๆ จากภูมิหลังหรือสภาพแวดล้อมของตน ในประเด็นที่จำเป็นหรือต้องการอย่างเร่งด่วน
Independent User (ผู้ใช้ภาษาได้อย่างอิสระ)
3. ระดับ B1 (ทักษะขั้นกลาง)
- สามารถเข้าใจประเด็นหลัก เมื่อได้รับข้อมูลทั่วไปที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่คุ้นเคยหรือเกิดเป็นประจำ ในช่วงเวลาทำงาน ช่วงเวลาเรียน ช่วงนอกเวลาทำงาน และช่วงอื่น ๆ
- สามารถตกลงในสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อต้องเดินทางไปในบริเวณที่ใช้ภาษานั้น
- สามารถเปิดประเด็นเชื่อมโยงง่าย ๆ ในหัวข้อที่คุ้นเคยหรือที่ตนเองสนใจ
- สามารถอธิบายประสบการณ์ เหตุการณ์ ความใฝ่ฝัน ความคาดหวัง และเป้าหมายของตนเองได้ และสามารถให้เหตุผลกับคำอธิบายประกอบความเห็นหรือแผนการได้โดยสังเขป
4. ระดับ B2 (ทักษะขั้นกลางที่ค่อนไปทางสูง)
- สามารถเข้าใจประเด็นหลักของเนื้อหาที่ซับซ้อนในหัวข้อเชิงรูปธรรมและนามธรรม รวมถึงการถกกันในประเด็นเฉพาะทาง
- สามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่เริ่มราบรื่นและเป็นธรรมชาติ จนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ใช้ภาษานั้นเป็นภาษาแม่ได้อย่างปกติ โดยแทบไม่เกิดความเกร็งหรือตึงเครียดระหว่างการสื่อสารในแต่ละฝ่าย
- สามารถเปิดประเด็นได้ละเอียด ชัดเจนในหัวข้อต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และสามารถอธิบายมุมมองของตนในประเด็นนั้น โดยยกข้อดี-ข้อเสียที่หลากหลายได้
Proficient User (ผู้ใช้ภาษาได้อย่างชำนาญ)
5. ระดับ C1 (ทักษะขั้นสูง)
- สามารถเข้าใจคำสั่งหรือคำร้องขอหลายรูปแบบ ประโยคย่อยที่ยาวขึ้น และเข้าใจความหมายแฝงได้
- สามารถเสนอความคิดเห็นได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการแสดงออกอย่างอื่นเพิ่มเติมมากนัก
- สามารถใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นในแง่การสื่อสารทางสังคม ทางวิชาการ หรือทางอาชีพ
- สามารถเข้าใจข้อความที่ละเอียด ชัดเจน และมีโครงสร้างลำดับเนื้อหา ในสาขาวิชาต่าง ๆ ในเชิงลึก สามารถใช้ภาษาในรูปแบบระดับองค์กร คนกลางหรือผู้ประสานงาน และในระดับผู้ตาม
6. ระดับ C2 (ทักษะขั้นเชี่ยวชาญ)
- สามารถเข้าใจเนื้อหาภาษานั้นได้ง่าย ๆ ในทุกอย่างที่ได้ยินหรืออ่าน
- สามารถสรุปข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย (ทั้งการพูดและการเขียน) สามารถนำเสนอทั้งในรูปแบบบรรยายและการโต้แย้งได้
- สามารถแสดงความคิดหรือความรู้สึกออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ คล่องแคล่วและแม่นยำ สามารถสื่อสารออกมาในระดับหรือโทนต่าง ๆ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน
จะเห็นได้ว่าระดับทักษะภาษาแบบ CEFR จะอ้างอิงตามทักษะความสามารถด้านการสื่อสาร (ฟัง พูด อ่าน เขียน) ของผู้เรียนหรือใช้ภาษา จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะใช้ประเมินทักษะทางภาษาของตนเอง โดยเฉพาะในกรณีที่ภาษานั้นไม่มีการเปิดสอบวัดระดับในประเทศที่อาศัย และตนเองยังไม่จำเป็นต้องยื่นใบผลการสอบวัดระดับในการศึกษาต่อ การทำงาน การขอวีซ่าระยะยาวหรือขอสัญชาติ
ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีการจัดสอบวัดระดับภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส
ขณะที่หากต้องการสอบวัดระดับภาษาที่ 3 ภาษาอื่น ต้องไปสอบที่ต่างประเทศ เช่น
- การสอบวัดระดับภาษาสเปน DELE สนามสอบที่ใกล้ไทยที่สุดคือ ฟิลิปปินส์
- การสอบวัดระดับภาษารัสเซีย TORFL สนามสอบที่ใกล้ไทยที่สุดคือ จีนแผ่นดินใหญ่
- การสอบวัดระดับภาษาสวีเดน Swedex สนามสอบที่ใกล้ไทยที่สุดคือ ญี่ปุ่น
ถ้าหากต้องการประเมินทักษะภาษาเหล่านี้ของตน และไม่จำเป็นต้องยื่นผลการสอบวัดระดับเพื่อสมัครทำงาน ศึกษาต่อ ขอวีซ่าระยะยาว และสัญชาติ ก็อาจสามารถใช้ระดับทักษะ CEFR ประเมินตนเองได้
ความนิยมใช้ระดับทักษะภาษา CEFR ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะภาษาในทวีปยุโรปแต่ยังใช้กับภาษาในทวีปอื่น โดยสำนักพิมพ์ที่ผลิตตำราเรียนภาษาต่างประเทศ และโรงเรียน องค์กรทางภาษา
- ตำราเรียนภาษาต่างประเทศบางเล่ม จะระบุว่าเนื้อหาในเล่มจะมีถึงระดับ CEFR ช่วงใด
บนปกหลังของหนังสือ Get Started in Greek ของผม (ฉบับตีพิมพ์ ค.ศ.2014) หนังสือเรียนภาษากรีกปัจจุบันเบื้องต้นในซีรีย์ Teach Yourself ระบุว่าเนื้อหาในหนังสือถึงระดับทักษะ CEFR A2
บนหน้าแรกของหนังสือ Colloquial Tibetan ของผม (ฉบับตีพิมพ์ ค.ศ.2014) หนังสือเรียนภาษาทิเบตเบื้องต้นในซีรีย์ Colloquial ของสำนักพิมพ์ Routledge ระบุว่าเนื้อหาในหนังสือถึงระดับทักษะ CEFR B2
- โรงเรียนหรือหน่วยงานภาษาหลายแห่งได้ทำการเปรียบเทียบระดับทักษะ CEFR กับผลการสอบวัดระดับภาษาไว้ เพื่อให้เห็นภาพได้ว่าคะแนนสอบวัดระดับภาษาที่ได้สะท้อนระดับทักษะการใช้ภาษาในช่วงไหน ดังตัวอย่างเช่น...
- ภาษาอังกฤษ : การสอบ IELTS และ TOEFL ITP
IELTS vs CEFR :
2.0 = A1
3.0 = A2
3.5-5.5 = B1
5.5-7 = B2
7-8 = C1
8-9 = C2
TOEFL ITP vs CEFR :
337 = A2
460 = B1
543 = B2
627 = C1
- ภาษาจีนกลาง : การสอบ HSK (เทียบกับระดับ CEFR โดยสมาคมทางภาษาจีนในฝรั่งเศสและเยอรมนี)
HSK vs CEFR :
HSK 1-2 = A1
HSK 3-4 = A2
HSK 4-5 = B1
HSK 5-6 = B2
HSK 6 = C1
- ภาษาเกาหลี : การสอบ TOPIK
TOPIK vs CEFR :
Level 1 = A1
Level 2 = A2
Level 3 = B1
Level 4 = B2
Level 5 = C1
Level 6 = C2
- ภาษาฝรั่งเศส : การสอบ DELF
DELF vs CEFR :
DELF A1 = A1
DELF A2 = A2
DELF B1 = B1
DELF B2 = B2
- ภาษาเยอรมัน : การสอบ Goethe-Zertifikat
Goethe-Zertifikat vs CEFR : ชื่อระดับการสอบจะตรงกับระดับ CEFR เช่นเดียวกับการสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศส DELF
- ภาษาสเปน : การสอบ DELE
DELE vs CEFR : ชื่อระดับการสอบจะตรงกับระดับ CEFR เช่นเดียวกับการสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศส DELF
แต่ก็ยังมีคะแนนหรือระดับการสอบวัดระดับภาษาที่ไม่สามารถเปรียบเทียบระดับทักษะ CEFR ได้ อย่างการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT ที่มี 3 ส่วน ได้แก่ การอ่าน ไวยากรณ์ และการฟัง ซึ่งมีข้อสอบส่วนที่เน้นการอ่านถึงสองในสาม อีกทั้งความถนัดเรื่องอักษรคันจิ (อักษรจีนที่ภาษาญี่ปุ่นรับมาใช้) มีผลต่อคะแนนสอบ JLPT ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบระดับที่ได้จากการสอบภาษาญี่ปุ่น JLPT กับระดับทักษะภาษา CEFR ได้
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าคงพอเห็นภาพของระดับทักษะทางภาษา CEFR แล้ว ลองประเมินศักยภาพตนเองสักหน่อยว่าระดับทักษะภาษาต่างประเทศของตนเองตรงกับระดับ CEFR ขั้นใดอย่างคร่าว ๆ ดูนะครับ
โฆษณา