9 ม.ค. 2021 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
“The Roaring Twenties” ยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) ยุคที่สุดเหวี่ยงที่สุดในประวัติศาสตร์” ตอนที่ 2 (ตอนจบ)
ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) “ภาพยนตร์” คือสิ่งใหม่ที่เป็นที่สนใจของผู้ชม
ในยุคนี้ เป็นยุคที่ภาพยนตร์ดังหลายเรื่องได้ออกฉาย และเป็นที่แจ้งเกิดดาราดังแห่งยุคหลายคน
ในเมืองใหญ่ต่างๆ โรงภาพยนตร์มีขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างหรูหรา ผู้ชมที่มาชมภาพยนตร์ต้องแต่งตัวในชุดที่ดูดีที่สุด
โรงภาพยนตร์ในยุค 20
ก่อนปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) ภาพยนตร์ยังเป็นภาพยนตร์เงียบ ไม่มีเสียง การฉายภาพยนตร์จะมีการเล่นดนตรีคลอไปกับการฉายภาพยนตร์บนจอ
โรงภาพยนตร์หลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาเป็นของบริษัทภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ทำให้บริษัทภาพยนตร์ต่างๆ มั่นใจได้ว่าหนังของตนจะมีโรงฉาย
นอกจากนั้น สตูดิโอใหญ่ๆ ยังเซ็นสัญญากับนักแสดง และดูแลนักแสดงในสังกัดอย่างดี
ตุลาคม ค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) ภาพยนตร์ “The Jazz Singer” ออกฉาย
The Jazz Singer
ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงโดย “อัล โจลสัน (Al Jolson)” โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใส่เพลงและเสียงในบางฉาก
The Jazz Singer ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้บริษัทภาพยนตร์อื่นๆ สร้างภาพยนตร์ที่มีเสียงตามออกมาอีกมากมาย
แต่เหล่าดาราในยุคภาพยนตร์เงียบ ถึงแม้จะมีหน้าตาสวยหล่อ แต่หลายคนก็ไม่ได้มีเสียงที่น่าฟัง ทำให้หลายคนเริ่มจะเสื่อมความนิยม หากแต่คนที่มีเสียงน่าฟังก็ได้รับโอกาสใหม่ นั่นคือ “วิทยุ”
ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) โทรทัศน์ยังไม่ได้รับความนิยมและแพร่หลาย หากแต่วิทยุนั้นได้รับความนิยมมาก
วิทยุในยุค 20
ในปีค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) รัฐบาลได้อนุญาตให้มีการเปิดสถานีวิทยุเอกชนรายแรกที่เพนซิลเวเนีย โดยในช่วงแรก การออกอากาศนั้นยาวเพียงแค่หนึ่งชั่วโมง แต่ผู้คนก็เริ่มจะนิยมมาก
วิทยุในช่วงแรกนั้นทำงานโดยใช้แบตเตอรี ซึ่งก็ไม่ค่อยเสถียร หากแต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการพัฒนาระบบการทำงานในวิทยุ ทำให้วิทยุทำงานโดยไฟฟ้า ทำให้วิทยุนั้นเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น
วิทยุในยุคนั้นได้รับความนิยมมากซะจนห้างสรรพสินค้าต้องจัดให้มีแผนกสำหรับวิทยุโดยเฉพาะ และยอดขายวิทยุก็พุ่งถล่มทลาย
แผนกขายวิทยุในยุค 20
ครอบครัวชาวอเมริกันจะมารวมตัวกันในห้องนั่งเล่นเพื่อฟังรายการต่างๆ จากวิทยุ ไม่ว่าจะเป็นข่าว เพลง ละครวิทยุ ถ่ายทอดสดกีฬา ซึ่งวิทยุก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้ข่าวได้รวดเร็วกว่าหนังสือพิมพ์
นับว่ายุค 20 (พ.ศ.2463-2472) เป็นยุครุ่งเรืองของวิทยุในสหรัฐอเมริกาจริงๆ
ในสหรัฐอเมริกา มีความเชื่อมาอย่างยาวนานว่าการเป็นหนี้นั้นเป็นเรื่องที่ผิด ผู้คนไม่ควรจะซื้อของที่ตนไม่มีกำลังจะจ่าย หากอยากได้อะไรก็ควรจะเก็บเงินซื้อ
แต่ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) ความเชื่อเช่นนั้นถูกมองว่าล้าสมัย ผู้คนกำลังสนุกและก็ต้องการสินค้าที่ทำให้ชีวิตของตนนั้นสนุกและสะดวกสบาย
โฆษณาสินค้าในยุค 20
ความนิยมในการจับจ่ายใช้สอยนี้เอง ทำให้ห้างสรรพสินค้าจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
นอกจากรถยนต์ของฟอร์ดที่ให้ผ่อนจ่ายได้แล้ว ในเวลานี้ ผู้คนเริ่มจะซื้อสินค้าอื่นๆ โดยใช้การผ่อนจ่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ วิทยุ เป็นต้น
โดยปกติแล้ว การผ่อนจ่ายหรือการซื้อสินค้าเงินผ่อนนั้น มักจะมีดอกเบี้ยที่ผู้ซื้อต้องจ่าย ทำให้การซื้อสินค้าซักชิ้น หากซื้อแบบผ่อนจ่าย ผู้ซื้อก็ต้องจ่ายเงินมากกว่าราคาสินค้า
ความนิยมในการจับจ่ายของผู้คน ทำให้วงการโฆษณาเติบโตไปด้วย นักแสดงดังๆ รวมทั้งนักกีฬาก็ได้รับการว่าจ้างให้เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้าต่างๆ
โฆษณาในยุค 20
บริษัทสินค้าต่างๆ จำเป็นที่จะต้องขายสินค้าของตนเองซ้ำๆ และกลุ่มลูกค้าก็มักจะเป็นกลุ่มเดิมๆ ทำให้บริษัทแต่ละแห่งทำการปรับนิดปรับหน่อย เช่น รถยนต์ก็อาจจะเปลี่ยนสีซักนิด และโฆษณาโน้มน้าวใจลูกค้าให้เชื่อว่าตนต้องซื้อรถคันใหม่
ความคึกคักของการจับจ่ายใช้สอยนี้ไม่ได้เป็นที่ยินดีของทุกคน บางคนก็เริ่มจะเป็นกังวล
บทความต่างๆ เริ่มเขียนวิจารณ์การซื้อสินค้าและการที่ผู้คนเป็นหนี้ แต่เศรษฐกิจนั้นดีมาก ดีเกินกว่าที่ใครจะคิดว่ามันจะล่ม ทำให้ผู้คนต่างซื้อสินค้าที่อยากได้อย่างสบายใจ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีแต่คนรวยเท่านั้นจึงจะสามารถซื้อหุ้นได้ แต่ในเวลานี้ไม่ใช่อีกแล้ว
ในเมื่อเศรษฐกิจกำลังบูมขนาดนี้ ผู้คนที่มีฐานะธรรมดาก็เริ่มจะซื้อหุ้น โดยหวังว่าจะรวย
ผู้คนต่างคิดว่าหุ้นของบริษัททุกแห่ง มีแต่จะขึ้น ไม่มีวันตก ซึ่งในช่วงแรกก็ดูเหมือนจะจริง เมื่อคนซื้อหุ้นของบริษัทมากขึ้น ก็ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ทำให้คนยิ่งแห่กันมาซื้อมากขึ้นไปอีก
เมื่อผู้คนซื้อหุ้น เงินก็จะไหลไปสู่บริษัทเจ้าของหุ้น ทำให้บริษัททำเงินและไม่จำเป็นต้องกู้ธนาคาร ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อธนาคาร และธนาคารก็ต้องหาวิธีการทำเงิน นั่นก็คือ
“นำเงินฝากของลูกค้าไปลงทุนในหุ้น”
1
ธนาคารในยุคเก่า
ลูกค้าจะกู้เงินโดยอิงตามหุ้นที่ตนมีอยู่ และต่างก็เชื่อว่าตนสามารถจะชำระหนี้ตอนไหนก็ได้ เพียงแค่ขายหุ้นก็ได้เงินแล้ว
ในไม่ช้า คนทุกระดับชั้นก็แห่กันซื้อหุ้น และต่างก็ซื้อหุ้นจากข่าวลือต่างๆ ที่ได้ยิน
1
แต่ดูเหมือนนักเศรษฐศาสตร์จะไม่รู้สึกยินดีกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจเลย ต่างรู้สึกกังวลใจ พวกเขารู้สึกว่าบริษัทหลายแห่งไม่ได้มีมูลค่าเทียบเท่ากับราคาหุ้นของบริษัท พูดง่ายๆ คือราคาหุ้นนั้นสูงเกินจริง
นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาชี้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าน้อยลง อัตราการว่างงานก็สูงขึ้น ค่าแรงถูกลง ทำให้การซื้อสินค้าน้อยลงไปด้วย
ราคาหุ้นนั้นพุ่งสูงสุดในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ก่อนจะเริ่มตกลง
นักลงทุนเทขายหุ้น ทำให้ผู้คนแห่เทขายหุ้นตาม ทำให้ตลาดหุ้นนั้นแทบจะล่ม
29 ตุลาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) เพียงวันเดียว ตลาดหุ้นก็สูญเสียเงินไปมากถึง 14,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 420,000 ล้านบาท) และเป็นที่รู้จักในชื่อของ “วันอังคารทมิฬ (Black Tuesday)”
ในวันต่อมา ผู้คนยังคงเทขายหุ้น หุ้นของแต่ละบริษัทกลายเป็นสิ่งไร้ค่า ไม่ต่างอะไรจากเศษกระดาษ บริษัทหลายแห่งล้มละลาย
ธนาคารก็ต้องปิดตัว เงินในบัญชีธนาคารของลูกค้าล้วนแต่สูญไปหมด บัญชีกว่าเก้าล้านบัญชีสูญสลาย ผู้คนไม่สามารถจ่ายหนี้และหมดตัวภายในเวลาชั่วข้ามคืน
นี่คือจุดเริ่มต้นของ “The Great Depression ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” ซึ่งผมเคยเขียนเป็นซีรีส์ไว้แล้ว หาอ่านได้ในซีรีส์เลยครับ
จบลงแล้วสำหรับซีรีส์ชุดนี้นะครับ เรื่องต่อไปจะเป็นอะไร ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา