11 ม.ค. 2021 เวลา 11:00 • หนังสือ
📚 สรุปข้อคิดจากหนังสือ "Atomic Habits" เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น
2
✍🏻 ผู้เขียน James Clear
🏠 สำนักพิมพ์ Change+
พฤติกรรมที่เราทำซ้ำ ๆ ไม่ช้ามันก็กลายเป็นนิสัยติดตัวเราไป เป็นเหตุผลที่ทำไมบางทีเราเผลอแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่างออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
James Clear ผู้เขียนหนังสือบอกว่า เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่มีนิสัยในแบบที่เราต้องการได้ โดยมีแนวคิดพื้นฐานคือ “เปลี่ยนแปลงสิ่งเล็ก ๆ” และ “ เปลี่ยนแปลงตัวตน”
สรุปข้อคิดจากหนังสือ Atomic Habits เขียนโดย James Clear
ต่อไปนี้คือข้อคิด 10 ข้อที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ครับ
(1) ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน
ขอแค่ดีขึ้นวันละ 1% แต่พอผ่านไป 1 ปี จะกลายเป็นคนที่มีนิสัยดีกว่าเดิม 37 เท่า !
แต่ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เราก็จะอยู่ที่เดิมอยู่อย่างนั้นต่อไป
(2) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เกิดจากการกระทำที่เราสะสมมาในวันข้างหลัง
เป็นไปไม่ได้เลยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองวันนี้ แล้วพรุ่งนี้กลายเป็นคนใหม่ได้ทันที
เราทุกคนจะต้องพบกับความผิดหวังในช่วงแรก ๆ
หากอดทนทำต่อไปได้เรื่อย ๆ จนผ่านจุด “พลิกผัน” ไปได้
เมื่อนั้นเราก็จะพบกับรางวัลที่รอเราอยู่
(3) ผลลัพธ์เกิดจากกระบวนการไม่ใช่เป้าหมาย
การที่เราลดน้ำหนักได้ 5 kg ไม่ใช่เป็นเพราะตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนัก 5 kg
แต่เป็นเพราะเราออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารขยะ
เป้าหมายนั้นดีสำหรับการกำหนดทิศทาง
แต่กระบวนการต่างหากที่จะพาเราไปสู่ผัลลัพธ์ที่ต้องการ
(4) การเปลี่ยนแปลงตัวเองต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระดับอัตลักษณ์
หรือระดับตัวตน
การเปลี่ยนแปลงตัวเองมี 3 ระดับ ได้แก่ระดับผลสัมฤทธิ์, ระดับกระบวนการ
และระดับอัตลักษณ์
การตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักเป็นการตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงในระดับผลสัมฤทธิ์ ซึ่งแม้จะลดน้ำหนักได้จริง ๆ แต่ถ้าหากตัวตนยังเป็นคนที่รักการกินอาหารขยะ ไม่รักการออกกำลังกาย สุดท้ายก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม
เพราะจะไม่มีความสุขที่ต้องกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
1
การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและให้ผลได้ในระยะยาวคือ
การ ”เปลี่ยนแปลงระดับอัตลักษณ์” เพราะคือการเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราจริง ๆ
เมื่อตัวตนของเราเปลี่ยนไปเป็นคนที่รักสุขภาพ เราก็จะแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความเป็นตัวเรา นั่นคือ กินอาหารดีต่อสุขภาพ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
(5) ปัจจัยกระตุ้นต้อง “เห็นชัด”
1
ปัจจัยกระตุ้นที่ดีที่สุดก็คือ “สภาพแวดล้อม” อยากเป็นคนแบบไหนก็ให้เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น หากไม่มีสภาพแวดล้อมแบบที่ต้องการ ก็สร้างมันขึ้นมาเอง เช่น กำหนดว่าเตียงมีไว้นอนเท่านั้น
หมายความว่าเราจะเล่นโทรศัพท์บนเตียงไม่ได้อีกต่อไป
3
(6) มนุษย์จะทำพฤติกรรมที่ “น่าดึงดูดใจ” ที่จะทำ
อยากมีนิสัยดี ก็ต้องแสดงพฤติกรรมที่ดี ความท้าทายคือพฤติกรรมดี ๆ มักไม่น่าดึงดูดให้ทำ
การนึกถึงรางวัลที่จะได้รับ ทำให้เกิดแรงปราถนาที่จะได้รางวัล เราสามารถเอาข้อเท็จจริงตรงนี้มาช่วยสร้างนิสัยที่เราต้องการได้ เช่น ก่อนกินขนมจะต้องสควอตก่อนทุกครั้ง (เอาขนมมาดึงดูดใจให้การสควอตน่าทำ)
(7) มนุษย์ชอบ “ทำอะไรง่าย ๆ” และไม่ชอบ “ทำอะไรยาก ๆ”
อยากมีนิสัยแบบไหน ก็แค่ทำให้นิสัยนั้นแสดงได้ง่าย เช่น เตรียมชุดออกกำลังกายไว้ล่วงหน้า ทำให้เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่ต้องยุ่งยากเตรียมชุดอีก
หรือวางหนังสือไว้ใกล้ ๆ หัวนอน จะได้หยิบหนังสือได้ง่าย ๆ
อยากกำจัดนิสัยไหนทิ้ง ก็แค่ทำให้มันยาก เช่น อยากตั้งใจทำงาน ก็แค่เอาสมาร์ทโฟนไปวางไว้ไกล ๆ เวลาทำงาน หรือลบแอปที่ไร้สาระทิ้งไป เพราะการไปโหลดมาใหม่มันยุ่งยาก ทำให้เราเล่นแอปไร้สาระนั้นน้อยลง
(8) มนุษย์จะแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำอีกหากพฤติกรรมนั้น “เป็นที่น่าพึงพอใจ”
เราชอบอะไรที่เห็นผลทันที จึงเป็นเหตุผลที่เรามักจะล้มเหลวเวลาตั้งใจจะหุ่นดี เพราะการออกกำลังกายมันไม่ได้เห็นผลในวันเดียว อาทิตย์เดียว หรือแม้แต่เดือนเดียว
เราจึงควรรู้จักการ “ติดตามและบันทึกผลความก้าวหน้า” และ
”ให้รางวัลตัวเองอย่างสร้างสรรค์” เพื่อให้เราเกิดความพึงพอใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ โอกาสล้มเลิกก็จะน้อยลงตามไปด้วย
(9) คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน
อาจฟังดูเป็นข้ออ้าง แต่มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ
หากิจกรรมหรือนิสัยที่เราทำแล้วมีความสุข สำคัญคือเป็นตัวของเราเองจริง ๆ
ไม่จำเป็นต้องไปตามใคร
10) อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง
หลังจากสร้างนิสัยที่ดีได้แล้ว ข้อควรระวังคือ “เรามักจะเหลิง” และหยุดพัฒนาตัวเอง
แย่ไปกว่านั้น นิสัยที่เราเพิ่งได้มาจะค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ
เพราะไม่เพียงแต่เราหยุดพัฒนาตัวเอง แต่เรามักจะเผลอละเลยนิสัยนั้นไปเรื่อย ๆ
จนสูญเสียไปในที่สุด
“1 คนอ่าน 100 คนรู้” ร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน ผ่านการอ่านหนังสือ
ติดตาม Book Borrow ได้ใน
IG : @bookborroww
#atomichabits #เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น #สรุปหนังสือ #bookborrow
โฆษณา