22 ม.ค. 2021 เวลา 22:28 • การศึกษา
[ตอนที่ 7] แนะนำภาพรวมของภาษาจีนกลาง
An overview of Mandarin Chinese language
สำหรับเนื้อหาในตอนนี้จะแนะนำภาพรวมของ “ภาษาจีนกลาง” ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพว่าภาษานี้มีเอกลักษณ์ จุดร่วม ความยากง่าย และประวัติความเป็นมาอย่างไร สำหรับภาพรวมของภาษาจีนกลาง หนึ่งในภาษาตะวันออกยอดนิยมที่คนไทยเรียนกัน อาจจะผ่านดนตรี ละคร การทำงาน ธุรกิจการค้า หรือการศึกษาต่อ จะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านกันได้เลยครับ
[Credit ภาพ : CGTN]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : “ปักกิ่งยินดีต้อนรับคุณ” (北京欢迎你 "เป่ย์จิงฮวานอิ๋งหนี่") เพลงในโอกาสนับถอยหลัง 100 วันสู่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ.2008 ที่กรุงปักกิ่ง https://www.youtube.com/watch?v=Xj8R7bEGK4w
“ภาษาจีนกลาง” (Mandarin Chinese) เป็นกลุ่มภาษาจีนที่มีประชากรใช้มากที่สุดในบรรดากลุ่มภาษาจีนต่าง ๆ ภายใต้ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ซึ่งรวมสำเนียงภาษาที่หลากหลายตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (แถบแมนจูเรีย) กรุงปักกิ่ง ที่ราบทางภาคกลาง หรือภาคตะวันตกเฉียงใต้ (แถบมณฑลยูนนาน)
แผนที่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยอาศัยข้อมูลจาก Language Atlas of China ฉบับปี ค.ศ.1987 แสดงการกระจายตัวของผู้คนที่ใช้ภาษาจีนกลางสำเนียงต่าง ๆ เป็นภาษาแม่ โดยรวมภาษาจิ้น ภาษาจิ้น (Jin Chinese / 晋语) ซึ่งมีนักภาษาศาสตร์ส่วนที่ถือว่าเป็นกลุ่มภาษาจีนอีกกลุ่ม และส่วนที่ถือว่าเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาจีนกลาง [Credit แผนที่ : User 'Moszczynski' & 'Kanguole' @ Wikipedia.org ]
ภาษาจีนกลางที่นิยมใช้ในการเรียนการสอนในต่างประเทศและในทางราชการ จะเป็น “ภาษาจีนมาตรฐาน” (Standard Chinese) หรือที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า “ผู่ทงฮว่า” (普通话 / 普通話 / Pǔtōnghuà แปลว่า “ภาษาสามัญ”) ที่อ้างอิงจากภาษาจีนกลางสำเนียงที่ใช้กันในกรุงปักกิ่ง และรัฐบาลจีนเคยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทางภาษาและการเมืองในประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษา
นอกจากภาษาจีนกลางจะเป็นภาษาราชการของจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว มาเก๊า ฮ่องกงและไต้หวันใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการด้วยเช่นกัน ซึ่งทางไต้หวันจะเรียกภาษาจีนกลางว่า “กั๋วหยวี่” (Guóyǔ / 国语 / 國語 แปลว่า “ภาษาแห่งชาติ”)
ขณะที่สิงคโปร์ยังใช้ภาษาจีนกลาง เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาอังกฤษ ภาษามลายูและภาษาทมิฬ ชาวจีนโพ้นทะเลหรือคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเรียกชื่อภาษานี้ว่า “หัวหยวี่” (Huáyǔ / 华语 / 華語 แปลว่า “ภาษาของชาติจีน”) ส่วนในโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ก็มีการใช้ภาษาจีนกลางในกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลด้วย
ภาษาจีนกลางยังเป็นภาษาที่ประชากรใช้เป็นภาษาแม่แพร่หลายมากที่สุดในโลก ด้วยประชากรผู้ใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาแม่มีทั้งหมดประมาณ 900 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ระบบการเขียนของภาษาจีนกลางในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็นสองแบบ ได้แก่
- อักษรจีนตัวย่อ (Simplified Chinese) ที่ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ มาเลเซียและประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- อักษรจีนตัวเต็ม (Traditional Chinese) ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2
อักษรที่ใช้กำกับการออกเสียงหรือใช้ถอดเสียงภาษาจีนกลางมีสองแบบ ได้แก่
- “อักษรพินอิน” (Pinyin) : อักษรโรมัน (อักษรแบบที่ภาษาอังกฤษใช้) ใช้เรียนการออกเสียงภาษาจีนกลางในช่วงแรก รวมถึงตามป้ายชื่อถนนหรือสถานที่ในจีน พัฒนาในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950
- “อักษรจู้อิน” (Zhuyin) : อักษรจากเส้นจำนวนไม่มาก พัฒนาในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1910 เมื่อครั้งเป็นสาธารณรัฐจีน และยังคงใช้อยู่ในไต้หวัน ปรากฏตามพจนานุกรมภาษาจีนกลางส่วนหนึ่งในไต้หวัน
หากสนใจเรื่องการทับศัพท์ภาษาจีนกลางด้วยอักษรไทย ทั้งแบบที่ใช้อักษรพินอินและจู้อิน สามารถดูในบล็อกของรุ่นพี่ผมได้ที่นี่ครับ
อักษรจีนมีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดอายุมากกว่า 3,500 ปี ในช่วงราชวงศ์ชาง (ยุคสัมฤทธิ์ของจีน) เกิดวิวัฒนาการจากอักษรภาพซึ่งตีความความหมายของคำเป็นภาพ แล้วกลายเป็นอักษรที่มีเส้นจำนวนมากและการเขียนที่ซับซ้อน จึงกลายเป็นความยากเรื่องแรกในภาษาจีน
แผนภาพแสดงตัวอย่างวิวัฒนาการจากอักษรภาพ (อักษรฝั่งซ้าย) มาเป็นอักษรจีนตัวย่อ (อักษรฝั่งขวา) [ที่มาของภาพ : knilt.arcc.albany.edu ]
ตัวอักษรจีนหนึ่งตัวมีหนึ่งพยางค์และมีความหมายเฉพาะตัว ตัวอักษรจีนส่วนหนึ่งสามารถใช้ประสมกับตัวอักษรจีนตัวอื่น กลายเป็นตัวอักษรจีนตัวใหม่ที่มีความหมายคล้ายหรือต่างจากอักษรเดิมที่ใช้ประสมก็ได้ และตัวอักษรเดิมที่นำมาประสมจะปรากฏเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอักษรใหม่ ตัวอักษรจีนที่ใช้ประสมให้เกิดอักษรจีนตัวใหม่ได้เรียกว่า “หมวดคำอักษรจีน” (Chinese radicals) ปัจจุบันมี 214 ตัว
นอกจากการประสมอักษรจีนแล้ว ยังมีการประสมคำจากการนำอักษรจีนมาต่อกัน ที่อาจคงความหมายที่เกี่ยวกับอักษรตัวที่ใช้ประกอบ หรืออาจมีความหมายใหม่ได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้สามารถสังเกตความหมายคำประสมจากบริบทของคำ
ดังนั้น หากไม่รู้ความหมายของตัวอักษรจีนทั้ง “หมวดคำอักษรจีน” หรืออักษรจีนที่นำมาต่อกันเพื่อสร้างคำประสมใหม่ จะทำให้ไม่สามารถคาดเดาความหมายของคำนั้นได้ ต่างจากคำในภาษาตะวันตกต่าง ๆ อย่างภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน ภาษาโปรตุเกส ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ที่อาจคาดเดาความหมายจากรากศัพท์ร่วมกันในภาษาละตินหรือกลุ่มภาษาเยอรมานิก ถือว่าเป็นความยากเรื่องที่สองของภาษาจีน ที่เราไม่สามารถคาดเดาความหมายของคำหากไม่รู้ความหมายของอักษรจีนที่ปรากฏในคำ
การออกเสียงคำพยางค์เดี่ยวในภาษาจีนจะมีประมาณ 400 แบบ และหากรวมเสียงวรรณยุกต์แล้วจะมีประมาณ 1,300 แบบ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนอักษรจีนที่เกิน 50,000 ตัว เนื่องจากการปรับการออกเสียงคำในภาษาจีนให้ง่ายขึ้นหลายครั้งตลอดช่วงประวัติศาสตร์นับพันปีของจีน จนทำให้ภาษาจีนมีคำพ้องเสียงจำนวนมากตามมา
การออกเสียงในภาษาจีนจะแบ่งเป็นการออกเสียงพยัญชนะต้น 21 เสียง เสียงส่วนท้ายของพยางค์ (สระและตัวสะกด) 36 เสียง และเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง ซึ่งเสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีนกลายเป็นความยากเรื่องที่สามของภาษาจีน ที่มักเกิดกับผู้เรียนที่ใช้ภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นภาษาแม่ เช่น ภาษาตะวันตกหลายภาษาหรือภาษาญี่ปุ่น
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาจีนที่เด่นชัด ได้แก่
1) คำกริยาในภาษาจีนจะไม่ผันรูปคำตามประธานของประโยค แบบภาษาอังกฤษหรือภาษาส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป ตัวอย่างเช่น 吃 คำกริยา “กิน” ในภาษาจีนกลาง
2) คำกริยาในภาษาจีนจะไม่ผันรูปคำตามกาล (Tense) แบบภาษาอังกฤษหรือภาษาส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป
- 他去曼谷了。
เขาไปกรุงเทพแล้ว (He went to Bangkok.)
คำกริยา “ไป” ในภาษาจีนกลางคือ 去 หากจะบอกว่าคำกริยานั้นเกิดขึ้นจนเสร็จแล้ว ให้เติมคำ 了 ไว้ท้ายประโยค (คล้ายคำว่า “แล้ว” ในภาษาไทย)
- 我正在学汉语。
ฉันกำลังเรียนภาษาจีน (I am studying Chinese language.)
คำกริยา “เรียน” ในภาษาจีนกลางคือ 学 หากจะบอกว่าคำกริยานั้นเกิดขึ้นอยู่ในช่วงที่กล่าว ให้เติมคำ 正在 หน้าคำกริยา (คล้ายคำว่า “กำลัง” ในภาษาไทย)
3) โครงสร้างประโยคเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) เช่นเดียวกับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
我学中文。
ฉันเรียนภาษาจีน (我 = ฉัน 学 = เรียน 中文 = ภาษาจีน)
他不喜欢狗。
เขาไม่ชอบสุนัข (他 = เขา(ผู้ชาย) 不 = ไม่ 喜欢 = ชอบ 狗 = สุนัข)
4) ส่วนขยายของประโยคโดยส่วนใหญ่ อย่างคำบอกเวลาและสถานที่ จะไว้หน้าหรือหลังประธานก็ได้ จะไม่วางส่วนขยายไว้หลังคำกริยา ซึ่งแตกต่างจากภาษาไทย
我学汉语。
ฉันเรียนภาษาจีน (我 = ฉัน 学 = เรียน 汉语 = ภาษาจีน)
今天在大学我学汉语。
在大学今天我学汉语。
我今天在大学学汉语。
我在大学今天学汉语。
今天我在大学学汉语。
在大学我今天学汉语。
ฉันเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยวันนี้ (คำในส่วนขยาย ได้แก่今天 = วันนี้ 在 = ที่ 大学 = มหาวิทยาลัย)
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพรวมของภาษาจีนกลาง ทั้งเรื่องการใช้ภาษาจีนกลางในประเทศจีนและต่างประเทศ ตัวอักษรที่ใช้ในภาษาจีนกลาง เสียงในภาษาจีนกลาง และตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาจีนกลาง จนถึงเรื่องความยากของภาษาจีนที่ตัวอักษร โครงสร้างประโยคภาษาจีนที่ใกล้เคียงภาษาไทยมากกว่าภาษาเอเชียตะวันออกภาษาอื่น (อย่างภาษาเกาหลีและญี่ปุ่น)
ผมก็หวังว่าเนื้อหาส่วนนี้จะช่วยให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนกลางมาก่อนได้เห็นภาพรวมมากขึ้นครับ
สำหรับท่านใดสนใจเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาจีนในบล็อกนี้ตอนก่อนหน้า สามารถอ่านเรื่อง "ภาษาในประเทศจีน" ที่นี่ครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถร่วมเป็นกำลังใจให้ผมด้วยการกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ ไว้พบกันใหม่ครับ
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- China : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2015.
- Elizabth Scurfield. Complete Mandarin Chinese. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Yip Po-Ching, Don Rimmington. Chinese – An Essential Grammar. London, UK: Routledge; 1997.
- Daniel Kane. The Chinese Language: Its History and Current Usage. Singapore: Tuttle Publishing; 2006.
โฆษณา