16 เม.ย. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 19] ภาษาศาสตร์โอลิมปิก : การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่เน้น “การไขปริศนารูปแบบหรือตรรกะเบื้องหลังภาษา” และตัวอย่างคำถาม
เมื่อคนไทยได้ยินคำว่า “การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ” ส่วนใหญ่จะนึกถึงสาขาสายวิทย์อย่างคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ หรือดาราศาสตร์ แต่โอลิมปิกวิชาการยังมีสาขาอื่นนอกเหนือจากนั้น ซึ่งในเนื้อหาตอนนี้จะกล่าวถึงโอลิมปิกวิชาการสาขาที่อาจดูไม่คุ้นสำหรับคนไทยและเป็นวิชาที่ไม่มีการเรียนในหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของไทย นั่นคือ “ภาษาศาสตร์โอลิมปิก”
...ซึ่งการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านต่อไปได้เลยครับ
Logo การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ [Credit ภาพ : IOL]
“การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ” (International Science Olympiad) เป็นกลุ่มของการแข่งขันทางวิชาการระหว่างประเทศสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่จัดขึ้นรายปี ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการส่วนใหญ่มักจะให้ทีมนักเรียนตัวแทนแประเทศมีจำนวนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ 4 – 6 คน ซึ่งแต่ละประเทศที่เข้าร่วมจะต้องกระบวนการคัดเลือกในระดับชาติก่อน
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการจะมีสาขาต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. คณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IMO ตั้งแต่ ค.ศ.1959)
2. ฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IPhO ตั้งแต่ ค.ศ.1967)
3. เคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IChO ตั้งแต่ ค.ศ.1968)
4. คอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOI ตั้งแต่ ค.ศ.1989)
5. ชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IBO ตั้งแต่ ค.ศ.1990)
6. ปรัชญาโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IPO ตั้งแต่ ค.ศ.1993)
7. ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IAO ตั้งแต่ ค.ศ.1996)
8. ภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IGeo ตั้งแต่ ค.ศ.1996)
9. ภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOL ตั้งแต่ ค.ศ.2003)
10. วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับ ม.ต้น (IJSO ตั้งแต่ ค.ศ.2004)
11. โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IESO ตั้งแต่ ค.ศ.2007)
12. ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOAA ตั้งแต่ ค.ศ.2007)
13. เศรษฐศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IEO ตั้งแต่ ค.ศ.2018)
ประเทศไทยเคยส่งนักเรียนมัธยมศึกษาเข้าร่วมแข่งขันเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาภาษาศาสตร์ (กำลังเริ่มคัดเลือกตัวแทนนักเรียนในปี ค.ศ.2021) และสาขาเศรษฐศาสตร์
“การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ” (International linguistics Olympiad : IOL) เป็นการแข่งขันทางวิชาการของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในด้านภาษาศาสตร์
[เนื้อหาที่ IOL ไม่เน้นหรือไม่สนใจ]
- ไม่เน้นว่านักเรียนที่เข้าร่วมจะรู้ภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกมากน้อยแค่ไหน เพราะภาษาต่าง ๆ มีจำนวนหลายพันภาษา ตั้งแต่ภาษาที่ใช้ในระดับนานาชาติจนถึงภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาพื้นเมือง ภาษาใกล้สูญ และภาษาสูญแล้ว
- ไม่ถามถึงทฤษฎีทางภาษาศาสตร์
[เนื้อหาที่ IOL เน้นหรือสนใจ]
- การคิดวิเคราะห์ถึงรูปแบบหรือตรรกะเบื้องหลังของภาษาต่าง ๆ ตามโจทย์ปัญหา
โปสเตอร์การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ค.ศ.2019 (IOL 2019) ที่เมืองยงอิน ในปริมณฑลของกรุงโซล เกาหลีใต้ ซึ่งมีทางภาษาศาสตร์โอลิมปิกเกาหลีใต้ และมหาวิทยาลัยต่างประเทศศึกษาฮันกุก (HUFS) เป็นเจ้าภาพ [Credit ภาพ : HUFS]
ข้อสอบใน IOL จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ข้อสอบแบบรายบุคคล กับข้อสอบแบบทีม
1. ข้อสอบแบบรายบุคคล ประกอบด้วยคำถาม 5 ข้อ ให้เวลาทำ 6 ชั่วโมง ครอบคลุมเนื้อหาภาษาศาสตร์ ดังนี้
1.1 ภาษาศาสตร์เชิงทฤษฎี (Theoretical linguistics)
1.2 ภาษาศาสตร์เชิงคำนวณ (Computational linguistics)
1.3 ภาษาศาสตร์เชิงประยุกต์ (Applied linguistics) ที่รวมถึงหัวข้อต่อไปนี้
- สัทศาสตร์ (Phonetics) : การศึกษาเสียงพูดของมนุษย์และสัญลักษณ์มือในภาษามือ
- วิทยาหน่วยคำ (Morphology) : การศึกษาเรื่องคำ การสร้างคำ และความสัมพันธ์กับคำอื่นในภาษาเดียวกัน)
- อรรถศาสตร์ (Semantics) : การศึกษาเรื่องความหมายของคำ วลี และประโยค
- วากยสัมพันธ์ (Syntax) : การศึกษาเรื่องกฎและหลักการที่ควบคุมโครงสร้างประโยค
- ภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics) : การศึกษาเรื่องผลจากสังคมและวัฒนธรรมต่อการใช้ภาษา
1
2. ข้อสอบแบบทีม ประกอบด้วยคำถาม 1 ข้อที่ยากกว่าข้อสอบแบบรายบุคคล และใช้เวลามากกว่าสำหรับคำถามข้อเดียว (ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง)
1
เพื่อป้องกันปัญหาว่านักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขัน IOL จะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบจากภาษาที่มีความใกล้เคียง เช่น หากคำถามเป็นเรื่องภาษาสเปน นักเรียนจากสเปนหรือประเทศแถบละตินอเมริกาที่ใช้ภาษาสเปน รวมถึงนักเรียนจากฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส และบราซิลที่ใช้ภาษากลุ่มเดียวกับภาษาสเปนจะได้เปรียบ ภาษาที่ใช้เป็นประเด็นคำถามในข้อสอบ IOL จึงมักเป็นภาษาที่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก
ภาษาที่ใช้เป็นคำถามในข้อสอบ IOL 5 ปีล่าสุด ได้ก่
IOL 2015 (จัดที่ประเทศบัลแกเรีย)
ข้อสอบแบบเดี่ยว :
- Nahuatl ในเม็กซิโกและ Arammba ในปาปัวนิวกินี
- Kabardian จากแถบเทือกเขาคอเคซัสในรัสเซีย
- Soundex ขั้นตอนวิธีเชิงสัทลักษณ์ (Phonetic algorithm) ที่ใช้ระบุชื่อจากเสียงพูดภาษาอังกฤษ
- Wambaya ในออสเตรเลีย
- Somali ในโซมาเลียและเอธิโอเปีย
ข้อสอบแบบทีม : Northern Sotho ในแอฟริกาใต้
IOL 2016 (จัดที่ประเทศอินเดีย)
ข้อสอบแบบเดี่ยว :
- Aralle-Tabulahan จากเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย
- Luwian ภาษาโบราณในตุรกี
- Kunuz Nubian ในอียิปต์
- Iatmül ในปาปัวนิวกินี
- Jaqaru ในเปรู
ข้อสอบแบบทีม : Taa ในบอตสวานาและนามิเบีย
IOL 2017 (จัดที่ประเทศไอร์แลนด์)
ข้อสอบแบบเดี่ยว :
- Berom ในไนจีเรีย
- Abui จากเกาะ Alor ของอินโดนีเซีย (อยู่ทางเหนือของเกาะติมอร์)
- Kimbundu ในแองโกลา
- Jru’ ในลาว ที่ใช้อักษรขอมลาว
- Madak ในปาปัวนิวกินี
ข้อสอบแบบทีม : สัญลักษณ์รูป Emoji กับภาษาอินโดนีเซีย
(มาเลเซียที่ใช้ภาษาในกลุ่มเดียวกับภาษาอินโดนีเซีย ไม่ได้ร่วม IOL 2017 แต่เข้าร่วม IOL2018 เป็นครั้งแรก)
IOL 2018 (จัดที่ประเทศเช็กเกีย)
ข้อสอบแบบเดี่ยว :
- Creek ในรัฐโอคลาโฮมา สหรัฐฯ
- Tangsa (Hakhun) จากบริเวณชายแดนอินเดีย-เมียนมา
- Terêna จากทางตะวันตกของบราซิล
- Mountain Arapesh ในปาปัวนิวกินี
- Akan ในกานา
ข้อสอบแบบทีม : 3 ภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษา Jê ในบราซิล ได้แก่ Mẽbêngôkre Xavante และ Krĩkatí
IOL 2019 (จัดที่ประเทศเกาหลีใต้)
ข้อสอบแบบเดี่ยว :
- Yonggom ในจังหวัดนิวกินีตะวันตกของอินโดนีเซีย และปาปัวนิวกินี
- Yurok จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
- อักษรเปอร์เซียกลางแบบ Book Pahlavi
- Tarangan จากหมู่เกาะ Aru ของอินโดนีเซีย (อยู่ทางตะวันตกของเกาะนิวกินี)
- Noni ในแคเมอรูน
ข้อสอบแบบทีม : สัญลักษณ์ที่ใช้ในการตัดสินการแข่งขันยิมนาสติกลีลา (Rhythmic gymnastics)
ส่วน IOL 2020 แต่เดิมประเทศลัตเวียจะเป็นเจ้าภาพ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้เลื่อนมาจัดในปีถัดมาโดยที่ลัตเวียยังคงเป็นประเทศเจ้าภาพ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศที่เคยเข้าร่วม IOL จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่
- สิงคโปร์ (IOL 2010-2015)
- เวียดนาม (เฉพาะ IOL 2011)
- มาเลเซีย (ตั้งแต่ IOL 2018)
ประเทศไทยจะเริ่มคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมใน IOL 2021 เป็นครั้งแรก ภายใต้ความรับผิดชอบของภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์นี้
นอกจากการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOL) ยังมีการแข่งขันทางภาษาศาสตร์โอลิมปิกระดับเอเชียแปซิฟิก (APLO) เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 โดยจะไม่มีประเทศเจ้าภาพ ประเทศที่เข้าร่วมจะจัดสอบในประเทศตนเองพร้อมกัน และจะส่งนักเรียนเข้าร่วมกี่คนก็ได้ (อย่าง APLO 2020 มีนักเรียนมาเลเซียเข้าร่วม 8 คน จีนแผ่นดินใหญ่ 12 คน ญี่ปุ่น 21 คน)
สำหรับการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ จะใช้คัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไปเข้าร่วม IOL ตัวอย่างเช่น
- การแข่งขันภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์เชิงคำนวณโอลิมปิกออสเตรเลีย (OzCLO)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกจีน (IOLC)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกญี่ปุ่น (IOLing Japan)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์เชิงคำนวณโอลิมปิกมาเลเซีย (MyCLO)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกเกาหลีใต้ (KLO)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย (LOT)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกสหราชอาณาจักร (UKLO)
- การแข่งขันภาษาศาสตร์เชิงคำนวณโอลิมปิกอเมริกาเหนือ (NACLO) ใช้คัดเลือกทีมนักเรียนตัวแทนสหรัฐฯ และแคนาดา
1
ตัวอย่างข้อสอบภาษาศาสตร์ที่ผมแปลต่อไปนี้ จะเป็นคำถามในข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิกในระดับชาติ ที่ทาง IOL แบ่งระดับง่าย-ปานกลาง-ยาก และข้อสอบ IOL ทั้งแบบรายบุคคลกับแบบทีม
...สามารถลองร่วมไขปริศนาก่อน แล้วค่อยดูเลยทางด้านล่างครับ
จะมีเฉพาะข้อ 5 (ตัวอย่างข้อสอบ IOL แบบทีม เรื่องภาษาลาว) ที่ผมจะไม่ลงเฉลย เนื่องจากภาษาไทยใกล้เคียงกับภาษาลาวอยู่แล้ว และในเฉลยข้อสอบจริงมีเพียงคำตอบ แต่ไม่แสดงกระบวนการหาคำตอบ แสดงว่ากระบวนการนี้เป็นแบบปลายเปิด แล้วแต่วิธีที่นักเรียนลองใช้ว่าจะได้ผลลัพธ์ตรงคำตอบแค่ไหน
หากต้องการดูตัวอย่างคำถามภาษาศาสตร์โอลิมปิกจากการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ (รวมถึงตัวอย่างคำถามที่ผมแปล 3 ข้อแรก) สามารถดูได้ที่ https://ioling.org/problems/samples/
หากต้องการดูข้อสอบจากการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 (รวมถึงตัวอย่างคำถามที่ผมแปล 2 ข้อหลัง) สามารถดูได้ที่ https://ioling.org/problems/by_year/
5
ข้อ 1) ข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ระดับง่าย
เรื่อง “อักษรเบรลล์ภาษาญี่ปุ่น” (Japanese Braille) จากข้อสอบการแข่งขันภาษาศาสตร์เชิงคำนวณโอลิมปิกอเมริกาเหนือ (NACLO) ค.ศ.2009
อักษรเบรลล์เป็นระบบการเขียนแบบให้ผู้อ่านสัมผัสโดยเฉพาะกลุ่มคนตาบอด โดยใช้ชุดของจุดที่ดุนผิวกระดาษให้นูนสูงขึ้นมา ประดิษฐ์โดยหลุยส์ เบรลล์ ในปี ค.ศ.1821 เพื่อใช้เขียนภาษาฝรั่งเศส ในเวลาต่อมาได้มีการนำอักษรเบรลล์มาใช้กับภาษาอังกฤษที่ปกติเขียนด้วยอักษรโรมันเช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งปรับระบบอักษรเบรลล์ไม่มากนักเพื่อให้ใช้ได้กับภาษาอังกฤษ แต่ในกรณีของภาษาที่ไม่ได้ใช้อักษรโรมัน อย่างภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น ระบบของอักษรเบรลล์จะแตกต่างออกไป
อักษรเบรลล์ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า “เท็นจิ” (Tenji) แปลว่า “อักษรจุด” อักษรเบรลล์แต่ละตัวประกอบด้วยชุดของจุด 6 จุดวางตัวยาวในแนวตั้ง ตามรูป ⠿ โดยจะดุนนูนตั้งแต่ 1 - 6 ตัว ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (จุดที่ดุนนูนปรากฏในตัวอย่างเป็นจุดสีดำ)
[เฉลยตัวอย่างข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิก ข้อ 1]
ข้อ 2) ข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ระดับกลาง
เรื่อง “ภาษาคาซัค” (Kazakh) จากข้อสอบการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกกรุงมอสโก ค.ศ.2002/2003
[เฉลยตัวอย่างข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิก ข้อ 2]
ข้อ 3) ข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ระดับยาก
เรื่อง “ภาษากวารานี” (Guarani - หนึ่งในภาษาทางการของประเทศปารากวัย) จากข้อสอบการแข่งขันภาษาศาสตร์เชิงคำนวณโอลิมปิกอเมริกาเหนือ (NACLO) ค.ศ.2009
[เฉลยตัวอย่างข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิก ข้อ 3]
ข้อ 4) ข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ แบบรายบุคคล
เรื่อง “ภาษากาตาลัน” (Catalan) ภาษาที่ใช้ในบริเวณตะวันออกของสเปน (แคว้นกาตาลุญญา และแคว้นบาเลนเซีย) กับประเทศอันดอร์รา จากข้อสอบ IOL 2006
คำนามพหูพจน์ในภาษากาตาลันนั้น มักจะลงท้ายด้วย -s แต่หากคำนามนั้นลงท้ายด้วยตัวสะกด s x หรือ ç การเติมท้ายคำเพื่อผันเป็นคำนามพหูพจน์จะแตกต่างไป
ตารางต่อไปนี้จะแสดงคำนามในภาษากาตาลันในรูปเอกพจน์ พหูพจน์ และคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ในตารางนี้จะมีข้อมูลที่ขาดหายไป
4.1 จงเติมคำในช่องว่างของคำนามเอกพจน์และพหูพจน์ที่ขาดหายไป พร้อมอธิบาย
4.2 สัญลักษณ์ ` และ ́ ใช้บ่งชี้การเน้นเสียง (stress) ในคำภาษากาตาลันส่วนหนึ่ง จงหาว่าจะใช้สัญลักษณ์เหล่านี้เมื่อใด
4.3 มีพยางค์ใดที่เน้นเสียง ในคำภาษากาตาลันที่ไม่มีสัญลักษณ์ ` และ ́
[เฉลยตัวอย่างข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิก ข้อ 4]
ข้อ 5) ข้อสอบภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ แบบทีม
เรื่อง “ภาษาลาว” (Lao) จากข้อสอบ IOL 2012
ชื่อประเทศต่าง ๆ 57 ประเทศในภาษาลาว ดังต่อไปนี้
หากต้องการอ่านไฟล์ pdf ของข้อสอบฉบับนี้ สามารถดูได้ที่ https://ioling.org/booklets/iol-2012-team-prob.en.pdf
5.1 จงระบุประเทศของแต่ละข้อ
5.2 คาดการณ์การออกเสียงชื่อแต่ละประเทศในภาษาลาว
**หากอยากลองทำข้อนี้ ให้ลองสมมติว่าตนเองเป็นนักเรียน ม.ปลาย ที่เข้าร่วมแข่งขัน IOL ที่ไม่รู้ภาษาไทยหรือภาษาลาวเลย แล้วหาทางแยกพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรณยุกต์ว่าจะทำอย่างไร**
เมื่ออ่านจนถึงตอนนี้ คนอ่านอาจพอเห็นภาพแล้วว่าโอลิมปิกวิชาการมีสาขาอะไรบ้าง ภาพรวมของการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ คำถามในภาษาศาสตร์โอลิมปิกเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งอาจได้ลองไขปริศนาภาษาศาสตร์ไปด้วยกัน
4
ส่วนตัวผมคิดว่าข้อสอบ "ภาษาศาสตร์โอลิมปิก" มันดูน่าสนุกตรงที่คนอื่นสามารถร่วมไขปริศนาได้ แม้ว่าจะไม่มีทักษะความรู้ด้านภาษาศาสตร์หรือภาษาที่ปรากฏในโจทย์มาก่อน เน้นตรงการคิดวิเคราะห์จากข้อมูลภาษาที่ให้มาในโจทย์ครับ
...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[ที่มาของข้อมูล]
โฆษณา