11 ม.ค. 2021 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
"ยีราฟแคระ"
สัตว์แปลกสุดน่ารักที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังประหลาดใจ
ยีราฟแคระ (ภาพ : Michael Brown/Giraffe Conservation Foundation)
ธรรมชาติมักจะมีอะไรที่ทำให้เราแปลกใจอยู่เสมอ
แม้ว่าบางสิ่งเราอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง
แต่ว่าบางอย่างก็แทบจะไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน
ตัวอย่างเช่น ยีราฟแคระ 2 ตัวในป่าของทวีปแอฟริกา
ยีราฟป่าสองตัวนี้มีชื่อเล่นว่า "Gimli" และ "Nigel" โดย Gimli ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศยูกันดาเมื่อปี 2015 ขณะที่ Nigel ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศนามิเบียในปี 2018
"Gimli" (ภาพ : Michael Brown/Giraffe Conservation Foundation)
"Nigel" (ภาพ : Emma Wells/Giraffe Conservation Foundation)
ยีราฟแคระสองตัวนี้สูงแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงเฉลี่ยของยีราฟทั่วไป โดย Gimli สูงประมาณ 2.8 เมตร ส่วน Nigel เตี้ยกว่านิดหน่อย คือสูงประมาณ 2.6 เมตร
ทั้งสองตัวมีคอยาวขนาดมาตรฐาน แต่กลับมีขาที่สั้นป้อม ซึ่งดูเหมือนว่ามันแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย
Julian Fennessy ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์ยีราฟ (Giraffe Conservation Foundation) ให้ข้อมูลว่ายีราฟที่มีความสูงมากกว่า จะสามารถกินใบของต้นไม้ที่อยู่สูงกว่าได้ ส่งผลให้ยีราฟแคระอดลิ้มลองรสชาติของใบไม้เหล่านั้น
นอกจากนี้ สรีระที่ล่ำเตี้ยยังทำให้มันไม่สามารถผสมพันธุ์กับยีราฟที่มีขนาดปกติได้อีกด้วย
A) ยีราฟทั่วไป B) ยีราฟแคระ "Gimli" C) ยีราฟแคระ "Nigel" (ภาพ : Giraffe Conservation Foundation)
นักวิจัยเรื่องยีราฟวิเคราะห์ว่า รูปร่างที่ผิดสัดส่วนของ Gimli และ Nigel น่าจะเกิดจากอาการที่เรียกว่า skeletal dysplasia ซึ่งเป็นการเจริญผิดปกติของโครงกระดูก ส่งผลให้เกิดภาวะแคระ (dwarfism) กับมันทั้งคู่
แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ยีราฟสองตัวนี้เกิดภาวะแคระ เพราะโดยปกติแล้วมันมักจะเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง และแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นกับสัตว์ป่ามาก่อนเลย ซึ่ง Gimli และ Nigel ถือเป็นยีราฟสองตัวแรกที่มีรายงานการเกิดภาวะนี้
Gimli ถูกพบครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม ปี 2017 ส่วน Nigel ถูกพบครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งนักวิจัยหวังว่าพวกเขาจะได้พบกับพวกมันอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา