13 ม.ค. 2021 เวลา 09:54 • กีฬา
นักฟุตบอลเชื้อสายเอเชียคนแรกในพรีเมียร์ลีก
โดย Ploy Honisz
คุณรู้ไหมว่าใครคือนักฟุตบอลเชื้อสายเอเชียคนแรกในพรีเมียร์ลีก? ซุน จีไห่? ปาร์ก จี ซอง? แล้วถ้าเราบอกว่าเขาคนนี้คนสวมเสื้อหมายเลข 7 ให้ลิเวอร์พูล และลงเล่นให้อาร์เซนอลมาแล้วล่ะ ยังนึกไม่ออกใช่ไหม เขาคนนั้นคือ จิมมี คาร์เตอร์ ชื่อเดียวกันกับอดีตประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐอเมริกา ชีวิตของอดีตนักฟุตบอลเชื้อสายอินเดีย-อังกฤษคนนี้ มีสีสันจนต้องหยิบมาเล่าสู่กันฟัง
เคนนี ดัลกลิช เดินไปหา จิมมี คาร์เตอร์ ในห้องแต่งตัวของลิเวอร์พูล พร้อมทั้งยื่นเสื้อตัวใหม่ให้กับเขา มันไม่ใช่แค่เสื้อธรรมดา แต่เป็นเสื้อหมายเลข 7 ที่ เอียน คัลลาแฮน, เคนนี ดัลกริช และ เควิน คีแกน เคยใส่ เสื้อที่มีความหมายมากที่สุดตัวหนึ่งของสโมสร วันนั้นคือวันที่ 12 มกราคม 1991 คาร์เตอร์เพิ่งเซ็นสัญญาย้ายจากมิลล์วอลล์มาร่วมทีมหงส์แดงได้เพียง 2 วัน ปีกวัย 25 ปีกำลังจะลงสนามเปิดตัวต่อหน้าเดอะค็อป
1
“นั่นน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม และเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ผมฝันมาตั้งแต่เด็ก” คาร์เตอร์เอ่ย “การที่คิดว่าเคนนีเดินมาหาผมและยื่นเสื้อหมายเลข 7 ให้กับเด็กหนุ่มอินเดียตัวเล็กๆ มันไม่มีอะไรจะดีไปกว่านั้นอีกแล้ว มันเหลือเชื่อมาก” แต่ช่วงเวลาดีๆ มักจะผ่านไปเร็ว ดัลกลิชโบกมือลาตำแหน่งผู้จัดการทีมไม่นานหลังจากนั้น และ แกรม ซูเนสส์ นายใหญ่คนใหม่ก็ไม่ปลื้มคาร์เตอร์เท่าไรนัก จนเจ้าตัวต้องย้ายไปร่วมทีมอาร์เซนอลในปีเดียวกัน หลังจากอยู่ที่แอนฟิลด์ได้เพียง 9 เดือน ลงเล่นให้หงส์แดงแค่ 8 นัดเท่านั้น แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ย้ายไปทีมที่เขาเชียร์มาตั้งแต่เด็กๆ และที่นั่นเขาค้าแข้งอยู่นานถึง 4 ปี และวนเวียนอยู่ในซุ้มม้านั่งสำรองเสียเป็นส่วนใหญ่
2
คาร์เตอร์ลงประเดิมสนามให้ปืนใหญ่นัดแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1992 และกลายเป็นนักบอลเชื้อสายเอเชีย-อังกฤษคนแรกที่ลงเล่นในพรีเมียร์ลีก (พรีเมียร์ลีกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 1992) และหลังจากนั้นต้องใช้เวลาอีกกว่า 11 ปีกว่าจะมีคนที่ 2 ตามมา ตอนนี้ในวัย 55 ปี คาร์เตอร์ยอมรับว่าเชื้อสายอินเดียของเขายังทำให้หลายคนที่รู้ช็อก เพราะนามสกุลที่ฝรั่งจ๋า และผิวของเขาที่ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่รู้
2
คาร์เตอร์เล่าว่านามสกุลของเขานั้นย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 เมื่อบรรพบุรษของเขาย้ายจากอังกฤษไปอยู่ที่อินเดีย และแต่งงานกับสาวชาวอินเดีย มัวริส พ่อของคาร์เตอร์เป็นเด็กกำพร้าและเป็นทหารเรือ ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ แต่งงานกับแม่ของเขา แต่สุดท้ายก็เลิกรากันไป พ่อเลี้ยงดูเขาแบบเด็กอินเดียมาตลอด “แม่ของผมเป็นคนอังกฤษ เมื่อไรที่พ่อสามารถหาเงินซื้อเนื้อสัตว์มาทำอาหารได้ เราจะได้กินแกงกระหรี่กับข้าว เมื่อไรที่เราไม่มีเงินพอ เราจะได้กินไข่ต้มกับข้าว ผมโตมาแบบนั้น พ่อของผมเสียสละทุกอย่างเพื่อลูกๆ เขาเป็นช่างฝีมือ มีคนเสนองานให้จากทั่วโลก แต่เขาต้องปฏิเสธเพื่ออยู่เลี้ยงดูผมกับน้อง เขาจะทำงานเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างเพื่อสามารถไปส่งเราที่เนอร์สเซอรีตอน 9 โมงเช้า และรับเราตอนบ่าย 3 โมงเย็น”
.
.
ในยุค 1970 และ 1980 คาร์เตอร์มีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องทนกับการถูกเหยียดเชื้อชาติอยู่เสมอ พ่อจะปลุกเขาตอน 6 โมงเช้าเพื่อให้ออกไปวิ่งก่อนเด็กคนอื่นๆ ที่อยากเป็นนักฟุตบอลเหมือนกัน และระหว่างทางกลับบ้านก็อาจจะต้องแอบไปขโมยนมจากหน้าประตูบ้านคนอื่น ถ้าหากว่าที่บ้านไม่มีนมเหลืออยู่ แม้ว่าจะถูกเหยียดเชื้อชาติและถูกรุมรังแกในสนาม แต่เขาก็ถูกเลือกโดยคริสตัล พาเลซตอนอายุ 14 ปี “เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมถูกแกล้ง ผมต้องการจะพิสูจน์ให้คนอื่นๆ เห็นว่ามันผิด ผมจะทำให้อีกฝ่ายอับอายในสนามบอล นั่นเป็นวิธีการตอบโต้ของผม ใช่เขาจะเรียกผมยังไงก็ได้ แต่เด็กอินเดียคนนี้เพิ่งจะทำให้เขาอับอาย เขาจะต้องอ่านเรื่องราวของผม และดูผมลงเล่นให้กับทีมใหญ่ๆ ของโลก”
3
ความฝันของคาร์เตอร์ต้องสะดุดเมื่อเขาถูกปราสาทเรือนแก้วปล่อยตัวตอนอายุ 19 ปี ก่อนที่เขาจะพยายามอีกครั้ง และได้โอกาสที่สองกับมิลล์วอลล์ตอนอายุ 22 ปี กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่คว้าแชมป์ดิวิชัน 2 เดิมในปี 1988 ซึ่งในทีมมีผู้เล่นอย่าง เท็ดดี เชอร์ริงแฮม และ โทนี คาสคาริโน เป็นการเลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชัน 1 ครั้งแรกของสโมสร ถึงตรงนี้เชื้อสายของคาร์เตอร์มีแค่เพื่อนสนิทไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ และ เท็ดดี เชอร์ริงแฮม เป็นหนึ่งในนั้น
1
“แทบไม่มีเพื่อนร่วมทีมคนไหนของผมที่รู้เรื่องเชื้อสายเอเชียของผมนอกจากเท็ดดี ผมรู้สึกเป็นที่ต้อนรับเสมอที่มิลล์วอลล์ แต่บางครั้งผมก็ถูกฝ่ายตรงข้ามเหยียดเชื้อชาติเพราะผมดูแตกต่างจากคนอื่นๆ เมื่อมองย้อนกลับไป พวกเขาพูดสิ่งที่ทุกวันนี้พูดไม่ได้ในสนาม แต่ผมก็ไม่เก็บมาคิดมาก สำหรับผม มันทำให้มุ่งมั่นมากกว่าเดิม” คาร์เตอร์เล่า “ในฟุตบอลถ้าคุณเอากลับมาคิด หรือรู้สึกขมขื่นไปกับมัน นั่นอาจจะทำให้มีช่วงเวลาที่ยากลำบาก มันไม่รื่นหูนักหรอกตอนที่ได้ยิน แต่มันคนละยุคสมัยกับตอนนี้”
ทุกวันนี้มีผู้เล่นจากเอเชียแท้ๆ ไปเล่นในพรีเมียร์ลีกมากมาย แต่ผู้เล่นเชื้อสายเอเชีย-อังกฤษนั้น มีแค่ 10 คนในจำนวนนักฟุตบอลอาชีพกว่า 4,000 คนในสหราชอาณาจักรเท่านั้น อาจจะเพราะพ่อแม่ชาวเอเชียต้องการให้ลูกมุ่งไปเอาดีทางด้านการเรียน เป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือเล่นกีฬาอย่างคริกเกตมากกว่า
แล้วคาร์เตอร์เสียใจไหมที่เขาไม่ได้ประกาศว่าตัวเองมีเชื้อสายเอเชียเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง “ตอนที่ผมเซ็นสัญญากับลิเวอร์พูล มันไม่มีการพูดถึงเรื่องคุณมีเชื้อสายเอเชียหรือมีเชื้อสายอื่นๆ ไหม ผมโชคดีที่ได้โอกาสที่สองในการเล่นฟุตบอล และสิ่งที่ผมไม่ทำคือ มองย้อนกลับไป ตอนนั้นยังไม่มีผู้เล่นเอเชีย ผู้คนยังคิดว่าผู้เล่นผิวดำทนความหนาวไม่ได้ และผู้เล่นเอเชียก็ไม่แข็งแกร่ง ผมไม่สามารถให้อะไรเข้ามาเป็นอุปสรรคทำให้อาชีพของผมแย่ลงได้”
1
“มันมีบ้างที่เสียใจที่ผมไม่แข็งแกร่งพอ หรือกล้าพอที่จะเปิดเผยตัว แต่ในทางหนึ่งการทำแบบนั้นมันคือการบอกคนอื่นๆ ว่าผมแตกต่าง ในเมื่อมันไม่ควรเป็นแบบนั้น มันไม่ควรจะเป็นเรื่องของสีผิวของคุณ ทุกๆ อย่างต้องลงตัวในการที่จะเปิดเผยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่การตั้งใจที่จะบอกว่าผมจะปกปิดเรื่องนี้ มันไม่ใช่แบบนั้น ถ้าหากมีใครสักคนบอกว่าฉันไปคุยกับพ่อนายมา ฉันไม่รู้มาก่อนว่านายเป็นเอเชีย ผมจะดีใจมาก ผมไม่มีวันปกปิดเรื่องนี้”
1
อาชีพนักฟุตบอลของ จิมมี คาร์เตอร์ จบลงในปี 1999 ตอนนี้เขาทำงานเป็นผู้บรรยายฟุตบอลทางวิทยุ และทำงานกับฟุตบอลลีกของอังกฤษ อาศัยอยู่ชานเมืองลอนดอนกับภรรยาและลูกสองคน “ผมภูมิใจมากกับเชื้อสายเอเชียของผม และในความจริงแล้วพ่อผมภูมิใจมากๆ สิ่งที่เขาหวังคืออยากให้ผมเป็นนักกีฬา เข้าใจศักยภาพของตัวเอง พยายามและทำเต็มที่เพื่อไปถึงจุดสูงสุด ผมทำให้เขาภูมิใจตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่”
จิมมี คาร์เตอร์ นักฟุตบอลเชื้อสายเอเชียคนแรกในพรีเมียร์ลีก
#พรีเมียร์ลีก #ลิเวอร์พูล #อาร์เซนอล #อินเดีย #ผลฟุตบอล #ผลบอล #ฟุตบอล #Football #Soccer #PlayNowThailand #KhelNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand
ฝากติดตาม https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา