Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มมาเก๊า
•
ติดตาม
16 ม.ค. 2021 เวลา 06:06 • การศึกษา
[ตอนที่ 6] ภาษาต่าง ๆ ในประเทศจีน
Languages in China
สำหรับเนื้อหาในตอนนี้จะแนะนำภาพรวมเกี่ยวกับภาษาต่าง ๆ ในประเทศจีน ซึ่งบางคนอาจเข้าใจว่าคนจีนทุกคนต้องใช้ภาษาจีนกลางเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเขาอาจใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาที่ 2 ภาษาแม่ของเขากลับเป็นภาษาอื่น หรือเมื่อเดินทางไปภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีน คุณอาจจะเจอกับภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนกลางที่เราเรียนมาใช้ในจีนอาจแตกต่างไปจากที่คนท้องถิ่นใช้ เรามาทำความรู้จักประเทศจีนในฐานะ “ดินแดนที่มีความหลากหลายทางภาษา” กันเลยครับ
ภาพจำลองพื้นที่ประเทศจีนจากอวกาศ [Credit ภาพ : Przemek Pietrak]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ :
ดนตรีประกอบการเต้นรำของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 5 กลุ่มในจีน (มองโกล หุย จ้วง อุยกูร์ และทิเบต) โดยสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนในปี ค.ศ.2011
https://www.youtube.com/watch?v=Dxpq_FaL6j0
เยี่ยมชม
youtube.com
Best dance ever, China multiculture dances [HD]
This dance is called Happy big family, composed of five big ethnic groups in China, the first dance group is Mongolian(bowls on the head of all dancers), the...
เนื่องจากประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่จนเกือบเท่าทวีปยุโรป (พื้นที่ประเทศจีนประมาณ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ทวีปยุโรปประมาณ 10.18 ล้านตารางกิโลเมตร) ครอบคลุมสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่หลากหลาย ตั้งแต่เมืองใหญ่ที่ทันสมัยและพลุกพล่านตามแถบชายฝั่งตะวันออกอย่างเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ที่อุดมไปด้วยเทือกเขาและป่าไม้อย่างมณฑลยูนนาน และพื้นที่ทุ่งหญ้าแห้งแล้งกว้างใหญ่ทางเหนืออย่างเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศจึงส่งผลให้มีภาษาต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันในประเทศจีนประมาณ 300 ภาษา และยังมีสำเนียงต่าง ๆ แบ่งย่อยอีกนับไม่ถ้วน
ภาษาต่าง ๆ กลุ่มที่มีประชากรจำนวนมากในประเทศจีนใช้ เรียกรวมกันว่า “กลุ่มภาษาจีน” (Sinitic languages / 汉语族) ประกอบด้วยกลุ่มภาษาจีน 8 กลุ่มหลัก ซึ่งต่างกันตรงเสียงวรรณยุกต์กับคำศัพท์ แม้ว่าจะใช้อักษรจีนร่วมกัน นักภาษาศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงนับภาษาเหล่านี้เป็น “ภาษาย่อย” แต่ก็มีนักภาษาศาสตร์อีกส่วนที่ถือว่าเป็น “สำเนียงท้องถิ่น” ซึ่งในบางครั้งคนจีนที่ใช้ภาษาจีนคนละกลุ่มเป็นภาษาแม่จะไม่สามารถพูดสื่อสารเข้าใจระหว่างกัน ต้องใช้อักษรจีนประกอบหรือเปลี่ยนไปใช้ภาษาจีนกลางเป็นสื่อกลางแทน
กลุ่มภาษาจีน 8 กลุ่มหลัก ได้แก่
แผนที่บริเวณครึ่งประเทศจีนฝั่งตะวันออก และเกาะไต้หวัน แสดงการกระจายตัวของผู้คนที่พูดกลุ่มภาษาจีนกลุ่มต่าง ๆ โดยอาศัยข้อมูลจาก Language Atlas of China [Credit แผนที่ : User 'Rizorius' & 'Kanguole' @ Wikipedia.org ]
- ภาษาจีนกลาง (Mandarin Chinese / 官话) : มีจำนวนผู้พูดประมาณ 900 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของประชากรผู้ใช้ภาษาในกลุ่มภาษาจีนเป็นภาษาแม่ กระจายตัวตามพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทางการจีนพยายามผลักดันความเป็นหนึ่งเดียวกันในชาติ หนึ่งในนโยบายที่เกี่ยวข้องคือ การส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลางสำเนียงกรุงปักกิ่งให้เป็น “ภาษาจีนมาตรฐานยุคใหม่” เพื่อใช้ในทางการศึกษาและราชการ
ปัจจุบันนี้ ภาษาจีนกลางเป็นภาษาทางราชการของประเทศจีนและหนึ่งในภาษาทางราชการของสหประชาชาติ และรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้มีจำนวนผู้ใช้ภาษาจีนกลางเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของประชากรประเทศจีนภายในปี ค.ศ.2020 ทำให้ภาษาจีนกลางลดบทบาทของกลุ่มภาษาจีนกลุ่มอื่น
- ภาษาอู๋ (Wu Chinese / 吴语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 90 – 100 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจ้อเจียง ตัวอย่างของภาษาสมาชิกในกลุ่มนี้คือ ภาษาเซี่ยงไฮ้ (Shanghainese / 上海话)
- ภาษาเยว่ (Yue Chinese / 粤语) หรือภาษากวางตุ้ง (Cantonese / 广东话) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 80 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลกว่างตง มาเก๊า ฮ่องกง และเขตปกครองตนเองกว่างซี ภาษาเยว่หรือกวางตุ้งยังมีความใกล้เคียงภาษาจีนโบราณมากกว่าภาษาจีนกลุ่มอื่น นอกจากนี้ จุดเด่นอย่างหนึ่งของภาษานี้คือ มีเสียงวรรณยุกต์มากถึง 9 เสียง
- ภาษาหมิ่น (Min Chinese / 闽语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 60 – 70 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลฝูเจี้ยน เกาะไต้หวัน และเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ตัวอย่างของภาษาสมาชิกในกลุ่มนี้คือ ภาษาฮกเกี้ยน (Hokkien / 福建话) และภาษาแต้จิ๋ว (Teochew / 潮州话)
- ภาษาจิ้น (Jin Chinese / 晋语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 65 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลซานซี
- ภาษาฮากกา/ภาษาแคะ (Hakka Chinese / 客家话) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 35 – 40 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลหูหนาน
- ภาษาเซียง (Xiang Chinese / 湘语) หรือภาษาหูหนาน (Hunanese) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 35 – 40 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบรอยต่อระหว่างมณฑลกว่างตง-มณฑลฝูเจี้ยน-มณฑลเจียงซี
- ภาษากั้น (Gan Chinese / 赣语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 20 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบ มณฑลเจียงซี ภาษากั้นมีความใกล้เคียงกับภาษาฮากกามากที่สุดในบรรดากลุ่มภาษาจีน
หากผู้อ่านอยากลองฟังกลุ่มภาษาจีนกลุ่มหลักต่าง ๆ สามารถลองฟังได้ในคลิปนี้
https://www.youtube.com/watch?v=xusMUIbwWAg
youtube.com
Chinese Dialects - Varieties of Chinese - China 7 main dialects - 汉语七大方言
Chinese Dialects - Varieties of Chinese - China 7 main dialects - 汉语七大方言 官話 Mandarin Chinese普通話 - Standard Mandarin(4 Tones)粵語 Cantonese香港話 - Hong Kong Canto...
กลุ่มภาษาจีนยังเป็นกลุ่มภาษาที่อยู่ภายใต้ “ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต” (Sino-Tibetan languages) ร่วมกับภาษาทิเบต (Tibetan) ที่ใช้ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ) ซึ่งหากพิจารณาทั้งกลุ่มภาษาจีนและภาษาทิเบต จะมีสำเนียงท้องถิ่นต่าง ๆ จำนวนมาก
นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังมีการใช้ภาษาในตระกูลภาษาอื่น ๆ ตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับผู้คนในดินแดนเพื่อนบ้าน หรือเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น และใช้ตัวอักษรแบบอื่นที่ไม่ใช่อักษรจีน ได้แก่...
แผนที่ประเทศจีนจากสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) แสดงการกระจายตัวของผู้คนที่ใช้ภาษากลุ่มต่าง ๆ ในปี ค.ศ.1990 ได้แก่ กลุ่มภาษาจีน (แยกสีระหว่างภาษาจีนกลาง และภาษาจีนกลุ่มอื่นทางภาคใต้และภาคตะวันออก) ภาษาทิเบต กลุ่มภาษากัม-ไท ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (ในแผนที่ใช้ชื่อ Miao-Yao) ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ตระกูลภาษาเติร์ก ภาษามองโกเลีย ตระกูลภาษาตุงกูส และภาษาเกาหลี
[ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือ]
- ตระกูลภาษาเกาหลี (Koreanic languages) : ภาษาเกาหลี (Korean) บริเวณชายแดนเกาหลีเหนือ
- ตระกูลภาษาตุงกูส (Tungusic languages) : ภาษาแมนจู (Manchu) ซึ่งเป็นภาษาใกล้สูญในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ตระกูลภาษามองโกล (Mongolic languages) : ภาษามองโกเลีย (Mongolian) บริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
[ภาคกลางและใต้ กับภาคตะวันตกเฉียงใต้]
- ตระกูลภาษาไท-กะได (Kra-Dai languages ตระกูลภาษาร่วมกับภาษาไทย) : ภาษาจ้วง (Zhuang) บริเวณมณฑลกว่างซี หรือภาษาไทลื้อ (Tai Lue) ในพื้นที่สิบสองปันนาบริเวณชายแดนลาว
- ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien languages) : ภาษาม้ง (Hmong) และภาษาเมี่ยน (Mien) บริเวณทางใต้ของจีน
- ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic languages) หรือตระกูลภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer languages) : ภาษาปะหล่อง (Palaung) และภาษาว้า (Wa) บริเวณชายแดนเมียนมากับลาวในมณฑลยูนนาน
2
[ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (ตามบริเวณชายแดนตะวันตกของเขตปกครองตนเองซินเจียง)]
- ตระกูลภาษาเติร์ก (Turkic languages) : ภาษาอุยกูร์ (Uyghur) ภาษาคาซัค (Kazakh) และภาษาคีร์กีซ (Kyrgyz)
- ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European languages) : ภาษาทาจิก (Tajik)
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคนอ่านคงจะพอเห็นภาพว่าในประเทศจีนมีการใช้ภาษาต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ได้มีเฉพาะภาษาจีนกลางอย่างเดียว แต่ยังมีภาษากลุ่มอื่นในกลุ่มภาษาจีน (อย่างภาษากวางตุ้ง) หรือภาษาอื่น (อย่างภาษาเกาหลี ภาษาทิเบต ภาษามองโกเลีย) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจช่วยให้เราติดต่อหรือพูดคุยกับคนจีนได้ราบรื่นขึ้น หากเราทราบภูมิหลังทางวัฒนธรรมของอีกฝ่ายครับ (เช่น เขาเป็นคนจากภูมิภาคไหนของจีน)
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- China : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2015.
- Elizabth Scurfield. Complete Mandarin Chinese. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Yip Po-Ching, Don Rimmington. Chinese – An Essential Grammar. London, UK: Routledge; 1997.
-
https://www.babbel.com/en/magazine/what-language-is-spoken-in-china
-
https://www.worldatlas.com/articles/what-languages-are-spoken-in-china.html
ภาษาจีน
ภาษาต่างประเทศ
4 บันทึก
5
2
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภาพรวมของภาษาใน "เอเชียตะวันออก"
4
5
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย