16 ก.พ. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
NBA 104 - ประวัติย่อของทีม NBA ตอนที่ 11 - Houston Rockets
ประวัติทีม Houston Rockets
ฝั่งที่สังกัด - ฝั่งตะวันตก Southwest Division
ปีที่ก่อตั้ง - 1967
ชื่อเดิม -
San Diego Rockets (1967-1971)
Houston Rockets (1971-ปัจจุบัน)
สถานที่ตั้ง - เมือง Houston รัฐ Texas
ชื่อสนามเหย้า - Toyota Center
เจ้าของทีม - Tilman Fertitta
CEO - Tad Brown
GM (General Manager) - Rafael Stone
HC (Head Coach) - Stephen Silas
ทีมสังกัดใน G-League - Rio Grande Valley Vipers
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ลีก - 2 (1994, 1995)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ฝั่งทวีป - 4 (1981, 1986, 1994, 1995)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ Division - 8 (1977, 1986, 1993, 1994, 2015, 2018-2020)
จำนวนเบอร์เสื้อที่ทำการ Retired - 6 (11, 22, 23, 24, 34, 45)
ประวัติทีมโดยสังเขป
ทีมได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1967 ที่เมือง San Diego โดยมีเจ้าของคนแรกคือ Robert Breitbard พร้อมกับได้ลงเล่นใน NBA ฤดูกาลแรกที่ปี 1967/68 แต่ก็ยังมีผลงานที่ไม่ดีนัก ตามประสาทีมน้องใหม่ในลีก และทำสถิติแพ้ไปถึง 67 นัดตั้งแต่ฤดูกาลเปิดตัวของทีมเลยทีเดียว
San Diego Rockets
แต่ในฤดูกาลถัดมาก็ถือว่าทีมกลับมาทำผลงานได้ดี หลังจากที่โชคดีได้สิทธิ์ Draft อันดับ 1 และได้ตัดสินใจเลือก Elvin Hayes เข้าสู่ทีม ซึ่งเจ้าตัวก็ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญที่ลากทีมจนทำการเข้ารอบ Playoffs เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ทีม
เพียงแต่ว่าผลงานที่ทำได้นั้นกลับเป็นแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น อีกสองปีถัดมาทีมก็ไม่สามารถผ่านเข้ารอบ Playoffs ได้เหมือนเดิม จนสุดท้ายแล้วทีมก็ได้ทำการย้ายเมืองไปที่ Houston ในปี 1971
หลังจากย้ายเมืองแล้ว ทีมต้องใช้เวลาพอสมควรเลยก่อนที่จะทำผลงานจนได้เข้ารอบ Playoffs อีกครั้งในฤดูกาล 1974/75 กับสถิติ 41-41 เพียงแต่รอบนี้สามารถผ่านเข้ารอบสองไปได้ด้วย น่าเสียดายที่ไม่สามารถผ่าน Celtics ไปได้ และผลงานในปีถัดมาก็กลับไปย่ำแย่อีกครั้ง จนต้องมีการเปลี่ยน HC ไปเป็น Tom Nissalke หลังจากจบฤดูกาล 1975/76
ยุคของ Moses Malone
หลังจากที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงจุดที่ทีมยังขาดไป ทีมจึงมีการลงความเห็นว่าสิ่งที่ขาดไปในตอนนี้คือตัวคุมเกมแนวหลังที่ดี และผู้เล่นวงในที่แข็งแกร่ง
ในการ Draft ปี 1976 ทีมจึงได้ใช้สิทธิ์ Draft ที่มีอยู่ในมือ ทำการเลือกผู้เล่นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ John Lucas และ Moses Malone
Moses Malone
ผลของการวิเคราะห์นั้นส่งผลดีในทันที เมื่อทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 49-33 ดีที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งทีมมา และยังได้เป็นแชมป์ Division ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย นอกจากนั้นใน Playoffs ก็ยังทะลุไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Sixers ไปในเกมที่ 6
น่าเสียดายที่ฤดูกาลต่อมา กลับมีเหตุการณ์ทะเลาะกันระหว่าง Calvin Murphy กับทาง Kermit Washington ของ Lakers โดยคนที่โดนลูกหลงแทนกลับเป็น Rudy Tomjanovich ที่สุดท้ายทำให้เจ้าตัวต้องพักรักษาอาการบาดเจ็บถึง 5 เดือน และทีมทำผลงานได้เพียง 28-54 เท่านั้นในฤดูกาลนี้
ในฤดูกาล 1978/79 ทีมได้ทำการ Trade Lucas ที่ทำผลงานได้ไม่ดีนัก ไปให้กับ Warriors เพื่อแลกกับ Rick Barry และก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมกลับมา Playoffs ได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะตกรอบแรกก็ตาม
ปีถัดมา ทีมได้มีการเปลี่ยนเจ้าของเป็นตระกูล Maloof แต่โชคร้ายที่ George Maloof ที่เป็นคนซื้อหลักกลับเสียชีวิตอย่างกะทันหันในอีกปีให้หลัง ลูกชายอย่าง Gavin Maloof จึงทำการรับช่วงต่อแทนหลังจากนั้น
ในฤดูกาล 1980/81 ทางลีกได้มีการแบ่งพื้นที่ฝั่งทวีปใหม่ ทำให้ Rockets จากเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันออก ได้ถูกย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันตกแทนจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนผลงานนั้น ถึงแม้ว่าทีมจะจบด้วยสถิติ 40-42 แต่ก็สามารถสร้างปาฎิหาริย์ กลายเป็นทีมแรกและทีมเดียวในประวัติศาสตร์ของลีกที่สามารถเข้าไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้ ทั้งที่มีสถิติแพ้มากกว่าชนะ ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Celtics ในที่สุด
ต่อมาทีมได้มีการเปลี่ยนเจ้าของอีกครั้งในปี 1982 กลายเป็น Charlie Thomas ที่มารับช่วงต่อจากตระกูล Maloof แต่สิ่งแรกที่ได้ทำกลับเป็นการทำร้ายจิตใจของแฟนกีฬาเป็นอย่างมาก ด้วยการ Trade Malone ออกไปให้ Sixers เพื่อแลกกับ Caldwell Jones เพียงเพราะว่าไม่อยากจ่ายค่าเหนื่อยแพงๆ ให้ ทั้งที่ฟอร์มของเจ้าตัวยังอยู่ในช่วงที่ดีมากแท้ๆ และนั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมจบผลงานเพียงแค่ 14-68 เท่านั้นในฤดูกาล 1982/83
ในปีถัดมา ทีมใช้สิทธิ์การ Draft อันดับ 1 ในการเลือกดาวรุ่งอย่าง Ralph Sampson เข้าสู่ทีม ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะโชว์ฟอร์มได้ดีมาก มีผลงานเฉลี่ย 21 แต้มและ 11 Rebounds ต่อเกม และคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมไปครอง แต่ผลงานโดยรวมกลับมีสถิติแค่ 29-53 เท่านั้น
ยุคของ Hakeem Olajuwon
ในปี 1984 ทีมได้สิทธิ์ Draft อันดับ 1 อีกครั้ง และทีมได้ตัดสินใจ Draft Hakeem Olajuwon เข้าสู่ทีม ก่อให้เกิดยุคแห่งหอคอยคู่หรือ Twin Towers ขึ้น และทั้งคู่จะกลายเป็นแกนหลักในอนาคตให้กับทีมต่อไปอย่างยาวนาน
Hakeem Olajuwon
หลังจากเจ้าตัวเข้าสู่ทีม ก็สามารถทำผลงานโดดเด่นจนพาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้ทันที น่าเสียดายที่เจ้าตัวไม่สามารถคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมได้ เนื่องจากตามหลังบุคคลในตำนานที่เข้าลีกมาในปีเดียวกันอย่าง Michael Jordan นั่นเอง
ต่อมาในฤดูกาล 1985/86 ทีมมีผลงานที่ดีขึ้นกง่าปีที่แล้ว จบฤดูกาลด้วยสถิติ 51-31 พร้อมกับคว้าแชมป์ Division มาครองได้สำเร็จ แถมยังทำผลงานใน Playoffs ได้ถึงรอบชิงแชมป์ลีก น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถผ่านคู่แข่งอย่าง Celtics ไปได้ พ่ายชวดแชมป์ไปในเกมที่ 6
เพียงแต่ว่าในฤดูกาล 1986/87 ทีมกลับต้องเจอกับปัญหาภายในทีมหลายอย่าง ทั้งจากอาการบาดเจ็บแล้ว มีผู้เล่นถึงสองคนที่ถูกทางลีกสั่งแบนจากการใช้สารเสพติดอีกต่างหาก ทำให่ถึงแม้ว่าทีมจะยังเข้ารอบ Playoffs ได้ แต่รอบนี้ก็แพ้ให้กับ Sonics (Thunder ในปัจจุบัน) ที่รอบสองเท่านั้น
น่าเสียดายที่ในปีถัดมา ทีมตัดสินใจ Trade Sampson ไปให้กับ Warriors ถือเป็นการสิ้นสุดยุค Twin Towers และทำให้ทีมต้องใช้เวลาอีกหลายฤดูกาลกว่าที่จะทำผลงานได้ดีอีกครั้ง
สู่การเป็นแชมป์ลีก
จนกระทั่งในฤดูกาล 1991/92 ที่ทีมได้อดีตผู้เล่นและผู้ช่วยโค้ชอย่าง Tomjanovich ขึ้นมาเป็น HC ของทีม ทำให้ผลงานของทีมเริ่มกลับมาผงาดได้อีกรอบ
หลังจากที่ทีมทำได้แต่ตกรอบ Playoffs รอลแรกติดต่อกันหลายฤดูกาลตั้งแต่สิ้นสุดยุค Twin Towers ไป
กลับมารอบนี้ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 55-27 คว้าแชมป์ Division ได้อีกครั้ง พร้อมกับการที่ Olajuwon ได้รางวัลผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยมแห่งปี พร้อมกับผลงานใน Playoffs ที่เข้าไปได้ถึงรอบสองเสียที หลังจากต้องน้ำตาตกมาหลายฤดูกาล
จากนั้นในปี 1993 ทีมมีการเปลี่ยนเจ้าของเป็น Leslie Alexander และทีมทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูกาลนี้ทีมจบด้วยสถิติ 58-24 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ทีม และ Olajuwon คว้าได้ทั้ง MVP และผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลพร้อมกันเลยทีเดียว
ในที่สุดทีมก็สามารถคว้าแชมป์ลีกครั้งแรกไปได้สำเร็จ จากการที่เอาชนะ Knicks ในรอบชิงแชมป์ลีกไปได้ พร้อมกับการที่ Olajuwon ทำผลงานตลอดช่วง Final เฉลี่ย 27 แต้ม 9 Rebounds และ 4 Blocks คว้ารางวัล Finals MVP ไปครอง ถือเป็นฤดูกาลที่น่าจดจำสำหรับเขาและ Rockets อย่างแท้จริง
1994 NBA Champions
ในฤดูกาลถัดมา ถึงแม้ว่าช่วงต้นฤดูกาลจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ทีมก็ยังจบด้วยสถิติ 47-35 แถมได้กำลังสำคัญอย่าง Clyde Drexler มาจาก Blazers ที่จะมาช่วยเติมเต็มในแนวหลังอีกด้วย และปาฎิหาริย์ก็เกิดขึ้นจนได้ ทีมสามารถป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จด้วยการเอาชนะ Magic ไปในรอบชิงแชมป์ลีก กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีกที่สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ ทั้งที่จบแค่อันดับ 6 ในฝั่งตะวันตกเท่านั้น
ยุคแห่ง Big 3
เวลาล่วงเวลยมาจนถึงฤดูกาล 1996/97 ที่ทีมได้ทำการคว้าตัว Charles Barkley เข้าสู่ทีมมาได้อีกคน ทำให้ก่อกำเนิด Big 3 ของทีมอย่าง Olajuwon, Drexler และ Barkley ขึ้นมาได้สำเร็จ
Drexler, Barkley และ Olajuwon
ส่งผลให้ฤดูกาลนี้ทีมจบด้วยสถิติ 57-25 และทำผลงานใน Playoffs ได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทั้งสามคนสามารถเล่นด้วยกันได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่รุ่งเรืองเท่ากับชุดที่ได้แชมป์ลีกก็ตาม
แต่จนแล้วจนรอดความสำเร็จดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น ในฤดูกาลถัดมาทีมกลับทำผลงานได้แค่ 41-41 และตกรอบแรก Playoffs ไปอย่างเจ็บปวด และหลังจากนั้นมาทีมก็เริ่มเข้าสู่การสิ้นสุดของยุค Big 3 แค่ระยะสั้นๆ และกลายเป็นยุคตกต่ำของทีมตั้งแต่นั้น
เริ่มจากหลังจบฤดูกาล 1997/98 หลังจากที่แพ้ Jazz ใน Playoffs รอบแรก Drexler ก็ได้ประกาศเลิกเล่นไปเป็นคนแรก
ถึงแม้ว่าทีมจะ Trade Pippen เข้ามาแทน แต่ก็ไม่ใช่จังหวะฟอร์มพีคของเจ้าตัวเหมือนตอนอยู่ Bulls อีกต่อไป และยังมีปัญหากับ Barkley อีกต่างหาก สุดท้ายก็ถูกปล่อยออกไปในปี 1999 เพียงแต่ทีมโชคร้ายที่หลังจากนั้น Barkley ก็ประสบกับอาการบาดเจ็บที่ต้องทำให้เลิกเล่นไปอีกคน
สุดท้ายแล้ว Olajuwon ที่อยู่กับทีมมานานถึง 18 ฤดูกาล ก็ทำการขอ Trade ออกจากทีมในฤดูกาล 2000/01 เพื่อหลีกทางให้ดาวรุ่งได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่
แต่โชคก็ถือว่ายังเข้าข้างทีมอยู่บ้าง เมื่อทีมได้ทำการหาแกนหลักตัวใหม่อย่าง Steve Francis เข้ามาแทนที่รอไว้แล้วในปี 1999 แต่ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะเล่นได้ดีเพียงใด เมื่อเหลือแกนหลักเพียงคนเดียวก็ยังไม่สามารถแบกทีมได้ ทำให้ผลงานของทีมหลังการจากไปของ Big 3 กลับไปสู่ความตกต่ำอีกครั้ง
ยุคของ Yao Ming
ในการ Draft ปี 2002 ทีมตัดสินใจใช้สิทธิ์การ Draft อันดับ 1 เลือกผู้เล่นชาวจีนอย่าง Yao Ming เข้าสู่ทีม จุดเด่นคือส่วนสูงที่มากถึง 7 ฟุต 6 นิ้ว ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในตอนนั้น เพราะเป็นการ Draft ผู้เล่นเอเชียคนแรกจากการใช้สิทธิ์อันดับ 1 เหนือกว่าผู้เล่นในประเทศทุกคน
Yao Ming
ทำให้หลายฝ่ายต่างก็วิจารณ์ว่าทีมทำเพื่อต้องการขยายตลาดเป็นหลักหรือไม่ เนื่องจากในปีนี้ทีมได้ใช้สนามเหย้าใหม่เป็น Toyota Center ที่ใช้เรื่อยมาจนถึงตอนนี้แทนสนามเดิมด้วย
นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยน HC ที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานของ Tomjanovich ที่มีปัญหาสุขภาพจนขอถอนตัว และทีมก็ได้ Jeff Van Gundy เข้ามาคุมทีมแทน
แต่ Ming ก็สยบคำวิจารณ์ด้วยการผนึกกำลังกับ Francis ทำให้ทีมจบด้วยสถิติ 45-37 และเข้า Playoffs ได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าจะยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่บ้าง แต่ทุกฝ่ายต่างก็เชื่อว่าเจ้าตัวจะเป็นแกนหลักอีกคนให้กับทีมได้อย่างแน่นอน
ในฤดูกาลถัดมา ทีมได้ทำการ Trade ผู้เล่นมากฝีมืออย่าง Tracy McGrady มาจาก Magic เข้าสู่ทีมได้อีกคน น่าเสียดายที่ Francis ฟอร์มเริ่มแผ่วลงไป ไม่อย่างนั้นคงเรียกได้ว่าเป็น Big 3 ชุดใหม่ได้เลยทีเดียว
Tracy McGrady
ซึ่งทั้ง Ming และ McGrady กลายเป็นคู่หูหลักที่พาทีมจบฤดูกาล 2004/05 ด้วยสถิติ 51-31 แต่ก็ต้องจอดป้ายแค่ Playoffs รอบแรกเท่านั้น
ในฤดูกาลต่อมา อาการบาดเจ็บทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างเต็มที่ ทั้งคู่นั้นได้ลงสนามพร้อมกันเพียงแค่ 31 นัดเท่านั้น ทำให้ Francis ที่ฟอร์มตกลงก็ไม่สามารถแบกทีมได้ ทีมมีสถิติแค่ 34-48 เท่านั้นในฤดูกาลนี้
ถึงแม้ว่าในฤดูกาล 2006/07 ทั้งสองคนจะกลับมาฟิตสมบูรณ์จนพาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้ แต่ก็ต้องตกรอบแรกไปเช่นเดิม ทำให้ทีมตัดสินใจเปลี่ยน HC ของทีมเป็น Rick Adelman หลังจากจบฤดูกาลดังกล่าว
ในฤดูกาล 2007/08 ทีมมีผลงานในฤดูกาลปกติที่กลับมาดีมากๆ อีกครั้ง แถมยังทำสถิติเอาชนะต่อเนื่องไปได้ 22 นัด มากทีสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ลีกอีกด้วย น่าเสียดายที่ผลงานใน Playoffs กลับยังทำได้ไม่ดีนัก แพ้เพียงแค่รอบแรกเท่านั้น
น่าเสียดายที่ฤดูกาล 2008/09 ทีมได้ Ron Artest มาเป็นกำลังสำคัญอีกคนให้กับทีม ถึงตรงนี้ดูเหมือนทีมจะมี Big 3 ชุดใหม่อย่าง Ming, McGrady และ Artest แต่ทั้งสามคนนี้กลับแทบที่จะไม่ได้ลงเล่นพร้อมกันเลย เนื่องจากต่างคนก็ต่างมีปัญหาอาการบาดเจ็บมารบกวนอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ทีมยังสามารถจบฤดูกาลด้วยสถิติ 53-29 และสามารถผ่าน Playoffs รอบแรกไปได้เสียที แต่ทีมกลับต้องพ่ายแพ้ให้กับ Lakers พร้อมทั้งเสีย Ming จากอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง ที่ส่งผลให้เจ้าตัวไม่สามารถกลับมาเล่นได้อย่างฟิตสมบูรณ์เต็มร้อยอีกเลยจนกระทั่งวันที่เขาได้เลิกเล่นไป แถมทางด้าน Artest ก็อยู่กับทีมเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะทำการย้ายทีมหลังจบฤดูกาลเช่นกัน
ซึ่งส่งผลให้ฤดูกาล 2010/11 หลังจากที่ Ming หายจากอาการบาดเจ็บมาได้ไม่นาน เจ้าตัวก็ต้องได้รับบาดเจ็บหนักอีกครั้งหลังจากได้ลงสนามเพียงแค่ 5 นัดเท่านั้น พร้อมกับส่งผลให้ต้องเลิกเล่นไปด้วยวัยเพียงแค่ 30 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากในอาชีพการเล่นของผู้เล่นใน NBA และทีมจึงต้องเข้าสู่โหมดการสร้างทีมใหม่ต่อไป
การมาของ James Harden
เวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงฤดูกาล 2012/13 ที่ทีมได้ตัดสินใจทำการ Trade ครั้งใหญ่กับ Thunder ในการดึงเอาผู้เล่นหลายคนเข้าสู่ทีม หนึ่งในนั้นคือผู้เล่นสำรองยอดเยี่ยมแห่งปีอย่าง James Harden อีกด้วย
James Harden
Rockets ได้ให้โอกาส Harden ในการที่จะเปล่งประกายได้อย่างเต็มที่ ด้วยการขยับบทบาทจากเดิมที่เป็นได้แค่ 6th man ให้กลายเป็นตัวจริงของทีมในทันที และนั่นก็ทำให้ยุคใหม่ของทีมที่มี Harden เป็นแกนหลักก็ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น
หลังจากที่เจ้าตัวเปิดตัวกับทีมใหม่ได้อย่างสุดยอด ทำผลงานได้ 37 แต้ม 12 Assists 6 Rebounds 4 Steals และอีก 1 Block เขาก็ตัดสินใจที่จะผูกอนาคตระยะยาวไว้กับทีม ด้วยการต่อสัญญาไปอีก 5 ปีแทบจะทันทีหลังจากนั้น
ยิ่งในตอนนี้ทีมได้อยู่ในมือ HC อย่าง Kevin McHale ที่ชื่นชอบเกมบุกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาก็ได้ทำให้ Rockets กลายเป็นทีมที่มีเกมบุกร้อนแรงที่สุดในลีกไปได้ในพริบตาเช่นกัน
น่าเสียดายที่ผลงานใน Playoffs กลับต้องพลาดท่าตกรอบแรกด้วยน้ำมือของทีมเก่าอย่าง Thunder แต่ก็ถือว่าเป็นฤดูกาลที่ทำให้ Harden ฉายแววสู่การเป็น Superstar ประจำทีมได้อย่างเต็มตัว
คู่หู Harden-Howard
ในช่วง Offseason ปี 2013 ทีมพยายามที่จะหาผู้เล่นระดับสูงเข้าสู่ทีมเพิ่มมาอีกคน จนสุดท้ายก็ได้ Dwight Howard ที่ฟอร์มกำลังอยู่ในช่วงพีคเข้ามาสู่ทีม ทำให้ Rockets ขยับจากทีมลุ้นเข้ารอบ กลายเป็นหนึ่งในเต็งลุ้นแชมป์ลีกทันที
แต่ผลงานในฤดูกาล 2013/14 กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง พลาดท่าเพียงแค่ Playoffs ในรอบแรกไปแบบเจ็บช้ำ ไม่สมราคาหนึ่งในตัวเต็งแชมป์เลยแม้แต่น้อย
ฤดูกาลถัดมาทีมจึงตัดสินใจผ่าตัดขุมกำลังของทีมเสียใหม่ เริ่มจากการ Trade Jeremy Lin ที่เริ่มมีปัญหาเรื่องความคงเส้นคงวาออกจากทีม และเลือกที่จะไม่ต่อสัญญา Chandler Parsons ที่ Mavericks เสนอสัญญาก้อนโตให้ จากนั้นทีมจึงได้ทำการเซ็นผู้เล่นเข้ามาหลายคน นำโดย Trevor Ariza ที่จะเข้ามามีบทบาทกับทีมพอสมควร
การปรับทีมในครั้งนี้ส่งผลให้ผลงานในฤดูกาล 2014/15 ดูดีขึ้นกว่าเดิมได้จริงๆ ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 56-26 พร้อมกับคว้าแชมป์ Division มาครองได้อีกสมัย หลังจากที่ห่างหายไปนานหลายฤดูกาล ในขณะที่ Playoffs ก็สามารถไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สายได้เป็นครั้งแรกนับจากที่ Olajuwon ได้จากทีมไป ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Warriors แบบขาดลอย 4-1 แต่ก็ถือว่ามีผลงานที่สุดยอดเอามากๆ แล้ว
น่าเสียดายที่ฤดูกาลถัดมาทีมไม่สามารถครองความยิ่งใหญ่เอาไว้ได้อีก ทีมจบด้วยสถิติ 41-41 และเข้ารอบ Playoffs ได้แบบฉิวเฉียดที่อันดับ 8 ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Warriors ตกรอบแรกแบบไม่พลิกโผ แต่จุดนี้ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทีมเกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยน HC เป็น Mike D' Antoni และ Howard ตัดสินใจ Option Out ไม่เล่นให้กับทีมในสัญญาปีสุดท้าย ก่อนที่จะไปเซ็นสัญญาใหม่กับ Hawks ในที่สุด
คู่หูคู่ใหม่ Harden-Paul
ก่อนที่ฤดูกาล 2016/17 จะเริ่มขึ้น ทีมได้มีการปรับขุมกำลังผู้เล่นอีกครั้ง นำโดย Ryan Anderson และ Eric Gordon ที่จะกลายมาเป็นผู้เล่นสำรองที่มีบทบาทกับทีมได้เป็นอย่างดี
ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 55-27 พร้อมกับการที่ D'Antoni ได้ตำแหน่งโค้ชยอดเยี่ยมแห่งปี พร้อมกับ Gordon ที่กลายเป็นผู้เล่นสำรองยอดเยี่ยมแห่งปีเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่ Playoffs กลับไม่สามารถผ่าน Spurs ไปได้ จอดป้ายเพียงแค่รอบสองเท่านั้น
ทำให้หลังจบฤดูกาล นอกจากทีมจะมีการเปลี่ยนเจ้าของใหม่เป็น Tilman Fertitta ที่เป็นคนปัจจุบันแล้ว ทีมยังเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการทุ่มทุน Trade สุดยอดผู้เล่นอย่าง Chris Paul เข้ามาสู่ทีม ซึ่งถือว่าสร้างความฮือฮาได้เป็นอย่างมากในตอนนั้น
Chris Paul
ทีมจบฤดูกาล 2017/18 ด้วยสถิติ 65/17 ซึ่งถือว่าสุดยอดมากๆ คู่หู Paul-Harden ดูท่าจะมีอนาคตที่สดใส หลังจากทำสถิติเป็นอันดับ 1 ในลีก ดีกว่าเต็งแชมป์อันดับ 1 ในขณะนั้นอย่าง Warriors เสียอีก พร้อมกับเป็นสถิติที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของทีมเสียด้วย
แต่ทีมก็ยังไม่สามารถทะลุไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้เสียที หลังจากที่โดน Warriors หวดตกรอบใน Playoffs ชนิดที่ต้องไปตัดสินกันในเกมสุดท้ายของรอบชิงแชมป์สายตะวันตก พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย
สุดท้ายหนังม้วนเดิมก็ฉายซ้ำอีกครั้ง ในฤดูกาล 2018/19 ทีมกลับไม่สามารถรักษาฟอร์มสุดยอดเหมือนฤดูกาลก่อนหน้าได้ และก็โดน Warriors เขี่ยตกรอบติดต่อกันเป็นหนที่สาม เพียงแต่ในรอบนี้เป็นแค่รอบสองเท่านั้น
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
ในช่วง Offseason ปี 2019 ทีมน่าจะมองเห็นว่าคู่หู Harden-Paul ไม่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้อีกแล้ว ทีมจึงตัดสินใจ Trade Paul ออกไปให้กับ Thunder เพื่อแลกกับผู้เล่นระดับใกล้เคียงกันอย่าง Russell Westbrook เข้ามาสู่ทีมแทนที่
Russell Westbrook
ช่วงกลางฤดูกาลทีมก็ยังทำเรื่องที่ถือว่าน่าแปลกใจมากในตอนนั้น นั่นคือการ Trade Center ธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมดออกจากทีมทั้ง Nene และ Clint Capela ส่งผลให้ทีมไม่มีผู้เล่นตำแหน่ง Center ธรรมชาติเหลืออยู่ในทีมอีกเลย และเปลี่ยนเป็นการเล่นแบบ Small Ball แทบจะเต็มรูปแบบ (ระบบที่เน้นผู้เล่นที่เคลื่อนที่ได้เร็วทั้งคนและบอล โดยไม่สนเกมวงใน)
ระบบนี้เหมือนจะดูได้ผลในช่วงฤดูกาลปกติ เพราะทีมสามารถทำอันดับเข้ารอบ Playoffs ได้อย่างไม่ยากเย็น เพียงแต่พอเจอทีมที่มีวงในโหดๆ อย่าง Lakers ทีมกลับไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ตกรอบไปเพียงแค่ Playoffs รอบสองเท่านั้น
นอกจากนั้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นภายในทีม ทำให้สุดท้ายแล้วทั้ง Harden และ Westbrook สุดท้ายก็เลือกที่จะย้ายออกจากทีมไปทั้งคู่ ต้องรอดูกันว่าแกนหลักคนใหม่ที่มาแทนอย่าง John Wall และ Viktor Oladipo พร้อมกับ HC คนใหม่อย่าง Stephen Silas จะพาทีมไปได้ถึงไหนในฤดูกาลนี้
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา