Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มมาเก๊า
•
ติดตาม
9 ม.ค. 2021 เวลา 16:46 • การศึกษา
[ตอนที่ 4] แนะนำภาพรวมของภาษาเกาหลี
An overview of Korean language
เนื่องจากบล็อกนี้จะเน้นที่เกร็ดเรื่องราวต่าง ๆ ของภาษาทางตะวันออกและตะวันตก เลยขอ "แนะนำ" ภาพรวมของภาษาต่าง ๆ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าแต่ละภาษามีเอกลักษณ์ จุดร่วม ความยากง่าย และประวัติความเป็นมาอย่างไร แต่จะยังไม่สอนภาษาใดภาษาหนึ่งครับ
สำหรับตอนแรกของซีรีส์ "แนะนำภาษาตะวันออก" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาของดินแดนแห่งความสงบยามเช้า - The land of morning calm "ภาษาเกาหลี" หนึ่งในภาษาตะวันออกยอดนิยมที่คนไทยเรียนกัน อาจจะผ่านดนตรี ละคร การทำงาน หรือการศึกษาต่อ จะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านได้เลยครับ
[Credit ภาพ : User ‘Evelyn_Chai’ @ pixabay.com]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ :
การแสดงเพลง 강강술래 "คังกังซุลแร" ในดนตรีพื้นบ้านเกาหลีแบบ Remix โดย Song So-Hee และ R-Tee ในปี ค.ศ.2015
https://www.youtube.com/watch?v=q_ZEMEZzN2A
เยี่ยมชม
youtube.com
[MBC] R.Tee - 강강술래 (feat. 송소희)
어제밤 MBC 에서 공연한R.Tee - 강강술래 (feat. 송소희) 입니다!!노래를 만들면서 많은 고민을 했는데, 남녀노소 너무 잘 놀아주셔서 감사할 따름입니다 ㅠ-ㅠ경복궁 안에서 한바탕 놀아본게 여전히 꿈같네요..재밌게 봐주세요~~^^!(+우리 소희 최고다!!! 잘한다 이쁘다!...
ภาษาเกาหลี (เกาหลีใต้เรียกว่า 한국어 “ฮันกูกอ” เกาหลีเหนือเรียกว่า 조선말 “โชซ็อนมัล”) เป็นภาษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่มีคนใช้กันประมาณ 77 ล้านคน โดยใช้เป็นภาษาแม่และภาษาทางการสำหรับคาบสมุทรเกาหลี (เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้)
เพียงแต่ทั้งสองประเทศต่างมี “ภาษาเกาหลีมาตรฐาน” ที่แตกต่างกันตามแบบของตน อ้างอิงตามสำเนียงเมืองหลวง เช่นเดียวกับภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนกลาง หรือภาษาเวียดนาม
- เกาหลีใต้: 표준어 “พโยจูนอ” แปลว่า “ภาษามาตรฐาน” มีพื้นฐานจากภาษาเกาหลีสำเนียงกรุงซออุล (โซล)
- เกาหลีเหนือ: 문화어 “มู-นวาออ” แปลว่า “ภาษาวัฒนธรรม” ส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากภาษาเกาหลีสำเนียงกรุงซออุล สมัยก่อนแยกประเทศเป็นเหนือ-ใต้ ร่วมกับสำเนียงพย็องยัง (เปียงยาง) อีกเล็กน้อย หลายคำในภาษามาตรฐานเกาหลีเหนือถูกประดิษฐ์ขึ้นจากทางเกาหลีเหนือเอง (กรณีที่เป็นคำยืมจากภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ) เพิ่มคำที่ใช้สื่อแนวคิดและระบบสังคมนิยม ตัดคำที่ใช้สื่อถึงสังคมในระบบศักดินาออกไป
แผนที่แสดงการกระจายตัวของผู้ใช้ภาษาเกาหลีในคาบสมุทรเกาหลีและทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน [ดัดแปลงจากแผนที่โดย User ‘Fobos92’ @ Wikipedia]
ภาษาเกาหลียังใช้ในประเทศอื่นด้วย ตามข้อมูลของชาวเกาหลีที่อยู่อาศัยในต่างแดน ค.ศ.2019 ได้แก่
1) ใช้เป็นภาษาทางการร่วมกับภาษาจีนกลาง ตามอำเภอปกครองตนเองชนชาติเกาหลีฉางไป๋ และจังหวัดปกครองตนเองชนชาติเกาหลีหยานเปียน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในมณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และชาวเกาหลีในจีนมีประมาณ 2.46 ล้านคน นับเป็นกลุ่มใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในบรรดากลุ่มชาวเกาหลีนอกประเทศเกาหลี
2) ใช้เป็นภาษาระดับรองลงมา ในฐานะภาษาแม่เฉพาะในครอบครัว หรือภาษาที่ 2-3 สำหรับชาวเกาหลีที่อาศัยในต่างแดน
- สหรัฐฯ : กระแสชาวเกาหลีใต้อพยพไปยังสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่หลังสงครามเกาหลี จากจำนวนชาวเกาหลีในสหรัฐฯ ราว 70,000 คนในปี ค.ศ.1970 เพิ่มจำนวนเป็น 2.55 ล้านคนในปัจจุบัน
- ญี่ปุ่น : ตั้งแต่สมัยที่เกาหลีอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น (ค.ศ.1910-1945) และหลังสงครามเกาหลี (กระแสการอพยพเข้าญี่ปุ่นช่วง ค.ศ.1960-1985) ปัจจุบันมีชาวเกาหลีในญี่ปุ่นราว 825,000 คน
- กลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต : ชาวเกาหลีกลุ่มนี้รวมกันแล้วเกือบ 490,000 คน มักอยู๋ในอุซเบกิสถาน รัสเซีย และคาซัคสถาน
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ชาวเกาหลีกลุ่มนี้รวมกันแล้วมากกว่า 410,000 คน มักอยู่ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
แผนที่โลกแสดงการกระจายตัวของประชากรชาวเกาหลีที่อาศัยในต่างแดน (Korean diaspora) ตามข้อมูลเก่าของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ค.ศ.2011 [Credit ภาพ : Korea JoongAng Daily]
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาเกาหลีที่เด่นชัด ได้แก่
1) ภาษาเกาหลีเป็นภาษาแบบ “ภาษาคำติดต่อ” (Agglutinative languages) ตรงที่หน่วยคำไม่สามารถอยู่โดด ๆ ได้แบบภาษาไทย แต่ต้องเติมหน่วยเติมต่อท้าย ซึ่งมีหลายแบบ เช่น
แบบที่ 1 - “คำชี้” ไว้คอยบอกว่าหน่วยคำแต่ละหน่วย ที่คำชี้อยู่ข้างหลังนั้นทำหน้าที่อะไร (ประธาน หัวข้อ กรรม หรือสถานที่ เป็นต้น) ตัวอย่างเช่น
- คำชี้ 이/가 และ 은/는 บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นประธานของประโยค
- คำชี้ 에 บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นสถานที่เป็นจุดมุ่งหมายหรือมีประธานของประโยค
- คำชี้ 의 บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นเจ้าของ
- คำชี้ 을/를 บอกว่าคำนามที่อยู่ด้านหน้าเป็นกรรมของประโยค
แบบที่ 2 – การผันคำที่ท้ายรากคำกริยา ที่ขึ้นกับปัจจัยอื่น เช่น การผันคำตามกาล (Tense) และมาลา (Mood : บอกสถานการณ์หรืออารมณ์ที่ผู้กล่าวประโยคนั้นใช้ เช่น คำถาม ปฏิเสธ ชักชวน) เป็นต้น
- ท่อน 었/았 บอกว่าคำกริยาที่ผันให้มีท่อนนี้เกิดขึ้นในอดีตและเสร็จสิ้นลงไปแล้ว เช่น คำกริยา 가다 (ไป) ผันรากคำกริยาเป็นรูปอดีตแบบบอกเล่ากลายเป็น 갔어요
- ท่อน 까 บอกว่าคำกริยานั้นอยู่ในประโยคคำถามแบบสุภาพทางการ เช่น คำกริยา 가다 (ไป) ผันรากคำกริยาเป็นรูปคำถามแบบสุภาพทางการ กลายเป็น 갑니까
- ท่อน 자 บอกว่าคำกริยานั้นอยู่ในประโยคเชิญชวน เช่น คำกริยา 가다 (ไป) ผันรากคำกริยาเป็นรูปเชิญชวนเป็น 가자 (ไปกันเถอะ)
- ท่อน 라 บอกว่าคำกริยานั้นอยู่ในประโยคคำสั่ง เช่น คำกริยา 가다 (ไป) ผันรากคำกริยาเป็นรูปคำสั่งเป็น 가라 (ไปซะ!)
แบบที่ 3 – การผันคำที่ท้ายรากคำกริยา ที่ขึ้นกับระดับของคำพูด ซึ่งในภาษาเกาหลีจะมีระดับคำพูดถึง 7 แบบ ในตัวอย่างต่อไปนี้จะกล่าวเพียง 3 แบบ และผันคำกริยา 하다 (ทำ) เป็นตัวอย่างในระดับคำพูดแต่ละแบบ
- แบบฮาโซซอ (하소서체) หรือแบบสุภาพทางการขั้นสูงสุด :
ใช้กับกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนางระดับสูง ปัจจุบันพบตามละครย้อนยุค หรือคัมภีร์ทางศาสนา เติมท่อน –나이다 (กรณีบอกเล่า) หรือ –나이까? (กรณีคำถาม) เช่น 하다 -> 하나이다
- แบบฮาชิบชีโอ (하십시오체) หรือแบบสุภาพทางการ :
ใช้ในกรณีสนทนากับคนแปลกหน้า ผู้อาวุโส ผู้มีตำแหน่งสูงกว่า แถลงการณ์ การประกาศข่าวของสื่อมวลชน สนทนากับลูกค้าในงานบริการ ข้อความตามตำรา เติมท่อน –ㅂ니다 (กรณีบอกเล่า) หรือ –ㅂ니까? (กรณีคำถาม) เช่น 하다 -> 합니다
- แบบแฮโย (해요체) หรือแบบสุภาพเป็นกันเอง :
มักใช้ในการสนทนาแบบเป็นกันเองแต่ยังคงความสุภาพไว้ จึงปรากฏตามหนังสือรวมคำศัพท์ วลี ประโยคเบื้องต้นสำหรับนักท่องเที่ยว หรือสนทนากับเพื่อนร่วมงานเติมท่อน -요 (ทั้งกรณีบอกเล่าและคำถาม) เช่น 하다 -> 해요
2) ไวยากรณ์ของภาษาเกาหลีมีความใกล้เคียงกับภาษาญี่ปุ่นและภาษามองโกล ตรงที่เป็น ”ภาษาคำติดต่อ” และมีโครงสร้างประโยคแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ประโยค “ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว”
ภาษามองโกล: Би энэ номыг уншсан. (Bi ene hom-yg unsh-san)
- Би (Bi) = ฉัน
- энэ (Ene) = นี้
- ном (Hom) = หนังสือ
- ыг (-yg) = คำชี้กรรมของประโยค
- унш (Unsh) = อ่าน
- сан (-san) = ส่วนต่อท้ายกริยาเพื่อบ่งชี้ว่ากริยานั้นทำในอดีต
ภาษาเกาหลี: 저는 이 책을 읽었습니다. (Jeo-neun i chaeg-eul ilgeotseumnida)
- 저 (Jeo) = ฉัน
- 는 (-neun) = คำชี้ประธานของประโยค
- 이 (i) = นี้
- 책 (chaeg) = หนังสือ
- 을 (-eul) = คำชี้กรรมของประโยค
- 읽다 (ikda) = อ่าน (คำกริยา)
- 읽었습니다 (ilgeotseumnida) = อ่านแล้ว (ผันคำให้อยู่ในรูปอดีตแล้ว)
ภาษาญี่ปุ่น: 私は この本を 読みました。(Watashi-wa kono-hon-o yomimashita)
- 私 (Watashi) = ฉัน
- は (-wa) = คำชี้ประธานของประโยค
- この (kono-) = นี้
- 本 (Hon) = หนังสือ
- を (-o) = คำชี้กรรมของประโยค
- 読む (yomu) = อ่าน (คำกริยา)
- 読みました (yomimashita) = อ่านแล้ว (ผันคำให้อยู่ในรูปอดีตแล้ว)
ความคล้ายคลึงกันด้านไวยากรณ์ดังกล่าวนี้เอง ส่งผลให้นักภาษาศาสตร์สมัยก่อน (ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 - ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) เสนอว่า ภาษาเกาหลีเป็นภาษาสมาชิกหนึ่งในตระกูลภาษาอัลไต (Altaic languages) ร่วมกับภาษาญี่ปุ่น ภาษามองโกล และภาษาตุรกี
ในภายหลังเริ่มมีการเสนอจากนักภาษาศาสตร์รายอื่น ๆ ว่าภาษาเกาหลีไม่ขึ้นกับตระกูลภาษาอัลไต ดังนี้
- ภาษาเกาหลีเป็นภาษาโดดเดี่ยว (Isolate language) ไม่ขึ้นกับตระกูลภาษาใดๆเลย เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น
- “ตระกูลภาษาเกาหลี” (Koreanic languages) เป็นตระกูลภาษาเล็ก ๆ มีภาษาที่ใช้ในปัจจุบันเพียงภาษาเกาหลีและภาษาเชจู (제주말 “เชจูมัล”) ภาษาเชจูมีคำแตกต่างจากภาษาเกาหลี และไวยากรณ์ใกล้เคียงกัน มีผู้ใช้ในปัจจุบันเป็นผู้สูงอายุเพียง 5,000 คนบนเกาะเชจูของเกาหลีใต้ (ทางองค์การ UNESCO จึงประกาศให้ภาษาเชจูเป็น “ภาษาใกล้สูญ” ในปี ค.ศ.2011)
ถึงแม้ไวยากรณ์ภาษาเกาหลีจะดูคล้ายคลึงกับภาษาเพื่อนบ้านอย่างภาษาญี่ปุ่นและภาษามองโกล แต่ภาษาจีน ในฐานะเพื่อนบ้านของภาษาเกาหลีอีกภาษา ก็มีอิทธิพลต่อภาษาเกาหลีอย่างมาก เนื่องจากอิทธิพลทางวรรณกรรมและวัฒนธรรมที่เกาหลีได้รับจากจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวอย่างเช่น
- คำในภาษาเกาหลี: จำนวนคำประมาณครึ่งหนึ่งในภาษาเกาหลีได้รับอิทธิพลมาจากภาษาจีน อย่างชื่อ 조선 “โชซ็อน” ที่ทางเกาหลีใช้เป็นชื่ออาณาจักรของตนในปี ค.ศ.1392-1910 จนเกาหลีเหนือรับคำนี้ใช้เรียกประเทศตนเอง มาจากคำภาษาจีนว่า 朝鮮 “เฉาเสี่ยน” แปลว่า “ความสงบยามเช้า”
ภาพแสดงคำภาษาเกาหลี "ฮันกุก" ที่แปลว่าประเทศเกาหลีใต้ ที่พิมพ์ด้วยอักษรฮันกึล (บน) และอักษรฮันจา (ล่าง) [Credit ภาพ : User 'Supreme Dragon' & '밥풀떼기' @ Wikimedia]
- ระบบการเขียน: เนื่องจากเกาหลีได้รับคำจากภาษาจีนมามาก จึงใช้ตัวอักษรจีน ที่มีลักษณะเป็นตัวอักษรแปลงจากภาพเพื่อบอกความหมายของคำ ไม่มีการแยกตัวเขียนออกเป็นพยัญชนะและสระ อักษรจีนที่เกาหลียืมมาใช้กับภาษาเกาหลีเรียกว่า “ฮันจา” (漢字) และยังใช้กำกับการออกเสียงคำในภาษาเกาหลีสมัยโบราณ แต่พบปัญหาตรงความแตกต่างระหว่างไวยากรณ์ภาษาจีนกับเกาหลี จนกระทั่งเกาหลีได้เปลี่ยนมาใช้อักษรฮันกึล (한글) ที่แยกตัวเขียนออกเป็นพยัญชนะกับสระในภายหลัง
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- Mark Vincent, Jaehoon Yeon. Complete Korean. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Danielle Ooyoung Pyun, In-Seok Kim. Colloquial Korean. Oxfordshire, UK: Routledge; 2010.
- Iksop Lee, S. Robert Ramsey. The Korean Language. In: The Modern Dialects. New York, USA: State University of New York; 2000. p. 309.
https://books.google.co.th/books?id=NN-yIdLOkCoC&pg=PA309&redir_esc=y&fbclid=IwAR03SAlW87ggB7lz-5vAEc_9St_dh3e1PE8Xfu-HYIHlXYmZqcEWgPbJ9P8#v=onepage&q&f=false
- Jaehoon Yeon. How different is Pyongyang speech from Seoul speech?. British Association for Korean Studies Papers 2000; 7: 241-252.
https://eprints.soas.ac.uk/10277/1/11Chapter.pdf?fbclid=IwAR1swHehZLzUH1BuOePO8GRVY2hj3r6IF3lPWpKBI-bY5YjlUWbVBPqq_fk
- 재외동포현황(2019) / Total number of overseas Koreans (2019). South Korea: Ministry of Foreign Affairs. 2019.
http://www.mofa.go.kr/www/wpge/m_21509/contents.do
-
http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download;jsessionid=DC94958FEC48A04D0385EF1AB4D5A8E2?doi=10.1.1.612.8641&rep=rep1&type=pdf
-
https://blog.lingodeer.com/korean-speech-levels/
ภาษาเกาหลี
ภาษาต่างประเทศ
5 บันทึก
2
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภาพรวมของภาษาใน "เอเชียตะวันออก"
5
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย